Justin Bieber และอาการป่วย ‘รัมเซย์ฮันต์ ซินโดรม’ โรคที่อันตรายกว่าที่คุณคิด


รู้จัก ‘รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม’ อาการป่วยอัมพาตครึ่งหน้าที่เป็นสาเหตุให้ Justin Bieber ต้องเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ต


นับเป็นข่าวใหญ่ที่ทำเอาแฟนๆ ทั่วโลกรวมถึงแฟนชาวไทยตกอกตกใจไม่น้อย หลังจากหนุ่ม Justin Bieber ออกมาประกาศผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวเกี่ยวกับการพักการแสดงคอนเสิร์ต Justice World Tour ชั่วคราว และเลื่อนทัวร์ตามกำหนดออกไปก่อนเนื่องจากตรวจพบว่าตนเองมีอาการป่วยอัมพาตครึ่งหน้าหรือ รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome) ซึ่งส่งผลให้เขาไม่สามารถขึ้นเล่นคอนเสิร์ตได้เต็มที่ตามปกติได้ จึงต้องขอเวลาในการพักรักษาตัว รวมถึงกายภาพบำบัดจนกว่าร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ

Justin Bieber

“คุณจะเห็นว่าดวงตาข้างนี้ของผมกะพริบไม่ได้ และใบหน้าฝั่งนี้ไม่สามารถยิ้มได้ รูจมูกของผมแทบไม่ขยับเลย เพราะหน้าของผมซีกนี้เป็นอัมพาตอย่างสิ้นเชิงทั้งหมดเลย” จัสตินอธิบายก่อนจะบอกกับแฟนๆ ถึงคอนเสิร์ตว่าเขาเองก็จริงจังกับการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้มาก แต่การป่วยในครั้งนี้เป็นเหมือนสัญญาณเตือนจากร่างกาย ว่าร่างกายของเขาเหนื่อยสะสมมาเป็นเวลานานและเริ่มจะไม่ไหว ดังนั้นเขาจึงต้องขอเวลาในการพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายของตนเองให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

แม้จะยังไม่มีประกาศอัพเดตออกมาเพิ่มเติมว่า การเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตนี้จะกระทบกับ Justin Bieber Justice World Tour Bangkok ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้หรือเปล่า แต่หลายคนก็ยังคงสงสัยว่าแล้วโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีกนี้เกิดมาจากสาเหตุอะไร และร้ายแรงมากแค่ไหน จัสตินจึงถึงกับต้องเลื่อนการทัวร์รอบโลกในคอนเสิร์ตใหญ่ที่มีตารางงานมากกว่า 100 วันตลอดปีพ.ศ. 2565 ยาวไปจนถึงปีพ.ศ. 2566

วันนี้ Padthai.co จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักอาการของโรคนี้ พร้อมวิธีสังเกตอาการคร่าวๆ ด้วยตนเองกัน

CREDIT PHOTO: COURTESY OF MAYO FOUNDATION FOR MEDICAL EDUCATION

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome) ที่จัสตินกำลังเป็นเกิดจากไวรัส Varicella-Zoster ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคอีสุกอีใส หรือ งูสวัด แม้ว่าผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสจะหายสนิทนานแล้ว แต่ไวรัสจะซ่อนอยู่ตามปมประสาทโดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ก็มีโอกาสที่ไวรัสตัวนี้จะเข้าไปทำลายเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จนติดเชื้อและเกิดการอักเสบ ซึ่งจะนำไปสู่อาการอัมพาตครึ่งซีกบนใบหน้า โดยโรคนี้จะพบมากในผู้ป่วยทีร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ ทั้งจากความเครียด การพักผ่อนน้อย พักผ่อนไม่ตรงเวลา และการเหนื่อยสะสมมาเป็นเวลานานทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย

อาการเบื้องต้นของรัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม หลังจากไวรัสเข้าไปรบกวนการทำงานของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จนติดเชื้อและเกิดการอักเสบ ในเบื้องต้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอักเสบ ปวดบวมบริเวณใบหูข้างใดข้างหนึ่ง และพบตุ่มน้ำใสที่ทำให้รู้สึกคันคล้ายอาการของโรคอีสุกอีใสบริเวณใบหู ทำให้มีอาการปวดหู สมรรถภาพการฟังลดลง รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวร่วมด้วย อาจจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนบ้านหมุน และลงท้ายด้วยการที่ใบหน้าจะเกิดภาวะอัมพาตครึ่งซีก ทำให้ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า รวมไปถึงการยิ้มหรือกะพริบตาได้เลย เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่นี้ทำหน้าที่เลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้านั่นเอง

แม้รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรมจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากการอักเสบติดเชื้อของเส้นประสาทสมอง แต่หากปล่อยไว้เรื้อรังอาการนี้ก็สามารถกลายเป็นอาการป่วยถาวรได้ และอาจมีอาการแทรซ้อนที่ทำให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวร เนื่องจากเส้นประสาทนี้ส่งผลต่อการทำงานของหูชั้นใน รวมทั้งอาจจะทำให้ดวงตาเกิดความเสียหาย เนื่องจากอาการใบหน้าอัมพาตครึ่งซีกจะทำให้การหลับตามีปัญหาจากการปิดเปลือกตาไม่สนิท จนอาจะทำให้ดวงตาได้รับความเสียหาย อักเสบ หรือสูญเสียทัศนวิสัยที่ชัดเจน

นอกจากนั้นอาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Postherpetic neuralgia หรืออาการปวดปลายประสาทตามหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหูที่เคยมีตุ่มใส แม้ว่าจะหายจากโรครัมเซย์ฮันท์จะหายสนิทนานแล้ว แต่อาการปวดปลายประสาทตพามหลังนี้จะยังคงเรื้อรังอยู่เป็นระยะ นานหลายสัปดาห์หรือในบางกรณีก็มีอาการนานหลายเดือน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด วิธีในการป้องกันโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรมที่ง่ายที่สุดในเบื้องต้น คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสนี้เข้าไปแฝงตัวในร่างกายตั้งแต่แรก นอกจากนั้นคือการรักษาสุขภาพร่างกายตนเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ แบ่งเวลาการทำงานและการพักผ่อนอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยล้าสะสม ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

แต่สำหรับผู้ที่พบว่าตัวเองมีอาการป่วยรัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ก็ควรเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาตามอาการและใช้ยาต้านไวรัส เพราะยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดการแทรกซ้อนของโรคและอาการป่วยที่จะตามมา ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่าพักผ่อนน้อยและป่วยง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเองให้ดี เพื่อจะได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

RAMSAY HUNT SYNDROME’S FACT FILE

กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

  • ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสและงูสวัด
  • ผู้ป่วยที่อ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย หรือพักผ่อนไม่ตรงเวลาสะสมเป็นเวลานาน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเครียด
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • โดยมากจะพบในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่ค่อยพบในเด็กเล็ก

แนวทางการป้องกัน

  • รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งจะป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ตลอดชีวิตและลดความเสี่ยงในการเกิดโรครัมเซย์ฮันท์ โดยสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี แต่หากอายุมากกว่า 13 ปี จะต้องฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างกันประมาณ 4-8 สัปดาห์
  • รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 8-10 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับร่างกาย
  • แบ่งเวลาในชีวิตให้สมดุลย์ และหมั่นหาวิธีบำบัดความเครียดของตนเองผ่านงานอดิเรก

อาการเบื้องต้น

  • หูมีอาการปวดบวม อักเสบ
  • หูอื้อ สมรรถภาพทางการฟังลดลง
  • บริเวณใบหูมีตุ่มใสคล้ายอีสุกอีใสขึ้น แสบคัน 
  • วิงเวียนศีรษะ มีปัญหาในการทรงตัว บ้านหมุน
  • การรับรู้รสชาติอาหารผิดเพี้ยน
  • หลับตาหรือปิดเปลือกตาได้ลำบาก ตาแห้ง
  • ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งไม่สามารถขยับได้

แนวทางการรักษา

รับยาต้านไวรัสและรักษาตามอาการตามคำแนะนำของแพทย์ ร่วมกับการกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อบนใบหน้า และพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวโดยเร็ว อาจมีการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยกระตุ้นผลของยาต้านไวรัส ร่วมกับการใช้ยาต้านความวิตกกังวลและยาแก้ปวดตามอาการ

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อพบว่ามีอาการ

หากสังเกตอาการแล้วพบว่ามีความผิดปกติตามข้อมูลข้างต้น ให้รีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงในระยะยาว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลพญาไท และ Mayo Clinic สหรัฐอเมริกา


CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF JUSTIN BIEBER AND MAYO FOUNDATION FOR MEDICAL EDUCATION


อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

29 sep

Your Tarot Weekly

Post Views: 160 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน – วันเสาร์ที่​ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ…

Bottega Veneta Summer 25

Post Views: 20 Bottega Veneta นำเสนอคอลเลกชัน Summer 25 เปี่ยมไปด้วยพลังของความจริงใจและความสนุกสนานในการผจญภัยของการเติบโตและเปลี่ยนแปลง Bottega Vene…

Christian Louboutin  The FW24 Story 2 – Giddy Up Collection

Post Views: 15 Christian Louboutin เสนอคอลเลกชัน Giddy Up การก้าวเข้าสู่จิตวิญญาณแห่งการผจญภัยไร้ขีดจำกัดของมนต์เสน่ห์แดนตะวันตก Christian Louboutin (…

Piaget at Homo Faber

Piaget House of Gold Shines at Homo Faber

Post Views: 67 ชมความสง่างามเรือนพิเศษ Limelight Gala ของ House of Gold จากเพียเจต์ในงานนิทรรศการ Homo Faber ทองคำถือเป็นโลหะที่ล้ำค่าและเป็นสายสัมพัน…

Ferragamo Spring/Summer 2025 Collection Runway Show

Post Views: 30 Ferragamo เสนอคอลเลกชันฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน 2025 Ferragamo (เฟอร์รากาโม่) เสนอคอลเลกชันฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน 2025 โดย Maximilian Davis (แม…