Homecoming พาใจกลับบ้าน : เปิดจักรวาลใจ เริ่มต้นบทสนทนากับตนเองในนิทรรศการศิลปะเชิงประสบการณ์xสุขภาพจิต ณ River City Bangkok ตลอดเดือนมิถุนายนนี้
“มีสิ่งไหนที่เราอยากขอบคุณตนเองบ้างไหม” “มีอะไรที่เราอยากยกโทษให้ตนเองบ้างหรือเปล่า” แม้คำถามเหล่านี้จะเป็นคำถามที่แสนเรียบง่าย แต่จะมีสักกี่ครั้งในชีวิตที่เราจะหยุดพักจากความวุ่นวายรอบกาย และลองเปิดหัวใจพูดคุยกับตนเอง สิ่งเหล่านี้เองที่พาให้เราได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยกับสองผู้ก่อตั้ง Eyedropperfill สตูดิโอสร้างสรรค์ที่โดดเด่นด้านงานออกแบบประสบการณ์อย่าง นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และเบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ถึงนิทรรศการครั้งใหม่ของพวกเขาที่กำลังจัดขึ้นในชื่อ Homecoming พาใจกลับบ้าน
Homecoming : พาใจกลับบ้าน เป็นนิทรรศการศิลปะเชิงประสบการณ์ Xสุขภาพจิต จากความร่วมมือของ River City Bangkok สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แอปพลิเคชัน OOCA บริการนักจิตบำบัดออนไลน์และ Eyedropperfill สร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยที่ชวนทุกคนมาใช้เวลาหยุดพักและสำรวจจิตใจ และทำความเข้าใจกับอารมณ์ รวมทั้งภาวะซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนกำลังเจอทั้งกับตัวเองและคนใกล้ชิด
“ทุกวันนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าเทียบเป็นสัดส่วนกันกับจิตแพทย์ มันแทบจะเป็นสัดส่วน 1:100,000 เลย เราเลยมองว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจของสังคมตอนนี้ และทำให้เรามานั่งตั้งคำถามว่าในฐานะนักออกแบบเราจะสามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง” นัทเล่าให้ฟังและย้อนความถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการศิลปะเชิงประสบการณ์ที่ถูกจัดต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้
“ปกติแล้ว Eyedropperfill ทำงานกับสินค้า เราสามารถทำให้แบรนด์ที่มีสินค้าชนิดเดียวกันบนชั้นวางถึง 20 ยี่ห้อ โดดเด่นขึ้นมาจากสินค้าเจ้าอื่นๆ ได้ แล้วกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้าที่แทบทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน ทำไมเราจะลองออกแบบและทำให้มันเกิด Awareness ไม่ได้ นั่นเลยกลายเป็นต้นกำเนิดของ อารามอารมณ์ Experiencial Design Exhibition ในโครงการ Bangkok Design Week ประมาณสัปดาห์เศษๆ และพัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นงานในครั้งนี้ภายใต้การสนับสนุนจากทางสสส.”
นิทรรศการในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสองห้องจัดแสดงหลักคือ อารามอารมณ์ นิทรรศการศิลปะเชิงประสบการณ์ ที่จะพาคุณมาละเลียดเวลา ปลดปล่อยหัวใจ ตั้งคำถามและสร้างบทสนทนากับตนเอง เพื่อมองเห็นอารมณ์และความรู้สึกภายในของตนเองที่บางครั้งมันอาจถูกกดทับ ปฏิเสธ หรือมองข้ามมาตลอดโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยแบ่งออกเป็นห้องกิจกรรมย่อยๆ ที่ชวนผู้ชมให้ได้ตั้งคำถาม พูดคุยกับตนเอง และขีดเขียนคำถามนั้นลงบนกำแพงของนิทรรศการเพื่อแบ่งปันอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้นอย่างอิสระ
ทำให้ผู้ชมที่เข้ามาชมพื้นที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตในห้องอารามอารมณ์ ได้มองเห็นมิติอารมณ์ที่หลากหลายของผู้ชมคนอื่นๆ และขณะเดียวกันก็ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามหรือตกตะกอนกับตนเอง ในบรรยากาศที่ไม่ซีเรียสเท่าการไปหาหมอหรือนักจิตบำบัดในคลินิก แต่ก็ยังพอจะเป็นที่พักและบรรเทาอาการหนักอึ้งในหัวใจให้พอทุเลาลงไปได้
ส่วนห้องจัดแสดงที่สองอย่าง Mental Verse จักรวาลใจ ซึ่งมีการจัดฉายหนังสารคดีสั้นความยาวรวม 2 ชั่วโมงเศษให้ได้ชมก็เป็นโปรเจกต์ที่มีต่อเนื่องเช่นกัน หลังจากในครั้งก่อนหน้าเราได้ชมภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ Generation-Gap ความแตกต่างของช่วงวัยและ Patriarchy หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ในงานพาใจกลับบ้านปีนี้จักรวาลใจนำเสนอธีมหลักคือเรื่องที่มาของโรคซึมเศร้าในผู้คนช่วงวัยและความหลากหลายต่างๆ
“หนังจะรวมผู้คนในช่วงวัยและความหลากหลายต่างๆ เริ่มจากมินนี่ วัยรุ่นเจน Z ที่ได้รับผลกระทบครอบครัวและสังคมจากพิษเศรษฐกิจในยุคต้มยำกุ้ง พี่ฝัน ตัวแทนของเจน Y ที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางกฏระเบียบอันเคร่งครัดและความคาดหวังของครอบครัว พี่รวง Queer ผู้เป็นตัวแทนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQA+) ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากสังคมจากเรื่องเพศที่มีผลต่ออำนาจในตนเองและในสังคมที่ยังคงมีอำนาจบางอย่างกดทับ ไม่เปิดรับภาวะทางเพศ
และสุดท้ายคือพ่อและแม่ของเราเอง (เบสท์) ซึ่งเป็นตัวแทนของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นการมาปิดจักรวาลใจ ให้คนมองเห็นรากที่มา เพราะสามคนก่อนหน้าล้วนเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากครอบครัวเป็นหลัก พ่อและแม่จึงเป็นเสมือนตัวแทนของคนรุ่นนั้นที่มาสื่อสารว่าแล้วพวกเขาได้รับผลกระทบอะไรมาบ้างจากคนรุ่นก่อนหน้า รวมทั้งจากการขาดความรู้ความเข้าใจเพราะ 50 ปีก่อนหน้าปัญหาสุขภาพจิตใจยังคงเป็นเรื่องไกลตัว”
เบสท์พูดถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวและผู้คนในภาพยนตร์สั้นชุดใหม่ที่นอกจากการจัดฉายในนิทรรศการพาใจกลับบ้านครั้งนี้ Mental Verse จักรวาลใจ ยังได้มีโอกาสออกไปพบกับผู้ชมนอกกรุงเทพดในโปรเจ็กต์จักรวาลใจสัญจรตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งผลตอบรับจากผู้ชมที่สะท้อนกลับอย่างอบอุ่นก็ยิ่งช่วยจุดประกายให้ Eyedropperfill อยากจะพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ต่อไปในวงที่กว้างขึ้น
“การที่จักรวาลใจได้ออกไปฉายในต่างจังหวัด ทำให้เราค้นพบว่าโรคซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตใจ มันไม่ได้อยู่แค่ในคนกรุงเทพ เวลาพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตใจ ภาพมันมักจะเป็นคนที่อยู่ในเมืองแล้วโดดเดี่ยว แต่ที่จริงแล้วปัญหาเรื่องนี้ขยายตัวกว้างกว่านั้น เช่น การพลัดถิ่น การไม่มีงาน ไม่มีเงินหรือสภาพสังคมก็มีส่วนเช่นกัน การที่เราได้เดินทางไปต่างจังหวัด ทำให้เราค้นพบว่าโอกาสในการเข้าถึงเครี่องมือที่ช่วยเยียวยาทางจิตใจสำหรับคนต่างจังหวัดมันน้อยมาก เป้าหมายที่เราตั้งใจอยากจะทำต่อในปีต่อๆ ไปคือการขยายความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้านี้ไปทั่วประเทศ ไม่จำกัดอยู่แค่ในเมือง เพราะมันคือเรื่องมนุษย์และมันเป็นเรื่องที่มีอยู่ทุกที่”
เบสท์อธิบายว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างการเรียนรู้ทางประสบการณ์ให้กับผู้ชม ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของ Eyedropperfill ในฐานะนักออกแบบประสบการณ์ ที่มีเป้าหมายอยากจะสร้างสังคมที่ผู้คนสามารถอยู่ด้วยกันได้ ภาพยนตร์ชุดนี้ รวมถึงนิทรรศการหลักทั้งหมดจึงเป็นเหมือนชุดปฐมพยาบาลที่สร้างชุดประสบการณ์และการเรียนรู้มนุษย์ รวมถึงการเรียนรู้จิตใจตนเองเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า
“เราอยากให้ผู้ชมได้มาพักผ่อน เพราะเรารู้สึกว่าคนสมัยนี้ไม่ค่อยได้พัก” เบสท์เล่าด้วยน้ำเสียงสบายๆ “การได้มาตระหนักรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ที่บางครั้งเราอาจจะเพิกเฉย รู้ไม่ทัน หรือเก็บกดมันไว้ การมานิทรรศการครั้งนี้ก็นับเป็นการเปิดบทสนทนากับตนเองที่ดี ไม่ได้ซีเรียสเท่าการไปหาหมอ มันมีความเป็นศิลปะเข้ามาผสมผสาน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ออกแบบและสร้างชุดคำถามทั้งหมดพร้อมกับนักจิตวิทยา ทำให้คนที่มาได้ลองเรียนรู้จิตใจของตัวเอง เพราะเมื่อเรายอมรับมันได้เราก็จะหาวิธีที่จะโอบกอดตัวเองได้ดีขึ้น เพราะสำหรับเราแล้วการได้ลองเผชิญหน้ากับข้างในของตัวเองจริงๆ มันเป็นหนทางที่ดีที่สุดเลยในการจะเป็นเพื่อนกับตัวเอง”
นิทรรศการพาใจกลับบ้านจึงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นที่ผู้ชมสามารถมาใช้เวลาและใคร่ครวญกับอารมณ์ความคิดของตนเองได้มากน้อยเท่าที่ต้องการ ใครอยากจะมาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจในวันสบายๆ กับเพื่อนหรือใครที่อยากมาคนเดียว และตั้งใจมาจริงจังกับทุกคำถามในนิทรรศการครั้งนี้ก็ได้เช่นกัน
“สำหรับคนที่อยากจะมาจริงจัง บางคำถามอาจจะเป็นสิ่งที่เราฟังแล้วอยากจะเบือนหน้าหนี เพราะจี้ใจ นักจิตวิทยาจะเรียกแบบนี้ว่ายาแรง แล้วค่อยตบด้วยยาหวาน บางครั้งมันจำเป็น เพราะถ้ามันไม่สะกิดใจเลย เราก็แค่มองว่ามันสวยงาม ดูจบแล้วกลับบ้าน
การขอบคุณ ขอโทษและให้อภัยตัวเอง ดูเป็นคำถามง่ายๆ แต่พอจะคิดแล้วเขียนออกมามันยากนะ ทั้งการขอบคุณตนเองที่ต้องใช้ความ appeciated มองเห็นข้อดี มองเห็นคุณค่าในตนเอง การขอโทษตัวเองที่ต้องหาความผิดพลาดที่ตัวเราทำลงไปและรู้ว่ามันผิด มันคือการยอมรับตนเอง ส่วนการให้อภัยตนเองมันยิ่ง Beyond ไปกว่านั้นอีก เพราะมันคือการโอบกอดความผิดพลาดนั้นของตนเองจนมันกลายเป็นทั้งหมดของตัวเรา แค่สามข้อนี้มันก็คือยาแรงประมาณหนึ่งเลยนะ” นัทพูดทิ้งท้ายทั้งรอยยิ้ม
นิทรรศการเชิงประสบการณ์ Homecoming พาใจกลับบ้าน เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ที่ Galleria 2-3 ชั้น 2 River City Bangkok ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป และปิดรับคิวเข้าชมรอบสุดท้าย 19.30 น. แอบกระซิบว่าช่วงบ่ายจนถึงเย็นในวันหยุดสุดสัปดาห์ผู้ชมจะค่อนข้างเยอะ อย่าลืมเผื่อเวลาและวางแผนการเดินทาง
Credit:
Photos: Courtesy of River City Bangkok
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- ART-THAI-TIME Bhirasri Institute of Modern Art Revisited AT BACC : ศิลปะ-ไทย-เวลา เยือนย้อนหลังหอศิลป์ ศิลป พีระศรี – โครงการ 100 ปี คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป พีระศรี) ถึงสยาม
- EARLY YEARS PROJECT #6: In A Cogitation เปิดหูเปิดตา ชมนิทรรศการศิลปะหลากแนวคิดจาก 8 ศิลปินรุ่นใหม่ของไทย ในโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินโดย BACC
- Repeat After Me: เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว Everything Everywhere All At Once ภาพยนตร์ที่พา Michelle Yeoh ไปคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Lead Actress) ปีนี้จากทั้งเวที Oscars และ Golden Globes Awards
- Killers of the Flower Moon ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง คดีการสังหารหมู่ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ชนเผ่าโอเสจ (Osage Indian Murders) ในโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกายุคค.ศ. 1920s โดย Martin Scorsese ที่ ทำให้ Leonardo DiCaprio ได้รับเสียงปรบมือจากคานส์นานถึง 9 นาที
- การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ SEVENTEEN และ FML มินิอัลบัมชุดที่ 10 ที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้วงการ K-POP ทำลายสถิติเดิมของ BTS ด้วยยอดขายเฉียด 4 ล้านแผ่นในวันเดียว