ความฮอตของเวทีประมูลนาฬิกายังคงไม่จืดจาง กับการทุบสถิติใหม่ของบรรดาเรือนเวลารุ่นหายากและเรือนเวลารุ่นประวัติศาสตร์ที่นำมาร่วมในงานประมูลครั้งล่าสุดของ Christie’s
Watch Auction World Records at Christie’s Asia จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา กับงาน Christie’s Hong Kong Watches Spring Auctions ที่เรียกได้ว่าเป็นการเดินหน้าสร้างปีแห่งสถิติโลกครั้งใหม่บนเวทีประมูลนาฬิกาของ Christie’sอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า ไฮไลต์ในงานซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบ Live Auction ครั้งนี้ก็คือเหล่านาฬิการุ่นหายากและเรือนประวัติศาสตร์จากคอลเลกชั่นสะสมส่วนตัวจากหลากหลายเจ้าของทั้งนักสะสมและบุคคลสำคัญมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้การประมูลครั้งนี้ทุบสถิติด้วยผลลัพธ์มูลค่าการประมูลสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการจัดประมูลนาฬิกาของเอเชีย (HK$269,277,500 / US$34,850,855 / EUR 28,440,551) รวมถึงการประมูลผลงานได้ทั้งหมด 100% จากการจัดงาน ‘The Legends of Time’ ซึ่งเป็นงาน Evening Sale ครั้งแรกที่อุทิศให้กับนาฬิการวมทั้งหมด 18 lots ณ การประมูลของ Christie’s Asia ที่เคาะมูลค่าการประมูลไปอย่างสวยงามเช่นกัน (HK$144,435,000 / US$18,693,293 / EUR15,254,936) ขณะที่ในงานประมูล Day Sale ที่มีชื่อว่า ‘An Exceptional Season of Watches’ ซึ่งเป็นการนำเสนอเรือนเวลาวินเทจและสมัยใหม่หายาก จากเหล่าแบรนด์ระดับตำนานและแบรนด์สมัยใหม่ก็ได้รับความสนใจจากนักสะสมไม่น้อยเช่นกัน (HK$124,842,500 / US$16,157,562 / EUR 13,185,615)
Watch Auction World Records at Christie’s Asia
และในงานครั้งนี้ยังได้สร้างสถิติโลกใหม่ในการประมูลถึง 10 สถิติสำหรับเรือนเวลา References ต่างๆ โดย 8 สถิติในจำนวนนี้มาจากนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe) และอีก 2 สถิติมาจากนาฬิกาโรเล็กซ์ (Rolex) และเอฟ.พี.ฌูร์น (F.P. Journe) ซึ่งนั่นบ่งบอกว่าผู้คนจากทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียยังคงกระตือรือร้นและให้ความสนใจในนาฬิกาจักรกล รวมถึงการติดตามสะสมผลงานรุ่นประวัติศาสตร์และรุ่นหายาก ที่ทำให้เวทีประมูลนาฬิกาเหล่านี้ยังคงเต็มไปด้วยสีสัน และสร้างความคึกคักให้กับวงการนาฬิกาได้อยู่เสมอ เหมือนกับเข็มนาฬิกาที่คงทำหน้าที่ของมัน
8 World Records for Patek Philippe
Patek Philippe Ref. 3448J made for Alan Banbery
เริ่มกันที่เรือนเวลาประวัติศาสตร์และเป็นนาฬิกาเรือนพิเศษ ซึ่งรังสรรค์ขึ้นในตัวเรือนเยลโลโกลด์ 18K โดยเป็นนาฬิกาข้อมือปฏิทินถาวร หรือ perpetual calendar ด้วยปฏิทินอังกฤษ แสดง leap year และ “ไร้การแสดงข้างขึ้นข้างแรม” หรือที่เรียกกันว่า “no moon” โดยการขับเคลื่อนของกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ ซึ่ง Ref.3448J “Alan Banbery” นี้ยังรังสรรค์ขึ้นพิเศษตามความต้องการของ Henri และ Philippe Stern ในปีค.ศ. 1975 เพื่อเป็นผลงานนาฬิกาเฉพาะเพียงเรือนเดียวสำหรับมอบเป็นของขวัญให้กับ Alan Banbery ผู้ซึ่งร่วมงานกับบริษัทเป็นเวลาครบ 10 ปี และต่อมาเขายังมีบทบาทสำคัญใน Patek Philippe โดยเฉพาะการได้รับหน้าที่เก็บรักษาและสะสมนาฬิกาเรือนประวัติศาสตร์ต่างๆ ของทั้งครอบครัว Stern และบริษัท ที่นำมาสู่ความสมบูรณ์แบบของพิพิธภัณฑ์ Patek Philippe เช่นในปัจจุบันด้วย โดยเรือนสุดพิเศษพร้อมฝาหลังแกะสลักด้วยชื่อย่อ ‘AB’ นี้ผลิตขึ้นในปีค.ศ. 1970 และได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีโดย Alan Banbery ตลอดระยะเวลาเกือบ 25 ปี ในคอลเลกชั่นส่วนตัวของเขา ซึ่งเรือนนี้ได้รับการประมูลไปด้วยมูลค่าสูงถึง HK$29,050,000 / US$3,759,755 / EUR 3,068,203 ซึ่งเป็นสถิติโลกใหม่สำหรับการประมูลใน Reference นี้ด้วย
Patek Philippe Ref. 1415
ถือเป็นนาฬิกาเวิลด์ไทม์อีกหนึ่งรุ่นสำคัญสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ Patek Philippe กับนาฬิกาข้อมือตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18K พร้อมความงดงามประณีตของหน้าปัดลงยา cloisonné ถ่ายทอดเป็นภาพของ Eastern Hemisphere หรือที่เรียกกันว่า ‘Vieux Continents’ หรือ ‘Old World’ ซึ่งเป็นหน้าปัดที่ติดตั้งอยู่ในนาฬิกาเพียงไม่กี่ตัวอย่างเท่านั้น กับตัวเรือนเยลโลโกลด์และพิงค์โกลด์ โดยเรือนพิงค์โกลด์หนึ่งในจำนวนนั้นนี้ผลิตในปีค.ศ. 1949 และบนเวทีครั้งนี้ได้รับราคาประมูลไปที่ HK$17,650,000 / US$2,284,326 ซึ่งมากกว่าราคาที่คาดการณ์ไว้กว่าสองเท่า และสร้างสถิติการประมูลครั้งใหม่ให้กับ Reference นี้อีกด้วย
Patek Philippe Ref. 1415
นาฬิกาข้อมือเรือนสุดพิเศษทำจากทอง 18K พร้อมบรรจุด้วยเข็มวินาทีกลางแบบ sweep centre seconds และที่สำคัญยังบรรจุด้วยหน้าปัดลงยาแบบ cloisonné เป็นภาพประภาคารหรือ “The Lighthouse” ซึ่งคาดกันว่ามีนาฬิกา Reference 2481 ที่ประกอบด้วยหน้าปัด ‘Lighthouse’ นี้อยู่ทั้งหมดเพียง 8 เรือนเท่านั้น โดยเรือนนี้ผลิตในปีค.ศ. 1954 และได้รับราคาประมูลอย่างสวยงามไปที่ HK$7,810,000 / US$1,010,798 ซึ่งเป็นสถิติโลกครั้งใหม่สำหรับ Reference นี้ และสูงกว่าราคาที่คาดการณ์ไว้เกือบสี่เท่า
Patek Philippe Ref. 1579R
นาฬิกาเรือนพิเศษเฉพาะหนึ่งเดียว และเป็นเรือนสำคัญทางประวัติศาสตร์ของแบรนด์ รวมถึงเป็นการปรากฏโฉมครั้งแรกของนาฬิกาเรือนนี้ในงานประมูล โดยเป็นนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18K ประกอบด้วยหูตัวเรือนแบบ ‘spider lugs’ และขอบตัวเรือนแกะสลักพิเศษ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนาฬิกาโครโนกราฟหายากที่สุดเท่าที่เคยสร้างสรรค์มาโดย Patek Philippe จัดจำหน่ายโดย Gobbi Milano ผลิตในปีค.ศ. 1955 โดยบนเวทีนี้สร้างสถิติโลกครั้งใหม่สำหรับการประมูลใน Reference นี้ด้วยราคาประมูลที่ได้รับคือ HK$5,500,000 / US$711,830
Patek Philippe Ref. 3450
ถือเป็นเรือนพิเศษและหายากมากอีกหนึ่งเรือน สำหรับนาฬิกาข้อมือแสดงปฏิทินถาวร หรือ perpetual calendar ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ บรรจุภายในตัวเรือนทอง 18K มาพร้อมการแสดงข้างขึ้นข้างแรม และแสดง leap year จัดจำหน่ายโดย Gübelin ผลิตในปีค.ศ. 1985 ซึ่งถือเป็นรุ่นท้ายๆ ของ Ref. 3450 ที่ผลิตก่อนจะเปิดตัวแนะนำด้วยรุ่นสืบทอดต่อมาอย่าง Ref. 3940 โดยบนเวทีนี้ได้สร้างสถิติโลกการประมูลครั้งใหม่สำหรับ Reference 3450 ด้วยราคาประมูลที่ได้รับถึง HK$4,375,000 / US$556,228
Patek Philippe Ref. 2526
เรือนเวลาหายากยิ่ง และนับเป็นเรือนที่สมบูรณ์แบบ รวมถึงสร้างความประทับใจไม่น้อยในหมู่นักสะสม จาก Ref. 2526 ซึ่งนับเป็นนาฬิกาข้อมือกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติรุ่นแรกโดย Patek Philippe ด้วยกลไกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกลไกไขลานอัตโนมัติสมรรถนะดีที่สุด ทั้งยังเป็นการจับคู่ระหว่างตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18K เข้ากับเสน่ห์ความเรียบหรูคลาสสิกของหน้าปัดลงยาสีดำที่ทั้งสวยงามและหายาก โดยเรือนนี้ผลิตในปีค.ศ. 1957 และสามารถสร้างสถิติโลกการประมูลครั้งใหม่สำหรับ Reference นี้ ด้วยราคา HK$5,250,000 / US$679.474 ซึ่งสูงมากกว่าสองเท่าจากราคาคาดการณ์ไว้เลยทีเดียว
Patek Philippe Ref. 1436
นาฬิกาเรือนสำคัญของ Patek Philippe ในฐานะนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟ split-seconds จับเวลาของสองสิ่งหรือสองเหตุการณืได้พร้อมกันจากเข็มวินาทีสองเข็มบนหน้าปัดกลาง รวมถึงการแสดงผลจับเวลา 30 นาที ได้อย่างสวยงามลงตัว พร้อมทั้งบรรจุด้วยสเกล tachymeterในตัวเรือนทอง 18K จัดจำหน่ายโดย Gübelin และผลิตในปีค.ศ. 1965 เรือนนี้สามารถทุบราคาประมูลไปได้ที่ HK$ 5,500,000 / US$711,830 ซึ่งสูงกว่าราคาคาดการณ์กว่าสองเท่า และสร้างสถิติโลกใหม่จากการประมูลให้กับ Reference นี้เช่นกัน
Patek Philippe Ref. 2584
Ref. 2584 อยู่ในสายการผลิตเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ นับจากปีค.ศ. 1957 ถึงเพียงปีค.ศ. 1960 ดังนั้นจึงมีจำนวนนาฬิกาอยู่ไม่มากในตลาดหรือเชื่อว่าน้อยกว่า 500 เรือน และสำหรับตัวเรือนไวท์โกลด์ด้วยแล้วยิ่งเป็นเวอร์ชั่นที่หายากที่สุด ที่คาดการณ์ว่ามีเพียงราว 12 เรือน ที่ผลิตขึ้นเท่านั้น ดังนั้นนาฬิกาข้อมือกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติในตัวเรือนไวท์โกลด์ 18K เรือนนี้จึงเป็นอีกหนึ่งรุ่นหายาก โดยผลิตในปีค.ศ. 1958 และสร้างสถิติโลกการประมูลครั้งใหม่ให้กับ Reference เดียวกันนี้ ด้วยราคาประมูลที่ HK$875,000/ US$113,246
2 World Records for Rolex and F.P.Journe
Rolex Ref. 6036 “Jean Claude Killy” Model with “Red Depth”
นาฬิกา Rolex เรือนหายากสูงสุด ซึ่งเป็นนาฬิกาข้อมือสเตนเลสสตีล พร้อมฟังก์ชั่นแสดงปฏิทินแบบ triple calendar และโครโนกราฟ ทำงานโดยกลไกจักรกลไขลานด้วยมือ หรือที่รู้จักกันในรุ่น ‘Jean-Claude Killy’ ซึ่งเชื่อมโยงกับตำนานนักแข่งสกีแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังในช่วงปลาย 1960s โดย Mr. Killy ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ Rolex ยาวนานถึง 40 ปี นับตั้งแต่ที่เขากลายเป็น Official Rolex Ambassador รวมถึงรับหน้าที่ใน Rolex Board of Directors และถูกมอบสมญานามให้กับหน้าปัด Rolex Daytona เหมือนกับชื่อของ Paul Newman ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของบรรดาหน้าปัดนาฬิกาวินเทจของ Rolex โดยเรือนนี้ยังมาพร้อมกับ ‘red depth’ “50 m = 165 ft.” ด้วยฟอนต์สีแดงบนหน้าปัดเหนือคำว่า Anti-magnetic ขณะที่หน้าปัดสีเงินบรรจุด้วยเครื่องหมายบอกเวลาทรงพีระมิดที่เป็นเอกลักษณ์ของรุ่น นอกจากนี้ยังเป็นนาฬิกาโครโนกราฟสลับซับซ้อนที่สุดเท่าที่แบรนด์เคยผลิตมา จึงเป็นนาฬิกาที่บรรดานักสะสมต่างตามหา โดยเรือนนี้ผลิตขึ้นราวปีค.ศ. 1953 และทำลายสถิติโลกการประมูลสำหรับ Reference นี้ไปได้ที่ HK$5,250,000/ US$679,474 สูงกว่าราคาคาดการณ์ไว้มากกว่าสองเท่า
F.P. Journe – Chronomètre Souverain Model made especially for George Daniels
ปิดท้ายด้วยเซอร์ไพรส์จากแบรนด์นาฬิกาอิสระ F.P. Journe ด้วยรุ่น Chronomètre Souverain นาฬิกาข้อมือตัวเรือนแพลทินัมสุดพิเศษ พร้อมการแสดงพลังงานสำรอง บนหน้าปัดสีเงิน ซึ่งผลิตขึ้นและมอบเกียรติให้กับ George Daniels ช่างนาฬิกาชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่และเป็นแรงบันดาลใจ รวมถึงเปรียบเหมือนเมนเทอร์ให้กับ François-Paul Journe ผู้ก่อตั้งแห่ง F.P. Journe ด้วยการแกะสลักไว้บนสะพานจักรของกลไกจักรกลไขลานด้วยมือว่า “FP to George Daniels my Mentor 2010” ผลิตราวปีค.ศ. 2010 เป็นนาฬิกาเรือน One-of-a-kind หรือเรือนหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยทำราคาประมูลได้สูงพร้อมกับสร้างสถิติโลกสำหรับรุ่นเดียวกันนี้ไว้ถึง HK$3,250,000/ US$420,627
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF THE BRANDS
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
Intro Music: Zen Man from Pixabay
Music: Centyś from Pixabay
Stock Footage: Closeup GearsTurning from videezy.com
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่