Swiss-French Watchmaking won UNESCO การประกาศขึ้นทะเบียนประจำปีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยการเสนอชื่อร่วมกัน
Swiss-French Watchmaking won UNESCO ก่อนหน้านี้เราอาจได้ยินข่าวการขึ้นทะเบียน “หาบเร่แผงลอย” ของสิงคโปร์ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) กันมาแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก งานฝีมือและประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาจักรกล รวมถึงศิลปะทางจักรกลของสวิสและฝรั่งเศสนั้น ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2020 นี้ด้วยเหมือนกัน
โดยเฉพาะมรดกทางศิลปะและงานฝีมือที่มีมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษในเขตเทือกเขาฌูรา (Jura mountain) ที่บ่มเพาะกลายเป็นประเพณีเชิงสัญลักษณ์และวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ยังคงอยู่ ณ แถบเทือกเขาเฟรนช์-สวิส ฌูรา (Swiss-French Jura Arc) ซึ่งนับเป็นการบรรจบกันระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และเทคโนโลยีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน
การประกาศขึ้นทะเบียนประจำปีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยการเสนอชื่อร่วมกันของ สวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสเมื่อปี 2019 ซึ่งในรายละเอียดของการเสนอชื่อนี้ได้รวมไปถึงทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการงานฝีมือในการประดิษฐ์รังสรรค์นาฬิกาจักรกล รวมทั้งศิลปะทางจักรกลที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาคล็อก และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์และออกแบบมาเพื่อการวัดและแสดงเวลา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการผลิตออโตเมตอน กล่องดนตรี และจักรกลอื่นๆ ด้วย กับความหลากหลายของเทคนิค นับตั้งแต่การรังสรรค์ด้วยมือ ด้วยประเพณี และการผลิตด้วยนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัย
Swiss-French Jura Arc ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เมืองเจนีวาจนถึงบาเซิลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์นี้ ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอุตสาหกรรมเรือนเวลาในยุโรป ด้วยทักษะ ความเชี่ยวชาญ และงานฝีมือซึ่งถ่ายทอดและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยมีจุดเริ่มต้นนับจากยุคของ Jean Calvin นักบวชชาวฝรั่งเศสผู้มีบทบาทสำคัญในเจนีวา ท่ามกลางยุคแห่งการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ (Protestant Reformation) ซึ่งเขาได้สวมบทบาทหลักในการปลูกฝังประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาไว้ให้กับภูมิภาคนี้ โดยแม้ว่าจะมีการห้ามสวมใส่วัตถุและสิ่งของเครื่องประดับในช่วงปี 1541 แต่เขาก็มีส่วนผลักดันให้บรรดาช่างทองและช่างอัญมณีจำเป็นต้องหันไปหาวิชาชีพและศิลปะงานฝีมือแขนงใหม่ ซึ่งก็คือการประดิษฐ์นาฬิกา และเพราะมีชาวโปรเตสแตนต์จำนวนมากที่หลบหนีเข้ามายังเมืองเจนีวา จึงได้นำทักษะการประดิษฐ์นาฬิกานี้ติดตัวมาด้วย และปลูกฝังงานฝีมือให้กับเมืองนี้สืบต่อกันมา
ณ ปัจจุบัน แถบเทือกเขาฌูรานั้นยังคงเป็นศูนย์รวมและที่ตั้งของบริษัทผลิตนาฬิกาทั้งขนาดเล็กและใหญ่มากมาย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมของเหล่าศิลปินและช่างนาฬิกามากฝีมือไว้จำนวนมาก รวมถึงตัวเลือกของงานช่างฝีมือแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นาฬิกาและจักรกลอยู่อีกมากมายเช่นกัน
เฉพาะสวิตเซอร์แลนด์เพียงประเทศเดียว ยังคงมีพนักงานและแรงงานจำนวนมากถึง 57,500 คนอยู่ในอุตสาหกรรมนาฬิกา ซึ่งนั่นนับรวมไปถึงวิชาชีพและงานช่างฝีมือต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบตัวเรือนและประกอบกลไกจักรกลของเรือนเวลาที่มีความเที่ยงตรง ขณะที่การประดิษฐ์นาฬิกาถือเป็นภาคธุรกิจการส่งออกใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศ ด้วยมูลค่าการส่งออกนาฬิกาเกือบราว 22 พันล้านสวิสฟรังก์ (25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 20 พันล้านยูโร) เมื่อปีค.ศ. 2019
แม้ปี 2020 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส แต่ด้วยมรดกอันทรงคุณค่านี้ก็น่าจะเป็นรากฐานอันมั่นคง ให้ประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาสวิส-ฝรั่งเศสยังคงได้รับการสืบทอดอย่างยั่งยืนต่อไป
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF THE BRANDS
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon
สามารถอ่านคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ นาฬิกา ได้ที่