จากร้าน DVD เช่า สู่สตรีมมิ่งระดับโลก : ถอดรหัสความสำเร็จจากความเป็นมาของ Netflix


เปิดประวัติ Netflix : จากร้านเช่าหนังผ่านไปรษณีย์เจ้าแรกในอเมริกา สู่สตรีมมิ่งระดับโลกมูลค่า 7.5 ล้านล้านบาท


ถ้าพูดถึงการดูภาพยนตร์แบบออนไลน์สตรีมมิ่ง นาทีนี้ เบอร์หนึ่งที่ทุกคนจะนึกถึงขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ คงหนีไม่พ้น เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)  แอปพลิเคชั่นดูหนังออนไลน์ที่สามารถดูซีรีส์และภาพยนตร์หลากสัญชาติ พร้อมซับไตเติ้ล (และพากย์ภาษาไทยในบางเรื่อง) โดยคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายต่อเดือนที่ 279 บาท แบบความคมชัดสูง 349 บาท และแบบพรีเมียม ความละเอียดสูงสุด 420 บาท ต่อเดือน โดยสามารถรับชมได้สูงสุดถึง 4 แอ็กเคานต์พร้อมกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเคยตั้งข้อสงสัยมาว่า เน็ตฟลิกซ์ มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร แล้วอะไรกันที่ทำให้ธุรกิจดูหนังออนไลน์สตรีมมิ่งนี้โด่งดัง ประสบความสำเร็จ และเข้าไปเป็นหนึ่งใน Pop-Culture หลักของสังคม จนเป็นที่มาของวลี Netflix and Chill หรือการชวนสาวมาดูเน็ตฟลิกซ์ที่ห้อง ไปจนถึงการที่ภาพยนตร์ออริจินัลที่สร้างโดย เน็ตฟลิกซ์ ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในเวทีรางวัลภาพยนตร์ใหญ่ ๆ มากมาย เทียบเท่าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์

วันนี้ Padthai.co จะพาทุกคนไปย้อนดูความสำเร็จของสตรีมมิ่งเจ้าดังนี้กัน


จากร้านวีดีโอเช่า สู่สตรีมมิ่งหนังออนไลน์แบบเหมาจ่าย

เรื่องราวของเน็ตฟลิกซ์เริ่มมาจากแรงบันดาลใจในธุรกิจวีดีโอเช่าซึ่งเป็นยุคก่อน VCD, DVD และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจะเข้ามา เรียกได้ว่าในสมัยนั้น ร้านวีดีโอ เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูแบบสุด ๆ เพราะเป็นช่องทางที่จะทำให้เราสามารถดูหนังดัง หรือหนังจากต่างประเทศได้โดยไม่ต้องรอให้รายการโทรทัศน์นำมาฉาย หรือซื้อวีดีโอในราคาเต็ม แต่ใช้วิธีเช่าจากร้าน และนำมาส่งคืนตามกำหนดไว้

แต่อย่างที่รู้กันว่าช่วงปลายยุค 90s ไปสู่ยุคมิลเลเนียม เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านและก้าวกระโดดไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายในเวลาไม่นานก็เริ่มเป็นการมาถึงของการชมภาพยนตร์บน วีซีดี และ ดีวีดี ซึ่งให้ภาพที่คมชัดและคุณภาพสูงกว่า ทำให้ร้านเช่าวีดีโอจำนวนมากปรับตัวโดยการเปลี่ยนไปเปิดให้เช่าวีซีดีและดีวีดีแทน 

บริการเช่าดีวีดีจาก Netflix ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยให้ผู้ใช้บริการมาแจ้งชื่อภาพยนตร์ที่ต้องการเช่าทางเว็บไซต์ และรับดีวีดีไปชมทางไปรษณีย์
บริการเช่าดีวีดีจาก Netflix ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยให้ผู้ใช้บริการมาแจ้งชื่อภาพยนตร์ที่ต้องการเช่าทางเว็บไซต์ และรับดีวีดีไปชมทางไปรษณีย์

เน็ตฟลิกซ์ เองก็ก่อตั้งขึ้นในฐานะร้านเช่าดีวีดีเช่นกัน แต่ความพิเศษคือ แทนที่จะเปิดให้บริการแค่กลุ่มลูกค้าในละแวกบ้าน เน็ตฟลิกซ์เปิดให้บริการทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ใช้บริการสามารถส่งชื่อเรื่องที่ต้องการเช่ามาทางหน้าเว็บไซต์ผ่านอินเตอร์เน็ต และทางเน็ตฟลิกซ์ก็จะส่งดีวีดีไปให้ลูกค้าผ่านทางไปรษณีย์ 

แต่ รีด เฮสติ้งส์ (Reed Hastings) ผู้ก่อตั้งเน็ตฟลิกซ์ กลับมองว่าการเช่าหนังในแบบเดิม ๆ ก็มีปัญหาที่ลำบากผู้ใช้บริการ คือการลืมนำหนังที่เช่าไปมาคืนให้ตรงเวลาและต้องเสียค่าปรับนี่แหละ (เพราะตัวเขาเองก็เคยเช่าหนัง Apollo 13 ของผู้กำกับ รอน ฮาววาร์ด (Ron Howard) มาดู แต่ส่งคืนไม่ตรงเวลาจนโดนค่าปรับไปราวๆ 40 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 บาท เรียกได้ว่ามากมายจนเฮสติ้งส์ไม่กล้าบอกภรรยา เพราะกลัวโดนคุณภรรยาด่านั่นเอง) 

มาถึงตอนนี้ เฮสติ้งส์เลยคิดว่าจะดีแค่ไหนกันนะ ถ้าหากเราจ่ายเดือนละ 40 เหรียญ แล้วสามารถดูหนังแบบบุฟเฟ่ต์กี่เรื่องก็ได้ โดยเหมาจ่ายเป็นรายเดือนแทน เหมือนการสมัครสมาชิกฟิตเนส ที่จะเล่นแค่ไหนก็ได้เท่าที่พอใจ 

บริการเช่าดีวีดีแบบรายเดือนจาก Netflix ซึ่งเป็นต้นตำรับก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งออนดีมานด์ พร้อมโค้ดทดลองใช้เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
บริการเช่าดีวีดีแบบรายเดือนจาก Netflix ซึ่งเป็นต้นตำรับก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งออนดีมานด์ พร้อมโค้ดทดลองใช้เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

ในปี 1999 สองปีหลังจากเฮสติ้งส์เริ่มก่อตั้ง เน็ตฟลิกซ์ เขาจึงเริ่มเปิดให้บริการแบบ เหมาจ่ายรายเดือน (Subscription) ควบคู่ไปกับการการเก็บค่าเช่าทีละเรื่อง และเมื่อธุรกิจไปได้สวย ปีต่อมาเขาจึงยกเลิกการเช่ารายเรื่อง แล้วเปิดรับแค่แบบสมัครสมาชิกเท่านั้น แถมผู้ใช้งานยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุ 300,000 รายภายในเดือนเดียว! 

ด้วยความง่ายดายและเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วสหรัฐนี้เอง บริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆอย่าง เน็ตฟลิกซ์ จึงสามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายใหญ่ที่มีสาขาทั่วอเมริกาอย่าง บล็อกบัสเตอร์ (Blockbuster) และมีผู้ใช้บริการเกิน 1 ล้านคนภายในช่วงเวลาเพียง 4 ปีได้แบบสบายๆ!

แอบเล่าว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง บล็อกบัสเตอร์ ก็เคยมาติดต่อขอซื้อธุรกิจจาก เน็ตฟลิกซ์ โดยสร้างเงื่อนไขว่าต้องใช้ชื่อในนาม บล็อกบัสเตอร์ แต่เฮสติ้งส์ตั้งราคาขายสูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 1,500 ล้านบาท แต่บล็อกบัสเตอร์มองว่าแพงเกินไป เลยขอบอกผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะในเวลาต่อมา เน็ตฟลิกซ์ ก็ก้าวสู่ระดับโลกอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตที่แรงสุดๆ


Netflix และการก้าวเข้าสู่วงการสตรีมมิ่งในยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

รีด เฮสติ้งส์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร่วมคนปัจจุบันของ Netflix
รีด เฮสติ้งส์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร่วมคนปัจจุบันของ Netflix

ขึ้นชื่อว่าเป็น รีด เฮสติ้งส์ เขามองเกมออกมาตั้งแต่ต้นว่าสักวันยุคดีวีดีจะต้องหมดไป และเน็ตฟลิกซ์คงไม่สามารถย่ำอยู่กับที่ได้ตลอด เขามองว่าอินเตอร์เน็ตกำลังจะเข้ามา แต่คุณภาพการเชื่อมต่อและความพร้อมในตอนนั้นอาจจะยังไม่มากพอในการรับชมภาพยนตร์ทั้งเรื่องแบบออนไลน์ได้

ในปี 2005 เขาจึงคิดพัฒนา เน็ตฟลิกซ์ บ็อกซ์ (Netflix Box) กล่องดูหนังเพื่อติดตั้งในบ้าน ให้ผู้ชมสามารถเลือกชมหนังจากกล่องได้ผ่านโทรทัศน์ภายในบ้านโดยไม่ต้องรอดีวีดีผ่านทางไปรษณีย์

แต่ก่อนที่เน็ตฟลิกซ์บ็อกซ์จะได้วางจำหน่าย ในปี 2007 ก็ได้เกิดผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งบนเว็บไซต์ในชื่อ ยูทูบ (Youtube) ขึ้นและทำให้เฮสติ้งส์สั่งชะลอสินค้าทันที เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดมันไปเร็วเสียจนแผนการตลาดของเขาเกือบจะตามไม่ทัน 

เขากลับมาตั้งคำถามกับผลิตภัณฑ์และเส้นทางในอนาคตของเน็ตฟลิกซ์ ว่าในตอนนี้หากคุณภาพของอินเตอร์เน็ตมันมากพอที่ผู้ชมจะดูคลิปแบบออนไลน์ได้บนยูทูบแล้วละก็ ทำไมผู้ชมจะชมเน็ตฟลิกซ์ผ่านออนไลน์สตรีมมิ่งไม่ไหวล่ะ!?

ในปี 2007 นั้นเอง เน็ตฟลิกซ์จึงฉลองครบรอบ 10 ปีของบริษัท โดยการตัดสินใจก้าวเข้าสู่การให้บริการสตรีมมิ่งบนอินเตอร์เน็ต ในยุคที่อินเตอร์เน็ตแบบเดล-อัป เริ่มถูกแทนที่ด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ Wi-Fi 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเตอร์เน็ตนี้เองที่ทำให้บริษัทของเขาก้าวกระโดดจากผู้ใช้บริการเช่าดีวีดี 5.3 ล้านคนต่อเดือนในอเมริกา ด้วยยอดเช่าดีวีดี 1,000 ล้านแผ่น สู่ผู้ใช้บริการสตรีมมิ่ง 160 ล้านคนต่อเดือนใน 130 ประเทศพร้อมคอนเทนต์ให้เลือกชมมากว่า 100,000 รายการ

จะเรียกว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่ได้ผลลัพธ์คุ้มค่าก็คงไม่ผิด เพราะอย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบันยอดขายของ DVD ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับบริการสตรีมมิ่งที่เติบโตและมีคู่แข่งมากมายในตลาด


ปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์ ก้าวสู่บริการสตรีมมิ่งออนไลน์เป็นปีที่ 14 โดยการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ประจำปี 2020 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 7.5 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตที่ 12.4% หรือคิดเป็นมูลค่าเติบโต 8.2 แสนล้านบาท โดยสามารถทำรายได้ในไตรมาส 4 ถึง 1.99 แสนล้านบาท 

และแม้จะมีผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหม่อย่าง Disney+ เข้ามาเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญ เนื่องจากการถือครองลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และการ์ตูนจำนวนมาก ทั้งในเครือ Disney  Lucus Film รวมถึง Marvel Studio และยังมีจุดแข็งคือการสร้าง Original Content เฉพาะบนดิสนีย์พลัส แต่เน็ตฟลิกซ์เองก็มองว่า ผู้ใช้บริการจะไม่เลือกอันใดอันหนึ่ง แต่จะยอมจ่ายให้กับทั้งสองแพลตฟอร์ม หากคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มมีความน่าสนใจเพียงพอ

หน้าแสดงผลของ netflix มีการปรับ interface เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม

โดยเน็ตฟลิกซ์เองก็พัฒนาการตอบสนองหน้าแอปพลิเคชั่น (Interface) ให้มีความน่าสนใจ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้ใช้จริง (UX – User Experience) เช่น ภาพตัวอย่างภาพยนตร์ที่เมื่อเปิดค้าง จะเล่นทั้งภาพและเสียงอัตโนมัติ ซึ่งดึงดูดให้ผู้ชมสนใจและอยากชมต่อ รวมทั้งการบีบอัดไฟล์ที่มีประสิทธิภาพทำให้การดาวน์โหลดข้อมูลและรับชมออนไลน์เป็นไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด

มีการวิเคราะห์ความชอบของผู้ชมผ่านการเก็บข้อมูล Big Data และนำมาประมวลผลเป็นระบบแนะนำหนังที่มีเนื้อหาหรือแนวทางใกล้เคียงกันกับหนังโปรดของผู้ชม รวมทั้งการโปรโมทคอนเทนต์ที่ฉายด้วยป้ายโฆษณาและรูปแบบการโปรโมทที่แปลกใหม่เสมอ

House of Cards ซีรีส์การเมืองซึ่งเป็นออริจินัล ซีรีส์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Netflix อันเป็นเหมือนโมเดลธุรกิจที่พลิกโฉมวงการสื่อบันเทิงบนสตรีมมิ่ง
House of Cards ซีรีส์การเมืองซึ่งเป็นออริจินัล ซีรีส์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Netflix อันเป็นเหมือนโมเดลธุรกิจที่พลิกโฉมวงการสื่อบันเทิงบนสตรีมมิ่ง

นอกจากนี้ยังมีกลเม็ดหลักที่ทำให้เหล่าผู้ให้บริการสตรีมมิ่งหลาย ๆ เจ้า ต้องจดจำและนำไปใช้ นั่นคือการสร้างเนื้อหาที่มีเฉพาะบนเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น โดยเริ่มจาก เฮ้าส์ ออฟ การ์ด (House of Card) ซีรีส์การเมืองจากการโปรดิวซ์ของผู้กำกับชื่อดังอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ในปี 2013 ที่ฉีกทุกกฏของภาพยนตร์ออนไลน์ เพราะนอกจากจะจัดฉายเฉพาะบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ยังมีความยาวถึง 13 ตอน โดยผู้ชมสามารถชมต่อเนื่องโดยไม่มีโฆษณาคั่น ซึ่งถือว่าใหม่มากในยุคนั้น และกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ใคร ๆ ก็ให้ความสนใจ

การปรับตัวมาเป็นผู้สร้างคอนเทนต์นี้ ทำให้เน็ตฟลิกซ์กลายเป็นที่รู้จักอย่างร้อนแรงมากขึ้นไปอีกในวงกว้าง ในระยะเวลาเพียง 4 ปี พวกเขาพัฒนาออริจินัล คอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ตลอดจนรายการสำหรับเด็ก

และพิสูจน์ความสำเร็จของโมเดล ออริจินัล คอนเทนต์ ผ่านซีรีส์ชื่อดังมากมายอย่าง Stranger Things ซีรีส์ไซไฟบรรยากาศ 90s ที่เล่าเรื่องราวลึกลับในเมืองเล็กๆ ที่ถูกรบกวนจากสัตว์ประหลาดจากอีกมิติ Black Mirror ภาพยนตร์ชุดแบบตอนเดียวจบ ที่เล่าเรื่องราวล้ำๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลกระทบต่อผู้คน รวมถึง 13 Reason Why ซีรีส์โรแมนติกลึกลับที่สร้างจากหนังสือด้วย

นอกจากนี้เน็ตฟลิกซ์ยังเริ่มโฟกัสไปที่การขยายตลาดซีรีส์และภาพยนตร์ผลิตเองในหลากหลายเชื้อชาติ อย่างล่าสุดกับ Lupin ออริจินัล ซีรีส์ สัญชาติฝรั่งเศส หรือ Bangkok Breaking ออริจินัล เน็ตฟลิกซ์เรื่องที่ 2 ของไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้าง โดยมี เวียร์-ศุกลวัฒน์ และ ออม-สุชาร์ แสดงนำ ทำให้พวกเขามีคอนเทนต์มากมายคอยให้บริการผู้ชมใน 130 ประเทศทั่วโลก

งานนี้ก็ต้องดูกันยาว ๆ ว่าในอนาคตเน็ตฟลิกซ์จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์ผู้ใช้บริการอีก เพราะ Padthai.co ก็เชื่อเหลือเกินว่าสำหรับผู้พัฒนาที่มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างเน็ตฟลิกซ์จะมีอะไรให้เราได้ตื่นตาตื่นใจอีกแน่นอน เราแค่ชิลล์ๆ นอนรอดูอยู่ที่บ้าน


อ่านข่าวสารเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์และซีรีส์อื่น ๆ บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

Your Tarot Weekly

Post Views: 219 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม – วันเสาร์ที่​ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ…

Citizen Godzilla X Promaster Dive Limited Edition

Post Views: 17 Citizen เสนอนาฬิการุ่นพิเศษ “Ecozilla” ฉลอง 70 ปี “ราชาแห่งมอนสเตอร์” ​Citizen Godzilla X Promaster Dive Limited Edition สองตำนานข…

Your Tarot Weekly

Post Views: 107 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม – วันเสาร์ที่​ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ…

Korat Expo 2029

Post Views: 64 โคราชเฮ.. คว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก  “โคราช เอ็กซ์โป 2029”ประเทศไทยชูวิสัยทัศน์สู่อนาคตแห่งโลกสีเขียว สมาคมพืชสวนระหว่างประเ…