รู้จักออทิสติกสเปกตรัม และมองผู้ป่วยที่มีภาวะออทิสซึมตามความเป็นจริง ผ่านตัวละครอูยองอู ทนายสาวอัจฉริยะจากซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo
แม้จะออกอากาศไปเพียง 7 ตอน แต่กระแสความแรงของซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ก็เป็นที่ประจักษ์ในเหล่าผู้ชมทั้งชาวไทยและเกาหลี ด้วยตัวละครที่น่ารักไร้พิษภัยและเนื้อเรื่องที่อบอุ่นหัวใจ เติมพลังให้กับคนดู แต่ไม่เพียงแค่องค์ประกอบเหล่านี้เท่านั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังพาเราไปสำรวจและทำความรู้จักกับออทิสติกสเปกตรัม และชวนให้เรามองการมีอยู่ในสังคมของผู้ป่วยที่มีภาวะออทิสซึมผ่านตัวละครหลักอย่างอูยองอูอีกด้วย
อูยองอู ทนายอัจฉริยะ เป็นซีรีส์ดราม่า-กฏหมายความยาว 16 ตอนจบที่ออกอากาศทางช่อง ENA โดยมี Netflix ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อออกอากาศแบบเกือบเรียลไทม์พร้อมเกาหลี โดยซีรีส์เล่าเรื่องราวการเข้าทำงานครั้งแรกในสำนักงานทนายของอูยองอู (รับบทโดย พัคอึนบิน) เด็กสาวผู้มีภาวะอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger) ซึ่งเป็นหนึ่งในออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) ที่ผู้ป่วยจะมีปัญหาในด้านการสื่อสารและเข้าสังคม แต่เธอก็มีไอคิวที่สูงลิ่วถึง 164 และยังสามารถสอบได้คะแนนสูงสุดจากวิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล
ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้คือการเล่าเรื่องราวของกฏหมายและการว่าความผ่านตัวละครสาวที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการออทิสซึม การประกอบอาชีพทนายของเธอจึงดำเนินไปท่ามกลางความกังขาของคนรอบข้างที่ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เธอเป็น เพราะเมื่อจั่วหัวมาว่า ‘เป็นออทิสติก’ ไม่เพียงแต่ตัวละครในเรื่อง แต่แม้กระทั่งผู้ชมหลายๆ คนเอง ก็มักจะมีภาพจำในใจที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีภาวะอาการเหล่านี้และนำไปสู่อคติแบบเหมารวม (Stereotype)
แต่แท้จริงแล้วกลุ่มอาการออทิซึม หรือออทิสติกสเปกตรัม (Autistic spectrum disorder) ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบประสาทพัฒนาการ และทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมรวมถึงพัฒนาการด้านสังคมและการสื่อสารผิดปกตินั้นแบ่งอาการออกได้เป็นหลายระดับ จึงถูกเรียกว่า Spectrum โดยมีทั้งแบบที่รุนแรงมากจนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง และแบบที่สามารถใช้ชีวิต เรียนหนังสือและประกอบอาชีพได้อย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไป
กลุ่มอาการออทิซึม หรือออทิสติกสเปกตรัม แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มย่อยตามแต่ระดับ รายละเอียดและความรุนแรงของอาการ โดยจะมีสามลักษณะอาการใหญ่ๆ คือความบกพร่องทางทักษะการเข้าสังคม ซึ่งส่งผลในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่นการแยกตัวจากสังคม ไม่สบตาเวลาพูดคุย มีโลกส่วนตัวสูง ความบกพร่องทางภาษาและการสื่อสาร เช่น การพูดช้ากว่าปกติ ใช้คำพูดที่ตะกุกตะกัก ใช้คำซ้ำ หรือมีสำนวนภาษาแบบที่คิดขึ้นเองด้วยความเข้าใจและการใช้ภาษาที่ไม่เหมือนคนทั่วไป
และความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่อประสาทสัมผัสอย่างรุนแรง หรือมีอากัปกิริยาที่ชัดเจนเมื่อได้เจอกับสิ่งเร้าที่มากหรือน้อยเกินไป เช่นเสียงดัง อุณหภูมิที่แตกต่างจากปกติ รวมทั้งการให้ความสนใจจำกัดเฉพาะเรื่องและหมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่าง เช่นการเลือกกินอาหารบางชนิดเท่านั้น สวมเสื้อผ้าบางชุดซ้ำๆ แบบเดิมตลอดและรู้สึกไม่มั่นใจหากต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มอาการออทิซึมจำนวนไม่น้อยก็สามารถมีพัฒนาการที่ไม่ส่งผลต่อความบกพร่องในด้านสังคม อาชีพ หรือหน้าที่การทำงานอื่นที่สำคัญหากได้รับการบำบัดต่อเนื่องอย่างถูกต้อง เช่นตัวละครอูยองอู ที่จัดอยู่ในกลุ่มภาวะแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Syndrome) ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ป่วยที่มีความเฉลียวฉลาด และมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถพูดคุยสื่อสารอย่างปกติได้ แต่เด็กเหล่านี้มีปัญหาในด้านทักษะการเข้าสังคมร่วมกับการมีพฤติกรรมหมกมุ่น มีความสนใจซ้ำซาก
เราจึงสามารถค่อยๆ ทำความเข้าใจผู้ป่วยในกลุ่มภาวะนี้ได้ผ่านตัวละครอูยองอูผู้ยึดมั่นในความถูกต้องและทำหน้าที่ทนายอย่างเต็มที่ด้วยความเคารพต่อจำเลย แม้จะมีวิธีการพูดที่ตะกุกตะกักและการแสดงท่าทีที่ไม่เป็นธรรมชาตินัก แต่เราก็สามารถมองเห็นถึงความสามารถที่ไม่น้อยไปกว่าคนธรรมดาเลย นอกจากนั้นความหมกมุ่นสนใจที่เธอมีต่อเหล่าวาฬก็ยังทำให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ทางด้านความจำและความชื่นชอบหลงใหลที่ตัวละครมีต่อสิ่งที่สนใจ และช่วยให้เรามองเห็นภาพอาการของกลุ่มผู้ป่วยได้ชัดเจนขึ้นว่าแท้จริงแล้วอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะเหล่านี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
รวมทั้งตัวผู้ป่วยเองก็มีวิธีในการปรับตัวและพยายามใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมให้ได้ เช่นการที่ยองอูเลือกจะสวมหูฟังตัดเสียงเมื่อต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ นั่นก็เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสิ่งเร้าเช่น เสียงดังที่อาจจะทำให้ความเครียดหรือวิตกกังวลของเธอเพิ่มสูงขึ้น การถ่ายทอดฉากเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จึงช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ชม และปรับเปลี่ยนความคิดที่มีต่อผู้ป่วยภาวะออทิสติกสเปกตรัมได้ไม่มากก็น้อย
ดังเช่นที่เราเคยได้เห็นมาแล้วในตัวละคร แซม การ์ดเนอร์ (Sam Gardner) ที่รับบทโดยเคียร์ กิลคริสต์ (Keir Gilchrist) จากซีรีส์น้ำดีอย่าง Atypical (2017) ที่เล่าถึงชีวิตของแซมซึ่งป่วยในกลุ่มภาวะแอสเพอร์เกอร์เช่นกัน เขาสามารถเติบโต มีความรัก ทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียน รวมทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่หวังได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแม่ผู้ประคบประหงมเขาเกินพอดีราวกับไข่ในหิน และมักจะท่องชื่อสายพันธุ์ของเหล่านกเพนกวินที่เขาชื่นชอบออกมาเมื่อเขาอยู่ในสภาวะวิตกกังวล
การสร้างตัวละครเหล่านี้ขึ้นอย่างละเอียดลออและใส่ใจ เพื่อช่วยถ่ายทอดมุมมองใหม่ และลบภาพจำที่เกินจริงของสังคมต่อผู้ป่วยที่มีภาวะออทิสซึมจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และทำให้เรากระหายใคร่รู้รวมทั้งอยากเอาใจช่วยทนายสาว อูยองอู ต่อจนซีรีส์เรื่องนี้จบ ว่าเรื่องราวชีวิตการเป็นทนายและความรักเล็กๆ ในสำนักงานทนายระหว่างเธอและคุณจุนโฮ (รับบทโดยคังแทโอ) เจ้าหน้าที่หนุ่มใจดีในสำนักงานกฏหมาย จะเป็นอย่างไรต่อไป
FACT FILE
- ในต่างประเทศมีการรณรงค์ให้ใช้คำเรียกผู้ป่วยโรคออทิสติกและออทิสติกสเปกตรัม โดยกล่าวถึงบุคคลก่อนอาการ แทนการเรียกโดยใช้อาการนำหน้า เพื่อลดความรู้สึกที่ไม่ดีของผู้ฟัง เช่นการใช้คำว่า เด็กที่มีภาวะออทิสซึม (Kids with Autism) มากกว่าการเรียกว่า เด็กออทิสติก (Autistic Kids)
- ศิลปินและคนในวงการบันเทิงหลายคนเช่น จอห์น เดนเวอร์ (John Denver; นักร้อง-นักแต่งเพลง), เซอร์แอนโธนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins นักแสดงออสการ์) ซาโตชิ ทาจิริ (Satoshi Tajiri; ผู้ออกแบบเกมโปเกมอน) รวมทั้งเกรธา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักกิจกรรมชาวสวีเดนที่ออกมาพูดถึงเรื่องโลกร้อน ซึ่งมีความสามารถในการสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานรวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่เยี่ยมยอด ล้วนแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้มีภาวะออทิสซึมทั้งสิ้น
- ยังมีนักวิทยาศาสตร์และศิลปินอีกหลายคนในอดีตที่ถูกวิเคราะห์จากชีวประวัติและผลงานว่าอาจเป็นผู้มีภาวะออทิสซึมเช่นกัน เช่น เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) ที่มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และออกซ์ฟอร์ดรองรับว่ามีโอกาสสูงที่นิวตันจะมีภาวะออทิสซึม รวมไปถึงศิลปินระดับโลกอย่างโมทสาร์ท (Mozart) เจ้าพ่องานอิมเพรสชั่นนิสม์อย่าง ฟินเซนต์ ฟัน โคค (คนไทยอ่าน วินเซนต์ แวน โก๊ะ / Vincent van Gogh) และนักประดิษฐ์ระดับโลกอย่าง โธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ผู้ค้นพบหลอดไฟ
ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder ; ASD) แบ่งเป็น 5 กลุ่มภาวะอาการ คือ
- ออทิสติก คือภาวะแรกเริ่มในพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กซึ่งมีพัฒนาการด้านสังคมและการสื่อสารผิดปกติ สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป โดยเริ่มสังเกตจากพฤติกรรมแยกตัว ไม่เล่นกับเพื่อน ไม่สบตา รวมถึงการพูดเป็นคำๆ มีพฤติกรรมทำซ้ำที่ไม่ยืดหยุ่น
- แอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Syndrome) คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเฉลียวฉลาด และมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถพูดคุยสื่อสารอย่างปกติ อาจมีปัญหาด้านการเข้าสังคมและมีความสนใจที่หมกมุ่นซ้ำซาก แต่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้อย่างปกติ
- เร็ตต์ (Rett’s Disorder) คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ อาจจะมีภาวะสันหลังคด หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติจากการที่อวัยวะเติบโตไม่สัมพันธ์กัน รวมทั้งมีอาการผิดปกติด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาที่บกพร่อง
- CDD (Childhood Disintegrative Disorder) เป็นลักษณะอาการที่ต้องใช้เกณฑ์วินิจฉัยเพื่อดูตั้งแต่เด็ก ว่าเด็กสูญเสียทักษะด้านใดไปบ้าง เช่น การรับรู้ภาษา การเข้าสังคม การควบคุมการขับถ่าย หรือการใช้กล้ามเนื้อ หากขาดทักษะดังกล่าวไปมากกว่าสองด้าน อาจหมายถึงการที่เด็กเข้าข่ายภาวะ CDD โดยพฤติกรรมบ่งชี้เพิ่มเติมคือการสื่อสารพูดคุยไม่ได้ และอาจมีความบกพร่องทางสติปัญญา รวมถึงอาการชักเกร็งในบางครั้ง
- PDD-NOS (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified) คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะอาการที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน ก็จะถูกจัดประเภทไว้เป็น PDD-NOS เพื่อดูแลและให้การรักษาอย่างใกล้ชิดต่อไป
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF NETFLIX AND ENA
RESOURCE: HAPPYHOMECLINIC, POBPAD, ONGIG, NATIONAL INSTITURE OF MENTAL HEALTH USA AND CENTER OF DESEASE CONTROL AND PRVENTION USA
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- รีวิวหลังดูจบแบบไม่สปอยล์ : การปล้นครั้งใหม่ ในซีรีส์ Remake สุดฮิตจาก Netflix ที่ทุกคนรอคอย วง BTS การรวมเกาหลีเหนือและใต้ กับการเสียดสีโลกทุนนิยมอันแสนโหดร้าย ด้วยกลิ่นอายแบบเกาหลีใน Money Heist Korea – Joint Economic Area ทรชนคนปล้นโลก เกาหลีเดือด
- ตาม LISA ลลิษา มโนบาล แห่งวง Blackpink วีแห่งวง BTS และพัคโบกอม ลัดฟ้าสู่ฝรั่งเศส เกาะชิดติดขอบรันเวย์ Paris Fashion Week ในคอลเลกชั่นฤดูร้อน 2023 ของ CELINE
- ราชาฤดูร้อนคืนบัลลังก์ ! HOLIDAY มินิอัลบัมชุดที่ 4 จาก WINNER และการกลับมาทำงานร่วมกันพร้อมหน้าอีกครั้งของ มิโน ซึงยูน ซึงฮุน และจินอู ในซิงเกิลจังหวะสดใส I LOVE YOU
- เพราะคำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุดในโลกนี้ ก็คือความรัก! Jujutsu Kaisen Zero ภาพยนตร์อนิเมะของเหล่าผู้ใช้ไสยเวทย์จากทีมผู้สร้าง Attack on Titan เปิดตัวสุดร้อนแรงในไทย ทำรายได้ทะลุ 50 ล้านบาท
- จัดเต็มเครื่องสายและไลน์ดนตรี เบล สุพล นำเสนอซิงเกิลใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายความเป็นเบล ในเพลง เท่าไหร่ก็ไม่พอ ได้โอม Cocktail, ปู๋ Hens และแม็ก The Darkest Romance มาร่วมงาน