ศิลปะแซฟไฟร์ที่ Hublot บุกเบิกไว้นั้น ได้มาบรรจบกับความซับซ้อนของกลไกจักรกลทูร์บิญองรุ่นใหม่
“Art of Fusion” (“ศิลปะแห่งการผสมผสาน”) ยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนให้กับ Hublot (อูโบลท์) มากว่า 40 ปี เช่นกันกับการบุกเบิกเส้นทางใหม่ให้กับนวัตกรรมการผลิตและการสร้างสรรค์อย่างผสมผสาน ระหว่างวัสดุ จักรกล และเทคโนโลยีล้ำสมัยของโลกนาฬิกา โดยหนึ่งในผลงานการคิดค้นที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Hublot เป็นอย่างมากตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ ย่อมหนีไม่พ้นการสร้างสรรค์ผลงานด้วยนวัตกรรมวัสดุแซฟไฟร์ใส รวมถึงแซฟไฟร์สีอันโดดเด่นของเรือนเวลารุ่นต่างๆ
แซฟไฟร์ใสนั้นยากในการผลิต แต่การสร้างสรรค์แซฟไฟร์สีนั้นยากยิ่งกว่า โดยก่อนหน้านี้ Hublot ได้เปิดตัวนาฬิกาแซฟไฟร์สีมาแล้วหลากหลายรุ่น และนับตั้งแต่การเปิดตัวแนะนำนาฬิกา Big Bangs รุ่นแรกๆ ที่มาพร้อมกับตัวเรือนแซฟไฟร์ในปี ค.ศ. 2016 โดยยังคงเดินหน้าพัฒนานาฬิกาแซฟไฟร์เหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ขณะที่แต่ละรุ่นเองก็ล้วนมีความยากในการผลิตและการควบคุมคุณภาพแซฟไฟร์สีให้ตรงกับความต้องการและเป้าหมายของแบรนด์ต่างกัน ซึ่งล่าสุด Hublot ได้เผยก้าวอันท้าทายครั้งใหม่ กับการเปิดตัวนาฬิกาแซฟไฟร์สีม่วงครั้งแรกของโลก ทั้งยังเป็นเฉดสีใหม่สำหรับสาขาของการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูง ซึ่งต่อยอดความสำเร็จที่ไม่เคยหยุดนิ่งมาจากเวอร์ชัน Orange Sapphire ของ Big Bang Tourbillon Automatic รุ่นก่อนหน้า ด้วยสีม่วงใหม่ที่ทั้งสดใสและเด่นสะดุดตาไม่น้อย
กระบวนการสร้างสรรค์นาฬิกาแซฟไฟร์รุ่นใหม่นี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเพราะความพิเศษของตัวเรือนแซฟไฟร์สังเคราะห์ในโทนสีม่วงโปร่งแสง ที่เป็นผลลัพธ์มาจากการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้นของ Hublot ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นแซฟไฟร์เฉดสีใหม่แต่ละเฉดนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านการเล่นแร่แปรธาตุ เพื่อให้สามารถผสมผสานเฉดสีที่เปี่ยมด้วยพลัง มีความโดดเด่นและแม่นยำ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติและเสน่ห์หลักๆ ของแซฟไฟร์ที่ยังคงรักษาไว้ ทั้งความโปร่งแสง และความเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ภายในตัวเรือนนาฬิกาซึ่งมีโครงสร้างซับซ้อนสูงอีกด้วย โดยผลลัพธ์ของสีม่วงใหม่นี้มาจากองค์ประกอบของ Al₂O₃ (อลูมิเนียมออกไซด์) และโครเมียม
และนอกเหนือจากสีสันใหม่แล้ว ในเวอร์ชันล่าสุดยังเป็นการมาพบกันระหว่างนวัตกรรมวัสดุสุดล้ำสมัย อย่าง แซฟไฟร์สี และความสลับซับซ้อนสูงของประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกา นั่นคือ ทูร์บิญอง (tourbillon) ที่นับเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความล้ำสมัยและความเชี่ยวชาญซึ่งสะท้อนได้ดีถึงความเป็นช่างนาฬิกาของ Hublot กับสไตล์นาฬิกาทรงกลมของ Big Bang Tourbillon Automatic Purple Sapphire ที่ความโปร่งแสงของแซฟไฟร์สีม่วงทรงเสน่ห์นี้ ยังให้ความรู้สึกเสมือนกับกำลังสวมใส่จักรกลทูร์บิญองไว้บนข้อมือเราโดยตรง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ได้สำรวจแต่ละรายละเอียดของความซับซ้อนนี้ได้อย่างชัดเจน
ในเรือนเวลารุ่นใหม่ ทั้งตัวเรือนและกลไกได้ผสานรวมกัน โดยเฉพาะเพียงตัวเรือนแซฟไฟร์สีนั้นต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ Hublot มีจากการทำงานเพื่อสร้างสรรค์แซฟไฟร์อย่างเต็มที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ Hublot ได้เปิดตัวนาฬิกาแซฟไฟร์มาแล้วหลายรุ่น ทั้ง Big Bang The Big Bang Unico Sapphire (แบบโปร่งใส), All Black Sapphire, Big Bang Unico Red Sapphire และ Blue Sapphire, Spirit of Big Bang Yellow Sapphire หรือรุ่นก่อนหน้าอย่าง Big Bang Tourbillon Automatic Orange Sapphire ที่ทั้งหมดล้วนออกแบบขึ้นโดยความเชี่ยวชาญด้านแซฟไฟร์ของแบรนด์โดยเฉพาะ ขณะที่ความซับซ้อนภายในโครงสร้างตัวเรือนนั้นยังกลายเป็นความท้าทายอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็น ขอบตัวเรือนและองค์ประกอบของตัวเรือนแซฟไฟร์ที่ล้วนผ่านการขัดเงาอย่างประณีตละเอียดอ่อน พร้อมทั้งการติดตั้งด้วยสกรูไทเทเนียมรูปตัว H ทั้ง 6 ตัว อันเป็นไอคอนิกงานดีไซน์เฉพาะตัวของ Big Bang
ส่วนตัวกลไกสลับซับซ้อนของรุ่นนี้ Hublot ได้ใช้ประสบการณ์ 15 ปีของการพัฒนาทูร์บิญอง นับจากการเปิดตัวนาฬิกาทูร์บิญองครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 มาร่วมผสมผสาน โดยภายใต้ความโปร่งแสงของตัวเรือนแซฟไฟร์สีม่วงนี้ เราสามารถมองเห็นความซับซ้อนในชิ้นส่วนประกอบกลไกและการทำงานของจักรกลไขลานอัตโนมัติทูร์บิญอง ซึ่งมอบพลังงานสำรองได้อย่างล้นเหลือถึง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน จากการพัฒนาทั้งระบบไขลาน และการใช้นวัตกรรมวัสดุของชิ้นส่วนประกอบ เช่น ไมโคร-โรเตอร์ (micro-rotor) ที่แทรกลงสู่ใจกลางของกลไก หรือลูกบอลรองรับเซรามิก (ceramic ball bearing) ที่ช่วยยกระดับด้านประสิทธิภาพให้กับกลไกการทำงานและนาฬิกาได้อย่างดี ขณะที่ ไมโคร-โรเตอร์ ยังติดตั้งไว้ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในการประดิษฐ์นาฬิกา เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความสวยงามโดดเด่น และได้สมดุลไปกับตำแหน่งของจักรกลทูร์บิญองหมุนรอบหนึ่งนาที ซึ่งติดตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา รวมถึงหน้าปัดและกลไกที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวด้วยสไตล์สเกเลตัน และการตกแต่งชิ้นส่วนกลไกอย่างประณีต ทั้งการตกแต่งแบบแซนด์บลาสต์ (sandblasted) ตลอดจนเข็มชี้และมาร์กเกอร์บอกชั่วโมงเคลือบด้วยสารเรืองแสง
มาพร้อมสายยางสีม่วงโปร่งใสและการตกแต่งด้วยแถบเส้นนูน รวมถึงคุณสมบัติของ One Click จดสิทธิบัตรโดยแบรนด์ ที่ช่วยให้สามารถถอดเปลี่ยนสายได้อย่างง่ายดาย กับตัวพับล็อกสายไทเทเนียม และที่สำคัญ ผลงานอันล้ำสมัยรุ่นนี้ผลิตขึ้นเพียงจำนวนจำกัด 50 เรือนเท่านั้น
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF HUBLOT
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่