เป็นอีกหนึ่งคู่ ‘Watch & Wheel’ ที่น่าจับตามอง ระหว่างแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาเก่าแก่อย่าง Girard-Perregaux และผู้ผลิตยนตรกรรมสปอร์ตหรูอย่าง Aston Martin ที่นอกจากจะประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรกันเมื่อเร็วๆ นี้แล้ว ทั้งคู่ยังได้เปิดตัวนาฬิกาแห่งความสัมพันธ์รุ่นแรกออกมาสร้างเสียงฮือฮาให้กับบรรดาแฟนคลับของตนกันอีกด้วย
Girard-Perregaux’s First Aston Martin เชื่อแน่ว่า เหล่าสาวกนาฬิกาสวิสต้องคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี สำหรับ จีรารด์-แปร์โกซ์ (Girard-Perregaux) ด้วยเพราะเป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตเรือนเวลาชั้นสูงอันเก่าแก่ นับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1791 และมีบทบาทสำคัญกับการสร้างสรรค์เครื่องบอกเวลาจักรกลอันซับซ้อน สวยงามและสะท้อนถึงทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะของโรงงานการผลิต ซึ่งหนึ่งในผลงานอันเลื่องชื่อแบรนด์นั้นย่อมหนีไม่พ้นนาฬิการุ่นไอคอนิก อย่าง เลารีอาโต (Laureato) ที่ถือกำเนิดขึ้นในปีค.ศ. 1975 กับดีไซน์งานออกแบบอันร่วมสมัยและยังคงเป็นคอลเลกชั่นที่มีวิวัฒนาการการสร้างสรรค์มาอย่างยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน และที่ต้องเอ่ยถึงอย่างย่ิงก็คือตำนานแห่ง ทูร์บิยง วิธ ธรี โกลด์ บริดเจส (Tourbillon ‘With Three Gold Bridges’) ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงทักษะและความสามารถในการสร้างสรรค์นาฬิกาจักรกลแห่งนวัตกรรม โดยการเปิดโชว์ให้เห็นทั้งความซับซ้อนภายใน Tourbillon เช่นเดียวกับสะพานจักรทองทั้งสามสะพานอันงดงามที่นำมาโชว์ไว้บนหน้าปัดได้อย่างสวยเด่น และกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เห็นแล้วสามารถจดจำได้ทันทีว่านี่คือผลงานของ Girard-Perregaux
และเป็นอีกหนึ่งชื่อที่สาวกแห่งโลกยนตรกรรมต่างคุ้นตาไม่แพ้กัน นั่นคือ แอสตัน มาร์ติน (Aston Martin) ผู้ผลิตยนตรกรรมสปอร์ตหรูที่เป็นไอคอนิกแห่งการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย งานฝีมือ และวิศวกรรมยานยนต์อันเหนือล้ำ รวมทั้งงานออกแบบสไตล์คลาสสิกเหนือกาลเวลา โดยสร้างชื่อเสียงมาแล้วจากรถรุ่นดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แวนเทจ (Vantage), ดีบีอีเลฟเว่น (DB11), ดีบีเอส ซุปเปอร์เลจเจรา (DBS Superleggera) หรือแม้แต่ DBX ที่เป็นรถ SUV ใหม่สุดล้ำยุค และเมื่อสองโลกระหว่างเรือนเวลาและสปอร์ตคาร์มาบรรจบกัน จึงกลายเป็นความน่าตื่นเต้นเร้าใจครั้งใหม่สำหรับแฟนๆ ของทั้งคู่เลยทีเดียว
Girard-Perregaux’s First Aston Martin
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสัมพันธภาพครั้งใหม่ บวกกับเป็นการแสดงออกถึงความเชี่ยวชาญและความเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานของทั้งคู่ ล่าสุด Girard-Perregaux ก็ได้เผยโฉมนาฬิกา Aston Martin Edition รุ่นแรกจากความสัมพันธภาพดังกล่าวในผลงานสุดท้าทาย อย่าง Tourbillon with Three Flying Bridges – Aston Martin Edition กับการผนึกรวมเป็นหนึ่งของความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์สร้างสรรค์นาฬิกาของ Girard-Perregaux เข้ากับองค์ความรู้เฉพาะหนึ่งเดียวแห่งความหรูหราและสมรรถนะของ Aston Martin ที่เรียกได้ว่า แม้จะนับเป็นการเปิดประเดิมรุ่นแรก แต่ก็ครบเครื่องและสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งคู่ได้อย่างแท้จริง
แน่นอนว่า ในรุ่นนี้นอกจากจะมีเรื่องของกลไกจักรกลซับซ้อนมาเป็นจุดเด่นอันดับหนึ่งแล้ว ในแง่ของวิศวกรรมและงานดีไซน์ก็ไม่เป็นรองเช่นกัน เพราะถือเป็นคุณสมบัติเด่นของทั้งสองแบรนด์ที่นำมาผสมผสานเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยเริ่มจากหัวใจของทั้งงานออกแบบ วัสดุ และเทคโนโลยี ซึ่งในผลงานรุ่นล่าสุดนี้ยังได้ร่วมเฉลิมฉลองให้กับนาฬิกาพก Three Bridges อันเป็นไอคอนิกจากศตวรรษที่ 19 ของ Girard-Perregaux ซึ่งนำมาตีความใหม่อย่างร่วมสมัยและเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ไล่เรื่อยไปจนถึงสายนาฬิกา ซึ่งเป็นสายแบบใหม่ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในโลก โดยการนำเสนอด้วยหนังวัวสีดำ พร้อมคุณสมบัติของยางอัลลอยหรือ Girard-Perregaux Rubber Alloy ที่เป็นนวัตกรรมการฉีดแทรกเข้ากับยางด้วยไวท์โกลด์ ภายใต้งานออกแบบของสายนาฬิกาที่ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อชวนให้นึกถึงเหล่ารถสปอร์ตเรซิ่งหรูของ Aston Martin ในอดีตด้วย
ขณะที่ในแง่ของสัดส่วนและรูปทรงนั้นได้ถอดรหัสมาจากหลักกลศาสตร์ที่ผสมผสานเข้ากับสรีรศาสตร์ของนาฬิกาข้อมือ โดยรุ่นนี้มีตัวเรือนขนาด 44.0 มิลลิเมตร ขึ้นรูปมาจากไทเทเนียม เกรด 5 ซึ่งเป็นโลหะผสมแข็งแกร่งทนทานสูง ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิว และเป็นวัสดุที่เลือกสรรโดย Aston Martin ด้วยคุณสมบัติเด่นของความมีน้ำหนักเบา พร้อมกับเคลือบ DLC สีดำ เพื่อมอบภาพลักษณ์ของนาฬิกาสไตล์ สเตลธ์ (stealth ที่รังสรรค์ขึ้นจากความรู้ทางเทคโนโลยี) และอีกจุดซึ่งน่าสนใจไม่น้อยเลยก็คือ จริงๆ แล้ว กลุ่มแร่ไทเทเนียมนั้นถูกค้นพบในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Aston Martin นับย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1791 โดยนักบวชชาวอังกฤษนามว่า William Gregor ซึ่งนั่นเป็นปีเดียวกันกับที่ Girard-Perregaux ได้ก่อตั้งขึ้น
ขยับมาที่องค์ประกอบสำคัญในนาฬิกาเรือนนี้คือกระจกแซฟไฟร์ทรง ‘กล่อง’ ที่จัดวางอยู่ด้านหน้าปัดและฝาหลัง เพื่อให้แสงสามารถทะลุผ่านจากด้านหน้าสู่ด้านหลัง และช่วยเสริมความสามารถในการอ่านค่าเวลาได้อย่างชัดเจน และสำหรับนักสะสมและผู้ที่หลงใหลในนาฬิกาจักรกลแล้ว นี่เป็นโอกาสในการได้ชื่นชมความสวยงามและซับซ้อนของกลไกได้แทบทุกมิติอีกด้วย รวมไปถึงไฮไลต์ของสะพานจักรสามชิ้นที่มีคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวจนกลายมาเป็นชื่อที่เรียกขานกันว่า ‘Flying Bridges’ ของ Girard-Perregaux ซึ่งดูคล้ายกับกำลังลอยอยู่กลางหน้าปัด จากการตัดส่วนของกลไกด้านหลังออก จึงดูเหมือนไม่มีแท่นเครื่องและสร้างภาพลวงตาที่ดูราวกับว่าสะพานจักรเหล่านี้กำลังลอยอยู่กลางตัวเรือน ขณะที่ในรุ่นนี้ สะพานจักรได้ผลิตขึ้นจากไทเทเนียม เคลือบ PVD สีดำ ตัดกับขอบมุมต่างๆ ที่ผ่านการขัดเงา งานออกแบบและโครงสร้างกลไกเหล่านี้ยังผ่านการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยมิติใหม่ที่แสดงออกได้ถึงสัมผัสของความบางเบา ปราดเปรียว และล้ำสมัยแบบเดียวกันกับรูปลักษณ์ที่โดดเด่นของ Aston Martin ที่ภายในนั้นก็ขับเคลื่อนไว้ด้วยขุมพลังคุณภาพเยี่ยมคล้ายกัน
ส่วนกรงของ Tourbillon ซึ่งจัดวางอยู่ในส่วนล่างของหน้าปัด ออกแบบด้วยรูปทรง lyre-shaped ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พบได้ในนาฬิกา Tourbillon รุ่นต่างๆ ของแบรนด์ ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 พร้อมทั้งบรรจุด้วยเข็มชี้ทำให้เป็นสีน้ำเงิน ที่เพิ่มเข้ามาในกรง Tourbillon ซึ่งทำหน้าที่แสดงวินาทีต่อเนื่อง ขณะที่ตัวกรงซึ่งวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้เพียง 10.0 มิลลิเมตร นั้นประกอบด้วยชิ้นส่วนถึง 79 ชิ้น และมีน้ำหนักรวมอยู่ที่เพียง 0.25 กรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักเบาอันน่าทึ่ง เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานภายในจักรกลนั่นเอง
สำหรับ Tourbillon with Three Flying Bridges – Aston Martin Edition ติดตั้งด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ Calibre GP09400-1683 ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 3 เฮิร์ตซ์ ประกอบด้วยชิ้นส่วนภายในสุดซับซ้อนถึง 260 ชิ้น และทับทิมอีก 27 เม็ด โดยมอบการสำรองพลังงานได้อย่างน้อย 60 ชั่วโมง และรักษาประสิทธิภาพการกันน้ำได้ลึก 30 เมตร จุดเด่นอีกหนึ่งจุดของกลไกชุดนี้คือการโชว์ให้เห็นกระปุกลานซึ่งติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ที่เป็นแบบเปลือยโปร่งหรือ openworked ทำให้สามารถมองเห็นบางส่วนของเมนสปริง และไมโคร-โรเตอร์ (micro-rotor) ไวท์โกลด์ที่จัดวางอยู่ใต้กระปุกลานได้ โดยทำหน้าที่สร้างพลังงานให้กับเมนสปริง ทั้งยังแตกต่างไปจากกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติส่วนใหญ่ ที่ไมโคร-โรเตอร์นี้ไม่บดบังหรือเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นการขับเคลื่อนของกลไก และเพื่อยืนยันว่านี่คือเรือนเวลา Aston Martin Edition อย่างแท้จริง ชื่อของ Aston Martin จึงถูกแกะสลักไว้บนขอบข้างบนไมโคร-โรเตอร์ และเคลือบด้วยสารเรืองแสงสีขาวซึ่งปรากฏเป็นแสงเรืองสีฟ้าภายใต้สภาวะแสงน้อยหรือแสงจำกัด เหมือนกันกับเครื่องหมายหลักบอกเวลาและเข็มชี้ที่เคลือบด้วยสารเรืองแสงสีขาวปล่อยแสงเรืองสีฟ้าในที่มืดสลัวเช่นกัน
ในส่วนของการสร้างสรรค์นาฬิการุ่นแรกแห่งความสัมพันธ์ครั้งนี้ แพทริค พรูนิโอ (Patrick Pruniaux) ผู้อำนวยการใหญ่ของ Girard-Perregaux ได้ให้ความเห็นว่า “เราดีใจที่ได้เป็นพันธมิตรร่วมกับ Aston Martin และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีมของพวกเขาด้วยเรือนเวลาอันเป็นไอคอนิกสูงสุดของเราอย่างแท้จริง พร้อมทั้งส่งมอบซึ่งมุมมองอันสดใหม่ใน Haute Horlogerie ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ในการตีความใหม่ให้กับนาฬิกา Three Bridges ของเรา อย่างไรก็ดี ในโอกาสพิเศษเช่นนี้ เราได้มอบข้อยกเว้น และอุทิศอย่างตั้งใจให้กับความก้าวหน้าล้ำสมัยด้านงานออกแบบของ Aston Martin”
ขณะที่ มาเร็ค ไรค์แมน (Marek Reichman) รองประธานบริหารและผู้อำนวยการบริหารใหญ่ของ Aston Martin กล่าวเสริมว่า “ความท้าทายอันยิ่งใหญ่สูงสุดที่เราเผชิญกับการออกแบบเรือนเวลาใหม่รุ่นนี้ก็คือเรื่องของขนาด เพราะเราจำเป็นต้องพิจารณาถึงเส้นสายและสัดส่วนบนขนาดที่เล็กกว่าอย่างมากของนาฬิกาข้อมือ เมื่อเทียบกับสิ่งเราคุ้นเคยและใช้ในการออกแบบยนตรกรรม แต่นั่นก็สะท้อนถึงงานออกแบบที่ดีก็คืองานออกแบบที่ดี ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรือรถยนต์ หลักการเหล่านี้ก็ยังคงเหมือนกัน ผมดีใจกับผลลัพธ์อันสมบูรณ์แบบของนาฬิกา และขอแสดงความยินดีกับทุกๆ คนที่ได้ร่วมทำงานในโปรเจ็กต์นี้ เพราะความร่วมมือครั้งนี้ได้สร้างสรรค์ซึ่งเรือนเวลาอันสวยงามอย่างที่สุด”
โดยเรือนเวลารุ่นพิเศษและรุ่นแรกแห่งสัมพันธภาพของทั้งคู่นี้ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 18 เรือน และมีจำหน่ายพร้อมกันทั่วโลก ณ ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการและที่ได้รับการแต่งตั้งของ Girard-Perregaux ทุกแห่ง
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF Girard-Perregaux and Aston Martin
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
Music: YouTube Studio
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่