Scents of the East ความเมื่อกล่าวถึงน้ำหอม ผู้คนมักจะนึกถึงแต่เมืองน้ำหอมอย่างประเทศฝรั่งเศส แท้ที่จริงแล้วความหอมจรุงใจนั้นเป็นหนึ่งในสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ ความหอมนั้นจึงมีประวัติอันยาวนานในทั่วทุกทวีป ที่น่าสนใจคือน้ำหอมต้นตำรับแบบตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออก อย่างอินเดีย จีนและญี่ปุ่น
Indian Garden สวนสวรรค์แบบเปอร์เซียในอินเดีย
ที่มาของ Scents of the East ต้นตำรับความหอมแบบตะวันออกของเรา ในอินเดียนั้น จักรพรรดิบาบูร์ (ค.ศ. 1483-1530) พระองค์เป็นนักรบจากเอเชียกลางซึ่งมีชัยชนะ ได้สถาปนาราชวงศ์โมกุล เป็นผู้ปกครองประเทศอินเดีย ทรงเป็นผู้นำอิทธิพลและวัฒนธรรมเปอร์เซียเข้าไปเผยแพร่ ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญของการขยายราชอาณาจักรโมกุลในเวลาต่อมา
จักรพรรดิบาบูร์นี่เองที่ได้นำรูปแบบสวนแบบเปอร์เชียนเข้ามาในอินเดีย และทรงชื่นชอบความหอมของดอกไม้ในอินเดียมากกว่าดินแดนอื่นๆ พระองค์และมเหสี Nur Jahan ได้ดูแลสวนโบราณแบบฮินดูในแคว้นแคชเมียร์ และพระองค์ทรงเรียกสวนนี้ว่า ชาลิมาร์ (Shalimar) ซึ่งมีความหมายว่าเป็นบ้านแห่งความรัก และยังมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า ฟาราฮ์ บาคส์ (Farah-Baksh) ซึ่งแปลว่าผู้มอบความสุขสันต์ พระองค์ได้เพิ่มการปลูกดอกกุหลาบ คาร์เนชั่น ต้นส้ม สนซีดาร์ และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งยังจารึกไว้ที่หน้าสวนว่า “ถ้าจะมีสวรรค์บนดิน ก็คงจะเป็นที่แห่งนี้ แห่งนี้ เท่านั้น” ชื่อสวนชาลีมาร์นี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจของน้ำหอมแบรนด์ฝรั่งเศสชื่อดังระดับโลก นั้นก็คือน้ำหอมชาลีมาร์ (Shalimar) จากแบรนด์ เกอร์แล็ง (Guerlain) นั่นเอง
อินเดียนั้นรุ่มรวยด้วยดอกไม้นานาพรรณ เนื่องจากประเทศมีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงมีภูมิอากาศที่แตกต่างหลายหลาก ตั้งแต่ป่าร้อนชื้น ไปจนทุ่งหญ้าแห่งเทือกเขาหิมาลายัน จึงทำให้มีดอกไม้และสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมากมายสำหรับการทำเครื่องหอมไปจนถึงร้านขายยาแผนโบราณ และยังเป็นประเพณีดั้งเดิมของแถบนี้ที่นิยมพืชสมุนไพร ทั้งในศาสนาเจน พุทธและพราหมณ์ หลังการอาบน้ำชำระร่างกาย แล้วจึงประพรมน้ำหอม แป้งและบาล์ม ทั้งยังมีการอาบน้ำแบบจักรพรรดิ สาวสนมจะค่อยๆเทน้ำอุ่นลงบนพระวรกาย จากนั้นก็สระผมและนวดศีรษะด้วยเกล็ดและเนื้อผลไม้ที่มีความหอม ส่วนชายชาติทหารนั้น ต้องมีสาวสวยมาประพรมสมุนไพรเพื่อความสดชื่น ปิดท้ายด้วยการนวดเฟ้นให้กระปรี้กระเปร่า (ก็แน่ละสิ) สำหรับน้ำมันนวดนั้นก็จะมีส่วนผสมของน้ำมันงาอบร่ำด้วยมะลิ ยี่หร่า กระวาน (Cardamon) ใบเตย (Pandanus) สน ไม้กฤษณา (Agar Wood) หญ้าฝรั่น (Saffron) กานพลู (Clove) และพวกดอกไม้หอมกรุ่นตระกูลดอกจำปี จำปา จากส่วนผสมทั้งหมดนี้ก็เสมือนส่วนผสมของน้ำหอมสุภาพบุรุษในโลกปัจจุบันบางส่วน ส่วนผสมเหล่านี้เหมือนยาเสน่หาที่ชาวอินเดียจะใช้ทาช้างตัวเมียเพื่อล่อให้ช้างตัวผู้มาผสมพันธุ์ นับว่าเป็นส่วนผสมที่เย้ายวนเปี่ยมเสน่ห์ทีเดียว
ในตำรากามสูตรนั้นยังกล่าวถึงความยวนเย้าตราตรึงของความหอมของผู้หญิง ที่นอกจากจะปรุงแต่ง สวมเครื่องประดับ ห่มพันผ้าไหมสาหรีอันงดงามบนเรือนร่างอันกลมกลึงแล้ว หน้าอกยังประพรมด้วยน้ำมันจากไม้จันทน์ ผมหอมละมุนด้วยกลิ่นดอกไม้ ที่ชวนให้ปลุกเร้าไฟเสน่หา ผู้ปรุงน้ำหอม ที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “สุคนธกร” นั้น (ชาวอินเดียจะเรียกว่ากัณฑิกา Gandhika) สมุนไพรต่างๆจะถูกป่นให้เป็นผง แล้วนำมาผสมน้ำมันฐาน แช่ให้เปื่อยยุ่ย เป็นน้ำมันสำหรับทำเครื่องสำอาง เช่น ดอกมะลิในน้ำมันงา
ไม้ขึ้นชื่อของทางอินเดียจะปลูกมากแถบเมืองไมซอร์ (Mysore) ก็คือไม้จันทน์ (Sandalwood) ภาษาสันสกฤตจะเรียกว่าชื่อว่าจันทนา ไม้นี้จะต้องมีอายุยืนยาวถึง 30 ปี จึงจะให้น้ำมันหอมภายในแกนกลางไม้ เป็นไม้มงคลที่มีค่ามาก ผู้คนนิยมมาแกะสลักเป็นเทพเทวา เป็นพระเครื่อง เพื่อการเคารพบูชา บางทีก็ทำเป็นกล่องเครื่องประดับ ส่วนเศษที่เหลือมาทำเป็นธูป ดังนั้นการตัดไม้นี้ถือเป็นความผิดอย่างยิ่งยวด การกลั่นความหอมได้จากหน่อไม้ เพื่อมาทำน้ำหอม สบู่ แชมพู ความหอมอ่อนบางของเนื้อไม้จันทน์นี้ จะมีจุดหนึ่งที่จะมีความใกล้เคียงความหอมจากดอกกุหลาบ สำหรับจุดกลมบนหน้าผากของสาวฮินดูนั้น คือสัญลักษณ์ของการเห็นทะลุปรูโปร่ง ก็มาจากผงไม้จันทน์ผสมสีแดง
พัทชุลิ (พิมเสน) แปลชื่อตรงๆจากพัทลุลิว่าใบเขียว เป็นพืชในตระกูลสาระแหน่ ที่ให้สดชื่นกระปรี้ประเปร่า เป็นส่วนผสมอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญทั้งในน้ำหอมสมัยใหม่ เป็นที่นิยมกันมานานแสนนานในวัฒนธรรมของอินเดีย
เวติเวอร์ (Vetiver) หรือหญ้าแฝก ที่มีกลิ่นเขียวสด สะอาดช่วยบรรเทาความร้อนและความชื้น ดังนั้นจึงใช้รากมาถักทอเป็นพัดและฉาก ที่จะนำไปวางแถวระเบียง ทำให้ชุ่ม เมื่อลมพัดผ่านก็จะกำจายความหอม ทำให้เย็นสดชื่น ทุกวันนี้เวติเวอร์ได้นำมาใช้ผสม โคโลญ ( Cologne คือน้ำหอมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอม 3-5% กลิ่นหอม อ่อนบาง จางเร็ว) ของสุภาพบุรุษ
จำปา (Champac) พืชในตระกูลแมกโนเลีย จำปี มักนำมาร้อยพวงมาลัยไหว้พระ และคล้องคอเทวรูปสลัก แม้แต่ใช้คล้องคอเจ้าบ่าวเจ้าสาว หัวหน้าและผู้นำ ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-908) พระภิกษุแห่งพุทธศาสนาได้นำจำปา เข้าไปในเมืองจีน กลายเป็นต้นไม้ยอดนิยม ปลูกในสวนตอนกลางและตอนใต้ของประเทศจีน ดอกไม้นี้จะมีความหอมบางส่วนที่คล้ายคลึงกับกระดังงา
สำหรับมะลิ (Jasmin) นั้น บริเวณแคชเมียร์จะเป็นที่เพาะปลูกใหญ่ของมะลิ ที่อินเดียนี้จะมีมะลิถึง 43 สายพันธุ์ เช่นเดียวกับจำปี จำปา จะร้อยมะลิเป็นพวงมาลัย สำหรับวงการน้ำหอม จะถือว่ามะลิ เป็นราชาแห่งดอกไม้ เพราะสามารถผสมผสานกับความหอมจากดอกไม้อื่นๆได้อย่างกลมกลืน น้ำหอมที่มีส่วนผสมสำคัญของมะลิคือ Chanel No 5 (ชาเนล นัมเบอร์ไฟว์) มีส่วนผสมของมะลิจากเมืองกราส (Grasse) ฝรั่งเศส ชาเนลปลูกมะลิเองเพื่อควบคุมคุณภาพ Arpège (อาร์แปช จากลองแวง) และ Samsara (แซมซารา หรือ สังสารวัฏ ของเกอร์แล็ง) นั้น จะมีส่วนผสมของมะลิและไม้จันทน์จากอินเดีย
ส่วนกานพลู (Cloves) นั้น มาจากหมู่เกาะโมลุกกะ ทางอินเดียตะวันออก ใบนั้นนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอม ดอกตูมอ่อนของกานพลูจะเก็บด้วยมือ ให้ความหอมอบอุ่น ชาวอาหรับจะชื่นชอบและเป็นช่องทางการนำไปขาย เป็นส่วนผสมสำคัญของน้ำหอมยวนเย้าอย่าง Opium (โอเพี่ยม ของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์)
Japanese Art of Scents ความหอมตะวันออกแบบญี่ปุ่น
วัฒนธรรมจากจีนได้เผยแพร่ไปสู่เกาหลี และข้ามทะเลไปสู่ญี่ปุ่น โดยภิกษุสงฆ์และพ่อค้า ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง (ค.ศ. 960-1276) ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การวาดภาพด้วยพู่กัน การทำเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลน (เป็นกระเบื้องที่มีเนื้อละเอียด มีส่วนประกอบของดินขาว) และทางด้านสถาปัตยกรรม ชาวญี่ปุ่นจะต้องนับว่าเป็นผู้ดัดแปลงวัฒนธรรมและสิ่งต่างๆมาเป็นของตนเองได้อย่างกลมกลืน ทั้งยังสรรสร้างขึ้นมาใหม่ได้อย่างละเมียดละไมที่สุด ดังนั้นเรื่องของน้ำหอมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนก็เช่นเดียวกัน เครื่องพอร์ซเลนสามารถเก็บเครื่องหอมได้โดยไม่แปรเปลี่ยนกลิ่น และแม้แต่เทคนิคการกลั่นก็นับว่าประเทศจีนก้าวหน้าในการใช้เอธิล แอลกอฮอล์จากไวน์มาเป็นขั้นตอนในการกลั่นความหอมจากดอกไม้และพืชสมุนไพร ส่วนชาวยุโรปในต้นยุคเรอเนสซองส์ก็มาคิดค้นต่อเพื่อให้ขั้นตอนการกลั่นสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ชาวญี่ปุ่นยังนิยมใช้ธูปเป็นตัวบอกเวลา เพราะธูปที่ผลิตจากผงหอมจากสมุนไพรและยางอารบิก จะมีคุณภาพคงทนสม่ำเสมอ สามารถจะนับช่วงเวลาตั้งแต่จุดธูปจนธูปดับได้ค่อนข้างแม่นยำ ดังนั้นจึงเป็นการจุดเพื่อนับเวลาสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการกับเกอิชา นับว่าแน่ไปเลย ไม่ต้องมาใช้นาฬิกาให้รำคาญใจ ทั้งยังเพิ่มความหอมให้อีกด้วย (อย่างคนไทยจะใช้กะลาเจาะวางในถัง กะลาจมน้ำเมื่อไหร่การชนไก่จะหมดยกหนึ่งยก อ้าว! โหดไปหน่อย) ว่าด้วยเรื่องความรอบคอบละเมียดละไมนั้น ชาวญี่ปุ่นยังจะห้อยตลับเล็กๆทำจากแลกเกอร์สวยงามพร้อมรูปวาดหรือแกะสลัก เพื่อเก็บยา และเก็บเครื่องหอมไว้สูดดม หรือการเก็บซองแป้ง อบน้ำมันหอมแอบไว้ในชั้นชุดกิโมโน นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจของขวดน้ำหอมโอเพี่ยม (Opium จาก อีฟส์ แซงต์ โลรองต์) ที่เป็นขวดแลกเกอร์สีแดง ชาวญี่ปุ่นจะมีราวตากกิโมโน เพื่อจะอบร่ำผ้าด้วยธูปหอม สำหรับพัดนั้น ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้รังสรรค์พัดพับได้ขึ้นมา ภายหลังคนจีนก็มาผลิตพัดสลักเสลาจากไม้จันทน์ บริเวณที่ผลิตพัดไม้จันทน์ในเมืองจีนคือเมืองเก่าแก่อย่างหางโจว
ส่วนผสมหลายหลาก ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สุคนธกรชั้นนำได้นำมาผสมผสานน้ำหอมสำหรับแบรนด์ดังต่างๆ จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตุว่าจะมีการผลิตน้ำหอมใหม่ขึ้นทุกวันและเหล่าสุคนธกรหน้าใหม่นั้นจะมีจำนวนชาวตะวันออกกลางมากขึ้น
CREDITS:
เรื่อง: เพชรชมพู
ภาพประกอบ: ธนภร (อังสนา) ปิ่นทอง
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์: พีรยุทธ ลิมปนสถิตพร
สามารถอ่านคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่