Patek Philippe ได้จัดนิทรรศการ Rare Handcrafts 2023 ขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของตนเองในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวบรวมผลงานที่รังสรรค์ด้วยฝีมือด้วยทักษะอันหาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบันกว่า 70 ผลงาน
Patek Philippe Handcrafts 2023 Exhibition เมื่อวันที่ 1-15 เมษายน 2023 Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลลิปป์) ได้จัดนิทรรศการ Rare Handcrafts 2023 (แรร์ แฮนด์คราฟส์ 2023) ขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของตนเองในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยงานนี้ได้รวบรวมผลงานที่รังสรรค์ด้วยฝีมือด้วยทักษะอันหาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบันกว่า 70 ผลงาน อีกทั้งยังมีการสาธิตงานศิลปะจากช่างฝีมือของ Patek Philippe ให้ผู้ที่เข้าชมงานได้รับชมอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1839 Patek Philippe ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการนำเสนองานฝีมือที่หาได้ยาก ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทร่วมกับการผลิตนาฬิกามาโดยตลอด ความใส่ใจในคุณค่างานสร้างสรรค์นี้สืบทอดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ที่อุทิศให้กับงานฝีมืออันเป็นเลิศต่างๆ เหล่านี้ โดยแสดงอยู่ในสำนักงานแห่งใหม่ของบริษัทที่ Plan-les-Ouates (แพลน เลส์ กาตส์) ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2020
เพื่อส่งเสริมทักษะความเชี่ยวชาญให้ก้าวหน้าและดำรงไว้สืบเนื่องตลอดไป ในแต่ละปี Patek Philippe ได้นำเสนอคอลเลกชันใหม่สำหรับนาฬิกาที่มีความเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ในจำนวนเรือนที่จำกัด สำหรับคอลเลกชัน Rare Handcrafts 2023 (ประกอบด้วยผลงานสร้างสรรค์ทั้งหมด 67 ชิ้น ได้แก่ นาฬิการูปทรงโดม และนาฬิการูปทรงโดมขนาดเล็กจำนวน 22 เรือน นาฬิกาตั้งโต๊ะจำนวน 3 เรือน นาฬิกาพกจำนวน 12 เรือน และนาฬิกาข้อมือ จำนวน 30 เรือน)
โดยผลงานทั้งหมดสะท้อนถึงพรสวรรค์และความสามารถอันหลากหลายของงานฝีมือเทคนิคการประดับตกแต่งนาฬิกาจำนวนมากที่ถ่ายทอดกันมาจากในอดีตเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 5 ศตวรรษนำไปสู่งานศิลปะฝีมือชั้นสูง อาทิ การแกะสลักด้วยมือ การสลักลวดลายด้วยมือแบบกิโยเช่ การประดับตกแต่งอัญมณีและ การเคลือบลงยาอินาเมลในรูปแบบที่แตกต่างกันซึ่งสืบทอดกันมา เช่น การเคลือบลงยาอินาเมลแบบกรองด์เฟอ คลัวซอนเน่ การระบายสีรูปภาพขนาดเล็กบนการเคลือบลงยาอินาเมล การเคลือบลงยาอินาเมลแบบไปยอนเน่ การเคลือบลงยาอินาเมลแบบฟลินเก้ การเคลือบลงยาอินาเมลแบบชองป์เลอเว่ และการเคลือบลงยาอินาเมลแบบกลีซายล์
ซึ่ง Patek Philippe ได้ใช้ความเชี่ยวชาญทางนวัตกรรมอีกหลายด้านเพื่อการผลิตนาฬิกา เช่น การฝังประดับบนไม้ขนาดเล็ก และการเคลือบลงยาแบบลองวีย์บนวัสดุแบบเซรามิค นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังได้แสดงผลงานฝีมืออันพิเศษล้ำเลิศ ด้วยการนำเสนอเทคนิคการสร้างสรรค์เพิ่มเติม ที่เรียกว่า “เทคนิคผสมผสาน” ตัวอย่างเช่น การเคลือบลงยาอินาเมลคลัวซอนเน่ ร่วมกับการสลักลวดลายด้วยมือแบบกิโยเช่ หรือการสลักลวดลายด้วยมือร่วมกับการฝังประดับบนไม้ขนาดเล็ก
ผลงานที่น่าสนใจจากนิทรรศการในครั้งนี้มีด้วยกันหลากหลายชิ้น อาทิ นาฬิกาพก “เสือดาว” (“Leopard”) Ref. 995/137 J-001 นำเสนอเทคนิคผสมผสานของการประดับตกแต่งอัญมณี จากการผนวกกันของการฝังประดับบนไม้ขนาดเล็ก (ชิ้นส่วนที่เล็กมาก 363 ชิ้น และการฝังประดับ 50 ชั้นด้วยไม้ชนิดต่างๆ จำนวน 21 ประเภท) การแกะสลักด้วยมือ และ การเคลือบลงยาอินาเมลแบบชองป์เลอเว่
นาฬิกาข้อมือ Calatrava (คาลาทราวา) Ref. 5077/100R-064 ภาพ “ปลากระเบนแมนตรา (Manta Rays) ที่ปรากฎอยู่บนสีพื้นสีน้ำตาลทราย” บนหน้าปัดทองคำซึ่งรังสรรค์จากการแกะสลักด้วยมือ ร่วมกับลวดลายเส้นของคลื่น ที่ให้ความรู้สึกของทรายพัดกระเพื่อมผนวกด้วยการเคลือบลงยาอินาเมลแบบกรองด์เฟอ คลัวซอนเน่ ในบริเวณภาพทะเลแบบโปร่งแสง และบริเวณภาพตัวปลาแบบทึบแสง
กลุ่มของนาฬิกาที่อุทิศให้กับรถแข่ง ซึ่งรวมถึงนาฬิกาข้อมือ Calatrava Ref. 5189G-001 รุ่น “1948 Nations Grand Prix” และนาฬิกาข้อมือ Calatrava Ref. 5189G-011 รุ่น “1956 Alpine Rally” ที่งดงามด้วยหน้าปัดรังสรรค์ร่วมกันของการเคลือบลงยาอินาเมลแบบคลัวซอนเน่ และ การเคลือบลงยาอินาเมลแบบไปยอนเน่ ที่นำเสนอภาพของรถยนต์อยู่เบื้องหน้า พร้อมภาพวาดทัศนียภาพที่มีขนาดเล็กเคลือบลงยาอินาเมลเป็นพื้นหลัง ในขณะที่นาฬิกาตั้งโต๊ะรูปทรงโดม 20149M-001 รุ่น “Racing Cars” ซึ่งมีหน้าปัดเคลือบลงยาอินาเมลแบบคลัวซอนเน่ สะท้อนความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ ตกแต่งด้วยขอบวงบอกเวลาชั่วโมงที่มีรูปลักษณะคล้ายคลึงกับพวงมาลัย สร้างสรรค์ด้วยมือบนไม้ประดู่ ร่วมกับลวดลายของแดชบอร์ด โดยสามารถมองเห็นภาพบางส่วนของเบาะนั่งซึ่งหุ้มด้วยหนังแท้
นอกจากผลงานที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ Patek Philippe ยังได้นำเอาผลงานอันทรงคุณค่าที่หาได้ยากในประวัติศาสตร์ซึ่งนำมาจากพิพิธภัณฑ์ Patek Philippe ที่เจนีวา รวมถึงนาฬิกาพกที่แบรนด์เคยรังสรรค์ให้กับราชวงศ์สำคัญในปี 1909 อันมีอักษรย่อและตราเครื่องหมายของตระกูลขุนนางต่างๆ เป็นต้น
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF PATEK PHILIPPE
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon