Juli Baker and Summer: She’s Too Much Solo Exhibition at RCB


She’s To Much สำรวจหลากอารมณ์ของความเป็นหญิงและวันนั้นของเดือน ผ่านผลงาน 29 ชิ้นในงานนิทรรศการครั้งใหม่ของป่าน Juli Baker and Summer


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือที่ใครหลายๆ คนคุ้นเคยในชื่อJuli Baker and Summer ศิลปินเจ้าของลายเส้นและสีสันเปี่ยมเอกลักษณ์ผู้กำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 5 เป็นของตัวเองร่วมกับทาง River City Bangkok ในชื่อ She’s Too Much แต่เส้นสีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ รวมทั้งความสุขุมที่แฝงไว้ภายใต้ท่าทีร่าเริงสดใสทำให้เราออกปากทักทายว่าป่านดูโตขึ้น

นิทรรศการครั้งใหม่ของเธอในครั้งนี้เลือกหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงและการถูกกดทับ ริดรอนสิทธิ รวมทั้งการต้องฝืนใช้ชีวิตในสังคม ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทความเป็นหญิงเท่าที่ควร โดยถ่ายทอดผลงานภาพวาด 29 ชิ้น ผ่านการสำรวจอารมณ์ของตนเองตลอดระยะเวลา 28 วันซึ่งนับเป็นหนึ่งรอบประจำเดือนว่าอารมณ์ ความรู้สึกและตัวตนของเพศหญิงที่มักจะถูกตีตราจากสังคมว่ามากเกินไป ทั้งสุขเกินไป เศร้าจนเกินไป เกรี้ยวกราดหรืออ่อนไหวจนเกินไปนั้น มันมาจากความเกินล้นของพวกเธอ หรือเป็นเพราะสังคมที่ให้อิสระต่อพวกเธอน้อยเหลือเกิน

JULI BAKER AND SUMMER
JULI BAKER AND SUMMER

“เราได้แรงบันดาลใจของนิทรรศการนี้มาจากหนังสือสองเล่มที่เราอ่านเมื่อปีที่แล้วคือ All About Love โดยเบลล์ ฮุคส์ (Bell Hooks) ที่เล่าถึงความรักที่มีรากฐานจากส่วนประกอบที่เล็กไปจนถึงใหญ่ อย่างเรื่องโครงสร้างทางสังคม ส่วนอีกเล่มคือ Red Moon Gang โดยทารา คอสเตลโล (Tara Costello) พูดถึงผู้มีประจำเดือน เล่าถึงประวัติศาสตร์ของการมีประจำเดือน เล่าถึงการถูกตีตรา (Stigmatized) ของผู้มีประจำเดือน จนถึงสิทธิในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ของการมีประจำเดือนในโลกปัจจุบัน เราคิดว่าแม้ทั้งสองเล่มจะเล่าเรื่องราวที่ต่างกันแต่มันมีบางอย่างเชื่อมโยงถึงกันและกันตลอดระหว่างที่เราอ่านทั้งสองเล่มนี้ ซึ่งเป็นความบังเอิญที่หนังสือทั้งสองเล่มมีหน้าปกสีแดงเหมือนกัน

แม้ว่าหนังสือจะเล่าเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นนามธรรม (Abstract) มากๆ อย่างอารมณ์ ความรู้สึก แต่มันแตกละเอียดไปถึงประเด็นที่ใหญ่มากๆ อย่างทุนนิยม วัฒนธรรม ไปจนถึงการมีอยู่ของปิตาธิปไตย เราเลยอยากสำรวจรายละเอียดของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งความสุข ความเศร้าเราเลยคิดว่าช่วงเวลา 28 วันซึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่งรอบประจำเดือนที่มันเต็มไปด้วยอารมณ์ทั้งขึ้นและลงนี่แหละที่ดูจะเหมาะสมที่สุด”

ป่านเล่าและเสริมต่อถึงสาเหตุของการหยิบเอาประเด็นที่ค่อนข้างจะมีความเฉพาะตัวอย่างการมีประจำเดือนมาพูด เพราะเธออยากให้มันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงได้ในวงกว้าง “ตอนแรกเราก็คุยกับทางภัณฑารักษ์ของทาง River City Bangkok ว่ามันจะกลายเป็นการแบ่งแยก (Exclude) ผู้ชมบางส่วนที่เป็นคนไม่มีประจำเดือนออกไปหรือเปล่า แต่เรากลับรู้สึกว่าอันที่จริงประจำเดือนมันควรถูกพูดถึงให้มากกว่านี้ ในฐานะหัวข้อธรรมชาติๆ และอีกอย่างเวลาที่เราไปดูนิทรรศการอะไรสักอย่าง สมมติเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับสุนัข ก็ไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะมีแค่สุนัขที่ชมได้ เราเป็นมนุษย์เราก็สามารถชมนิทรรศการและเชื่อมโยงถึงสิ่งนั้นได้

การที่จะมีนิทรรศการศิลปะที่พูดถึงผู้มีประจำเดือน มันจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้คนขนาดนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ชายแต่เขาก็ต้องเคยมีพี่สาว น้องสาว แฟน หรือแม่ที่เป็นผู้มีประจำเดือน เราเลยอยากให้การพูดถึงประจำเดือนกลายเป็นสิ่งที่สามารถพูดถึงได้ในวงกว้าง (Inclusive) โดยที่ไม่ต้องเป็นผู้ที่มีประจำเดือนก็สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงถึงมันได้ และในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าในมุมหนึ่งของโลกก็ยังมีคนที่ต้องตายแค่เพราะมีประจำเดือนอยู่เลยนะ!”

JULI BAKER AND SUMMER
JULI BAKER AND SUMMER

ป่านเล่าและนำเราไปชมส่วนจัดแสดงหนึ่งของนิทรรศการที่จัดพื้นที่คล้ายกระโจมที่ใช้ม่านจากผ้า Patchwork ลายเส้นของเธอมาเย็บต่อกัน มีเบาะรองนั่งนุ่มสบาย และมีเพลงประกอบจังหวะร่าเริงสดใส เปิดควบคู่ไปกับคลิปวิดีโอโมชันสนุกๆ ที่เธอทำขึ้นเองทั้งหมด แต่เรื่องราวที่ซ้อนอยู่ภายใต้พื้นที่ปลอดภัยนี้ กลับลึกล้ำและเต็มไปด้วยประเด็นทางสังคมให้ได้ขบคิดต่ออย่างไม่น่าเชื่อ

“โซนนี้เป็นโซนที่เราตั้งใจล้อสิ่งที่เรียกว่า Period Hut ในหนังสือ Red Moon Gang มันเล่าถึงประวัติศาสตร์ของผู้มีประจำเดือนและการถูกตีตรา (Stigmatize) จากคนในสังคมที่เนปาลหรืออินเดีย ตั้งแต่อดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบันในหลายๆ ท้องที่จะมีการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Period Hut หรือกระท่อมของคนมีประจำเดือน เมื่อไหร่ที่มีคนในครอบครัวมีประจำเดือนจะถูกไล่มาอยู่ในห้องนี้ ห้ามใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัว แม้แต่ข้าวของหรือผ้าห่ม ถ้าคนมีประจำเดือนใช้แล้วก็ห้ามเอาไปใช้ต่อ ซึ่งปัจจุบันผู้มีประจำเดือนก็ยังคงต้องทนกับค่านิยมเหล่านี้

ซึ่งสำหรับคนที่ฐานะค่อนข้างยากจน มันกลายเป็นเรื่องที่ลำบากมาก จนอาจจะถึงแก่ชีวิตได้เลย เพราะสำหรับคนที่ไม่มีเงิน ไม่สามารถสร้างกระท่อมของตัวเอง ก็จะถูกไล่ไปนอนในโรงนา บางคนก็อาจจะถูกกัดตาย หรือไม่มีผ้าห่มดีๆใช้เพราะถ้าเอามาให้คนมีประจำเดือนใช้แล้วก็จะนำกลับไปให้คนอื่นใช้ต่อไม่ได้ รวมถึงเรื่องสุขอนามัยด้วย ทำให้ความเชื่อพวกนี้มันกดทับและริดรอนสิทธิของผู้มีประจำเดือนมาก เราก็เลยอยากสร้าง period hut ของตัวเองขึ้นมาใหม่ แต่กลับกันให้มันกลายเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจในนี้ได้”

แววตามุ่งมั่น รวมถึงแนวคิดและไอเดียอันเข้มข้นที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ผลงานและเส้นสีสดใส ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของเธอทั้งในระดับบุคคลและในด้านเทคนิคการทำงาน เพราะหากใครเคยติดตามผลงานของป่านมาตลอดระยะเวลาหลายปี น่าจะพอสัมผัสได้ถึงประเด็นและมิติทางสังคมอันเข้มข้น ถ่ายทอดออกมาในผลงานมากขึ้นของเธอ

“เรารู้สึกว่าชีวิตของเราได้แกว่งอารมณ์ไปเจอด้านที่ไม่เคยเจอ ได้เปิดโอกาสให้ชีวิตได้ไปรู้สึกกับสิ่งต่างๆ ให้ไกลขึ้นและหลากหลายขึ้น ส่วนในแง่ของงานศิลปะ เราคิดว่างานศิลปะมันเป็นเหมือนสิ่งที่สะท้อนตัวตนหรือความคิดของศิลปินในช่วงเวลานั้นๆอยู่แล้ว จึงเป็นธรรมดาที่เรื่องราวซึ่งเราเลือกหยิบมาเล่าในงานจะกว้างขึ้น เริ่มขยายขอบเขตออกไปไกลกว่าแค่ชีวิตประจำวันของเราหรือสิ่งที่เราได้มีโอกาสไปเจอมาเวลาท่องเที่ยว

เพราะช่วง2-3ปี ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่เราเริ่มสนใจเรื่องสังคมการเมืองมากขึ้น สนใจเรื่องเพศ เรื่องผู้คนในสังคมมากขึ้น และเลือกหยิบมาเล่าผ่านงานศิลปะมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เมื่อก่อนเราไม่กล้าที่จะทำ เพราะอันที่จริงเราโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างแอคทีฟในประเด็นทางสังคมมาตลอด เพราะพ่อเรา (ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา) ทำงานเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้คนอยู่แล้ว การเมืองและสังคมมันเลยไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวของเราขนาดนั้น แต่เพียงแค่เราไม่เคยหยิบเอามาเล่าในงานของเราเลย เพิ่งจะมารู้สึกมั่นใจที่จะส่งเสียงผ่านงานศิลปะจริงๆเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง”

“นอกจากด้านแนวคิด เราคิดว่าเรากล้ามากขึ้นในการทำงาน เพราะเราโตมากับการเป็นนักเรียนออกแบบที่จะมีความกังวลว่างานเราจะไม่สื่อสารหรือเปล่า มันจะไม่สวยตามบิวตี้สแตนดาร์ด (ความสวยตามค่านิยม) กลัวว่างานจะ ‘ดูไม่แพง’ ซึ่งเป็นคำที่ครูชอบใช้เวลาคอมเมนต์งาน แต่พอเรากะเทาะความกลัวออก แล้วอิสระที่จะวาดอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะต้องสวยแบบที่คนคาดหวัง เป็นแบบที่ลูกค้าอยากจะซื้อ เราก็คิดว่าชิ้นงานมันก็ค่อนข้างมีความอิสระมากขึ้นมั้ง

ในฐานะที่เราถูกติวมา เพื่อมาเป็นนักออกแบบ เราเหมือนถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองทุนนิยม แค่ทำอะไรก็ได้ออกมาที่มันจะขายได้ ที่จะดูแพง แต่พอเรามองการวาดรูปเป็นงานศิลปะ เป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่องบางอย่าง จุดประสงค์ในการทำงานมันก็เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการทำงานของเราเปลี่ยนไปด้วย”

ป่านพาเราเดินชมผลงานในนิทรรศการและชี้ชวนให้ดูความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้สีสันสดสวย รวมทั้ง Wall-Text บนกำแพงที่ถูกเพ้นท์และเขียนขึ้นด้วยลายมือของเธอเอง โดยใช้ระยะเวลาในการเพ้นท์เพียงหนึ่งวัน เพื่อเติมเต็มการนำเสนอของนิทรรศการให้สมบูรณ์และเป็นตัวเองมากที่สุด เราจึงลองตั้งคำถามกับป่านว่าอะไรคือส่วนที่ยากที่สุดหรือเป็นกังวลที่สุดในการทำงานครั้งนี้ ป่านนิ่งคิดอยู่ครู่ใหญ่ก่อนจะอธิบายให้เราฟัง

“ความกังวลมันเพิ่งจะขึ้นมาตอนท้ายเอง อาจเพราะว่ามันเป็นงานที่เรารอคอยที่จะทำมานานแล้ว เพราะถ้าติดตามผลงานจะรู้ว่าแม้จะมีงาน Commercial มาเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้จัดงานแสดงนิทรรศการของตัวเองมาสักพักแล้ว เราเลยสนุกในทุกขั้นตอนการทำงาน ไม่มีส่วนที่รู้สึกเครียดหรือรู้สึกว่าเป็นปัญหาเลย จะมีแค่ตอนท้ายที่เรารู้สึกกังวลนิดหน่อย ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นความกังวลปกติของศิลปินที่กำลังจะแสดงงานที่เริ่มกังวลว่าคนที่มาชมจะรู้สึกกับงานของเราแบบไหน เพราะลึกๆ เราก็คาดหวังให้คนที่มาดูงานแล้วรู้สีกอะไรกับมันบ้าง แต่ก็เป็นแค่ความกังวลเล็กๆ ไม่ได้มากมาย”

หลังจากศิลปินสาวอธิบายจบ เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามต่อว่าแล้วส่วนใดคือส่วนที่สนุกที่สุดในการทำนิทรรศการครั้งนี้ ครั้งนี้เธอยิ้มกว้างแล้วตอบได้แทบจะในทันที “ส่วนที่สนุกก็คือทุกอย่างเลย (หัวเราะ) ถ้าสนุกที่สุดก็คงเป็นตอนวาดรูป เพราะเราวาดอย่างอิสระโดยไม่ได้หวังว่าจะขายได้ แต่เราทำในแบบที่เราถูกใจมากที่สุด ขาดทุนก็ได้ แต่อยากให้เป็นงานที่เราทำแล้วรู้สึกพอใจที่สุด”

นอกจากภาพวาดทั้ง 28 ชิ้น ที่บอกเล่าเรื่องราวหลากหลายอารมณ์ ทั้งสุขและทุกข์ โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา รู้สึกปลอดภัย หรือบอกเล่าการฝึกฝนที่จะใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวให้เป็น อีกหนึ่งชิ้นงานที่โดดเด่นและชวนให้ทำความเข้าใจที่สุดคงหนีไม่พ้น Her mind is like the garden ชิ้นงานประติมากรรมสีชมพูพาสเทลที่มีสวนดอกไม้หลากสีสัน หมุนโคจรอยู่บนศีรษะของหญิงสาว

“งานนี้ตั้งชื่อตามรูปลักษณ์เลย เราคิดว่าความคิดมันก็เหมือนกับสวนหลังบ้าน มีสิ่งต่างๆ ทั้งสวยและไม่สวย อาจจะมีวัชพืชบ้าง แต่ก็รวมอยู่ในหัวของผู้หญิงคนนี้ ซึ่งเราจะเห็นว่าประติมากรรมนี้ หัวจะถูกขยายให้ใหญ่มาก เพื่อที่ผู้ชมจะได้สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่บนหัวของผู้หญิงคนนี้ได้ชัดเจนขึ้น เราจะเห็นเขาในเวอร์ชันที่เป็นผีเสื้อ กำลังรดน้ำและดูแลดอกไม้ในสวนของตัวเองอยู่ เป็นเหมือนกับการที่คนเราสำรวจความคิดและอารมณ์ของตัวเอง ว่าความคิดหรืออารมณ์ไหนเกิดมาจากอะไร อยากจะเลือกเก็บหรือทิ้งอะไรไปบ้าง

และในตอนท้ายที่สุด ถ้าหากสวนนี้ไม่สวยงาม มีต้นไม้ดอกไม้ที่แห้งเฉา เราก็ไม่อาจจะโทษได้เต็มปากว่ามันเป็นความผิดของหญิงสาวคนนั้นที่ดูแลต้นไม้ในสวนของเธอได้ไม่ดี เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น อากาศที่ไม่สะอาด หรือดินที่ไม่เอื้อให้พืชพรรณได้เติบโต

เราคิดว่าบางคนอาจจะเคยร้องไห้ หรือหงุดหงิดเวลาเจอปัญหาอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวัน มันชวนให้คิดว่า ถ้าเราเป็นผู้ชายในประเทศโลกที่ 1 อย่างฟินแลนด์ เรายังจะต้องมาร้องไห้หรืออึดอัดกับเรื่องราวที่เรากำลังเจออยู่หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้แหละค่ะ คือสิ่งที่เราพยายามเล่าและถ่ายทอดออกมาในนิทรรศการ” ป่านกล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

สัมผัสมุมมองและทุกห้วงอารมณ์ของหญิงสาวผ่านนิทรรศการ SHE’S TOO MUCH ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม – 16 เมษายน พ.ศ.2566 ที่ RCB Galleria 4 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก


Credit:
Photos: Courtesy of River City Bangkok


อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 12 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Your Tarot Weekly

Post Views: 48 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Holiday Season – Sunny Fredland

Post Views: 12 ฉลองช่วงเวลาแห่งความสุขสุดพิเศษไปกับ Sunny Fredland Fred (เฟร็ด) เชิญสัมผัสประสบการณ์ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่เปล่งประกายด้วยความสดใสจากกา…