ชนชั้นและศิลปะ การเติบโตและรอยทรงจำในความเคลื่อนไหว นั่งคุยกับพิชัย แก้ววิชิต เกี่ยวกับ The Memoir of Movement นิทรรศการภาพถ่ายครั้งใหม่ที่ RCB
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานภาพถ่ายของเอก พิชัย แก้ววิชิต ได้มาจัดแสดงในฐานะนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยว แต่ความสดใหม่และแนวคิดน่าสนใจมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในภาพถ่ายตึกรามบ้านช่อง ซึ่งเต็มไปด้วยลูกเล่นและเรื่องราว ก็ดูเหมือนจะยังเป็นเอกลักษณ์สำคัญในผลงานของเขาคนนี้เสมอ เช่นเดียวกับนิทรรศการครั้งใหม่ในชื่อ The Memoir of Movement ที่เขาหยิบเอาสัจธรรมของโลก อย่างความผันแปรและเคลื่อนไหวของเวลา มาบันทึกไว้ผ่านรูปถ่ายในแบบที่เขาถนัด
“เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก่อนจะมาถ่ายภาพจริงจัง ผมเป็นวินมอเตอร์ไซค์น่ะ ผมชอบศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าชีวิตประจำวันของตัวเองมันแข็งกระด้างเหลือเกิน เพราะวันๆ เราเอาแต่ทำงานเพียงอย่างเดียว เราเลยอยากจะหยิบเอาศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามากขึ้นกว่านี้ แต่เราเองก็วาดรูปไม่เป็นแถมยังไม่ค่อยมีเวลา กว่าจะเลิกงานกลับบ้านก็มืดค่ำแล้ว” พิชัยอธิบายถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มถ่ายภาพ
“ด้วยความที่เราเป็นวินมอเตอร์ไซค์ พอขับไปไหนมาไหน ก็จะเห็นตึกรูปร่างสวยๆ เห็นหน้าต่าง เห็นอะไรที่มันดูมีรูปร่าง รูปทรง สีสัน แสงเงาแปลกๆ เราเลยคิดว่ามันก็น่าจะเป็นศิลปะได้นะ เราก็เลยลองเริ่มถ่ายรูปดู จากกล้องมือถือก็ค่อยๆ พัฒนามาเป็นกล้องคอมแพ็ค จนมีโอกาสได้ไปจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมด”
นิทรรศการครั้งนี้นับเป็นนิทรรศการเดี่ยวแรกในรอบ 2 ปี หลังจากนิทรรศการ Unlock (2019) ที่พิชัยได้นำเสนอเรื่องราวภายในของตนเองเกี่ยวกับการทำงานศิลปะ เพราะเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมองตนเองในฐานะคนนอกวงการและไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสักชิ้น ไม่จำเป็นเลยว่าเราจะต้องเป็นคนที่รู้หรือเข้าใจศิลปะจากการศึกษาศิลปะโดยตรง และนั่นก็เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยปลดล็อคสิ่งที่คับข้องใจของเขา ให้สามารถทำงานศิลปะได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกรอบมากั้น
“เวลาที่ถูกถามว่า การเข้าถึงศิลปะในสังคมไทยมันเกี่ยวข้องกับชนชั้นหรือเปล่า ถ้าหากคนที่เป็นชนชั้นกลางตอบ มันก็อาจจะฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ หรือไม่เชื่อ แต่สำหรับผม ผมพูดในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนหาเช้ากินค่ำ คนรอบตัวผมหลายๆ คนรู้สึกว่าศิลปะมันถูกวางเป็นเรื่องไกลตัวจริงๆ ทั้งคำพูดว่า ‘เราจะชื่นชมศิลปะได้อย่างไรถ้าท้องยังหิว’ สำหรับผม ผมมองว่ามันเป็นจริงแค่ครึ่งเดียวนะ”
พิชัยอธิบายและยกตัวอย่าง “ผมคิดว่าศิลปะ เป็นมากกว่าเรื่องรสนิยม หรืองานอดิเรก เพราะมันช่วยเยียวยาชีวิตและผู้คน มันช่วยให้คนเราเข้าใจและสามารถรู้จักตนเองได้มากขึ้น ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีต ศิลปะอยู่ในวิถีของมนุษย์ทุกชนชั้นมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันเรามีทั้งเรื่องปากท้อง และกรอบคิดบางอย่างที่มาครอบไว้ ว่าศิลปะมันคือเรื่องไกลตัวนะ เป็นเรื่องของคนชนชั้นกลางที่มีเวลาว่างที่จะสัมผัสและเข้าถึงศิลปะ แต่สำหรับผมแล้ว ผมกลับมองว่าศิลปะมันควรถูกวางไว้ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ และเข้าใจง่ายสำหรับทุกชนชั้นกว่านี้ ไม่ใช่การวางให้เป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง เพราะสังคมและศิลปะมันควรเติบโตไปควบคู่กัน”
ไม่เพียงแค่ความคิดเกี่ยวกับศิลปะและการเข้าถึงศิลปะของผู้คนทุกชนชั้นเท่านั้นที่ชัดเจน แต่ในนิทรรศการครั้งใหม่ พิชัยพาเราไปสำรวจความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัว ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางอารมณ์และตัวตนภายในของเขาเองตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีภาพถ่ายซึ่งเป็นเสมือนสื่อกลางที่เขาคุ้นเคย ช่วยถ่ายทอดมุมมองให้ผู้ชมได้เข้าใจ
“ในนิทรรศการครั้งใหม่นี้ผมพูดถึงเรื่องความเคลื่อนไหว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่หรือไกลตัวเลย ทุกอย่างรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ก้อนหินที่ดูเหมือนจะคงทน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป รูปลักษณ์ของมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง สึกกร่อนไปช้าๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วนับประสาอะไรกับคนเรา การเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวมันเกิดขึ้นตลอดเวลา เราไม่อาจไปกำหนดกะเกณฑ์หรือห้ามปรามมันได้ แต่เราสามารถใช้ชีวิตเพื่อเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับมันให้ได้เท่านั้นเอง” พิชัยเล่า
และเมื่อถูกถามว่า หากทุกอย่างบนโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วตัวตนของเขาเล่า จะเปลี่ยนแปลงไปไหม เวลาที่เขาออกไปถ่ายรูป ยังสามารถกดชัตเตอร์ด้วยความรู้สึกแบบเดิมได้อยู่หรือเปล่า พิชัยหัวเราะและตอบสบายๆ “ผมพยายามจดจำความรู้สึกวันแรกที่ผมออกไปถ่ายรูปเอาไว้ เพราะผมคิดว่าวันนั้นเป็นวันที่สำคัญที่สุด เพราะวันแรกที่เราถ่าย เราถ่ายเพียงเพราะชอบและอยากจะทำเท่านั้น”
พิชัยอธิบายว่าเขาอยากให้ความรู้สึกแบบนั้นอยู่กับตัวเขาไปอีกแสนนาน แต่ตัวเขาเองก็เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา ด้วยความรู้และมุมมองโลกที่กว้างขึ้น ก็ค่อยๆ ทำให้ภายในของเขาเติบโตและรู้จักตนเองมากขึ้นด้วย เช่นการได้ทดลองเขียนคอลัมน์ในชื่อ ‘เอกภาพ’ บนนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
“การที่เราได้มีโอกาสลองทำอะไรมากขึ้น ได้รู้จักโลกมากขึ้น ได้มีโอกาสเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ มันเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเติบโต ผมเคยคิดว่าตนเองคงไม่สามารถเขียนหนังสือได้ แต่พอถูกชวนให้เป็นคอลัมนิสต์เขียนเกี่ยวกับภาพถ่ายและเรื่องราวให้นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ผมก็ตอบรับทันที เพราะอย่างน้อยการที่รู้ว่าตัวเราเองก็ทำได้ มันเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ”
“ผมอยากจะเป็นคนที่สามารถพูดกับทุกคนได้ว่า ไม่ว่าใครก็สามารถทำงานศิลปะอย่างที่คุณรักได้ ถ้ามีโอกาสก็ลองทำดู ผมก็เลยลองทำทุกอย่างที่มีโอกาส เพื่อที่จะได้กล้าบอกกับคนอื่นได้ ว่าตัวเขาเองก็ทำได้เช่นกัน” พิชัยกล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
ผู้ชมสามารถเข้าชมนิทรรศการ The Memoir of Movement ได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม ณ ห้อง RCB Photographers Gallery 2 ชั้น 2 River City Bangkok (ท่าเรือสี่พระยา)
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF RIVER CITY BANGKOK AND PHICHAI KEAWVICHIT
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- ผู้กำกับ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ แย้มโปรเจกต์ภาคต่อ Joker : Folie à deux ทาบทาม LADY GAGA รับบทฮาร์ลีย์ ควินน์ ประกบคู่ วาคีน ฟีนิกซ์ ในภาพยนตร์ภาคใหม่ของโจ๊กเกอร์ จาก Warner Bros. ที่อาจจะเป็นมิวสิคัล
- HYBE ชี้แจงข่าว BTS พักวง หลังหุ้นร่วง27%! RM สยบข่าววงแตก แจงยังทำงานวงต่อ แค่จะเริ่มโฟกัสกับผลงานเดี่ยวของสมาชิกแต่ละคนมากขึ้น โดย J-HOPT จะเริ่มนำเสนอผลงานเดี่ยวเป็นคนแรก
- ลือหนัก! ดิสนีย์เสนอ 301 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ Johnny Depp กลับมารับบท แจ็ค สแปร์โรว ในภาพยนตร์ภาคต่อ Pirates of The Carribbien และซีรีส์เดี่ยวบน Disney+ อีกครั้งหลังคดีความกับ Amber Heard สิ้นสุด
- รู้จัก รัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม อาการป่วยอัมพาตครึ่งหน้าที่เป็นสาเหตุให้ Justin Bieber ต้องเลื่อนคอนเสิร์ต JUSTICE WORLD TOUR ชั่วคราว พร้อมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที
- 3 ตัวละครสำคัญที่ควรจับตามองใน Alice In The Borderland Season 2 ซีรีส์ซีซันใหม่ กับการร่วมงานครั้งแรกของ ยามะพี และ Netflix พร้อมเนื้อเรื่องและตอนจบสุดเข้มข้นที่รอให้ทุกคนได้สัมผัสเร็วๆนี้