Hiroshi Yamano The Master of Glassblowing ศิลปะการเป่าแก้วจากปรมาจารย์ชั้นนำระดับโลก (ฮิโรชิ ยามาโน) ที่สตูดิโอ ของ บางกอก กลาส จำกัด
Hiroshi Yamano The Master of Glassblowing ศิลปินรับเชิญชื่อก้องระดับโลก
ทางทีมงานผัดไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมชมการสาธิตศิลปะแก้ว Hiroshi Yamano The Master of Glassblowing โดยศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลก Mr. Hiroshi Yamano ณ สตูดิโอของ บริษัทบางกอก กลาส จำกัด ที่รังสิต-นครนายก ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรและบางกอก กลาส เชิญ มร. ยามาโน มาสาธิตหนึ่งวันในวันที่ 21 สิงหาคม และบรรยายในวันที่ 22 อีกหนึ่งวันที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม นับเป็นโอกาสอันดีที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น ที่จะได้เห็นปรมาจารย์ทางด้านศิลปะแก้ว แสดงวิธีการทำงานให้ดูอย่างใกล้ชิด
อาร์ตสตูดิโอ
เช้าวันนั้น เมื่อเรามาถึงบริษัทบางกอก กลาส ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวางเป็นอย่างยิ่ง ดูเสมือนเมืองมหาวิทยาลัยมากกว่าโรงงานผลิตแก้ว เราขับรถหาสตูดิโอ BG Glass ผ่านสนามกีฬาขนาดย่อม และสถานที่ๆกำลังก่อสร้างบริเวณใกล้เคียง จนมาถึงบริเวณที่เรียกว่าอาร์ตสตูดิโอมีโชว์รูมแสดงงานศิลปะของคณาจารย์ และศิลปินรับเชิญผู้ช่วยวางรากฐานให้แก่สตูดิโอแห่งนี้ คุณพยับหมอก หัวหน้าดีไซเนอร์ได้ออกมาต้อนรับเราและแนะนำงานศิลปะแก้วในห้องนี้ให้เราฟัง อธิบายลักษณะและเทคนิกโดยคร่าวๆ ให้คนทั่วไปได้เข้าใจกับการสาธิตที่กำลังจะเกิดขึ้น ก่อนที่จะเดินทะลุห้องไปสู่เวิร์กช็อป ซึ่งความร้อนผ่าวเริ่มถาโถมใส่เราในทันที
การทำงานในสตูดิโอ บางกอก กลาส
ห้องเวิร์กช็อปนี้เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ทำงาน มีเตาใหญ่ถึง 3 ตัว พร้อมเตาอบคงอุณหภูมิ และเตาค่อยๆ ลดอุณหภูมิ เมื่อเราเข้าสู่ห้องเวิร์ก ช็อปนั้น อาจารย์ ยามาโน กำลังง่วนอยู่กับการทำตัวเองให้คุ้นเคยกับตำแหน่งอุปกรณ์และเตาไฟ ด้วยการทำโถแก้วใส่น้ำที่ใกล้เสร็จอยู่ อาจารย์ ยามาโน เป็นชายญี่ปุ่นร่างสูง ผมสีดอกเลา ดูหล่อเหลาและเท่มาก อยู่ในชุดเสื้อเชิร์ตลินินลายทางสีฟ้า กางเกงสีเนื้อกรอมเข่า และรองเท้าแตะแบบสะอาดตา ที่ต้องบรรยายกันขนาดนี้ เพราะเราคาดว่าจะมาพบกับชุดปกคลุมป้องกันไฟ ดังมนุษย์อวกาศ แต่อาจารย์ ยามาโน ผู้กำลังจะเล่นกับไฟผู้นี้ กับอยู่ในชุดสบายๆ กึ่งเดินอยู่ชายหาด!
Hiroshi Yamano เล่นกับไฟ
เตาไฟตรงหน้าอาจารย์นั้นมีอุณหภูมิสูงระหว่าง 800 ถึง 1,000 กว่าองศา เพื่อที่จะสามารถทำงานกับแก้วให้ไปตามจินตนาการของศิลปินได้ ยังไม่ทันเริ่มเราก็รู้สึกร้อนผ่าว เหงื่อไหลเป็นน้ำ ส่วนอาจารย์นั้นมีใบหน้าที่ออกชมพูแดง เพราะอยู่หน้าเตาไฟ อาจารย์จะดื่มน้ำอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งคนที่เข้าชมด้วย เพราะความร้อนทำให้ร่างกายเสียน้ำไปตลอดเวลา อาจารย์ ยามาโนในวัย 62 ปี ยังดูกระชุ่มชวย เต็มไปด้วยพลัง อาจารย์อารมณ์ดี ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี นักข่าวอย่างเราก็ต้องปลาบปลื้มกับศิลปินชื่อก้องโลก แต่มีความสุภาพและถ่อมตนอย่างเหลือล้น
ประวัติของ Hiroshi Yamano
อาจารย์ ยามาโน เริ่มค้นพบว่าตนเองสนใจเรื่องการเป่าแก้ว ในวัยเรียน อายุประมาณ 20 ปี ได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา อีกด้วย แน่นอนอาจารย์คงได้ผ่านการฝึกฝนมาจากหลายสถานที่กว่าจะมีวันนี้ ศิลปะแก้วเป็นศิลปะที่เริ่มจากชาวโรมัน นานนับพันปี ที่ศิลปินทุกคนในปัจจุบันได้เรียนรู้ถึงรากฐานการเป่าแก้ว สำหรับอาจารย์ สหรัฐอเมริกาได้เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ศิลปินใช้เทคนิคดั้งเดิม แต่ถ่ายทอดจินตนาการและการรังสรรค์ชิ้นงานตามที่ใจปรารถนา ก่อให้เกิดผลงานใหม่ๆที่หลายหลาก งานของอาจารย์ยามาโน จะเป็นศิลปะแก้วในสไตล์สากลที่มีความเป็นญี่ปุ่นอย่างโดดเด่น ผลงานที่เราเห็นจากทางเว็บไซต์ของแกลเลอรี่ในอเมริกา จะเป็นปลาที่พาดอยู่ในโถแก้ว ด้วยรูปทรงต่างๆนานา ยังมีทั้งนก ดอกซากุระสวยงามบางใสอยู่บนแก้วผลึก ดูงดงามและเปราะบางน่าทะนุถนอมยิ่งนัก
ขั้นตอนการทำงาน
ในช่วงเช้า อาจารย์เริ่มสาธิตให้เราดู ด้วยการทำตัวปลา เพื่อให้นักศึกษาทางด้านนี้ได้เข้าใจ การใช้เทคนิกหลายหลาก โดยมีผู้ช่วยไม่ต่ำกว่า 3 คน เพราะต้องมีการเผาแก้วให้ร้อน ในขณะที่อาจารย์เตรียมงานทำสีบนตัวปลาด้วยแผ่นเงิน และแผ่นทองบางๆ วัสดุเหล่านี้มีราคาค่างวดสูงมาก อาจารย์เริ่มจากการทำตัวปลา เผาแก้ว กลึงไปกับพื้นโต๊ะ เพื่อให้แก้วยืดตัวออก ทำซ้ำกลับไปกลับมาหลายรอบ จากน้ันก็หุ้มแก้วด้วยแผ่นเงินแท้ กลิ้งจนเนียนไปกับแก้ว กลับเข้าไปเผา ออกมาวนกับกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ต้องเทน้ำให้ชุ่ม ในขณะเดียวกัน ก้านเหล็กที่ถือก็ร้อนมาก ต้องแช่กลึงไปมากับน้ำเพื่อลดความร้อน เพื่อให้สามารถถือทำงานต่อไปได้ นับไปขั้นตอนซับซ้อนที่ต้องทำกลับไปกลับมา จนกว่าจะควบคุมรูปทรงแก้วได้อย่างที่ต้องการ โชคดีที่มีอาจารย์ จักรพรรณ อาจารย์จากภาควิชาค่อยอธิบายแต่ละขั้นตอนให้เราฟังอีกที
Hiroshi Yamano กับทีม บางกอก กลาส
อาจารย์ยามาโน ทำงานได้อย่างเข้าขากับผู้ช่วย ที่เป็นดีไซเนอร์อยู่ที่บางกอก กลาสแห่งนี้ อาจารย์มองหน้า ชี้ พูดอะไรนิดหน่อย ผู้ช่วยก็วิ่งปฎิบัติการไปรอบๆตัวอาจารย์ ศิลปินเช่นท่านยามาโนนี้ ต้องมีความอดทน สมาธิสูง รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ เพราะเล่นอยู่กับไฟ เราซึ่งเป็นผู้ชมยังรู้สึกหวาดเสียวแทนในบางครั้ง ที่มีทั้งเตาไฟ ที่พ่นไฟ อยู่รอบตัวอาจารย์ ในการสาธิตครั้งนี้ อาจารย์ได้ถ่ายทอด เทคนิกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ working lamp การทำ cane หรือหลอดแก้วที่มีไส้สีต่างๆ ที่สามารถมาทำเป็นเม็ดลูกปัด หรือเป็นเส้นแบบหลอดดูดที่มีสีสันอยู่ด้านใน เพื่อนำหลอมรวมเป็นแจกันลวดลาย มันแสนน่าทึ่ง ที่คนเราสามารถปรุงแต่งแก้วจากจินตนาการให้ออกมาเป็นรูปทรง เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก กับไฟ กับความร้อน กับช่วงเวลา และความคิดสร้างสรรค์ในเวลานั้นๆ คำถามโง่ๆ ผุดมาในหัวสมอง ปากก็ไม่ยั้งที่จะถามอาจารย์จักรพรรณว่า “แล้วถ้าพลาด จะทำอย่างไรคะ” อาจารย์ตอบสวนขึ้นมาทันทีเลยว่า “ก็เสียสิครับ แต่คนมีประสบการณ์มากๆ อาจจะหาทางแก้ไขได้ทันที”
Hiroshi Yamano ชื่นชอบในประเทศไทย
เราได้พูดคุยกับอาจารย์ในช่วงพักว่า อาจารย์ยามาโน รู้จักประเทศไทยดีขนาดไหน อาจารย์ยามาโนว่า อาจารย์มาเมืองไทยเป็นสิบปี ไปมาทั่ว แต่ที่อาจารย์ติดใจคือ ‘ภูเก็ต’ นั่นเอง เพราะมีความเป็นทะเลคล้ายๆ ญึ่ปุ่น แต่ก็มีสีสันยามค่ำคืน ทำให้ไม่เหงา อาจารย์ได้ซื้อคอนโดไว้แล้วด้วยเมื่อปีกลาย เพราะฉะนั้นเราก็หวังว่าอาจารย์น่าจะได้ทำอะไรที่ประเทศไทยได้อีกมากมาย สิ่งที่อาจารย์ชื่นชอบในประเทศไทยนั้นก็คือ อาจารย์เห็นประเทศทั้งสอง ทั้งไทยและญี่ปุ่น ต่างนับถือศาสนาพุทธ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร อาจารย์ชอบและภูมิใจในสถาบัน และสถานะเหล่านี้
งานศิลปะหลายหลาก
ช่วงบ่ายอาจารย์สาธิตการเป่าปลาหมึก สีสวยดังนวลจันทร์ เราผู้ชมเอาใจช่วยอาจารย์ในการตัดแก้วเป็นแปดแฉก สำหรับหนวด หลอมแล้วกลับมาดึงปลาย มีผู้ช่วย ช่วยตัดปลายในส่วนที่อาจารย์ชี้บอก ทำงานกันเป็นทีมได้อย่างราบรื่น เบ็ดเสร็จอาจารย์สามารถทำงานศิลปะชิ้นนี้ ที่เป็นปลาหมืกเกาะอยู่บนโถแก้วหลายเส้นเกลียวสีขาว ประมาณ 2 ชั่วโมงพอดิบพอดี เป็นงานสวยที่น่าทึ่ง ในแต่ละขั้นตอน เรารู้สึกเอาใจช่วยและสนุกไปด้วย เราคิดถึงการท่องเที่ยวไปที่เวนิส ไปเที่ยวเกาะมูราโน ชมการเป่าแก้วแค่ 10 นาที เพียงเท่านี้ นักทัศนาจรคนรวย รีบออกมาซื้อหากระจก แก้วไวน์ แบบหาญกล้าหน่อยก็ไฟห้อยระย้า แพ็กกลับบ้านหอบพะรุงพะรังกันไป
แวดวงศิลปะเมืองไทย
สำหรับวันนี้ นับว่าเป็นบุญตา เปิดโลกทัศน์ นับเป็นเกียรติที่ได้สัมผัสความเป็นศิลปินของท่านฮิโรชิ ยามาโน ทั้งนี้ เจ้าของและผู้บริหารบางกอก กลาส มีวิสัยทัศน์เปิดกว้าง นอกจากให้การสนับสนุนความรู้ทางด้านการศึกษาทางศิลปะแล้ว บางกอก กลาส ยังเป็นผู้สนับสนุนงานที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ท้ายที่สุดเวิร์ก ช็อป ที่บางกอก กลาส แห่งนี้ยังเปิดกว้างแก่ศิลปินภายนอก ให้เข้ามาเช่าใช้สถานที่ทำงานได้อีกด้วย
CREDITS:
เรื่อง : เพชรชมพู
ภาพ : มาศ เกียรติเสริมสกุล
วิดีทัศน์ : อมรินทร์ ชลวิบูลย์
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ : พีรยุทธ ลิมปนสถิตพร
สามารถอ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ที่