เปิดตัวแล้วสำหรับนาฬิกาโครโนกราฟสามเวอร์ชันใหม่ที่แบรนด์ได้โชว์ผลงานเรือนเวลาโครโนกราฟซึ่งมาพร้อมความสลับซับซ้อนเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่หลงใหลในสไตล์ต้นตำรับของ Patek Philippe โดยเฉพาะ
ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความสลับซับซ้อนที่สร้างชื่อเสียงให้กับผู้ผลิตเรือนเวลา Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลลิปป์) มาโดยตลอด ซึ่งนั่นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากนาฬิกาโครโนกราฟที่นับได้ว่ามีบทบาทหลักในบรรดาผลงานเรือนเวลาสลับซับซ้อนของ Patek Philippe เสมอมา นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 ที่โรงงานการผลิตแห่งนี้ได้พัฒนาความหลากหลายของกลไกจักรกลโครโนกราฟ ทั้งที่มาพร้อมหรือไม่ได้มีฟังก์ชันเพิ่มเติมใดๆ ซึ่งผ่านการออกแบบและรังสรรค์ขึ้นทั้งหมดภายในห้องปฏิบัติการของตนเอง
โดยจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนา caliber CHR 27-525 PS ซึ่งนับเป็นกลไก split-seconds chronograph บางที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้นของการเปิดตัวในปีค.ศ. 2005 ต่อด้วยในปีค.ศ. 2006 กับ caliber CH 28-520 กลไกจักรกลโครโนกราฟเครื่อง in-house ชุดที่สอง กับคุณสมบัติของการไขลานอัตโนมัติ พร้อมทั้งระบบvertical disk-type clutch อันทันสมัย รวมถึงฟังก์ชัน flyback และหน้าปัดย่อยขนาดใหญ่เพียงหน้าปัดเดียว ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งกลไกชุดนี้ยังสามารถผสมผสานเข้ากับความสลับซับซ้อนอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เช่นเดียวกับในผลงานสองรุ่นใหม่ทั้ง References 5905/1A และ 5930P
ต่อมาในปีค.ศ. 2009 จึงแนะนำด้วย caliber CH 29-535 PS กลไกจักรกลโครโนกราฟเอกซ์คลูซีฟชุดที่สามซึ่งเป็นกลไกจักรกลไขลานด้วยมือ ติดตั้ง column wheel และระบบ toothed-wheel horizontal clutch พร้อมทั้งอีกหกนวัตกรรมผ่านการจดสิทธิบัตร และในคอลเลกชันปัจจุบัน กลไกชุดนี้ยังขับเคลื่อนอยู่ในนาฬิกาสุภาพบุรุษ Reference 5172 และนาฬิกาสุภาพสตรี Reference 7150/250 อีกด้วย จวบจนปีค.ศ. 2011 กลไกฐานนี้จึงได้ถูกตีความใหม่อีกครั้งภายในเวอร์ชัน Grand Complication ที่ผสานไว้ด้วยปฏิทินถาวรหรือ perpetual calendar ใน caliber CH 29-535 PS Q โดยนำเสนอในรุ่น 5270 และ 5271 จากนั้นนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 กลไกชุดนี้ยังสามารถพบได้เช่นกันใน Reference 5204 ในเวอร์ชัน split-seconds chronograph และ perpetual calendar จาก caliber CHR 29-535 PS Q
โดยกลไกโครโนกราฟคาลิเบอร์ต่างๆ ของ Patek Philippe นั้นยังได้นำเสนอภายในคอลเลกชันปัจจุบันอีกมากกว่า 20 รุ่นต่างกัน รวมถึงในนาฬิกาสามรุ่นใหม่ที่แบรนด์ได้ขยายตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับนาฬิกาโครโนกราฟในสามเวอร์ชันของ References 5204, 5905 และ 5930
เริ่มจากความสง่างามของนาฬิกาโครโนกราฟ Split-seconds chronograph and perpetual calendar Reference 5204R-011 กับเวอร์ชันโรสโกลด์และหน้าปัดสีเทา ที่สืบทอดความโดดเด่นมาจากหนึ่งในรุ่นสลับซับซ้อนอันเป็นที่ตามหาสูงสุดของ Patek Philippe นับจากปี ค.ศ. 2016 นอกจากนี้ยังนับเป็นเฉดสีหายากและคงความประณีตที่มอบสไตล์ใหม่ให้กับนาฬิกาโครโนกราฟได้อีกหนึ่งเวอร์ชัน
Moon-Phase and Leap-Year Cycle
โดยตัวเรือนโรสโกลด์ขัดเงาด้วยมือยังมาพร้อมขอบตัวเรือนเว้าลงและหูตัวเรือนแบบสองระดับ คู่ด้วยหน้าปัดตกแต่งแบบ sunburst บรรจุการแสดงวันและเดือนผ่านช่องหน้าต่างสองช่องแบบ in-line ที่ 12 นาฬิกา ส่วนเข็มชี้สำหรับแสดงวันที่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ผสานเข้ากับช่องหน้าต่างแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมหรือ moon-phase ขณะที่หน้าปัดวินาทีเล็กและหน้าปัดแสดงการจับเวลา 30 นาที ฉับพลันแสดงผ่านสองหน้าปัดย่อย ณ ตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา รวมถึงช่องหน้าต่างเล็กๆ สองช่องสำหรับแสดงวงจรของปีอธิกสุรทินหรือ leap-year cycle และแสดงกลางวัน/กลางคืนไว้ที่ 7 และ 8 นาฬิกา
ขณะที่ฝาหลังกระจกแซฟไฟร์เปิดโชว์ให้เห็นความประณีตของกลไก caliber CHR 29-535 PS Q ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปีค.ศ. 2012 จาก Reference 5204P-001 แต่แตกต่างโดยการไขลานด้วยมือ พร้อมทั้ง column wheels สองตัว และ horizontal clutch ที่ผสมผสานเข้ากับเจ็ดนวัตกรรมผ่านการจดสิทธิบัตร ซึ่งรวมไปถึงหกนวัตกรรมสำหรับจักรกลโครโนกราฟ และหนึ่งนวัตกรรมสำหรับจักรกล split-seconds สำหรับ Reference 5204R-011 ใหม่นี้ประกอบคู่มากับสายหนังวัวสีเทาและตัวพับล็อกสายทำจากโรสโกลด์ ทั้งยังมีให้เลือกระหว่างฝาหลังกระจกแซฟไฟร์และฝาหลังแบบทึบที่สามารถถอดเปลี่ยนได้
อีกหนึ่งผลงานครองใจสายสปอร์ตแคชชวลที่รอคอยกันมานานคือเวอร์ชันสตีลใน Self-winding flyback chronograph with Annual Calendar Reference 5905/1A-001 กับตัวเรือนและสายสตีลแบบผสานคู่มากับหน้าปัดสีเขียวมะกอก โดยก่อนหน้านี้เคยเปิดตัวมาแล้วในรุ่นแพลทินัม เมื่อปีค.ศ. 2015 ตามมาด้วยรุ่นโรสโกลด์ในปีค.ศ. 2019 ที่ Reference 5905 ได้ผสมผสานไว้ด้วยสองความสลับซับซ้อนที่ใช้งานได้ง่ายดายและเหมาะสำหรับชีวิตประจำวัน นั่นคือกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ flyback chronograph และ Annual Calendar ผ่านการจดสิทธิบัตร
โดยนอกจากตัวเรือนสตีลที่เป็นเวอร์ชันหายากในคอลเลกชันของ Patek Philippe แล้ว รุ่นนี้ยังโดดเด่นด้วยหน้าปัดสีเขียวมะกอกตกแต่งแบบ sunburst มั่นใจได้ถึงการอ่านค่าได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับฟังก์ชันเพิ่มเติมอื่นๆ ที่ประกอบไปด้วยเข็มโครโนกราฟกลาง หน้าปัดย่อยจับเวลา 60 นาที ขนาดใหญ่ที่ 6 นาฬิกา และช่องหน้าต่างสามช่องสำหรับแสดงวัน/วันที่/เดือน ซึ่งจัดวางในแนวโค้งเพื่อแสดงข้อมูล Annual Calendar ต่างๆ ได้อย่างทันที ทั้งยังบรรจุด้วยการแสดงกลางวัน/กลางคืนที่ 6 นาฬิกา เช่นกัน ส่วนบนฝาหลังกระจกแซฟไฟร์ สามารถมองเห็นการทำงานของกลไก caliber CH 28-520 QA 24H ที่ติดตั้งไว้ด้วย column wheel แบบประเพณีสำหรับการส่งทอดคำสั่งการจับเวลาโครโนกราฟ แต่ได้แทนที่ด้วย vertical disk-type clutch อันทันสมัยที่ไม่ทำให้เกิดการเสียดสีและสึกหรอ ขณะที่เข็มจับเวลาวินาทีกลางยังสามารถใช้งานเป็นเข็มแสดงวินาทีต่อเนื่องได้ด้วย
อีกหนึ่งผลงานโครโนกราฟรุ่นใหม่ที่หลายคนต่างกล่าวขานถึงความสวยงามและโดดเด่นของหน้าปัดสีเขียวแกะลายกิโยเชที่งดงามประณีตไร้ที่ติ นั่นคือรุ่น Self-winding World Time flyback chronograph Reference 5930P-001 เวอร์ชันใหม่ในตัวเรือนแพลทินัม พร้อมทั้งหน้าปัดและสายสีเขียวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรุ่นพิเศษหนึ่งเดียวจากปีค.ศ. 1940 ที่ Reference 5930 ได้ผสมผสานไว้ด้วยสองฟังก์ชันคือกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ flyback chronograph และ World Time และนำมาสู่การเปิดตัวของ Reference 5930 ในปีค.ศ. 2016 ด้วยเวอร์ชันไวท์โกลด์ พร้อมทั้งหน้าปัดสีน้ำเงินและสายสีเดียวกัน
ส่วนในเวอร์ชันใหม่นี้ผสมผสานความแวววาวของแพลทินัมเข้ากับหน้าปัดและสายสีเขียว โดยบนหน้าปัดยังประกอบด้วยชื่อเมืองต่างๆ ทั่วโลกพิมพ์ด้วยสีเขียวลงบนดิสก์ ส่วนบริเวณศูนย์กลางหน้าปัดสีเขียวนั้นได้ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านทักษะงานฝีมือไว้ด้วยลวดลายแกะสลักกิโยเชด้วยมือ และตกแต่งด้วยเฉดสีเขียวเดียวกันยังถูกเลือกไว้บนหน้าปัดย่อยที่ 6 นาฬิกาสำหรับจับเวลา 30 นาที และแน่นอนว่าภายใต้ตัวเรือนแพลทินัมขัดเงาด้วยมือทั้งเรือนนี้ยังประดับเพชรหนึ่งเม็ดไว้ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา พร้อมทั้งหูตัวเรือนwing-type ที่เป็นต้นตำรับของนาฬิกา World Time ยุค 1940s – 1950s
ส่วนภายในทำงานด้วย caliber CH 28-520 HU ติดตั้งไว้ด้วย column wheel และ disk-type vertical clutch ทันสมัย โดยเข็มโครโนกราฟกลางยังสามารถใช้เป็นการแสดงวินาทีต่อเนื่องได้ และปุ่มกดที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกา ยังช่วยให้สามารถเริ่มต้นการทำงานจับเวลาใหม่ได้อย่างฉับพลัน ส่วนฟังก์ชัน World Time ของรุ่นสามารถแสดงเวลาใน 24 ไทม์โซน ที่เมื่อมีการเปลี่ยนไทม์โซน จักรกลพิเศษผ่านการจดสิทธิบัตรนี้จะช่วยให้สามารถปรับตั้งความถูกต้องของการแสดงทั้งหมดได้โดยการกดบนปุ่มกดที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา และไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความเที่ยงตรงของกลไก
ด้วยเวอร์ชันใหม่และโฉมหน้าอันโดดเด่นของนาฬิกาโครโนกราฟสามรุ่นที่ผสมผสานเพิ่มเติมไว้ด้วยฟังก์ชันสลับซับซ้อนสูงอันเป็นต้นตำรับของ Patek Philippe นี้ น่าจะทำให้บรรดานักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบนาฬิกาสไตล์สปอร์ตคลาสสิกร่วมสมัยเริ่มสนใจมาครอบครองตัวเลือกอันทรงคุณค่าเหล่านี้ได้ไม่แพ้คอลเลกชันอื่นๆ ของแบรนด์กันเลย
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF PATEK PHILIPPE
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่