Toxic Effect exhibition by Chainapa Lepajarn At River City Bangkok


สำรวจภาวะภายในของเพศหญิงผู้เบ่งบานและต่อสู้ภายใต้โลกของปิตาธิปไตย ผ่านนิทรรศการประติมากรรม Toxic Effect exhibition จากฉายณภา เลปาจารย์


Photo Credit: Courtesy of Chainapa Lepajarn And River City Bangkok

ในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ ‘ปิตาธิปไตย’ เบ่งบานและฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน หลายครั้งที่ผลผลิตทางอารมณ์ภายในของเพศหญิงต้องถูกกดทับเอาไว้ภายใน การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงความคิดเห็นอันเป็นปัจเจกและขัดแย้ง ถูกกดทับไว้เพราะถือเป็นกริยาที่ไม่ดีไม่งาม จนหลายครั้งจิตใจและอารมณ์ภายในของผู้หญิงจำต้องถูกเก็บซ่อนไว้ ไม่อาจแสดงออกได้ดงตรง ฉายณภา เลปาจารย์ (Chainapa Lepajarn) ประติมากรหญิงผู้สนใจในเรื่องราวเหล่านี้จึงเลือกหยิบความน่าสนใจของภาวะเหล่านั้นมาถ่ายทอดในนิทรรศการ Toxic Effect exhibition ที่ River City Bangkok

ฉายณภา เลปาจารย์ ประติมากรหญิงเจ้าของนิทรรศการ ที่หยิบเอาภาวะภายในของผู้หญิง ที่ต้องเก็บกดอารมณ์และความรู้สึกไว้ด้วยสภาพแวดล้อมที่เข้ามากดดัน
Photo Credit: Courtesy of Chainapa Lepajarn And River City Bangkok

ฉายณภา เลปาจารย์ เกิดและเติบโตมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 เธอเป็นหนึ่งในประติมากรหญิงที่สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยมักจะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเพศหญิง ขอบเขตจำกัดในการแสดงออกต่อสิ่งต่างๆ ที่เพศหญิงถูกกดทับและจำกัดสิทธิ์ไว้ ด้วยกรอบคิดและวาทกรรมที่เป็นผลผลิตจากสังคมชายเป็นใหญ่

ฉายณภามักหยิบเอาเรื่องราวและแรงบันดาลใจที่เธอพบเจอในชีวิตประจำวัน มาถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ ทั้งการเปรียบเทียบแนวคิดของสตรีตะวันออก ที่เป็นวัฒนธรรมการแสดงออกอันนุ่มนวล แต่แฝงไว้ด้วยความอดทนและเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี และเจตจำนงเสรีจากภายในในงานศิลปะชุด ‘ตะวัน’ (ปีพ.ศ. 2533 – พ.ศ. 2539)

ส่วนงานชุด ‘คลื่นและลม’ (ปีพ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2549) ก็ได้เปรียบเทียบพายุสึนามิและทอร์นาโด กับเหตุการณ์และความรุนแรงเลวร้ายที่ผู้หญิงมักจะต้องพบเจอและแบกรับในชีวิต ซึ่งเชื่อมโยงไปยังงานชุดต่อๆ มาของเธออย่าง ‘Uneven Life’ (ปีพ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2556) และ ‘สตีภพ’ (ปีพ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2562) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและทางเลือกในการดำรงชีวิตของสตรีเพศ ซึ่งมีขอบเขตอันจำกัดจำเขี่ย รวมถึงค่านิยม ‘ช้างเท้าหลัง’ ที่มอบบทบาทผู้ตามอันไร้ปากเสียงให้กับเพศหญิงเสมอมา

Toxic Effect exhibition
Photo Credit: Courtesy of Chainapa Lepajarn And River City Bangkok

แม้ปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศ และเสรีภาพในการดำรงชีวิตของเพศหญิงจะได้รับการตระหนักถึง รวมทั้งอิสรภาพทางความคิดก็เริ่มถูกขยับขยายขอบเขต แต่หลายต่อหลายครั้งเพศหญิงก็ยังคงไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบแห่งปิตาธิปไตยซึ่งกดทับอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากสังคมรวม หรือหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดอย่าง ‘ครอบครัว’ การถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ ผลักให้ความรู้สึกภายในของพวกเธอเต็มไปด้วยอารมณ์ด้านลบจากการไม่สามารถพูดหรือแสดงออกต่อสิ่งที่ไม่พอใจอย่างตรงไปตรงมา

ฉายณภาเลือกหยิบเอาสภาวะภายในของเพศหญิง มาถ่ายทอดความตึงเครียดและอารมณ์อันเป็นพิษ ทั้งในฐานะลูกสาว ภรรยา รวมถึงในฐานะ ‘แม่’ ที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากค่านิยมของสังคม จนเกิดเป็นภาวะที่ความเครียดนั้นกัดกินจิตใจภายใน โดยฉายณภาเรียกสภาวะนั้นว่า ท็อกซิก เอฟเฟกต์ ตามชื่อนิทรรศการ โดยหยิบเอาประสบการณ์ตลอดชีวิตของตัวเธอเองตั้งแต่วัยเด็ก ตลอดจนช่วงเวลาที่ก้าวสู่วัยสาวและเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเป็นแม่ของลูก ที่ต้องแบกภาระความรับผิดชอบมากมาย มาถ่ายทอดผ่านงานประติมากรรมตามแบบที่เธอถนัด เพื่อตอบสนองปูมหลังชีวิตและบอกเล่าตัวตน ความคิด และทัศนคติของเธออย่างตรงไปตรงมา

Toxic Effect exhibition
ผลงาน ‘ตะวัน’ หนึ่งในผลงานประติมากรรมชิ้นเอกของฉายณภา
Photo Credit: Courtesy of Chainapa Lepajarn And River City Bangkok

นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 5 นี้ของเธอ จึงเปรียบเสมือนการหยิบยกเอาสมุดบันทึกส่วนตัวที่จำลองความรู้สึกนึกคิดตลอดชีวิตของเธอ มาเปลี่ยนเป็นผลงานประติมากรรม และชวนผู้ชมตั้งคำถามว่าในยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนสตรีเพศจะมี ‘ปากเสียง’ และเสรีภาพขึ้นมากหากเทียบกับอดีต ด้วยบทบาทของผู้หญิงที่แตกต่างออกไปและก้าวมาเป็นผู้นำทั้งในที่ทำงานและครอบครัว แต่เราจะสามารถพูดได้เต็มปากหรือไม่ว่า ไม่มีผู้หญิงคนใดในสังคมเลยที่ยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะ ‘ท็อกซิก เอฟเฟกต์’ เลย หรือแท้จริงแล้วพวกเธอเก็บซ่อนสภาวะนี้ไว้ได้แนบเนียนกว่าที่เคยเท่านั้น

ฉายณภาชวนให้คุณเข้ามาฟังเสียงกรีดร้องอันเงียบงันจากงานประติมากรรม ซึ่งกลั่นมาจากเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณของเธอ ในฐานะของตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งบางทีเสียงเหล่านี้อาจดังก้องเข้าไปในหัวใจของคุณได้อย่างไม่ยากเย็น

นิทรรศการ Toxic Effect โดย ฉายณภา เลปาจารย์
เปิดให้เข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ณ ชั้น 2 RCB Galleria 4 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (ท่าเรือสี่พระยา)


CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF CHAINAPA LEPAJARN AND RIVER CITY BANGKOK


อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 12 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Uniqlo x Marimekko Fall/Winter 2024

Post Views: 8 Uniqlo เปิดตัวคอลเลกชันลิมิเต็ด เอดิชัน Uniqlo x Marimekko Fall/Winter 2024 Uniqlo (ยูนิโคล่) แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลก เปิดตัว  Uniq…

Patek Philippe Cubitus Collection

Post Views: 8 Patek Philippe เผยโฉมนาฬิกาคอลเลกชัน Cubitus ในสไตล์สปอร์ตที่สง่างาม Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลลิปป์) เผยโฉมนาฬิกาคอลเลกชัน Cubitus (คิว…