สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ตอน “สะกดทัพ” สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ. 2565 ตอน “สะกดทัพ” ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พร้อมคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ ในวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคมนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร ทอดพระเนตรการแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” ซึ่งมี 2 องก์ 1 รวม 13 ฉาก แบ่งเป็นองก์ที่ 1 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 ขบวนทัพไมยราพ ฉากที่ 2 ท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากที่ 3 โรงพิธี ฉากที่ 4 ห้องบรรทมพระราม ฉากที่ 5 พลับพลาพระราม และฉากที่ 6 หนุมานอมพลับพลาและองก์ที่ 2 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 หนุมานทำลายด่าน ฉากที่ 2 สระบัว ฉากที่ 3 สระน้ำนอกเมืองบาดาล ฉากที่ 4 หน้าประตูเมือง ฉากที่ 5 ปราสาทไมยราพ ฉากที่ 6 ป่าดงตาล และฉากที่ 7 เทพชุมนุม จบการแสดง พระราชทานช่อดอกไม้แก่ผู้แทนคณะกรรมการ และคณะนักแสดง จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับ
การแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” ครั้งนี้ เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) มาจัดทำบทการแสดงโขนตอนนี้ ซึ่งเคยจัดแสดงในปีพ.ศ. 2554 ในชื่อตอน “ศึกมัยราพณ์” นั้นแสดงตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งมีความแตกต่างกับบทในครั้งนี้ มีการออกแบบสร้างสรรค์ฉาก และการแสดงให้ถ่ายทอดจินตนาการเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนออกมาโลดแล่นบนเวทีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังสะกดชื่อ “ไมยราพ” ตามอักขรวิธีตามต้นฉบับรัชกาลที่ 1
เรื่องราวความเป็นมาของรามเกียรติ์ก่อนถึงตอน สะกดทัพ เริ่มจากทศกัณฐ์ ราชาแห่งยักษ์ผู้ครองกรุงลงกา ลักพานางสีดามเหสีของพระรามไปไว้ในกรุงลงกา พระรามกับพระลักษมณ์ได้พบกับหนุมานซึ่งนำสุครีพและพลสวาวานรมาสวามิภักดิ์ โดยพระรามใช้ให้หนุมาน องคต และชมพูพาน ไปสืบเส้นทางที่จะข้ามไปกรุงลงกา กระทั่งได้พบกับนางสีดาซึ่งพำนักอยู่ในสวนขวัญ พร้อมถวายแหวนและผ้าสไบเพื่อเป็นการแจ้งข่าวว่าพระรามกำลังติดตามมา ก่อนกลับหนุมานได้ทำลายสวนขวัญและถูกอินทรชิตจับตัวไปถวายทศกัณฐ์ แต่ หนุมานก็ใช้เล่ห์กลจุดไฟเผาตนเอง และเผากรุงลงกาในที่สุด จากนั้นจึงกลับมาเฝ้าพระราม เมื่อพญาพิเภก ผู้เป็นน้องของทศกัณฐ์ถูกขับออกมาจากกรุงลงกาและสวามิภักดิ์กับพระรามแล้ว พระรามจึงได้เสด็จยาตราทัพจองถนนยกพลวานรข้ามมหาสมุทรมาประชิดกรุงลงกา โดยตั้งกองทัพอยู่ที่เชิงเขามรกต พระรามให้องคตเป็นทูตเชิญสารไปถึงทศกัณฐ์ขอให้ส่งนางสีดาคืน ทศกัณฐ์ไม่ยอมส่งคืนทั้งได้คิดอุบายเผด็จศึก และหาทางกำจัดพระรามต่อไป
การแสดงโขนมูลนิธิฯ “สะกดทัพ” เป็นตอนที่สนุกอย่างยิ่ง เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของหนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม ที่ต้องฝ่าฟันด่านต่าง ๆ เพื่อช่วยพระรามกลับมาจากเมืองบาดาล หลังจากถูกไมยราพ พญายักษ์แห่งเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์ ลอบเข้ามาสะกดทัพและลักพาตัวไป แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่านต่าง ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม!
โดยครั้งนี้ได้เตรียมไฮไลท์พิเศษหลายฉาก เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกระบวนท่ารำที่หาชมได้ยาก เช่น เพลงหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
รวมถึงฉากการแสดงที่มีการเพิ่มสีสันให้อลังการตระการตา ได้แก่ ฉากหนุมานแปลงร่างใหญ่โต 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า เคลื่อนไหวด้วยกลไกทันสมัย และฉากหนุมานอมพลับพลา ที่จะโชว์ความประณีตอลังการของการสร้างสรรค์ฉากที่ชวนตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการต่อสู้เพื่อผ่านอุปสรรคหลายด่านที่เพิ่มความสนุกสนานในการผจญภัยของหนุมานให้ตื่นเต้นเร้าใจมากยิ่งขึ้น เช่น ด่านช้างตกมัน ด่านภูเขาเพลิงกระทบกัน ด่านยุงตัวเท่าแม่ไก่ ด่านหนุมานรบมัจฉานุที่สระบัว เป็นต้น
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ๒๕๖๕ ตอน “สะกดทัพ” จะเปิดการแสดงรอบแรก ในวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 1,820 / 1,520 / 1,020 / 820 / 620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร)
สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF KHON PERFORMANCE
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่