มองโลกให้รอบด้านผ่านตัวละครหลากเพศ หลายวัยใน SEX EDUCATION 2

SEX EDUCATION 2 หากจำกันได้ เมื่อราวต้นปีที่แล้ว เคยมีกรณีที่พรรคพลเมืองไทยยื่นหนังสือต่อกสทช.เพื่อเรียกร้องให้ Netflix บริษัทสตรีมมิ่งระดับโลก ระงับการฉายออริจินัลซีรีส์คอมเมดี้-ดราม่าอย่าง Sex Education ด้วยเหตุผลว่าซีรีส์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทยโดยการพูดถึงเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง แน่นอนว่านอกจากการแจ้งแบน Sex Education ในไทยจะไม่เป็นผลแล้ว กลับยิ่งทำให้เกิดกระแสตีกลับจนกลายเป็นการโปรโมทซีรีส์เรื่องนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก!

Sex Education เล่าเรื่องราวของ โอทิส มิลเบิร์น (เอซ่า บัตเตอร์ฟีลด์) เด็กหนุ่มที่เติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว จีน มิลเบิร์น (กิลเลียน แอนเดอร์สัน) ซึ่งประกอบอาชีพนักบำบัดและผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเพศ โอทิสอับอายกับการมีคุณแม่เป็นกูรูเรื่องเซ็กซ์ แต่แล้วเขาก็จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นที่ปรึกษาเรื่องเซ็กซ์ให้กับเพื่อนในวัยเดียวกันเสียเอง เมฟ (เอ็มมา แม็คกี้) สาวมั่นที่ฉลาดเป็นกรดแต่ยากจน และเพื่อนสนิทอย่าง เอริค (อินคูติ กัตวา) เกย์ผิวสีที่มักจะตกเป็นเหยื่อการบุลลี่ในสังคมโรงเรียนอยู่เสมอ จึงออกไอเดียให้โอทิสเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องเพศขึ้นมาเพื่อพูดคุยกับเพื่อนวัยรุ่นที่อายเกินกว่าจะตั้งคำถามเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ 

นอกจากการปรับทัศนคติว่าปัญหาเรื่องเซ็กซ์และเพศศึกษาไม่ใช่สิ่งลี้ลับอับอายที่ไม่ควรพูดถึงหรือตั้งคำถาม ซีรีส์ยังพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์หลากรูปแบบระหว่างตัวละครอื่นๆในเรื่อง โดยในภาคต่อนี้ เส้นเรื่องหลักไม่ได้ผูกติดอยู่ที่โอทิสเพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่ยังขยับขยายไปถึงตัวละครหลากเพศหลายวัยในเรื่องด้วย 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิตคู่และความสัมพันธ์อันเปราะบางของครูใหญ่กรอฟฟ์และมัวรีน ภรรยาผู้อดทนกับความเฉยชาของสามีที่ไม่ยอมมีเซ็กซ์ด้วย และสุดท้ายนำไปสู่ความบาดหมางที่ลงเอยด้วยการเลิกรา 

โอล่าและอดัมที่พยายามหาคำจำกัดความเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ (Sexual Oriental) ของตนเอง 

เมฟที่ต้องเผชิญหน้ากับแม่ขี้ยาผู้เคยทอดทิ้งเธอกับพี่ชายไปเมื่อยังเด็ก และต้องรับมือกับความรู้สึกอึดอัดและเจ็บปวดใจเมื่อผู้ปกครองที่ควรพึ่งพาได้ทำให้เราต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับไอแซค เพื่อนบ้านของเมฟที่พิการเนื่องจากอุบัติเหตุในวัยเด็กจากการดูแลที่ดีไม่เพียงพอของพ่อแม่ นอกจากไอแซคและเมฟจะแบ่งปันความรู้สึกแหว่งวิ่นของตนเองด้วยความรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นพวกเดียวกัน 

อีกทั้งชีวิตคู่ที่ล่มสลายของจีนและ เรมี่ มิลเบิร์น (เจมส์ เพียวฟอย) พ่อของโอทิส ที่แม้จะโด่งดังจากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเป็นลูกผู้ชาย แต่ตนเองกลับมีนิสัยและความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นชายแบบผิดๆ (Toxic Masculinity) จนสุดท้ายเมื่อเรมี่เลือกจะจากจีนไปและทิ้งให้โอทิส ลูกชายของเขา เติบโตมาโดยขาดพ่อ การกระทำนั้นส่งผลกระทบกับตัวโอทิสโดยตรงเนื่องจากขาดคนใกล้ชิดเพศชายที่ควรเป็นแบบอย่างให้ (Father Figure) แล้วไหนจะความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างจีน และ เจค็อบ (มิคาเอล พอร์สแบรนต์) พ่อของโอล่าอีก 

ซีรีส์ความยาวแปดตอนถูกเกลี่ยบทอย่างทั่วถึงไปยังตัวละครข้างเคียงที่ต่างก็กำลังหมกมุ่นกับการค้นหาตัวตนและแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ของตนเอง ในขณะเดียวกัน Sex Education ยังทะเยอทะยานและมีความกล้าที่จะพูดถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากกรอบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งได้สร้างความเจ็บปวดต่อทั้งเพศชายและหญิงพอๆกัน

ไม่ว่าจะเป็นความเย็นชาไร้อารมณ์และเข้มงวดของครูใหญ่กรอฟฟ์ที่กดดันให้ อดัม ผู้เป็นลูกชาย เติบโตเป็นผู้ชายที่เก่ง ดี และเพียบพร้อม จนความตึงเครียดตลอดเวลานั้นนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง 

รวมไปถึงฉากที่ตัวละครหญิงในเรื่องอย่าง เอมี่ ถูกคุกคามทางเพศ เธอหวาดกลัวการขึ้นรถประจำทางเพราะการโดนคนโรคจิตสำเร็จความใคร่และหลั่งใส่เสื้อผ้าของเธอ การโดนคุกคามทางเพศของเอมี่ครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เธอขยาดที่จะต้องขึ้นรถประจำทาง แต่มันยังรบกวนจิตใจของเธอจนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่ม และทำให้เธอหวาดระแวงมนุษย์เพศชายจนคิดว่า ‘ไม่ว่าผู้ชายคนไหนก็อาจจะทำเรื่องน่ากลัวแบบนั้นกับเธอได้ทั้งนั้น’ 

ฉากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเหล่าตัวละครหญิงถึงการถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ ที่เคยประสบ และการยืนหยัดต่อสู้เพื่อเอมี่จนทำให้เธอกล้าที่จะขึ้นรถประจำทางได้อีกครั้ง ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ซีรีส์พยายามสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อจะบอกว่าการถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหรือผิดบาป เสียงของเหยื่อไม่ควรถูกลดทอนด้วยการมองเป็นเรื่องเล็กน้อย รวมถึงกล่าวโทษ (Victim Blaming) ว่าเป็นเหยื่อเองที่ยั่วยวนให้ท่าหรือแต่งตัวโป๊ เพียงเพราะสังคมชายเป็นใหญ่ตั้งกรอบไว้ให้เพศหญิงอ่อนแอและด้อยกว่าเพศชาย จึงทำให้ง่ายต่อการกดขี่ 

เรียกได้ว่าการหมุนสปอร์ตไลท์ไปยังตัวละครเล็กๆที่ประดับประดาอยู่ในซีรีส์ ทำให้ Sex Education สื่อสารเรื่องราวหลากหลายขึ้นในแง่มุมที่กว้างขึ้น และทิ้งประเด็นต่างๆให้ผู้ชมได้ถกเถียงและคิดอ่านร่วมกัน รวมทั้งการทิ้งท้ายซีซันเพื่อปูความสำคัญของ ไอแซ็ค (จอร์จ โรบินสัน) ในฐานะตัวละครที่อาจมีอิทธิพลต่อความรักของเมฟและโอทิส การหยิบเอาตัวละครที่มีความพิการ (Disability) มามีบทบาทในซีรีส์เมนสตรีม และเลือกจอร์จ โรบินสัน ซึ่งประสบอุบัติเหตุการเล่นรักบี้จนได้รับความพิการ มาถ่ายทอดบทบาทของตัวละคร ไอแซ็ค ในฐานะคนที่นั่งวีลแชร์ จึงนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามองว่าในซีซันหน้า Sex Education จะนำเสนอเรื่องราวของตัวละครตัวนี้ในแง่มุมใด

เมื่อรวมเข้ากับงานภาพที่สื่อสารอย่างงดงาม ตรงไปตรงมา และดนตรีประกอบที่ตัดต่อได้พอเหมาะพอเจาะ จึงพูดได้เต็มปากว่า Sex Education เป็นซีรีส์น้ำดีอีกเรื่องของเน็ตฟลิกซ์ที่ทำให้เราอดใจรอซีซันต่อไปแทบไม่ไหว

ชม SEX EDUCATION ทั้งสองซีซันได้แล้ววันนี้บน Netflix


อ่านข่าวสารเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์และซีรีส์อื่นๆ บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 13 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Your Tarot Weekly

Post Views: 48 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Holiday Season – Sunny Fredland

Post Views: 12 ฉลองช่วงเวลาแห่งความสุขสุดพิเศษไปกับ Sunny Fredland Fred (เฟร็ด) เชิญสัมผัสประสบการณ์ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่เปล่งประกายด้วยความสดใสจากกา…