กาปฏิทินรอชมความงดงามของพระปรางค์ วัดอรุณฯ ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ กับโปรเจ็กต์ Global Greening Programme ประดับไฟเขียวที่แลนด์มาร์คทั่วโลกเพื่อฉลองวันชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์
ใครที่ชื่นชอบความงามของสถาปัตยกรรมวัดไทย หรือหลงรักการเสพบรรยากาศของแสงไฟยามค่ำคืนต้องเคลียร์คิวให้ว่างกันด่วน ๆ เพราะ วันที่ 17 มีนาคม ที่กำลังจะถึงนี้ Padthai.co จะชวนคุณปักหมุด วัดอรุณฯ ชมความงดงามของปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองของคนไทยในบรรยากาศสุดพิเศษ
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง วันชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (St. Patrick’s Day) สถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ฯ ได้จัดโปรเจกต์ Global Greening Programme (โกลเบิล กรีนนิ่ง โปรแกรม) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อร่วมฉลองวันชาติและเผยแพร่วัฒนธรรมของไอร์แลนด์ ให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก โดยจัดให้มีการประดับไฟสีเขียว สีประจำชาติไอร์แลนด์ ไว้ตามสถานที่สำคัญซึ่งเป็นแลนด์มาร์คของแต่ละประเทศ
โดยในไทย นอกจากที่วัดอรุณฯแล้ว จะมีการประดับไฟที่อาคารอื่น ๆ อย่าง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และอาคารบนถนนวิทยุได้แก่ โรงแรมคอนราด อาคาร 208 วายเลสโร้ด ทาวเวอร์ (ถนนวิทยุ) อันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ฯ รวมทั้ง อาคารออล ซีซั่นส์ เพลส ด้วย
ไม่เฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ และอาคารในย่านลุมพินีของไทยเราเท่านั้น ที่ร่วมโครงการเฉลิมฉลองนี้ ในต่างประเทศก็จะมีการประดับไฟเขียวและเฉลิมฉลองไปพร้อม ๆ กัน ในแลนด์มาร์คชื่อดังระดับโลก อย่าง อาคารซิดนีย์ โอเปรา เฮ้าส์ (Sydney Opera House) ออสเตรเลีย หอเอนเมืองปิซา แห่งอิตาลี น้ำตกไนแองการา สหรัฐอเมริกา เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์ ประเทศจีน รวมถึงลอนดอนอาย (The London Eye) ในอังกฤษ ชิงช้าสวรรค์ที่สูงที่สุดในทวีปยุโรปอีกด้วย
นอกจากโปรเจ็กต์ Global Greening Programme แล้ว ไอร์แลนด์ก็กำลังมีความพยายามจะผลักดันแคมเปญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ โดยมองวิกฤต Covid-19 เป็นโอกาสที่เราจะสามารถพัฒนา และรื้อฟื้นหลายสิ่งหลายอย่างจากโลกที่กำลังฟื้นตัวให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เช่น การผลักดันเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้แพร่หลาย ลดขยะจากทั้งเมืองและการเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับฟาร์ม เพื่อลดการปล่อยมลพิษและของเสีย และให้มีมลพิษตกค้างในสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด
ไอร์แลนด์จึงยึดวันเซนต์แพทริก (St. Patrick’s Day) เป็นวันที่จะเปลี่ยนโลกเป็นสีเขียวเพื่อเฉลิมฉลอง และแนะนำให้โลกรู้จักกับนวัตกรรมสีเขียวของไอร์แลนด์ที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมทั่วโลกไปพร้อม ๆ กัน
สาธารณรัฐไอร์แลนด์ เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยาวนาน และมีภูมิปประเทศเขียวชอุ่ม จนได้สมญานามว่าเป็น The Emerald Isle (ดิ เอเมอรัลด์ ไอร์) หรือ เกาะมรกตแห่งยุโรป
ในประวัติศาสตร์ ชาวไอริชฉลองในวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึง นักบุญแพททริค (St. Patrick) นักบุญองค์อุปถัมภ์คริสตศาสนาของไอร์แลนด์ และจากประวัติศาสตร์การถูกรุกรานและริดรอนทางศาสนาจากอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่ชาวไอริชถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาไอริช รวมทั้งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก การสวมเสื้อผ้าอาภรณ์สีเขียว จึงเปรียบเสมือนเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น
และยังมีความเชื่อกันว่า เหล่าเลพริคอนส์ (Leprechauns) ตามตำนานพื้นบ้าน (folklore) ของไอริช ภูตจิ๋ว มีหนวดเครา ใส่หมวกใส่ชุดสีเขียว ชอบแกล้งเย้าแหย่พวกมนุษย์ ดังนั้นใครไม่ใส่สีเขียวในวันนักบุญแพทริค ก็จะถูกเหล่าเลปพริคอนส์แกล้งเอานั่นเอง
ตามตำนาน เลพริคอนส์ จะใช้เวลาส่วนมากไปกับการซ่อมรองเท้า และเก็บเหรียญทองซ่อนเอาไว้ในหม้อที่ปลายสายรุ้ง หากใครจับตัวเลพริคอนส์ได้ เหล่าเทวดาตัวจ้อยก็จะมอบพรสามประการให้เพื่อแลกกับการปล่อยตัว ซึ่งผูกโยงกับความเชื่อของชาวไอริชเรื่อง ใบแชมร็อก หรือ ช่ออ่อนของโคลเวอร์ ต้นไม้นำโชคที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองไอร์แลนด์มาตั้งแต่ยุคโบราณ
เพราะนอกจากใบโคลเวอร์รูปหัวใจ 3 แฉกนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่และฤดูใบไม้ผลิ เป็นสัญลักษณ์ที่นักบุญแพททริคใช้แทน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสาม (Holy Trinity) ของศาสนาคริสต์ คือพระบิดา พระบุตร และพระจิต (พระตรีเอกานุภาพ)
เหตุนี้เอง เมื่อพูดถึงไอร์แลนด์ และการฉลองวันเซนต์แพททริค สิ่งแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงคือเสื้อผ้าอาภรณ์สีเขียว เหล่ามาสค็อตเหล่าภูตเลพริคอนส์ และใบแชมร็อคซึ่งล้วนเป็นสีเขียวทั้งสิ้น นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโครงการฉลองนี้จึงเลือกการประดับไฟสีเขียวไว้ตามแลนด์มาร์คทั่วโลก
โดยแลนด์มาร์คของไทยอย่างพระปรางค์แห่ง วัดอรุณฯ ก็นับเป็นพระอารามหลวงที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับชาวไทยมาอย่างยาวนานไม่แพ้กัน ในฐานะวัดเก่าที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และได้ชื่อว่า วัดแจ้ง ในตอนที่พระเจ้าตากสินทำศึกและยกทัพกลับมาถึงที่วัดในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นพอดี และตัดสินตั้งราชธานีกรุงธนบุรีขึ้น
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้มีพระราชประสงค์ที่จะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด จนแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร นั่นเอง
โดยสถาปัตยกรรมสำคัญของวัดอรุณฯ คือพระปรางค์และพระเจดีย์บริวาร ความสูง 81.85 เมตร สร้างโดยสถาปัตยกรรมพระปรางค์ทรงจอมแห (เส้นกำกับรูปทรงทางสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็นแนวเส้นโค้งหย่อนลง คล้ายเส้นเชือกหย่อนตามแนวตั้ง ดั่งแหที่แขวนไว้) ด้านบนมีเรือนยอดบนสันหลังคามุขทั้งสี่ทิศ และมีพระเจดีย์บริวารเป็นปรางค์มุมอีก 4 มุม
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดทักษะภูมิปัญญาช่างศิลป์ในอดีตออกมาได้งดงามและน่าสนใจ พระปรางค์วัดอรุณฯ ยังแฝงความเชื่อทางพุทธศาสนาไว้เช่นกัน เพราะรูปทรงและการวางตำแหน่งของพระปรางค์ประธานนั้นสื่อถึงเขาพระสุเมรุ ภูเขาตามความเชื่อพุทธ พราหมณ์ ว่าเป็นภูเขาที่เหมือนจุดศูนย์กลางของโลกและจักรวาล โดยมีปรางค์สี่มุมเป็นทวีปทั้งสี่อันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สัตว์ป่าหิมพานต์ และเหล่าเทพยดา
การเลือกพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นสถานที่ประดับไฟ จึงเป็นเสมือนการเชื่อมโยงสองวัฒนธรรมของสองประเทศเข้าด้วยกันอย่างงดงามและลงตัวเป็นอย่างยิ่ง โดยใครที่ต้องการชมความงดงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ สีเขียวมรกต สามารถชมได้ตั้งแต่เวลา 19.00-22.00 น. ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 วันเดียวเท่านั้น
สามารถอ่านคอนเทนท์ Lifestyle ที่น่าสนใจได้ที่
- ความเท่าเทียมทางเพศ ที่ถูกตั้งคำถาม ในนิทรรศการ River Waves of the Ocean
- Woven Jewels นิทรรศการผ้าไหมหายาก และเหล่าของสะสมโดย รอล์ฟ วอน บูเรน
- ‘Art in Postcard’ โปรเจ็กต์พิเศษจากหอศิลปกรุงเทพ (BACC) และ 12 ศิลปินชื่อดังที่คุณชื่นชอบ
- Abisko National Park อุทยานแห่งนี้หลบซ่อนตัวจากการมองเห็นของนักท่องเที่ยวมาเนิ่นนานแล้ว นอกเสียจากว่า นักท่องเที่ยวคนนั้นจะเป็นพวกที่เสาะแสวงหาความตื่นเต้นแปลกใหม่ที่ไม่จำเจ
- Trekking on the Alps ขึ้นภูเขาที่ความสูง 4,180 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล
- Mulberry Grove Sukhumvit by MQDC : Art of Intergeneration Living