บิวกิ้นพีพี ชวนเที่ยวบ้านเต๋ ยลสถาปัตย์ชิโน-โปรตุกีสผ่านซีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’


โอบกอดทะเลใต้ เที่ยวภูเก็ต ส่องสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ผ่านซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ไปกับคู่จิ้นสุดฮอต บิวกิ้นพีพี


บิวกิ้น พุทธิพงศ์ และ พีพี กฤษฎ์ ใน บิวกิ้นพีพี โปรเจกต์ : แปลรักฉันด้วยใจเธอ

เรียกได้ว่าเป็นคู่จิ้นที่ฮอตฮิตติดเทรนด์ไทยกันแบบรัว ๆ สำหรับ 2 นักแสดงหนุ่ม บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ที่ทุกคนคุ้นเคยกันในบท โอ้เอ๋ว และ เต๋ จากซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I told sunset about you) ใน บิวกิ้นพีพี โปรเจกต์ (BKPP Project) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ไลน์ ทีวี (LineTV) และค่ายนาดาวบางกอก

แถมเร็ว ๆ นี้ เรายังจะได้ชม แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อจากภาคแรก เล่าเรื่องความรักของ เต๋ (บิวกิ้น พุฒิพงศ์) และโอ้เอ๋ว (พีพี กฤษฎ์) ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย โดยมีนักแสดงใหม่มาร่วมสร้างสีสันในเรื่องราวภาคใหม่ไม่ว่าจะเป็น โอบ โอบนิธิ, ก้อย อรัชพร, พี สาริษฐ์, นิว ชยภัค และนักแสดงหน้าใหม่อีกคับคั่ง

บิวกิ้น พุทธิพงศ์ และ พีพี กฤษฎ์ ใน บิวกิ้นพีพี โปรเจกต์ : แปลรักฉันด้วยใจเธอ

แต่วันนี้ Padthai.co ไม่ได้พามาเจาะลึกซีรีส์ในซีซันใหม่ แต่จะพาทุกคนย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำในซีซันแรก สูดกลิ่นอายของทะเลใต้ และเที่ยวเมืองภูเก็ต ทำความรู้จักกับสถาปัตยกรรมแนวชิโน-โปรตุกีส ที่ปรากฏให้เห็นในซีรีส์เรื่องนี้

แปลรักฉันด้วยใจเธอ เล่าเรื่องราวของ โอ้เอ๋ว และ เต๋ เพื่อนสนิทที่เคยมีเรื่องหมางใจกันในวัยเด็ก และกลับมาพบกันอีกครั้งในช่วงเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้กลับมาสนิทกันดังเดิม เต๋อาสาติวภาษาจีนให้โอ้เอ๋ว เพื่อเตรียมสอบ และหวังว่าจะได้เข้าเรียนในสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ความใกล้ชิดที่ก่อตัวขึ้นในใจของทั้งสอง ก็ทำให้เต๋เกิดคำถามกับตนเอง และนำไปสู่จุดผลิกผันของเรื่อง 

บิวกิ้น พุทธิพงศ์ และ พีพี กฤษฎ์ ใน บิวกิ้นพีพี โปรเจกต์ : แปลรักฉันด้วยใจเธอ

โดยเนื้อหาของเรื่องจะเกิดขึ้นที่ ภูเก็ต อันเป็นบ้านเกิดของสองตัวละครหลัก เราจึงได้เห็นทัศนียภาพย่านเมืองเก่าของภูเก็ต รวมถึงทะเลและหาดทรายสวย ๆ เป็นของแถมตลอดทั้งเรื่อง

หากลองย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เมืองภูเก็ต ไม่ได้เป็นแค่จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล แต่ยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแร่ดีบุก ทำให้ชาวต่างชาติมากหน้าลายตาเข้ามาลงทุนในเหมืองแร่ของภูเก็ต รวมถึงชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือที่เรียกกันว่า นายเหมือง

ครอบครัวเต๋เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล เปิดร้านขายหมี่ฮกเกี้ยน อาหารขึ้นชื่อของชาวจีนฮกเกี้ยน
ครอบครัวเต๋เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล เปิดร้านขายหมี่ฮกเกี้ยน อาหารขึ้นชื่อของชาวจีนฮกเกี้ยน

ตามท้องเรื่อง เต๋ เป็นลูกหลานครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล ที่มาตั้งรกรากในภูเก็ตและเปิดร้านขาย หมี่ฮกเกี้ยน อาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของชุมชนชาวฮกเกี้ยนในภูเก็ต ดังนั้นเราจึงได้เห็น เตี้ยมฉู่ หรือตึกแถวอันเป็นบ้าน และร้านหมี่ฮกเกี้ยนของครอบครัวเต๋ ออกแบบและตกแต่งด้วยสไตล์ชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese Architecture) ซึ่งได้รูปแบบมาจากสถาปัตยกรรมยุโรป โดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในแหลมมลายูเป็นคนเขียนผังขึ้น และได้ช่างชาวจีนนำมาสร้างต่อ โดยปรับแต่งสถาปัตยกรรมให้พ้องกับความเชื่อแบบจีน 

ภาพจากเพจ Muang Boran Journal
บ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกิสมีความโดดเด่นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ เจาะช่องและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทไหลเวียน ในภาพเป็นห้องนั่งเล่นที่อยู่ถัดจากฉิ่มแจ้ โดยมีหน้าต่างบานใหญ่รับลม
บ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกิสมีความโดดเด่นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ เจาะช่องและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท ในภาพเป็นห้องนั่งเล่นที่อยู่ถัดจากฉิ่มแจ้ โดยมีหน้าต่างบานใหญ่เปิดรับลม

จุดเด่นของ เตี้ยมฉู่ คือการบริหารพื้นที่ใช้สอยภายในของตึกแถว โดยแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ใช้ส่วนหน้าเป็นร้านขายของ และลึกเข้ามาเป็นพื้นที่ที่ใช้พักผ่อนในครอบครัว ซึ่งเราจะได้เห็นตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะช่วงที่โอ้เอ๋วไปติวภาษาจีนที่บ้านของเต๋

และหนึ่งเอกลักษณ์ของเตี้ยมฉู่แบบชิโน-โปรตุกีสที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ฉิ่มแจ้ หรือการสร้างบ่อน้ำกลางบ้าน ในบริเวณช่องกลางบ้านที่ด้านบนเปิดโล่ง มีลมและแสงส่องผ่าน ซึ่งเราจะเห็นเต๋และโอ้เอ๋ว มาใช้พื้นที่บริเวณฉิ่มแจ้ ในการนั่งติวหนังสืออยู่บ่อยครั้ง

ฉิ่มแจ้ หรือ สระน้ำกลางบ้าน ที่ด้านบนเปิดโล่งให้มีแสงส่องทะลุผ่านลงมาภายในตัวบ้านได้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ บิวกิ้นพีพี ใช้ถ่ายฉากติวหนังสือ
ฉิ่มแจ้ หรือ สระน้ำกลางบ้าน ที่ด้านบนเปิดโล่งให้มีแสงส่องทะลุผ่านลงมาภายในตัวบ้านได้

ซึ่งข้อดีของฉิ่มแจ้ นอกจากจะทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทแล้ว ยังอิงตามหลักฮวงจุ้ยของชาวจีนฮกเกี้ยน ว่าการเปิดรับลมและฝนให้ผ่านลงมาได้ เปรียบเสมือนเปิดรับเงินทองให้ไหลเข้าบ้านอีกด้วย

ในฉากที่เต๋และโอ้เอ๋วขึ้นไปพูดคุยกันบนดาดฟ้าถึงเรื่องอนาคตเกี่ยวกับการเรียน หากลองสังเกตกันดี ๆ จะเห็นป้ายสัญลักษณ์มงคลจีน ซวงสี่ (囍) ซึ่งหมายถึงความยั่งยืน  เขียนในวงกลมที่มีความหมายถึง ความสมบูรณ์สมหวัง นิยมใช้ประดับบ้านเรือนเพื่อเป็นสิริมงคล และอวยพรให้สมหวังอย่างยั่งยืน  

ฉากดาดฟ้าของ บิวกิ้นพีพี และ ซวงสี่ สัญลักษณ์ประดับบ้านของชาวจีนที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล
ฉากดาดฟ้า และ ซวงสี่ สัญลักษณ์ประดับบ้านของชาวจีนที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล

โดยโลเคชั่นที่ใช้เป็นบ้านของเต๋ในเรื่อง คือร้านกาแฟ โกปี่เตี่ยม ร้านกาแฟเก่าแก่ของเมืองภูเก็ตในย่านเมืองเก่า (Old Town) ที่นอกจากเมืองภูเก็ตจะเก็บรักษาสถาปัตยกรรมเดิมโดยการคงพื้นที่และตึกในย่านนี้ไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ยังวางโครงการเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาให้ย่านเมืองเก่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ถ้าหากใครได้มีโอกาสแวะเวียนไปดื่มกาแฟที่ บ้านเต๋ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนถลาง ในเวลาค่ำ ๆ ก็จะได้สัมผัสความสวยงามของไฟประดับที่ห้อยเรียงรายเป็นแนวยาวตลอดช่วงตึก เหมือนที่ปรากฏในมิวสิควีดีโอเพลง แปลไม่ออก ซึ่งเป็นเพลงประกอบซีรีส์นี้ไม่มีผิด

หง่อขากี่ หรือ อาเขต พื้นที่บริเวณหน้าบ้านที่จะทำเป็นซุ้มโค้งให้มีทางเดินสำหรับหลบแดดหลบฝนได้ เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวตลอดช่วงตึกแถว โดยมีเพดานเป็นพื้นของอาคารชั้น 2
หง่อคาขี่ หรือ อาเขต พื้นที่บริเวณหน้าบ้านที่จะทำเป็นซุ้มโค้งให้มีทางเดินสำหรับหลบแดดหลบฝนได้
เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวตลอดช่วงตึกแถว โดยมีเพดานเป็นพื้นของอาคารชั้น 2
ร้านของครอบครัวเต๋ ที่ดัดแปลงมาจากร้านกาแฟโกปี๊เตี่ยม ร้านเก่าแก่บนถนนถลาง ย่านเมืองเก่าของภูเก็ต
ร้านหมี่ฮกเกี้ยนของครอบครัวเต๋ ใช้โลเคชั่น ร้านกาแฟโกปี่เตี่ยม ร้านเก่าแก่บนถนนถลาง ย่านเมืองเก่าของภูเก็ต นอกจากเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่เห็นในเรื่อง อาหารที่ขายภายในร้านก็อร่อยด้วย!

ไม่เพียงแค่รายละเอียดในเชิงสุนทรียะทางภาพเท่านั้น แต่ซีรีส์ยังนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การเตรียมตัวเข้าสอบ ความทุกข์ยากและกดดันของระบบการศึกษาไทย และการก้าวพ้นวัยของนักเรียนมัธยม รวมถึงการค้นหาตัวตนและ Sexual Orientation ที่หลากหลาย โดยไม่ผูกติดกับขนบวิธีการเล่าแบบซีรีส์วายเดิม ๆ ในตลาดบันเทิงไทย  แม้จะมีความยาวเพียง 5 ตอนจบ แต่ก็สามารถดึงดูดให้ผู้ชมติดตามและคาดเดาว่าตอนจบของเรื่องจะลงเอยเช่นไร

 บิวกิ้น พุทธิพงศ์ และ พีพี กฤษฎ์ ใน บิวกิ้นพีพี โปรเจกต์ : แปลรักฉันด้วยใจเธอ

แปลรักฉันด้วยใจเธอ เป็นฝีมือการกำกับของ บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับมากฝีมือ เจ้าของ 3 รางวัลนาฎราชจากซีรีส์ ไซด์ บาย ไซด์ (Side by Side) พี่น้องลูกขนไก่ (2017) และเคยร่วมงานกับ บิวกิ้น และ พีพี มาแล้วในซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (2019) และยังมี ปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร พี่ใหญ่แห่งบ้านนาดาวบางกอกรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ด้วย

แปลรักฉันด้วยใจเธอ ซีซัน 1 นับว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม โดยมียอดผู้เข้าชมบนไลน์ทีวี สูงกว่า 1 ล้านครั้ง ในตอนที่ 1 และ 2 และยอดเข้าชมสูงกว่า 2 ล้านครั้ง ในตอนที่ 3 ถึง 5 รวมทั้งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกสัปดาห์ที่ซีรีส์เข้าฉายตั้งแต่ตอนแรก นอกจากนั้นยังคว้ารางวัลซีรีส์ยอดนิยมจาก Siamrath Online Awards 2020 และรางวัลซีรีส์ต่างประเทศยอดนิยมจากประเทศจีนในงาน Weibo TV Series Awards ครั้งที่ 5 รวมทั้งรางวัลความเท่าเทียมทางเพศจาก NYLON THAILAND 2020 และ Asian BL Series of The Year จากเวที 2020 Asian Drama Awards ด้วย


ชม แปลรักฉันด้วยใจเธอ ได้แล้ววันนี้บน LineTV


อ่านข่าวสารเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์และซีรีส์อื่น ๆ บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 13 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Your Tarot Weekly

Post Views: 48 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Holiday Season – Sunny Fredland

Post Views: 12 ฉลองช่วงเวลาแห่งความสุขสุดพิเศษไปกับ Sunny Fredland Fred (เฟร็ด) เชิญสัมผัสประสบการณ์ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่เปล่งประกายด้วยความสดใสจากกา…