My Cup of Tea ความรื่นรมย์ที่ได้พบปะสังสรรค์ในระหว่างดื่มชา จนกลายเป็นสำนวน ภาษาอังกฤษที่หมายถึงคนที่โปรดปรานและถูกชะตากัน นั้นหมายความว่าการดื่มชา คือความสุขที่ได้ผ่อนคลายกับคนใกล้ชิด
My Cup of Tea น้ำชาถ้วยโปรด ถ้าพูดถึงการดื่มชา หลายคนต้องนึกถึงประเทศจีน ที่มีวัฒนธรรมการดื่มชามานานนับพันปี ผู้รู้ชาวจีนเคยกล่าวไว้ว่า การดื่มชานั้นไม่ใช่เพียงแต่จะนึกถึงอรรถรสของใบชา และวิธีการชงชาเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้นก็คือ “ประสบการณ์ในบรรยากาศแห่งศิลป์” การดื่มชาควรจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ อย่างใบชารสเลิศ น้ำที่ใส สดชื่นแสนบริสุทธิ์จากบ่อน้ำพุ หรือจากแม่น้ำ (ตอนนี้คงจะยากสักหน่อย นอกจากจะเป็นธารน้ำแข็ง….) กาและถ้วยชาอันงดงาม แขกรับเชิญที่น่าคบหา และบรรยากาศรอบข้างอันแสนรื่นรมย์ ทั้งหมดนี้คือความดื่มด่ำล้ำลึกของอรรถรสในการดื่มชาอย่างแท้จริง จึงจะขอยกบทกวีของ Hsu Ts’eshu, Ch’asu ว่าในเรื่อง “ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการดื่มชา”
My Cup of Tea น้ำชาถ้วยโปรด
เมื่อหัวใจและมือสงบนิ่งเพื่อการผ่อนคลาย
เมื่ออ่อนล้าจากการอ่านบทกวี
เมื่อความคิดคำนึงถูกรบกวน เกิดความสับสน
เมื่อฟังดนตรีและเพลงรัก
เมื่อเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านในช่วงวันหยุด
หลังเล่นเครื่องสายและชื่นชมภาพวาด
เมื่อพูดคุยเรื่องสำคัญลึกล้ำในยามดึก
เมื่อนั่งอยู่ที่หน้าต่างที่มีความสว่างไสว และโต๊ะที่เรี่ยมเร้เรไร
ดื่มชากับเพื่อนผู้ทรงเสน่ห์ และเพื่อนสาวร่างเพรียว (หรือเพื่อนหนุ่มสุดหล่อ)
เมื่อกลับจากการเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง
ในวันที่แจ่มใสมีลมพัดโชยอ่อนๆ
และในวันฝนตกพรำ
บนเรือสีสันใกล้กับสะพานไม้
ในศาลา เหม่อมองดอกบัวยามหน้าร้อน
ในห้องหับที่จุดธูปหรือเทียนหอม
หลังจากงานเลี้ยงเลิกรา และแยกจากกันไป
เมื่อลูกหลานอยู่ที่โรงเรียน
ในความเงียบสงบของวัดที่อยู่ห่างไกล
เมื่ออยู่ท่ามกลางน้ำพุและหินผาตามธรรมชาติ
ในอดีตชาวจีนผู้มีความรู้มักจะใช้โรงน้ำชาเป็นสถานที่นั่งคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมแขนงนึง น้ำชามักเกี่ยวข้องกับวรรณกรรม ศิลปะ และปรัชญา การดื่มน้ำชาจึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งในการเรียนรู้
ในครอบครัวสมาชิกผู้เยาว์วัย จะแสดงความเคารพด้วยการเสิร์ฟน้ำชาให้กับญาติผู้ใหญ่ การเชื้อชาญผู้ใหญ่ไปที่ร้านน้ำชา ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในวันหยุด และการเชื้อเชิญให้เดิมชาอาจหมายถึงการขอโทษอย่างเป็นทางการ เช่น เด็กที่ซนประพฤติตนไม่ดี ก็จะขอโทษพ่อแม่ด้วยการเสิร์ฟน้ำชา เพื่อเป็นการแสดงความเสียใจและยอมรับในความผิด และที่สำคัญพิธีแต่งงาน จะมีพิธีการยกน้ำชาเจ้าสาวเสิร์ฟน้ำชาแก่ครอบครัวเจ้าบ่าว และเจ้าบ่าวเสิร์ฟน้ำชาสำหรับครอบครัวเจ้าสาว เป็นการแสดงความเคารพกตัญญู และการอยู่ร่วมกันระหว่างสองครอบครัว ต้อนรับสมาชิกใหม่ ในปัจจุบันการดื่มชาก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วไป กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ตามประเพณีนิยมแขกที่มาเยือน จะนั่งลงและดื่มชาในขณะที่พูดคุย การพับผ้าเช็ดปากในพิธีชงชา ถือเป็นการไล่พลังงานชี่ที่ไม่ดีออกไป สำหรับในประเทศไต้หวัน พิธีการดื่มชาไม่ใช่เป็นเพียงแค่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แต่เป็นพิธีการในทุกโอกาสที่สำคัญ น้ำชาถือเป็นส่วนหนึ่งของของจำเป็น 7 ชนิด ได้แก่ ถ่าน ข้าว น้ำมัน เกลือ ซอสถั่วเหลือง และน้ำส้มสายชู
ประวัติการดื่มชาของประเทศรัสเซีย ก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับ ประเทศอื่นๆ เพราะถือว่าชานั้น เปรียบเหมือนสมุนไพรรักษาโรค เนื่องจากประเทศรัสเซียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตติดกับ จีน และมองโกเลีย ได้มีการมอบใบชาเป็นของขวัญจาก ชาวจีนและมองโกเลียต่อซาร์มิคาแอล มีกองคาราวานจีนขนชามาแลกเปลี่ยนกับขนสัตว์ เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกล ชาจึงมีราคาสูง ฝ่ายปกครองของรัสเซียมีการเล็งเห็น ถึงการค้าชาอันสำคัญ จึงตั้งเส้นทางที่เรียกว่า เส้นทางชา (Tea road) ระหว่างรัสเซียกับจีน โดยต้องผ่านการซื้อขายและการขนชากับทางตัวแทนของฝ่ายปกครองรัสเซียเท่านั้น ทำให้ชามีราคาสูง เพราะใช้เวลานานนับปีกว่ากองคาราวานจะเดินทางมาถึงรัสเซีย ในศตวรรษที่ 19 ราวปีค.ศ. 1880 ได้เกิดเส้นทางสำคัญของทางรถไฟ ทรานส์ไซบีเรีย ทำให้การขนส่งย่นระยะเวลาลงจากเวลาเป็นปีกลายเป็นไม่กี่สัปดาห์ ชาจึงมีราคาถูกลงและเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ในแต่ละประเทศก็ต่างมีวัฒนธรรมการดื่มชา เพียงแต่รสชาติที่แตกต่างกันไป อย่างรัสเซีย จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างความเข้มข้นของชา ที่เรียกว่า Zavarka (ซาวารกา) และน้ำร้อนที่ต้มจาก Samovar (ซาโมวาร์) ซึ่งมีรูปทรงเหมือนแจกันใหญ่ที่ช่วยต้มและอุ่นน้ำให้ร้อน และจะต้มน้ำไว้ตลอดทั้งวันเพื่อชงชา
ชาวรัสเซียเชื่อว่ามีแต่กาชาเซรามิกเท่านั้นที่จะช่วยให้หัวชาหรือซาวารกาคงรสชาติ วิธีการชงนั้นก็คือชา 1 ช้อนชาต่อน้ำร้อน 6 ออนซ์ หรือถ้าจะให้เข้มข้นต่อน้ำ 3 ออนซ์ จากนั้นเทน้ำจากหม้อซาวารกาลงในกา ตั้งกาบนซาโมวาร์สัก 10 นาที เทลงถ้วยไปประมาณ ¼ ถ้วย แล้วจึงเติมน้ำร้อนจากซาโมวาร์ลงไปในถ้วยอีกทีหนึ่ง
ชาวรัสเซียชอบดื่มชากับน้ำตาล แต่วิธีการแตกต่างไป พวกเขาจะขบก้อนน้ำตาลไว้ระหว่างฟันแล้วจิบชาให้น้ำชาไหลผ่านก้อนน้ำตาล เฉกเช่นการดื่มชาของชาวอิหร่าน จะต้มน้ำจากซาโมวาร์ และดื่มชาจากถ้วยที่ไม่มีหูจับ
สำหรับชาวเปอร์เซีย น้ำชาเริ่มแพร่หลายในศตวรรษที่ 17 และกลายเป็นเครื่องดื่มหรูหรา มีการพยายามปลูกต้นชาที่ประเทศอิหร่านแต่ไม่ประสพความสำเร็จ จนกระทั่ง Haj Mohammad Mirza ถูกส่งไปอินเดียในตำแหน่งกงสุล ได้เรียนรู้เคล็ดลับการปลูกชาและนำต้นชาประมาณ 4,000 ต้น กลับมาที่อิหร่าน จวบจนปัจจุบัน แถบตอนเหนือของอิหร่าน บริเวณทะเล แคสเปียน เป็นที่เพาะปลูกต้นชาโดยเฉพาะ จังหวัด Gilan ซึ่งเป็นบริเวณใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมชา วิธีการดื่มชาของชาวอิหร่าน จะต้มน้ำจากซาโมวาร์ จะดื่มชาจากถ้วยที่ไม่มีหูจับ เรียกว่า Estekanha (เอสเทคานนา) หรือเทใส่จานรองถ้วยแล้วดื่ม บรรยากาศของร้านชานั้น จะปูพรมลายงดงามแบบเปอร์เซีย พร้อมหมอนใบใหญ่ นั่งเอนพิงล้อมวงหรือนั่งเก้าอี้ยาวเรียงราย แต่จะมีฉากกั้นเพื่อความเป็นสัดส่วน
สำหรับชาวอังกฤษ เป็นประเทศที่มีการดื่มชามากที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มจากพวกชนชั้นสูง จากนั้นก็แพร่หลายไปสู่คนทั่วไป กลายเป็นเครื่องดื่มประจำสามัญ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม ชาของอังกฤษจะมีรสชาติแตกต่าง เนื่องจากการผสมและความชอบส่วนบุคคล แต่ก็จะนิยมดื่มชาดำกับมะนาว หรือน้ำตาลด้วยเหมือนกัน ชาที่ดื่มกันทุกวันใส่ถ้วยมัค มักใส่นมและน้ำตาลตามด้วยการรับประทานกับแซนด์วิช สโคน เค้กและบิสกิต ตามแต่จะเลือก จะมีธรรมเนียมการจิ้มบิสกิตลงในชาร้อนเพื่อให้นุ่มขึ้น
สำหรับการดื่มชาแบบชาวอังกฤษ คนทั่วโลกต่างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เริ่มในค.ศ. 1658 ที่มีการบริการเสิร์ฟและขายในที่สาธารณะ ซึ่งสถานที่ดื่มกาแฟกลายเป็นสถานที่พบปะของผู้มีความรู้ ช่วงเวลานั้นการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่คนอังกฤษชื่นชอบการชงชาที่ไม่ต้องใช้เวลามากเท่ากับชงกาแฟ และมักจะชอบชาสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนด้วยการเติมนม ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าถ้วยพอร์เซอเลนในสมัยก่อนนั้นเปราะบาง แตกง่ายมาก จึงเทนมลงไปก่อนเพื่อช่วยลดอุณหภูมิความร้อนของชา
ในช่วงตอนแรกๆ ชาเปรียบเสมือนเครื่องดื่มสมุนไพร เพื่อรักษาโรคบางชนิด ขายอยู่ในร้านกาแฟ น้ำชาเริ่มเป็นที่แพร่หลายในหมู่สุภาพสตรีชั้นสูงก่อน เจ้าหญิง แคทเธอรีน แห่ง บรากาซา ประเทศ โปรตุเกส ผู้มาเป็นชายาแห่งจักรพรรดิอังกฤษ พระองค์ทำให้การดื่มชากลายเป็นแฟชั่นที่นิยมในนหมู่สุภาพสตรีชั้นสูง จริงๆ แล้วการแพร่หลายของการดื่มชาอยู่ในหมู่คนสามกลุ่ม คือ 1. กลุ่มศิลปิน นักร้อง นักแสดง 2. กลุ่มพ่อค้า 3. กลุ่มสุภาพสตรีชั้นสูงในพระราชสำนัก
ส่วนชาวฝรั่งเศสเริ่มการดื่มชาพร้อมๆ กับชาวอังกฤษ โดยมีพระสังฆราชมาซาร์แรง และศัลยแพทย์ ปิแอร์ เครสซี แนะนำการดื่มชาเพื่อรักษาการรับรส ก็เป็นที่นิยมได้ประมาณสี่สิบปี แต่หลังจากนั้นชาวฝรั่งเศสกลับมาชื่นชอบกาแฟเสียมากกว่า ปัจจุบันมียี่ห้อชาฝรั่งเศสที่โด่งดังและมีคุณภาพอย่าง Mariage Frères (มาริยาจ แฟรส์) ที่ทุกคนต้องถามหา
สำหรับประเทศไทยนั้น ชาวต่างชาติที่มาเยือนต่างติดใจในรสชาติของ ชานมเย็น ชาไข่มุกโอเลี้ยง ของเราเป็นแน่แท้!
CREDITS
เรื่อง: เพชรชมพู
ภาพประกอบ: ธนภร (อังสนา) ปิ่นทอง
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์: พีรยุทธ ลิมปนสถิตพร
สามารถอ่านคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่