Bovet 19Thirty Fleurier: Swiss Made Haute Horlogerie



Bovet 19Thirty Fleurier ณ รุ่งอรุณแห่งศตวรรษที่ 21 Pascal Raffy ได้ตัดสินใจบางอย่างที่กลายเป็นก้าวสำคัญในโลกแห่งนาฬิกาสวิส และทำให้ชื่อของเขาเองไม่อาจแยกห่างจากแบรนด์ Bovet 1822 ได้เลยนับตั้งแต่นั้นมา



Bovet 19Thirty Fleurier
กว่าจะมาเป็นความสวยงามของ Bovet 19Thirty Fleurier

Bovet 19Thirty Fleurier (โบเวต์ ไนน์ทีนเธอร์ตี้ เฟลอริเย่ร์) ก่อนจะกล่าวถึงนาฬิการุ่นล่าสุด ขอย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของแบรนด์ คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและหลงใหลในนาฬิกาหัตถศิลป์เรือนสวยแล้ว ชื่อของ โบเวต์ 1822 (Bovet 1822) ย่อมปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเพราะการเป็นผู้ผลิตเรือนเวลาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึงเกือบสองร้อยปี นับตั้งแต่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองขึ้นในปีค.ศ. 1822 กับความโดดเด่นของการติดตั้งเม็ดมะยมไว้ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา พร้อมทั้งงานดีไซน์โค้งแบบโบ ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมถึงการผสมผสานด้วยทั้งศิลปะและงานฝีมือชั้นยอดที่ทำให้ชื่อของ Bovet ขจรขจายไปไกลข้ามทวีป

Bovet ถือกำเนิดขึ้นโดยฝีมือของ Edouard Bovet (เอดูอารด์ โบเวต์) ช่างนาฬิกาผู้สืบทอดสายเลือดช่างนาฬิกาแห่ง Fleurier (เฟลอริเยร์) มาจากบิดาของเขา โดยแรกเริ่มจดทะเบียนบริษัทขึ้นในลอนดอน ด้วยเป้าหมายของธุรกิจเพื่อทำการค้าขายนาฬิการ่วมกับจีน กระทั่งบริษัทได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้ย้ายศูนย์การผลิตมายังเมือง Fleurier พร้อมทั้งต่อยอดชื่อเสียงของนาฬิกา Bovet ให้เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกลักษณ์และความโดดเด่นของการเป็นเรือนเวลาแห่งศิลปะการตกแต่งอันวิจิตรงดงาม และนั่นยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Edouard Bovet ได้เป็นผู้บุกเบิกการใช้ฝาหลังแบบกระจกใส เพื่อเปิดโชว์ให้เห็นความเชี่ยวชาญชั้นยอดด้านจักรกลของตน เช่น Duplex escapement ซึ่งติดตั้งอยู่ในกลไกของนาฬิกา Bovet มานับตั้งแต่ปีค.ศ. 1822 จวบจนกระทั่ง Swiss lever escapement ได้เข้ามาแทนที่

Bovet 19Thirty Fleurier ศิลปะแห่ง Bovet กับอีกหนึ่งศาสตร์ของงานวาดภาพจำลองขนาดจิ๋ว
ศิลปะแห่ง Bovet กับอีกหนึ่งศาสตร์ของงานวาดภาพจำลองขนาดจิ๋วที่นำมาใช้รังสรรค์เรือนเวลา

นอกจากชื่อเสียงทั้งด้านศิลปะงานฝีมือและกลไกจักรกลชั้นเลิศแล้ว Bovet House ที่เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1830 และตั้งอยู่ใน Fleurier เองก็โด่งดังเป็นที่รู้จักไม่แพ้กัน โดยมักถูกเรียกขานกันว่า “The Chinese Palace” จากชื่อเสียงของแบรนด์เองที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในจีน จนกระทั่งปีค.ศ. 1905 อาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นศาลากลางเมืองด้วยชื่อว่า “Hôtel de Ville” (โอเต็ล เดอ วิลล์) และ ณ ปัจจุบัน กลายเป็นที่ตั้งขององค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการนาฬิกา อย่าง Fleurier Quality Foundation ซึ่งแน่นอนว่ามีแบรนด์ Bovet เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งด้วย

Bovet 19Thirty Fleurier Pascal Raffy ผู้เข้ามาดูแล House of Bovet
Pascal Raffy ผู้เข้ามาดูแล House of Bovet ในฐานะเจ้าของบริษัทเมื่อปี 2001

เมื่อเข้าสู่ยุคของ Pascal Raffy (ปาสกาล ราฟฟี่) นักธุรกิจผู้เปี่ยมล้นด้วยแรงบันดาลใจ ความหลงใหล และมีวิสัยทัศน์ด้านเรือนเวลาได้เข้ามาดูแล House of Bovet (เฮ้าส์ ออฟ โบเวต์) ในฐานะเจ้าของบริษัทเมื่อปีค.ศ. 2001 กับเป้าหมายสูงสุดคือการสืบทอดไว้ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะของเหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์เรือนเวลาของแบรนด์ ไปพร้อมๆ กับหวนคืนสู่การผลิตกลไกจักรกลขึ้นทั้งหมดภายในโรงงานของตนเอง รวมทั้งยกระดับให้ Bovet เป็นดั่งศิลปะชิ้นเอกของการประดิษฐ์สร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง ซึ่งนั่นก็ไม่ทำให้ผู้ที่รักและนิยมชมชอบความคลาสสิกร่วมสมัยของเครื่องบอกเวลาต้องผิดหวัง โดยเฉพาะในกลุ่มนักสะสมเรือนเวลา

แม้จะมีประวัติศาสตร์ไปจนถึงมรดกผลงานอันเปี่ยมด้วยคุณค่ามากมายจาก House of Bovet แต่ภายใต้การนำของ Pascal Raffy เขาเองก็ไม่หยุดที่จะพัฒนา และต่อยอดความโดดเด่นของแบรนด์นาฬิกาอันเก่าแก่ไปสู่มิติอื่นๆ ทั้งด้านคุณภาพของกลไกจักรกลไปจนถึงงานดีไซน์ และศิลปะการตกแต่งเรือนเวลา ที่ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่หรือประเพณีดั้งเดิม ก็ล้วนถูกหล่อหลอมอยู่ในนาฬิกาคอลเลกชั่นหลักต่างๆ ได้อย่างสวยเด่นและงดงามเสมอ โดย ณ ปัจจุบัน หากไม่นับรวมผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษแล้ว Bovet มีคอลเลกชั่นเรือนเวลาที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวกว่า 7 คอลเลกชั่น โดยเฉพาะไฮไลต์ของปีนี้กับการเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ ชื่อเท่ๆ 19Thirty (ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก นาฬิกาพกโบเวต์ช่วงทศวรรษ 1930) ที่นับเป็นสมาชิกคอลเลกชั่นล่าสุด ภายใต้ร่มเงาของ Bovet 1822

Bovet 19Thirty Fleurier หน้าปัดสีแดงเข้มแกะลาย guilloché
หน้าปัดสีแดงเข้มแกะลาย guilloché ตัดกับฉากหลังสีดำตกแต่งด้วยลวดลาย Côtes de Genève
Bovet 19Thirty Fleurier ฝาหลังกระจกแซฟไฟร์ใส
ฝาหลังกระจกแซฟไฟร์ใส โชว์ความซับซ้อนและประณีตละเอียดอ่อนของกลไก

19Thirty Fleurier นาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ตัวเรือน Fleurier ซึ่งนับเป็นมรดกเก่าแก่และเป็นสัญลักษณ์แห่งสองศตวรรษของการประดิษฐ์สร้างสรรค์นาฬิกาของแบรนด์ ทั้งเม็ดมะยม และโบคล้องที่ติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ตามต้นตำนานของบรรดานาฬิกาพกแห่งศตวรรษที่ 19 มาเป็นโจทย์ในการตีความใหม่สู่ความสง่างาม ทันสมัย และคงความประณีตวิจิตรของงานตกแต่ง ทั้งเม็ดมะยมและปลายบานพับฝังด้วยแซฟไฟร์หลังเบี้ย โดยรุ่นใหม่ของปีนี้ เป็นเรือนเวลาหรูหราเหมาะกับสุภาพบุรุษออกงานสำคัญๆ ยามค่ำคืน มาพร้อมตัวเรือนขนาด 42 มม. เลือกได้ในเวอร์ชั่นทำจากเรดโกลด์ และสเตนเลสสตีล และ Pascal Raffy ยังได้รังสรรค์ความพิเศษสุดให้กับรุ่นนี้ด้วยหน้าปัดเฉดสีแดงเข้ม พร้อมทั้งงานตกแต่ง guilloché (กีโยเช่) ไล่รัศมีจากศูนย์กลางของทั้งหน้าปัดใหญ่และหน้าปัดเล็กได้อย่างวิจิตรบรรจง ขณะที่หน้าปัดสีแดงเด่นนี้ยังตัดกับฉากหลังสีดำที่ตกแต่งด้วยลวดลาย Côtes de Genève (โก้ตส์ เดอ เชอเนฟ) ประณีต ส่วนด้านของกลไก Calibre 15BM04 ยังสะท้อนมุมมองความงดงามเดียวกัน ด้วยการติดตั้งกระจกแซฟไฟร์ใส และเปิดโชว์ให้เห็นงานฝีมือการตกแต่งที่สวยงามชวนมอง ไม่แพ้กับหน้าปัดด้านหน้า ซึ่ง Bovet เป็นผู้นำในการโชว์กลไกด้านหลังตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมสายหนังจระเข้ ทั้งยังกันน้ำได้ถึง 30 เมตร

โฉมหน้าเปี่ยมด้วยเสน่ห์ของ Bovet 1822
โฉมหน้าเปี่ยมด้วยเสน่ห์ของ 19Thirty Fleurier นาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดจาก Bovet 1822

และนอกเหนือจากการมีตัวเลขโรมันสีขาวแสดงชั่วโมงและนาทีแล้ว เรือนเวลารุ่นนี้ยังแสดงวินาทีบนหน้าปัดเล็กที่ 6 นาฬิกา ที่สะท้อนถึงเสน่ห์ของยุคอันเรืองรองของนาฬิกาพกแห่งศตวรรษที่ 19 พร้อมทั้งช่องหน้าต่างและเข็มชี้ตรงกับตำแหน่ง 3 นาฬิกาของตัวเรือน ซึ่งทำหน้าที่แสดงพลังงานสำรอง 7 วันของกลไก ที่แม้ว่าจะติดตั้งด้วยกระปุกสปริงลานเพียงตัวเดียว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตำนานแห่งความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและความเที่ยงตรงของ Bovet ที่สืบทอดมาจากความสำเร็จในการประดิษฐ์นาฬิกาพกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งผลงานครั้งนั้นสามารถสำรองพลังงานได้สูงสุดถึง 370 วัน จนกลายเป็นสถิติตลอดกาลมาแล้ว ส่วนฝาหลังกระจกใสก็ยังคงสืบทอดมาจากการบุกเบิกใช้ฝาหลังเปลือยใสในยุคต้นศตวรรษที่ 19 ของ Bovet ไว้ได้อย่างครบถ้วน

จากการหลอมรวมไว้ซึ่งมรดกสำคัญแห่งตำนานและชื่อเสียงของ House of Bovet นับจากยุคอดีตจนถึงปัจจุบันเช่นนี้เอง ที่ทำให้ชื่อของ Bovet 1822 ยังคงตราตรึงในดวงใจของคนรักเรือนเวลาสุดประณีตได้เสมอ


CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF Bovet
MUSIC: Royalty free music from https://www.zapsplat.com
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon


สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

Your Tarot Weekly

Post Views: 71 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน – วันเสาร์ที่​ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ์…

Franck-muller-long-island-thumbnail

Franck Muller Long Island Evolution

Post Views: 33 Franck Muller เสนอนาฬิการุ่น Long Island Evolution ด้วยสามรูปแบบของการแสดงออกแห่งเวลา Franck Muller (แฟรงค์ มุลเลอร์) เสนอนาฬิการุ่น Lo…

Cartier Women’s Initiative

Post Views: 43 โครงการเพื่อสตรีของคาร์เทียร์ ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบ 33 คน ประจำปี 2024 ประกาศรางวัลชนะเลิศ ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณะรัฐประชาชนจีน 22 พ…

Hermes-Horloger-Arceau-Mon-Premier-Galop-thumbnail

Hermès Horloger Arceau Mon Premier Galop

Post Views: 30 Hermès เผยความงดงามฝีมือเชิงศิลป์ด้วยเส้นด้ายไหม ผ่านเรือนเวลารุ่น Arceau Mon Premier Galop Hermès Arceau Mon Premier Galop (แอร์เมส อา…

Van-cleef-ballet-thumbnail

Van Cleef & Arpels Lady Arpels Ballets

Post Views: 33 Van Cleef & Arpels เผยความสง่าของนาฏกรรมบนเรือนนาฬิการุ่น Lady Arpels Ballets Van Cleef & Arpels (แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์) เผย…