“คนเราอยู่ในสังคมแคบ สังคมเล็ก ก็อาศัยความง่ายกันเป็นหลักโดยที่ไม่รู้ตัว ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน ซื้อกับข้าวกับปลาในตลาด เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ บรรจุภัณฑ์ที่เราใช้ เราบริโภค เพียงแค่ไม่กี่นาทีก็สร้างขยะกันแล้วโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว” ถ้อยคำที่บอกเล่าความอัดอั้นตันใจที่วิโรจน์ กล่อมมานพ ครูช่างไทยแห่งวิทยาลัยช่างศิลป์ มีต่อพฤติกรรมการใช้พลาสติกในปัจจุบัน
ครั้งหนึ่งวิโรจน์เคยร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินที่วาดภาพในโครงการ CSR เพื่อนำรายได้จากการประมูลไปพัฒนาแหล่งอาหารพะยูนอย่างหญ้าทะเล ณ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม วิโรจน์จึงมองเห็นและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับพะยูนในไทยที่กำลังถูกรุกรานที่อยู่อาศัยอย่างหนัก ต้องเผชิญกับมลภาวะ การขาดแคลนแหล่งอาหาร และอีกหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สมดุลธรรมชาติภายในท้องทะเลเสื่อมโทรม ก็คือขยะพลาสติก
”there is nowhere left in the world that is safe — plastic is ubiquitous”
“ไม่มีที่ใดบนโลกอีกแล้ว ที่ขยะพลาสติกไปไม่ถึง”
คำพูดนี้ของ เจนนิเฟอร์ เลเวอร์ส (Jennifer Lavers) นักพิษวิทยานิเวศชาวออสเตรเลียแทบจะพิสูจน์ให้เราเห็นในทุกวันผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ถึงผลกระทบที่เกิดจากพลาสติก
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเสียชีวิตของ มาเรียม พะยูนตัวน้อยแห่งเกาะลิบงที่ผลัดหลงกับแม่ และเสียชีวิตโดยพบสาเหตุจากการชันสูตรว่า มาเรียมมีอาการช็อกเนื่องจากเศษพลาสติกขนาดเล็กขวางลำไส้จนเกิดการอุดตันและอักเสบ นำไปสู่แก๊สสะสมในทางเดินอาหาร ปอดเป็นหนอง และติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้ช็อกและเสียชีวิตในที่สุด
ขยับให้ไกลอีกนิด ที่ ประเทศกรีนแลนด์ กับปรากฏการณ์ธารน้ำแข็งละลายเนื่องจากสภาวะโลกร้อนจนทำให้เหล่าสุนัขลากเลื่อนต้องวิ่งลากแพลุยน้ำ และยิ่งการละลายของธารน้ำแข็งในหลายภูมิภาคเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ ก็เท่ากับยิ่งทวีความรุนแรงให้สภาวะโลกร้อนเท่านั้น
ด้วยปริมาณการใช้พลาสติกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผนวกเข้ากับความย่อยสลายยาก การจัดการขยะพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาในหลากหลายประเทศ รวมทั้งในไทยด้วย ขยะพลาสติกถูกกำจัดด้วยวิธีการเผาทั้งในเตาเผาและที่โล่ง และบางส่วนก็จบลงด้วยการถูกทิ้งในแหล่งน้ำและกระจายไปสู่ทะเล (ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการจัดการพลาสติกโดยใช้การฝังกลบแบบผิดวิธีที่ทำให้เกิดสารพิษในดินระหว่างการย่อยสลายด้วย!)
เราอาจพูดได้ว่าผลกระทบเรื่องความยั่งยืนที่หนักหนาสาหัส ซึ่งโลกของเรากำลังเผชิญอยู่นี้มีต้นเหตุมาจากพลาสติกแต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปที่ต้นตอจริงๆ ก่อนที่ขยะจะไหลจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรล่ะ ใครกันแน่ที่เป็นต้นเหตุ ระหว่างพลาสติกที่ถูกใช้สอยเพื่ออำนวยความสะดวกในระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่กลับมีวงจรการย่อยสลายที่ยาวนาน หรือการบริโภคของมนุษย์กันแน่ ที่สร้างขยะพลาสติกในปริมาณมากมายด้วยความเคยชินโดยที่เราไม่รู้ตัว
ลองคิดง่ายๆถึงกาแฟ 1 แก้วที่เราซื้อจากร้านกาแฟในตอนเช้าก่อนไปทำงาน ใช้เวลาดื่มไม่กี่ชั่วโมง แต่สามารถสร้างขยะพลาสติกได้ถึง 3 ชิ้นจากหลอด แก้ว และฝาครอบแก้ว
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจบอกว่า ก็แค่ 3 ชิ้นเอง!
งั้นเราลองสมมติเล่นๆ ว่าหากเราดื่มกาแฟ 1 แก้วทุกวัน ตั้งแต่อายุ 20 ปี จนกระทั่งเข้าสู่วัยเกษียณที่อายุ 60 ปี เราจะสร้างขยะมากถึง 43,800 ชิ้น! (นี่แค่กาแฟแก้วเดียวของคนๆเดียวต่อวัน! แล้วลองคิดดูสิว่าวันๆหนึ่งที่เราบริโภคและจับจ่ายใช้สอยสิ่งต่างๆมากกว่าแค่กาแฟหนึ่งแก้ว เราเผลอใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็นไปมากเท่าใด)
การใช้กระบอกน้ำและแก้วน้ำส่วนตัวจึงไม่ใช่ ‘เรื่องแค่นี้’ อีกต่อไป เพราะยิ่งเราลดการใช้ขยะพลาสติกอย่างสิ้นเปลืองเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น