Van Cleef & Arpels เผยโฉมความงดงามที่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทาง ณ นครฟลอเรนซ์
Van Cleef & Arpels Le Grand Tour Florence Grand Tour คือการที่ให้ชายหนุ่มทั้งหลายได้ออกเดินทางไปต่างแดน เพื่อเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับร่องรอยอารยธรรมโบราณแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง Van Cleef & Arpels (แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์) เผยโฉมความงดงามที่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทาง ณ เมืองฟลอเรนซ์ ถ่ายทอดลงบนสร้อยคอ Villanova (นวนคร) อาศัยความบรรจงอันประณีตของงานเจียระไน และการจัดตำแหน่งทัวร์มาลีนสีทับทิมสะท้อนความงามในน้ำพลอยออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งจำลองแบบมาจากเครื่องประดับศีรษะบนประติมากรรมรูปปั้นแกะสลักในยุคอารยธรรมอีทรัสคัน ส่วนแหวน Jardin de la rose (อุทยานนวาระ) ที่ได้แรงบันดาลใจจากความงดงามของอุทยานดอกกุหลาบ Giardino delle rose (จาร์ดิโน เดลเล โรเซ) สมบัติสถานล้ำค่าแห่งนครฟลอเรนซ์ และแหวน Ode à l’amour (วิหารรัก) ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงาน The Birth of Venus (กำเนิดวีนัส) ผลงานของ Sandro Botticelli (ซานโดร บ็อตติเชลลิ) จิตรกรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของอิตาลี ปี ค.ศ. 1485
สร้อยคอ Villanova (วิลลาโนวา) หรือ “นวนคร” ได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะเฉพาะของเครื่องประดับอัญมณีในยุคอารยธรรมอีทรัสคัน (วิวัฒนาการขึ้นในแคว้นทัสคานีของอิตาลีระหว่างยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งก็คือประมาณ 800 – 900 ก่อนคริสตกาล บริเวณที่รุ่งเรืองของอารยธรรมนี้ถูกเรียกว่า “วิลลาโนวา” หรือ “นวนคร” อันแปลว่า “เมืองใหม่” ในอาณาจักรแห่งนั้น) จุดเริ่มต้นขุมทรัพย์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองฟลอเรนซ์ ด้วยความพิถีพิถันในการคัดสรรความสม่ำเสมออันกลมกลืนของเนื้อสี และการเจียระไนขนาดที่เท่ากัน ทุรมาลีสีทับทิม หรือรูเบลไลต์หลังเบี้ยทั้งเก้า จัดวางสัดส่วนเชิงสมมาตรอย่างวิจิตรบรรจง เผยความงดงามทางคุณลักษณ์เฉพาะตัว ในขณะเดียวกัน จากความประณีตในงานประกอบชิ้นส่วน โดยโมทิฟฝังเพชรเป็นข้อต่อยึดตัวหยดรูเบลไลต์ให้แกว่งไหว ได้อย่างอิสระตลอดเส้นโครงสร้าง ตัวเรือนลายบั้งเป็นเกลียวเปียทองคำสีกุหลาบของแถบสร้อยที่สวมติดคอหรือโชคเกอร์ ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีน้ำหนักเบา และความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย นอกจากนั้นประกายพรายพราววาวระยับของสร้อยคอ ความสว่างจากไฟในน้ำเพชรของโมทิฟข้อต่อยึดรูเบลไลต์ จำลองแบบมาโครงทรงของเครื่องประดับศีรษะบนรูปปั้นแกะสลักจากยุคอีทรัสคัน ผสานลูกเล่นฝังเพชรแบบต่างๆ ทั้งงานฝังเปลือกหุ้มแบบกาบหอย ลูกปัดและเขี้ยวหนามเตย ในตำแหน่งสะท้อนแสงสู่หยดน้ำหลังเบี้ยทั้งเก้าอย่างแยบคาย
ความกลมกลืนระหว่างเฉดสีม่วงอมชมพูเข้มของรูเบลไลต์กับประกายอบอุ่นจากทองคำสีกุหลาบของตัวเรือนเปิดโปร่งอันอำนวยต่อการรับแสงรอบทิศทางสู่คู่ต่างหู ซึ่งออกแบบเดียวกันกับโมทิฟฝังเพชรประดับบนแถบสร้อย โดยมีการสับเปลี่ยนโค้งทองคำขาวไปเป็นทองคำสีกุหลาบให้สอดคล้องกับโครงสร้างโลหะทองสองเฉดสีของสร้อยคอ กลไกติดตั้งบนต่างหูรองรับงานประกอบหยดทุรมาลีมาลี (Turamali/ Turamali) สีทับทิม ที่ปลดออกมาจากฐานระย้า สะท้อนความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดของเมซง นอกจากงานฝังเพชรเดี่ยวเจียระไนทรงหยดน้ำให้ดูคล้ายกำลังหยาดตัวลงมาจากกลไกตัวกลัดสายสร้อยทางด้านหลังอย่างแยบยล
ในปีค.ศ. 1485 Sandro Botticelli (ซานโดร บ็อตติเชลลิ) จิตรกรชาวเมืองฟลอเรนซ์ได้สรรค์สร้างหนึ่งในสุดยอดผลงานอันยิ่งใหญ่แห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของอิตาลี นั่นก็คือ The Birth of Venus หรือ “กำเนิดวีนัส” และในคอลเลกชัน Le Grand Tour หรือ “นิราศนครอารยศิลป์” เมซงได้ออกแบบแหวน Ode à l’amour (โอดาลามูร) หรือ “วิหารรัก” เพื่อยกย่องอัครศิลปินผู้นี้ ด้วยการใช้ความเป็นเลิศในไหวพริบทางการสร้างสรรค์
ถ่ายทอดผ่านไพลินสีชมพูเม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 4.04 กะรัต บรรจงจัดให้อิงตัวอยู่ในเวิ้งเปลือกหอยทองคำสีกุหลาบ ยกโค้งสูงราวคอยปกปักษ์รัตนชาติเลอค่า เฉกเช่นเปลือยหอยที่อารักขาเทพีแห่งความรักในภาพวาด “กำเนิดวีนัส” ท่ามกลางงานฝังเพชรลูกทรงกลมเรียงแถวตลอดแนวขอบฝาหอย ความอ่อนช้อยของงานประดับทับทิมไพลินสีชมพูและเพชรตลอดจนโมทิฟทองคำสีกุหลาบขนาดจิ๋ว ร่วมกันจำลองความงดงามของสรรพสิ่งแห่งท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นกรวดทราย เพรียง หรือก้อนหินเกาะเสาหลัก ปรากฏอยู่ภายในเปลือกหอยหัวแหวนจนถึงฐานรองหัวแหวนบนตัวเรือนทองคำขาวฝังเพชร เพื่อมอบความสมจริงอย่างที่สุด Van Cleef & Arpels ใช้ความสามารถของช่างฝีมือแขนงต่างๆ ให้มาร่วมกัน หลอมรวมไหวพริบพลิกแพลงทักษะความชำนาญหลากแขนง จากการวิจิตรบรรจงในการแกะลายบนทองคำสีกุหลาบหล่อแบบ ไปจนถึงเทคนิคสลักลายแถบขดริ้วซ้อนตัวอย่างที่เรียกว่า ramolayé (ราโมลาเย) ซึ่งใช้กับทองคำขาวเพื่อเติมน้ำหนักสัณฐาน เป็นการถ่ายทอดทุกแง่มุมรายละเอียดสามมิติของเปลือกหอยธรรมชาติสู่งานเครื่องประดับอย่างสมบูรณ์
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF VAN CLEEF & ARPLES