ปีค.ศ. 2021 จะเป็นปีฉลองครบรอบ 220 ปี ของการประดิษฐ์คิดค้นจักรกลสลับซับซ้อนสูงสุดสำหรับเรือนเวลา ที่เรียกขานกันว่า Tourbillon
The History of Tourbillon (ตูร์บิญอง) นับเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์จักรกลสลับซับซ้อนที่สุดตลอดกาลในโลกแห่งเรือนเวลา ซึ่งคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นโดยนักสร้างสรรค์ระดับตำนานของโลก ที่จะเป็นชื่อใดไปไม่ได้ นอกจาก Abraham-Louis Breguet (อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์)
พัฒนาขึ้นเมื่อ 220 ปีก่อน โดย Abraham-Louis Breguet (1747-1823) แต่จวบจนวันนี้ Tourbillon ก็ยังคงครองตำแหน่งการเป็นหนึ่งในความสลับซับซ้อนสูงสุดทางจักรกลสำหรับเครื่องบอกเวลา รวมทั้งมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากผู้สืบทอดโดยตรงอย่าง House of Breguet ทั้งยังถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยแบรนด์ต่างๆ อีกมากมาย ขณะที่ Tourbillon ของ Breguet ยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยแห่งศตวรรษที่ 19 อีกมากมาย ซึ่งรวมไปถึง Bahne Bonniksen (เบน บอนนิกเซ่น) ที่อาศัยข้อมูลการสังเกตการณ์ของ Breguet มาเพื่อสร้างสรรค์จักรกล Carousel (การูเซล)
ทว่า เหตุใด Tourbillon จึงเป็นที่สนอกสนใจของเหล่านักประดิษฐ์เรือนเวลา เช่นเดียวกับผู้ที่หลงใหลในนาฬิกาจักรกล นั่นก็เพราะสิ่งประดิษฐ์นี้เปรียบเหมือนชัยชนะของมนุษย์เหนือกฎแห่งธรรมชาติ เพราะ Tourbillon ไม่เพียงเป็นตัวแทนของศิลปะจักรกลอันสวยงาม แต่ยังเป็นผลลัพธ์มาจากการวิจัย และศึกษาอย่างแม่นยำทางฟิสิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในการผจญภัยของมนุษย์ที่สำคัญ รวมไปถึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมเรือนเวลาจักรกลเอง
โดยต้นกำเนิดของ Tourbillon เกิดขึ้นจากความคิดอันชาญฉลาดของบุรุษนามว่า Abraham-Louis Breguet จาก Neuchâtel (เนอชาเตล) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ที่เริ่มต้นเป็นช่างนาฬิกาฝึกหัด และยังคงฝึกฝนฝีมือจวบจนย้ายไปยังแวร์ซายและปารีส ในวัย 15 ปี และ ณ เมืองหลวงของฝรั่งเศสนี้เอง ที่ Breguet ได้เดินหน้าศึกษาด้านทฤษฎี โดยเฉพาะที่ Mazarin College (มาซาแร็ง คอลเลจ) ซึ่งทำให้เขาเป็นบุรุษที่เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้ทั้งทางด้านวัฒนธรรมเชิงศาสตร์ ตลอดจนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และเมื่อ Breguet ได้ก่อตั้ง House ของเขาเองขึ้นที่ Île de la Cité (อีล เดอ ลา ซีเต) ในปีค.ศ. 1775 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาได้นำเสนอแนวคิดของ Tourbillon และยื่นจดสิทธิบัตรอยู่นั้น เขาก็ถือได้ว่าเป็นช่างนาฬิกาที่มีเครดิตดีเยี่ยม โดยเฉพาะจากบรรดาผลงานสร้างชื่ออย่างนาฬิกา “Perpétuelle” (แปร์เปตูเอล หรือ Perpetual ในภาษาอังกฤษ) หรือ self-winding ที่สามารถดึงดูดใจทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และ พระนางมารี อองตัวเน็ต (King Louis XVI และ Queen Marie-Antoinette) ก่อนที่จะได้รับความนิยมชมชอบอย่างแพร่หลายโดยราชสำนักแห่งแวร์ซาย บวกกับนวัตกรรมทางเทคนิคอีกมากมาย และด้วยงานออกแบบที่สง่างามคลาสสิก ซึ่งนั่นทำให้ Breguet กลายเป็นนักบุกเบิกสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก เช่นกันกับเริ่มมีการเลียนแบบผลงานของเขา
ในปีค.ศ. 1793 Breguet จำต้องหวนคืนสู่บ้านเกิดจากเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) โดยกลับมาอาศัยในสวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลาสองปี จากนั้นจึงกลับไปยังปารีสอีกครั้งในปีค.ศ. 1795 และเป็นโอกาสที่ House ของเขาได้นำเสนอผลงานมากมายให้กับลูกค้า เช่นเดียวกับผลงานใหม่อย่างนาฬิกา tactile (แทกเทิล) ที่สามารถอ่านค่าเวลาได้โดยการสัมผัส ไปจนถึง Sympathique clock (แซงปาติก คล็อก เสมือนนาฬิกาตั้งโต๊ะ แต่สามารถนำนาฬิกาพกมาวางไว้เหนือหน้าปัด ในตำแหน่งตรงกับ 12.00 น. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหานาฬิกาพกที่คลาดเคลื่อน) และ constant-force escapement รวมไปถึงจักรกลใหม่ที่เรียกขานกันว่า “Tourbillon regulator” ซึ่งนับเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ท้าทายกฎฟิสิกส์ ที่ Breguet อาศัยการศึกษาและสังเกตการณ์เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของจักรกลอกหรือ escapement ซึ่งย่อมส่งผลต่อไปยังความเที่ยงตรงของเรือนเวลา
The History of Tourbillon – Patent
กระทั่งตระหนักว่าเขาไม่มีทางฝืนกฎของแรงโน้มถ่วงและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขยายของโลหะและน้ำมันภายในจักรกลอกได้ทั้งหมด แต่ทำได้เพียงการแก้จากรอบๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งนำมาสู่การใช้วิธี “ชดเชย” ผลกระทบจากกฎทางฟิสิกส์ที่มีต่อประสิทธิภาพการทำงานภายในชิ้นส่วนจักรกล และเปลี่ยนเป็นความสม่ำเสมอในอัตราการทำงานแทน ซึ่งทางออกนั้นก็คือการคิดค้น Tourbillon
ตั้งชื่ออ้างอิงจากระบบดาวเคราะห์และการหมุนบนแกนเดียว หรือพลังงานที่ทำให้ดาวเคราะห์ต่างๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นคำที่ Breguet เลือกมาใช้และแสดงให้เห็นว่าเขาได้ศึกษาและสังเกตการณ์การโคจรของโลกมาแล้วจนสามารถนำมาจำลองใช้กับจักรกล Tourbillon สำหรับเครื่องบอกเวลาได้สำเร็จ โดยประกอบขึ้นด้วยอุปกรณ์สำหรับ regulation อย่าง balance spring และ transfer อย่าง escape wheel และ lever ซึ่งติดตั้งภายในกรงหมุนอย่างสม่ำเสมอเหมือนกับดาวเคราะห์ และแม้ต้องผ่านอุปสรรคมากมายในระหว่างการยื่นสิทธิบัตร แต่ท้ายที่สุดสิ่งประดิษฐ์นี้ก็ได้รับสิทธิบัตรมาได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ปีค.ศ. 1801 หรือ 7th Messidor year IX ตามปฏิทินแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
จากนั้น Tourbillon ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาทั้งทางด้านประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรักษาไว้ซึ่งอัตราความเที่ยงตรงเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดทั้งแนวตั้ง แนวนอน หรือมุมเอียงของนาฬิกา ซึ่งเป็นหัวใจที่ Tourbillon ของ Breguet เอาชนะได้ โดยเขาและทีมทำงานสามารถผลิตนาฬิกา Tourbillon ได้ทั้งหมด 40 เรือนในช่วงปีค.ศ. 1796 ถึง 1829 ซึ่งล้วนเป็นที่ยอมรับ รวมถึงได้รับการชื่นชมและชื่นชอบโดยเหล่าลูกค้า โดยเฉพาะกษัตริย์และราชวงศ์ของประเทศต่างๆ ทั้งสเปน รัสเซีย และบุคคลสำคัญจากยุโรป และบางส่วนของนาฬิกา Tourbillon เหล่านี้ยังถูกนำไปใช้ในการเดินเรือของบรรดาเจ้าของเรือหรือนักแล่นเรือที่ใช้นาฬิกาในการช่วยนำทาง รวมถึงคำนวณลองติจูด ขณะที่บางส่วนอยู่ในครอบครองโดยนักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าอีกด้วย
ด้วยเพราะความเที่ยงตรงที่ยกระดับขึ้นของนาฬิกา Tourbillon บวกกับประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ที่ถือเป็นตำนานครั้งยิ่งใหญ่ของโลกเรือนเวลา นาฬิกา Tourbillon จากยุคเดียวกันกับนักประดิษฐ์คิดค้นท่านนีจึงยังคงเป็นที่ถวิลหาของบรรดานักสะสม นักประวัติศาสตร์ และบุคคลผู้ซึ่งมีบทบาทในโลกแห่งการประดิษฐ์นาฬิกามากมาย นับจาก George IV of England ไปจนถึง Sir David Salomons หรือจาก George Daniels มาจนถึง Nicolas G. Hayek ขณะที่ผลงาน Tourbillon บางเรือนยังได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เช่นเดียวกับนาฬิกา Tourbillon สามเรือนที่เป็นคอลเลกชั่นมรดกของ Breguet Museum ส่วนอีกห้าเรือนเก็บรักษาไว้ใน British Museum และพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ทั้งในอังกฤษ อิตาลี เยรูซาเลม และนิวยอร์ก กับอีกสิบห้าเรือนที่อยู่ในคอลเลกชั่นส่วนตัวของนักสะสม และเมื่อไม่กี่ปีมานี้เราก็มีโอกาสได้เห็นนาฬิกา Tourbillon บางเรือนบนเวทีประมูลครั้งใหญ่ๆ ด้วยเช่นกัน
และในปีพิเศษของการฉลอง 220 ปี ของ Tourbillon นี้ Maison Breguet ในฐานะผู้สืบทอดมรดกแห่ง Tourbillon โดยตรงจากผู้ก่อตั้ง ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้อารักขามรดกทางปัญญาและผลงานรุ่นสำคัญของ Breguet ไว้เท่านั้น แต่ยังได้นำแนวคิดมาปรับประยุกต์สู่การสร้างสรรค์และผลิตนาฬิกาพก Tourbillon รุ่นใหม่ๆ ซึ่งเคยมีจำหน่ายในช่วงยุค 1920s และ 1950s และมีเพียงลูกค้าคนสำคัญเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เห็นและครอบครอง กระทั่งในช่วงกลางยุค 1980s นาฬิกา Tourbillon ของ Abraham-Louis Breguet จึงได้ปรากฏโฉมขึ้นอีกครั้ง แต่อยู่ภายใต้รูปลักษณ์ใหม่ของการลดขนาดตัวเรือนลงกลายเป็นนาฬิกาข้อมือ และแน่นอนว่านั่นเองได้สานต่อความรุ่งโรจน์และความสำเร็จของเรือนเวลา Tourbillon ที่เป็นตัวแทนของการปฏิวัติในโลกนาฬิกา ซึ่งแม้ผ่านไปแล้ว 220 ปีก็ยังคงเป็นดั่งมรดกอันล้ำค่าตลอดกาล
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF Breguet
MUSIC: https://www.chosic.com/
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่