SACICT ชวนคุณทำความรู้จักกับ งานจักสานใบเตยปาหนันและผ้าทอนาหมื่นศรี ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าอีกหนึ่ง “ของดีจังหวัดตรัง”
มาจังหวัดตรัง เช็คลิสต์รายการที่ต้องทำแน่นอนว่า คือ “กินหมูย่าง ซื้อกะปิท่าข้าม และขนมเค้ก ( เค้กเมืองตรัง ) ชื่อดังตามชื่อจังหวัด” จริงอยู่ที่ของสามอย่างนี้เป็นของฝากชิ้นยอดนิยม ที่หากใครได้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดตรัง เป็นต้องหาซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านทุกครั้ง แต่ไม่ใช่สำหรับทริปครั้งนี้ เพราะ PADTHAI.CO จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งแง่มุม ของดีจังหวัดตรัง อย่าง “ผ้าทอนาหมื่นศรี และงานจักสานใบเตยปาหนัน” งานหัตถกรรมท้องถิ่น ที่นับได้ว่าเป็นสุดยอดภูมิปัญญาอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ และควรสืบสานความรู้จากรุ่นย่ายาย … สู่รุ่นหลาน และในปัจจุบันก็มีครูช่างของ SACICT เป็นผู้สานต่อ
การเดินทางครั้งนี้เรามุ่งหน้าสู่ 3 อำเภอ คือ อำเภอนาโยง ย่านตาขาว และสิเกา เพื่อเยี่ยมชมและเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเลื่องชื่อของจังหวัดตรัง ซึ่งรับรองเลยว่าหากใครมีโอกาสได้สัมผัสงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอนาหมื่นศรีผืนงาม เสื่อวงกลมจากใบเตยปาหนัน หรือ กระเป๋าสานใบย่อมดีไซน์เก๋ เด็ดจนต้องเดินทางกลับมาซื้อซ้ำอย่างแน่นอน ( ตอนนี้สามารถช้อปออนไลน์ได้ด้วยนะ )
SACICT ชื่อนี้มีแต่งานหัตถศิลป์ชั้นครู
หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรคือ SACICT ( อ่านว่า ศักดิ์สิทธิ์ ) แต่หากพูดถึง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ( องค์การมหาชน ) ทุกคนเป็นต้องร้องอ้อ เพราะที่นี่เป็นองค์กรที่รวบรวมองค์ความรู้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งเพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดงานศิลปาชีพไปสู่คนรุ่นใหม่ และขยายตลาดงานศิลปาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
ซึ่งเร็ว ๆ นี้ ทาง SACICT ได้เตรียมยกระดับงานหัตถกรรม พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นจังหวัดตรัง อาทิ สถาบันการศึกษา ศูนย์การเรียนรู้และชุมชน โดยมีครูช่าง และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เป็นศูนย์กลางการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคสมัยใหม่ โดยการนำเอาเทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงเข้ามาเสริมในกระบวนการผลิตและงานวิจัย หากแต่ยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นไว้เช่นเคย รวมทั้งในอนาคตอันใกล้ทาง SACICT จะมีการขยายการตลาดสู่ระบบ e-commerce เพื่อให้เข้าถึงง่ายและสร้างรายได้ให้แก่ช่างหัตถศิลป์อีกด้วย
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน … SACICT เตรียมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น จ.ตรัง เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และชุมชน โดยมีครูฯและทายาทฯ เป็นศูนย์กลาง การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้โดนใจผู้บริโภคโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงบางอย่างมาใช้โดยยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาไว้ แต่ทำให้ได้ชิ้นงานที่มากขึ้น ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง SACICT ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการย้อมสีธรรมชาติเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิต”
ผ้าทอนาหมื่นศรี ภูมิปัญญาท้องถิ่นตรังที่มีอายุกว่า 200 ปี
ผ้าทอนาหมื่นศรี คือ ผ้าทอท้องถิ่นที่อยู่คู่กับชาวตรังมากว่า 200 ปี ด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ กว่า 32 ลาย อาทิ ลายปลา ลายครุฑ ลายราชวัตร และลายแก้วชิงดวง ซึ่งแต่ละผืนถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคการทอที่ยาก และใช้ระยะเวลานานในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวบ้านในชุมชนได้จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี โดยมีคุณลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 ของ SACICT เป็นผู้สานต่อ
ผ้าตั้ง ผ้าพาด และผ้าพานช้าง คือ ผ้าสามอย่างตลอดชั่วชีวิต ที่หญิงสาวชาวนนาหมื่นศรีมักจะถักทอไว้ มอบให้กับคนรักและลูกหลาน รวมทั้งใช้ในงานพิธีสำคัญ ๆ คุณป้ารอบ หรือ คุณอารอบ เรืองสังข์ ทายาทผู้สืบต่อลายผ้าทอ และประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ณ อำเภอนาโยง คุณป้าเล่าให้เราฟังว่า ตามวิถีของชาวบ้านนาหมื่นศรีในสมัยก่อน หญิงสาวจะทอผ้า 3 ผืนในช่วงชีวิตของเธอ
เริ่มจาก ‘ผ้าตั้ง‘ ผ้าทอสำหรับคนรัก โดยจะนำผ้าใส่พานเตรียมมอบให้กับเจ้าบ่าวในวันแต่งงาน จากนั้นคือ ‘ผ้าพาด’ หรือ ‘ผ้าห่ม’ ผ้าทอจากความรักที่เหล่าแม่ ๆ ทอขึ้นเพื่อตระเตรียมเป็นผ้าห่มนาคให้กับลูกชายในงานบวช และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของช่วงชีวิต ‘ผ้าพานช้าง’ เหล่าผู้เฒ่าจะทอขึ้น 2 ชุด สำหรับเป็นผ้าพาดโรงศพของตนและสามี
นอกจากนี้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ความเป็นมาและอัตลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรี พร้อมรวบรวมผ้าลายโบราณ อาทิ ผ้านุ่งลายลูกแก้วฝูง ( ปี 2483 ) ผ้าพาดลายแก้วกุหลาบ ( ปี 2489 ) ผ้าพานช้างลายดาวล้อมเดือน ( ปี 2530 ) และผ้าพาดลายกระเป๋าครุฑ ( ปี 2535 ) มาให้ได้ศึกษากันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
สามารถอุดหนุนช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ทางออนไลน์ได้ที่ NAMUENSRI CLOTH
ของดีจังหวัดตรัง งานจักสานใบเตยปาหนัน เสื่อผืนกลมที่ไร้รอยต่อ
‘เสื่อสานใบเตยปาหนัน’ ของดีจังหวัดตรังที่มาก่อนกาล
ใครคิดว่าเสื่อทอมือจากใบเตยดูล้าสมัย เราขอให้คุณคิดเสียใหม่ เพราะเสื่อผืนกลมจากตำบลบ้านนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาวแห่งนี้ มีความชิค ลวดลายเก๋ไก๋ไม่แพ้แบรนด์สมัยใหม่ ที่สำคัญผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่เขาทำด้วยความรัก ถักด้วยมือ และความชำนาญอันช่ำชอง
ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT วัย 90 กว่าผู้นี้ มะเป็นครูช่างที่ทำงานจักสานด้วยใบเตยปาหนัน ตั้งแต่สมัยเธอยังเด็ก อายุราว 7 ปี จนถึงตอนนี้ก็ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 80 ปีแล้ว ม๊ะเล่าให้ฟังว่าเอกลักษณ์ของเสื่อปาหนันชุมชนนาชุมเห็ด คือ การสานแบบไร้รอยต่อ เสื่อทุกใบจะถูกขึ้นรูปและเป็นวงกลมอย่างประณีต
‘ต้นลำเจียก’ ‘เตยทุ่ง’ ‘เตยปาหนัน’ ถึงแม้ว่าทั้งสามชื่อจะถูกเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น พืชตระกูลปาล์มชนิดนี้ มักขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะตามริมชายหาด ชายทะเล และป่าโกงกาง นับได้ว่า เตยปาหนัน เป็นพืชท้องถิ่นที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับงานหัตถกรรมภาคใต้
โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนาชุมเห็ดตะเสะ ได้นำใบเตยปาหนันเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นเสื่อทรงวงกลมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่มีหลากหลายลวดลาย อาทิ ลายดวงดาว ลายพระอาทิตย์ และลายพระจันทร์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวกปีกกว้างขึ้นรูปชิ้นเดียวและแบบปีกหยัก กระเป๋าสตางค์ และหวดใส่ไวน์ ของดีจังหวัดตรัง ที่น่าซื้อติดมือไปตกแต่งบ้าน
สามารถเข้าไปเยี่ยมชมงานของมะ ครูอ๊ะ หลงกลาง ได้ที่ SACICT
กรรมวิธีสานใบเตยปาหนัน กล่องใส่ดินสอทำจากใบเตยปาหนัน ขั้นตอนการเตรียมเตยก่อนนำไปสาน
ต่อยอดภูมิปัญญาสานเตยปาหนัน
สู่การสร้างแบรนด์ PANAE เก๋ไก๋ ทันสมัย
เดินทางกันต่อสู่อำเภอสิเกา ที่อำเภอแห่งนี้ก็มีงานจักสานจากใบเตยปาหนันเช่นกัน ซึ่งชุมชนบ้านดุหุนสามมัคคี ได้ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยของบรรพบุรุษ โดยปัจจุบันมีสมาชิก SACICT อย่าง คุณจันทร์เพ็ญ ปูเงิน ทายาทรุ่นที่ 4 และผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตกรดุหุนสามัคคี เป็นผู้สานต่อภูมิปัญญางานจักสานใบเตยปาหนัน
‘เลิดหนาม ลนไฟ ตัด แช่น้ำ ตาก รีด ย้อมสี แล้วจึงสาน’ เป็นขั้นตอนคร่าวๆ ของการทำเครื่องจักสานจากใบเตยปาหนัน พืชท้องถิ่นที่มีหนามตรงขอบใบ แต่ก็เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ สำหรับงานสร้างสรรค์และหัตถกรรมท้องถิ่นประจำจังหวัดตรังแห่งนี้ แม้ว่าจะดูเหมือนงานจักสานทั่ว ๆ ไปที่สามารถเห็นได้ตามท้องตลาด แต่สินค้าทุกชิ้นที่ผลิตขึ้น ณ บ้านดุหุนสามัคคี เกิดจากความรัก และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีการวิจัยและพัฒนาที่ร่วมมือกับทาง SACICT อีกด้วย
และเพื่อที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ คุณจันทร์เพ็ญ ปูเงิน มีการพัฒนสินค้า และต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ ปาแน ( Panae ) ด้วยการนำเอาเอกลักษณ์ และโนว์ฮาว ( Know-how ) ของการสานเตยปาหนัน มาสร้างสรรค์กระเป๋าถือใบเก๋ ที่มีให้เหลือกหลากหลายทรง
ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถไปอุดหุนนกลุ่มแม่บ้านเกษตกรดุหุนสามัคคีกันได้ที่ Facebook: PANAE CRAFT
CREDITS
COURTESY OF SACICT
PHOTOGRAPHY & VIDEO: MAS KIATSERMSAKUL
สามารถอ่านคอนเทนท์เกี่ยวกับงานศิลปะ และ Lifestyle ที่น่าสนใจได้ที่
- “หัตถศิลป์ถิ่นใต้ จากใจย่ายาย สู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่” ล่องจังหวัดตรังกับทีมงาน SACICT
- จักสานบ้านกลางแดด ศิลปหัตถกรรมเมืองนครสวรรค์
- Woven Jewels นิทรรศการผ้าไหมหายาก และเหล่าของสะสมโดย รอล์ฟ วอน บูเรน
- ความเท่าเทียมทางเพศ ที่ถูกตั้งคำถาม ในนิทรรศการ River Waves of the Ocean
- ‘Art in Postcard’ โปรเจ็กต์พิเศษจากหอศิลปกรุงเทพ (BACC) และ 12 ศิลปินชื่อดังที่คุณชื่นชอบ