มุ่งหน้าสู่การเป็นเมือง Soft Power แห่งเอเชีย! ต้อนรับศักราชใหม่ด้วย BANGKOK FILM FESTIVAL 2023 เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร งานเทศกาลภาพยนตร์และกิจกรรมสำหรับคนรักหนัง
แม้จะะเจอพิษของ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบให้วงการหนังทั่วโลกต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ แต่หากมาไล่เรียงดูแล้ววงการหนังไทยในช่วง 2-3 ปีหลังก็ยังคงต่อสู้อย่างแข็งแกร่งและสร้างปรากฏการณ์ที่น่าประทับใจทั้งในเวทีภาพยนตร์ในไทยและระดับโลก ล่าสุดกรุงเทพมหานครจึงไม่รีรอที่จะสานต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อผลักดันกรุงเทพสู่การเป็นเมือง Soft Power ของเอเชียด้วยการประกาศจัดงาน BANGKOK FILM FESTIVAL 2023 เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ในเดือนมกราคม
เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และการนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์เป็นผลงานภาพยนตร์ กระตุ้นให้ประชาชนทั้งระดับเยาวชน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเกิดความสนใจและมีพื้นที่ในการเรียนรู้ด้านภาพยนตร์มากขึ้นเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ยั่งยืน รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบให้กับกรุงเทพมหานคร
หลังจากในปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมากิจกรรม ‘กรุงเทพฯกลางแปลง’ ก็ได้สร้างความคึกคักและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งพาชาวกรุงเทพผ่อนคลายไปกับบรรยากาศของงานมหสพอย่างการฉายหนังกลางแปลง โดยหยิบภาพยนตร์ไทยเนื้อหาดีทั้งเก่าและใหม่มาฉายให้ชมฟรีตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพกว่าสิบแห่ง รวมทั้งใจกลางเมืองอย่างสยามสแควร์และสวนรถไฟ โดยหยิบเอาภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอย่างรักแห่งสยาม (2550) และหนังไทยที่ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมาอย่าง 4Kings (2564) มาฉายซ้ำให้ได้ชมกัน
รวมทั้งภาพยนตร์ที่น่าสนใจอีกกว่า 25 เรื่อง อาทิ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) ภาพยนตร์ไทยสุดสยองที่ดังไกลไปทั่วโลกของโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับเจ้าพ่อหนังสยองขวัญ One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564) ภาพยนตร์จากบาส ณัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ได้โปรดิวเซอร์และผู้กำกับระดับโลกอย่างหว่องกาไวมาร่วมงาน และ School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2563) สารคดีน้ำดีการันตีรางวัลสุพรรรหงส์จากเบสท์ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย
ในปีนี้กิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ จึงหันมากระตุ้นให้ประชาชนได้ลองเป็นผู้สร้างสรรค์ ด้วยการจัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับภาพยนตร์ รวมทั้งกิจกรรมเวิร์คช็อปเทคนิคพิเศษด้านภาพยนตร์ ทั้งการตัดต่อ ถ่ายทำและเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านการทำหนังสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ที่มาร่วมงานในการเริ่มสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของตนเองได้
นอกจากนั้นเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ยังมีกิจกรรมจัดประกวดภาพยนตร์สารคดีสั้นกรุงเทพฯ ในหัวข้อ Connecting Bangkok 2030 (เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร 2030) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่อายุไม่เกิน 28 ปี ร่วมกันตีความและส่งผลงานหนังสั้นความยาวไม่เกิน 10-15 นาที เพื่อสะท้อนมุมมองต่อกรุงเทพมหานครในฐานะ Smart City ในอนาคต โดยอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายทำไม่จำกัดว่าจะเป็นกล้องดิจิตัลหรือกล้องโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นไม่ว่าใครก็สามารถร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้เพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท
อีกหนึ่งความน่าสนใจในเทศกาลเปิดตัวเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ คือการมาร่วมงานของฐา ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับสาวมากความสามารถจากภาพยนตร์ Blue Again (2565) และอาร์ม ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต โปรดิวเซอร์ของเรื่อง หลังจากได้พาภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ไปฉายและเข้าชิงรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ไกลถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 27
โดยเนื้อหาใน Blue Again เล่าถึงเด็กสาวชาวสกลนครที่มาเรียนแฟชั่นดีไซน์ในกรุงเทพฯ เพราะหวังว่าจะสามารถนำความรู้ที่มีกลับไปต่อยอดธุรกิจผ้าย้อมครามของครอบครัว แต่การใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพก็ไม่ง่ายเลยสำหรับเธอที่รู้สึกเป็นอื่นกับสังคมรอบข้างอยู่ตลอดเวลา
ภาพยนตร์ไทยอินดี้อย่าง Blue Again ได้รับเสียงชื่นชมในฐานะภาพยนตร์อิสระที่ไม่มีการสนับสนุนจากสตูดิโอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และนำเสนอเนื้อหารวมทั้งประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องความเป็นอื่นหรือแปลกแยกจากสังคม รวมทั้งอ้างอิงถึงครามสกล ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผ้าครามที่โด่งดังของจังหวัดสกลนคร ทำให้ฐาปณีเป็นตัวแทนของผู้กำกับที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของคนทำหนังไทยที่สามารถต่อยอดและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปสู่สากลได้
ส่วนอาร์ม ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต โปรดิวเซอร์ของเรื่องที่เคยคว้ารางวัลสุพรรณหงส์จากภาพยนตร์ Mary is happy, Mary is happy (2556) ของผู้กำกับ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing) ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่เต๋อเริ่มต้นงานผู้กำกับในวงการกับสตูดิโอขนาดเล็กเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่าคนทำหนังไทยเองก็มีศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ และประสบความสำเร็จได้เช่นกันหากมีสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนวัฒนธรรมการทำหนังในไทย
BANGKOK FILM FESTIVAL 2023 : เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม พ.ศ. 2566 บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (BACC) โดยจะมีการจัดมีกิจกรรมเสวนาและเวิร์คช็อปเกี่ยวกับเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ การแสดงวงดนตรีเยาวชน จัดฉายภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติในรูปแบบของหนังกลางแปลง รวมทั้งมีการฉายภาพยนตร์สั้นที่ชนะการประกวดให้ได้ชมกันด้วย
ผู้สนใจส่งผลงานหนังสั้นเข้าประกวดในหัวข้อ Connecting Bangkok 2030 (เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร 2030) สามารถส่งผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 มกราคมนี้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.pr-bangkok.com และ Facebook Page: กรุงเทพมหานคร
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF PRBANGKOK AND BACC
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- รีวิวหลังดูจบแบบไม่สปอยล์ : รู้ซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต บทสรุปของดินแดนมรณะของอลิส และเกมไพ่หน้าคนที่มีความตายเป็นเดิมพันใน Alice in Borderland อลิสในแดนมรณะ ซีซัน 2
- BTS จับมือ Disney+ เตรียมนำเสนอภาพยนตร์สารคดีดนตรี BTS Monuments : Beyond the Star เล่าเรื่องราว 9 ปีในวงการดนตรีของวง BTS พร้อมสารคดีเดี่ยวของ JHOPE เตรียมเข้าฉายปีหน้าบน Disney+ Hotstar เท่านั้น
- ลองฟัง: NIRUN (นิรันดร์) ผลงานใหม่จาก Txrbo และการร่วมงานกับ BAY6IX และ LALA สองศิลปินจากสปป.ลาวในโปรเจค ASEAN SOUND โปรเจกต์เชื่อมสัมพันธ์วงการเพลงไทยไปสู่ตลาดเพลงโลก ของค่ายเพลง High Cloud Entertainment
- เปิดสองเรื่องเล่าจากถ้ำหลวงใน Thirteen Lives : สิบสามชีวิต และ Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง 2 ผลงานใหม่บนสตรีมมิ่งเจ้ายักษ์ Netflix และ Disney+ Hotstar ที่สร้างจากเรื่องจริงของเหตุการณ์ภารกิจกู้ชีพนักกีฬาและโค้ชรวม 13 ชีวิตจากทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ในปีค.ศ. 2018
- Squid Game กวาด 6 รางวัลจาก Emmy Awards อีจองแจคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เตรียมโกอินเตอร์ร่วมงาน Lucus Film ผู้กำกับเผย อยากชวนลีโอนาโด ดิคาปริโอมาร่วมแสดงรับเชิญในภาค 3 ที่กำลังอยู่ระหว่างการเขียนบท