No Wall (ไร้กำแพง)


ร่วมสำรวจนิยามทางสังคมของ ‘กำแพง’ ผ่านงานศิลปะนามธรรม No Wall (ไร้กำแพง) การสำรวจนิยามทางสังคมของกำแพงผ่านงานศิลปะนามธรรม


เจมส์ (วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล) คือศิลปินร่วมสมัยชาวกรุงเทพโดยกำเนิดผู้อาศัยและทำงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงแม้เขาจะทำงานศิลปะแบบนามธรรม แต่ผลงานของเขาก็แตกต่างจากศิลปินนามธรรมทั่ว ๆ ไปซึ่งเน้นในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกภายในและการทำงานแบบด้นสด (Improvisation) หากแต่เป็นการทำงานคล้ายกับงานศิลปะแบบคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) ที่ผ่านการวางแผนและการทำงานด้วยกระบวนการคิดในเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว อาทิ เรื่องของปัจจัยรายรอบที่ควบคุมชีวิตมนุษย์อย่างระบบทุนนิยม วัฒนธรรม ประเพณี และอำนาจทางสังคมการเมือง นอกจากนี้ ผลงานของเขายังมีความเกี่ยวข้องกับการทดลองกับธรรมชาติและปฏิกิริยาทางเคมีของสื่อทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสีหรือผลิตภัณฑ์ผสมสีชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นผลงานศิลปะนามธรรมอันมีเส้นสาย รูปทรง สีสัน ที่สื่อสารถึงประเด็นที่เขาต้องการจะนำเสนออย่างมีนัยยะสำคัญ

No Wall

ผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาในครั้งนี้อย่าง “No Wall (ไร้กำแพง)” ได้แรงบันดาลใจมาจากการได้เห็นกำแพงในรูปแบบต่าง ๆ จากการท่องเที่ยวเดินทางไปในหลายประเทศทั่วโลก เขามองว่ากำแพงเหล่านี้แสดงถึงนัยยะสำคัญมากมาย อาจเป็นความยิ่งใหญ่และการข่มขวัญคู่ต่อสู้ของอาณาจักรอันเกรียงไกรสักแห่ง อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกัน ปกปิดไม่ให้คนภายนอกเข้าถึงหรือรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ภายในได้ หรือแม้แต่ใช้ปกปิดความหวาดกลัวของผู้สร้างเอง บางที่อาจเกี่ยวข้องกับความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ทางศาสนา และในทางกลับกัน กำแพงเหล่านี้ก็ถูกสร้างขึ้นจากแรงงาน เลือดเนื้อ ชีวิต และความตายของทาสจำนวนมหาศาลตลอดมา

ศิลปินยังมองว่าสัญชาตญาณในการสร้างกำแพงนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย โดยสังเกตจากเด็ก ๆ หรือแม้แต่ลูกของเขาเวลาเล่นตัวต่อเลโก้ที่มักจะประกอบขึ้นเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายกำแพงเสมอ และเด็ก ๆ ที่สร้างกำแพงตามสัญชาตญาณหรือเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการนั้น บริบทของการสร้างกำแพงก็เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดเห็น ทัศนคติ หรือแม้แต่อุดมการณ์ของแต่ละคนเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

เขายังได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทเพลงในอัลบั้ม “The Wall” (1979) เพลง “Another Brick In The Wall” โดย Pink Floyd วงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกสัญชาติอังกฤษ ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจรัฐที่กดขี่และลดทอนความเป็นปัจเจกของประชาชนจนไม่ต่างอะไรกับก้อนอิฐก้อนหนึ่งบนกำแพงเท่านั้น

วิสิทธิ์หยิบเอาประเด็นทางความคิดเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะนามธรรมที่นำเสนอความเป็นกำแพงด้วยการประกอบกันของเส้นสาย รูปทรง สีสัน ผ่านกระบวนการทดลองทางศิลปะอันเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา 

“Inspiration เราได้เดินทางไปต่างประเทศ ได้ไปเห็นปราสาท พระราชวัง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันถูกสร้างขึ้นมา คือทุกว่านี้มันอาจจะดูสวยงาม แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไป หรือ เราได้เรียนรู้ คือในแต่ละที่มันก็จะมีความหมายแตกต่างกัน บางที่ถูกสร้างมาเพื่อตอบสนองความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม หรือ ความยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเราลด Scale ลงมาหน่อยก็จะเป็นการกั้นเพื่อสร้าง ความเป็นส่วนตัว คือการสร้างมันเป็นสิ่งที่ติดตัวเราคนเรามาตั้งแต่เด็ก เวลาที่เราเจอของเล่น หรือ LEGO หรืออะไรก็เเล้วแต่ เราพยายามที่จะก่อมันขึ้นมา โดยที่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไร เห็นจากที่ลูกเราเอง ที่จับ LEGO หรือสิ่งรอบ ๆ ตัวขึ้นมาเพื่อประกอบ ให้เป็นเหมือนกำแพงสูง ๆ พอมันล้มลงมาเราก็สร้างมันขึ้นมาใหม่ และสิ่งที่จะดึงดูด ให้อยากจะสร้างมันขึ้นมาประกอบเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง จินตนาการ หรือ จิตวิทยของสี หรือะไรก็เเล้วแต่ ที่ทำให้เขารู้สึกอยากจะหยิบจับสีนั้น และมาสร้างมันขึ้นมาให้เป็นอะไรสักอย่างอะไรประมาณนี้ เราใช้โอกาสนี้แหละ พูดในสิ่งที่เราอยากจะพูด ใช้เส้นสีผ่านรูปทรงอิสระเพื่อให้เกิดเป็นนิทรรศการครั้งนี้”

No Wall

เกี่ยวกับศิลปิน

No Wall

วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล (เกิดปี พ.ศ. 2526) จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจบการศึกษา ศิลปินได้เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาถึง 4 ปี โดยได้ทำงานศิลปะควบคู่ไปกับการหาเลี้ยงชีพอื่น ๆ อาทิ พ่อครัวและช่างสัก

หลังเดินทางกลับมาอยู่ประเทศไทย ศิลปินได้เลือกใช้ชีวิตอย่างเข้าใจความเป็นจริง โดยไม่ได้จดจ่อเพียงแค่การทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ยังผสมผสานงานศิลปะเข้าไปในทุกบริบทของชีวิต โดยศิลปินได้เปิดร้านอาหารกึ่งสตูดิโอและเลือกสื่อสารศิลปะผ่านทางการปรุงอาหาร อย่างไรก็ตาม ศิลปินได้กลับมาทำงานศิลปะอย่างเต็มตัวอีกครั้งเมื่อเขาได้เปิดสตูดิโอ “สีดิน” ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ศิลปินสนใจในการวิเคราะห์และวิพากษ์ปัจจัยรายรอบที่ควบคุมชีวิตมนุษย์อย่าง ระบบทุนนิยม วัฒนธรรม ประเพณี และอํานาจทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะอํานาจรัฐที่กดขี่และลดทอนความเป็นปัจเจกของประชาชน โดยสื่อสารผ่านเส้นและสีที่ประกอบสร้างเป็นรูปทรงและพื้นผิวในผลงานศิลปะของเขา

แล้วพบกับ “No Wall” นิทรรศการการสำรวจนิยามทางสังคมของกำแพงผ่านงานศิลปะนามธรรม

เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 1 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ RCB Photographers’ Gallery ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก


CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF RIVERCITY BANGKOK


สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

Your Tarot Weekly

Post Views: 32 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

POP KOREA: A Korean Group Exhibition in Thailand

Post Views: 6 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ร่วมกับ 608 Gallery จากประเทศเกาหลีใต้ ภูมิใจนำเสนอนิทรรศการ “Pop Korea: A Korean Group Exhibition in Thailand” ป๊…

Your Tarot Weekly

Post Views: 240 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศ…

สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย

Post Views: 61 ททท. เปิดตัวโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” สร้างกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดตัวโครงก…

SURPRISE & DELIGHT

Post Views: 6 บูสต์บิวตี้เอเนอร์จี้ให้พุ่งทะลุเพดาน ด้วย 12 เมคอัพสุดแกลมจากแบรนด์ความงามสุดหรู จะทำเซอร์ไพรส์ให้คนพิเศษ หรือจะมอบเป็นของขวัญให้ตัวเอง…