รวมทุกเรื่องราวงานศิลป์ ร้อยเรียงผ่านงาน Lotus Arts de Vivre: Woven Jewels นิทรรศการผ้าไหมหายาก
ครั้งนี้ Padthai.co จะพาคุณมาสัมผัสกับเรื่องราวอันน่าสนใจเกี่ยวกับผ้าไหมโบราณที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทอมือ หนึ่งในของสะสมชิ้นพิเศษอันล้ำค่าของคุณรอล์ฟ วอน บูเรน ( Rolf von Bueren ) นักสะสมผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมตะวันออก รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ ( Lotus Arts de Vivre ) แบรนด์จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านสัญชาติไทย ที่เน้นการสร้างสรรค์ชิ้นงานหัตถกรรมโดยยึดหลักความงามของวัสดุจากธรรมชาติและเหล่าอัญมณี ซึ่งเราจะได้ชมกันภายในงาน Woven Jewels นิทรรศการผ้าไหมหายาก ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ แกลเลอรี่ พระราม 3
จากความหลงใหลสู่การสะสม คุณรอล์ฟกล่าวว่า สิ่งทอที่เกิดขึ้นจากความอุตสาหะและจินตนาการของช่างฝีมือ สะท้อนให้เราได้เห็นถึงวิถีชีวิต อารยธรรม และเรียกได้ว่าเป็นมรดกของชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ และด้วยลักษณะของงานทำให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย เพื่อแสวงหาช่างฝีมือและวัสดุหายากมารังสรรค์เป็นเครื่องประดับ ของแต่งบ้าน จึงได้พบกับช่างทอผ้ามากฝีมือและเริ่มสะสมหัตถศิลป์ผ้าทอมือจากประเทศในแถบเอเชียตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา หรือเมื่อ 56 ปีก่อน และอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้เห็นความสวยงามของงานศิลปหัตถกรรม
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ( BACC ) มาร่วมเป็นภัณฑารักษ์ ผู้ดำเนินการและจัดนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย โดยมีไฮไลต์สำคัญ อาทิ ผ้าส่าหรีอีนเดียโบราณ กระเป๋าผ้าที่ทำขึ้นจากผ้าไหมโอบิยุคเอโดะ และผ้าคลุมไหล่พัชมีนา ( Pashmina Shawls ) จากแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1850
ผ้าคลุมไหล่พัชมีนา (Pashmina) หนึ่งในของสะสมชิ้นสำคัญที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ บางผืนนั้นมีอายุมากกว่า 200 ปีเลยทีเดียว โดยผ้าพัชมีนานั้นสร้างขึ้นจากการทอขนแพะภูเขาที่อาศัยอยู่แทบเทือกเขาหิมาลายัน (Himalayan mountain goat) ความพิเศษ คือช่างฝีมือจะเลือกนำเอาเฉพาะเส้นขนชั้นในสุดที่มีความนุ่มละเอียดมาใช้ในการผลิตเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันผ้าพัชมีนาทอมือนับเป็นหนึ่งในผ้าที่มีราคาสูง เพราะนอกจากจะใช้เวลาในการทอแล้วยังต้องอาศัยภูมิปัญญาของช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย
นอกเหนือจากของสะสมของคุณรอล์ฟแล้ว ครั้งนี้โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ ได้ร่วมมือกับอาจารย์ เกนเบ ยามากูจิ (Genbei Yamaguchi) ปรมาจารย์แห่งผ้าโอบิญี่ปุ่น และทายาทรุ่นที่ 10 ของ คอนดายะ เกนเบ (Kondaya Genbei) โรงงานผู้ผลิตผ้าทอโอบิที่มีอายุมากว่าสามศตวรรษ (ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1738) แห่งเมืองเกียวโต นำผ้าทอโอบิ (Obi) หรือที่เราคุ้นเคยกันดีว่าเป็นผ้าคาดเอวในชุดกิโมโน และเสื้อคลุมฮาโอริ (Haori) หลากหลายชิ้นงานมาจัดแสดงให้เหล่านักสะสมและผู้ที่สนใจได้ชื่นชมกันอย่างใกล้ชิด
TORYUMON Obi – A Gateway to Success ( ขวาบน ) และ OBI-Peacock ( ล่าง )
ความพิเศษของคอลเลกชั่นอาจารย์เกนเบ ยามากูจิ คือ ใช้เทคนิคการทอผ้าแบบโบราณมาผสานเข้ากับหลากหลายวัสดุ เช่น การใช้เส้นใยที่ผลิตจากเปลือกต้นเชอร์รี่ เปลือกหอยมุก ยางต้นพลับ รวมไปถึงการคิดค้นวิธีย้อมผ้าสีฟ้าด้วยการบดหินลาพิส ลาซูลี (Lapis lazuli) และการทอผ้าโอบิด้วยขนนกยูง
The Masterpiece
- KOI at TORYUMON A Carp ผ้าโอบิทอลวดลายปลาคาร์ปสีทองที่กำลังแหวกว่ายในผืนน้ำ โดยตัวปลาคาร์ปทำขึ้นจากทองคำเปลว พร้อมสร้างมิติลวดลายคลื่นด้วยเทคนิคการทอแบบฟูซึ (Futsu) หนึ่งในวิธีทอผ้าแบบโบราณ
- TORYUMON Obi – ‘A Gateway to Success’ ผ้าคาดเอวในชุดกิโมโนที่นำเอาเทคนิคแลคเกอร์มาสร้างสรรค์เป็นลวดลายปลาคาร์ปสีทองว่ายทวนน้ำ จากตำนานความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ที่ว่าปลาคาร์ปสามารถว่ายทวนน้ำและแปลงร่างเป็นมังกรผู้สง่างามได้ ทั้งยังยกย่องให้ปลาคาร์ปเป็นสัญลักษณ์แห่งความเพียรพยายามอีกด้วย
- OBI-Peacock สุดยอดผลงานมาสเตอร์พีซของอาจารย์เกนเบ ยามากูจิ ผ้าโอบิลวดลายขนนกยูงตกแต่งเงินและทองคำเปลวอายุ 100 ปี ทอด้วยไหมทองและเงิน โดยใช้เทคนิคการทอแบบโบราณซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอย่างมากและต้องอาศัยช่างฝีมือผู้ชำนาญ
นอกจานี้ยังมีกระเป๋าคอลเลกชั่นพิเศษที่เป็นการผสานควบรวมดีไซน์สมัยใหม่เข้าไว้กับศิลปะแห่งผ้าทอและวัสดุจากธรรมชาติ สู่การรังสรรค์กระเป๋าที่มีลักษณะโดดเด่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์
หากใครสนใจสามารถร่วมชมความงดงามของศิลปะวัตุอันงดงามเหนือกาลเวลา และงาน Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels นิทรรศการผ้าไหมทอมือ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ แกลลอรี่ พระราม 3 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น. และนัดหมายการเข้าชมได้ที่ โทร. 089 667 6077 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.lotusartsdevivre.com และ IG: @lotusartsdevivre
CREDITS:
PHOTOS BY COURTESY OF LOTUS ARTS DE VIVRE
สามารถอ่านคอนเทนท์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่