ไม่บ่อยนักที่เราจะมีโอกาส “ได้ยิน” และ “ได้เห็น” การแสดงเวลาไปพร้อมๆ กันภายในนาฬิกาหนึ่งเรือน เสมือน H. Moser & Cie. Endeavour Concept Minute Repeater Tourbillon เพราะเป็นทั้งนาฬิกาตีบอกเวลา หรือ Minute Repeater พร้อม flying tourbillon บนหน้าปัด ซึ่งนาฬิกาส่วนใหญ่แล้วมักจะซ่อนจักรกลอันซับซ้อนนี้ไว้ใต้ตัวเรือน ทำให้ยากจะมีโอกาสได้เห็นการทำงานของมันจริงๆ
แต่ในผลงานรุ่นล่าสุดของ H. Moser & Cie. (เอช. โมเซอร์ แอนด์ ซี.) จากสุดยอดช่างนาฬิกา จาก Schaffhausen (ชาฟฮาวเซ็น) และยังคงเป็นบริษัทนาฬิกาแบบครอบครัวที่มีชื่อเสียงมากว่า 200 ปี ได้พลิกโฉมสไตล์ใหม่ให้กับนาฬิกา Minute Repeater (มินิต รีพีทเตอร์ นาฬิกาตีบอกเวลาเป็นนาที) ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเปิดโชว์ให้เห็นทั้งโครงสร้างของจักรกลนี้ซึ่งประกอบไปด้วยค้อน (hammers) และฆ้อง (chimes) รวมไปถึงความซับซ้อนของฟลายอิ้ง ตูร์บิญง (flying tourbillon) พัฒนาต่อยอดจากตูร์บิญง กลไกที่ช่วยให้นาฬิกาทำงานอย่างเที่ยงตรงและแม่นยำมากยิ่งขึ้น) มาไว้บนหน้าปัด แทนที่จะซ่อนไว้อยู่ข้างใต้ หรือแนบชิดบนฝั่งกลไกและติดตั้งอยู่ด้านหลังของนาฬิกาเหมือนอย่างทั่วไป
ทว่า อะไรทำให้ H. Moser & Cie. ตัดสินใจเลือกวางจักรกลชุดนี้ไว้ด้านหน้าปัด และยังเปิดโชว์ให้เห็นอย่างชัดเจนกันอีกต่างหาก หนึ่งในเหตุผลข้อหลักก็คงเป็นความตั้งใจที่จะให้เจ้าของเรือนเวลาได้มีโอกาสทั้ง “ได้ยิน” และ “ได้ชม” การแสดงเวลาในสองรูปแบบ คือผ่านทั้งเสียงและภาพไปพร้อมๆ กัน ส่วนข้อดีที่ตามมานั้นก็คือการคิดค้นและสามารถหาทางออกจนสำเร็จได้ว่า การติดตั้งจักรกลตีบอกเวลานี้ไว้บนด้านหน้าปัดนั้น ไม่เพียงช่วยขยายความชัดเจนของเสียง แต่ยังมอบไว้ด้วยเสียงที่ไพเราะ ไม่แพ้กับการติดตั้งไว้ในตำแหน่งดั้งเดิมของการสร้างสรรค์นาฬิกา Minute Repeater แบบทั่วไปอีกด้วย
เมื่อมีโอกาสได้เห็นกันอย่างเต็มตาแบบนี้แล้ว เราลองมาชมการทำงานและโครงสร้างของจักรกลกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นอีกสักหน่อย ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าที่ระหว่างตำแหน่ง 9 และ 11 นาฬิกา บนหน้าปัดจะปรากฏชิ้นส่วนประกอบสำคัญของ Minute Repeater นั่นคือ ฆ้องรูประฆังและค้อนสองชุดสำหรับตีให้เสียงที่ต่างกัน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง H. Moser & Cie. และ Timeless SA (ไทม์เลส แอนด์ เอสเอ) ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรกล Minute Repeater เพื่อสร้างสรรค์กลไกแบบใหม่ แสดงให้เห็นความสวยงามของจักรกลซับซ้อนนี้ผ่านการติดตั้งทั้งฆ้องและค้อนไว้บนด้านหน้าปัด ที่แน่นอนว่าจำเป็นต้องเอาชนะซึ่งความท้าทายทางเทคนิคมากมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อฆ้องนั้นจำเป็นต้องติดตั้งและมีความโค้งที่ไม่ไปรบกวนหรือสัมผัสกับ ฟรายอิ้ง ตูร์บิญง (Flying tourbillon) กลไกที่ซับซ้อนอีกกลไกหนึ่งที่เปรียบเสมือนงานฝีมืออันประณีตบรรจง และในนาฬิการุ่นนี้ถูกติดตั้งไว้ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาบนด้านหน้าปัด
ในการสร้างสรรค์กลไกจักรกลไขลานด้วยมือ ของ H. Moser & Cie. ใช้กลไก HMC 903 Calibre (เอชเอ็มซี 903 คาลิเบอร์) เส้นผ่ากลาง 33 มม. หนา 9.62 มม. ประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งหมดกว่า 400 ชิ้น และเม็ดทับทิม 35 เม็ด ความถี่ 21,600 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้ถึง 90 ชั่วโมง กันน้ำได้ลึกถึง 30 เมตร สำหรับตัวเรือนนั้นช่างนาฬิกาและนักออกแบบยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของทั้งสัดส่วน ขนาดและความหนา เพื่อให้นาฬิกาซับซ้อนรุ่นนี้ยังคงมีสัดส่วนที่สง่างามกับความหนาของตัวเรือนเพียง 14 มม. ทำให้ไม่ดูเทอะทะจนเกินไป ส่วนอุปกรณ์สไลด์สำหรับควบคุมการทำงานของ Minute Repeater จะติดตั้งอยู่บนราง Teflon (เทฟล่อน) เพื่อให้สามารถสไลด์ได้อย่างราบรื่นสมบูรณ์แบบ และยังผสานเข้ากับแท่นเครื่องเพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ ขณะที่ตัวเรือนชิ้นกลางถูกขยายให้กว้างขึ้นสำหรับติดตั้งกลไก และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับสร้างกล่องเสียง เพื่อช่วยขยายเสียงตีบอกชั่วโมง 15-นาที หรือ quarter-hour และนาทีที่ได้มาจากฆ้องสองตัว และค้อนสองตัวที่ยกและตีลงบนฆ้องตามข้อมูลเวลาที่ได้รับจากกลไกการทำงานภายใน
และนอกเหนือจากจะต้องมั่นใจว่าฟังก์ชั่นของจักรกลของ H. Moser & Cie. Minute Repeater ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว นักคิดค้นและทีมพัฒนายังต้องพยายามสร้างสรรค์ และควบคุมให้เกิดผลลัพธ์ของเสียงที่ไพเราะงดงาม โดยมีความสอดคล้องทั้งระดับเสียง ความยาวของเสียงที่แน่นอน และความใสบริสุทธิ์ของโน้ตเสียง
โดยมีสัดส่วน รูปทรง และวัสดุ ตัวเรือนของ H. Moser & Cie. ที่เป็นอีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญซึ่งจะช่วยขยายเสียงให้ก้องกังวานและชัดเจนยิ่งขึ้น ในรุ่นนี้จึงได้นำคุณสมบัติและความโดดเด่นของวัสดุไทเทเนียม (Titanium) มาใช้ผลิตเป็นตัวเรือน ซึ่งเปรียบเหมือนห้องสะท้อนเสียงและผนังเสียงสะท้อนให้กับจักรกล Minute Repeater โดยไทเทเนียมนั้นถือเป็นโลหะที่มีความยืดหยุ่นสูง จึงมีโอกาสเกิดการผิดรูปได้แค่เพียงเล็กน้อยมากๆ ภายใต้แรงกด และส่งผลให้มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า นอกจากนี้ไทเทเนียมยังมีน้ำหนักเบาและความหนาแน่นต่ำจึงมีอัตราการซับเสียงต่ำจึงรักษาระดับแรงสั่นจากเสียงได้ดี เสียงจึงกังวานได้ยาว
ผสมผสานด้วย Flying tourbillon หมุนรอบหนึ่งนาที ที่ติดตั้ง ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งเป็นหนึ่งจุดดึงดูดสายตา โดยไม่เพียงมอบความสวยงามของภาพที่เห็นราวกับว่ามันกำลังลอยอย่างไร้น้ำหนักอยู่บนหน้าปัด แต่ Flying tourbillon นี้ยังช่วยยกระดับความเที่ยงตรงให้กับนาฬิกาได้อีกด้วย โดยบริเวณหน้าปัดจะไม่มีตัวเลขเวลาหรือชื่อของแบรนด์เลย สำหรับผลงานรุ่นใหม่ใน Endeavour Concept Minute Repeater Tourbillon ของ H Moser & Cie. ผลิตขึ้นจำนวนจำกัดเพียง 20 เรือนนี้ ได้เลือกบรรจุด้วยหน้าปัดสี Electric Blue (อิเล็กทริก บลู) ซึ่งเป็นเฉดสีใหม่ล่าสุดของแบรนด์ มีตัวอักษร “M” อยู่บนยอดเม็ดมะยม หน้าปัดในบริเวณส่วนกลางขัดแต่งเป็นลาย Sunburst ภายในตัวเรือนไทเทเนียม ขนาด 43 มม. ที่ประกอบกระจกแซฟไฟร์ทั้งบนหน้าปัดและฝาหลัง จับคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำบุข้างใต้ด้วยหนังสีแดง พร้อมหัวเข็มขัดไทเทเนียม เพื่อเติมลุคและสัมผัสแห่งความเรียบง่ายสไตล์อินดี้ให้กับนาฬิกา H Moser & Cie. ผู้ฉีกออกนอกกรอบประเพณีการประดิษฐ์เรือนเวลาชั้นสูงนี้อีกครั้ง
Roger Nicholas Balsiger (โรเจอร์ นิโคลัส บัลซิเกอร์) ประธานกิตติมศักดิ์ กล่าวถึงนาฬิการุ่นนี้ว่า “H. Moser & Cie Endeavour Concept Minute Repeater Tourbillon นี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดทางด้านเทคนิค แต่ยังคงรูปลักษณ์ที่สวยเรียบง่าย”
“It offers so many wonderful Technical details a yet looks clean, so simple” Roger Nicholas Balsiger
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF H. Moser & Cie.
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่