สัมผัสความหลากหลายอันไร้ขีดจำกัดในนิทรรศการกลุ่มไทย-เกาหลี Makmak Exhibition : มากมาก (막막) นิทรรศการเปิดตัว Placemak bkk
ในภาษาเกาหลีใต้ คำว่า มาก (막) มีความหมายได้หลากหลายตามแต่บริบทของประโยค อาจจะหมายถึงระยะเวลาชั่วขณะหนึ่ง ชั่วครั้งชั่วคราว หรือใช้แทนคำว่า ตอนนี้ ได้ นอกจากนั้น มากมาก (막막) ยังใช้เป็นคำย่อของคำว่า มากุ มากุ (마구 마구) ที่แปลว่า รุนแรง เช่นเดียวกันกับในไทยที่คำว่ามากถูกใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ที่ใช้บอกลักษณะความเข้มข้นและน้ำหนักของถ้อยคำนั้นๆ ยิ่งเมื่อถูกพูดซ้ำเป็นคำว่า มากๆ ความหมายก็จะยิ่งทวีคูณและทะลุขีดจำกัดไปอีกขั้น ความเชื่อมโยงแสนมหัศจรรย์ทางภาษานี้จึงถูกหยิบยกมาใช้เป็นชื่อของ Makmak Exhibition : มากมาก (막막) นิทรรศการกลุ่มไทย-เกาหลีสุดน่าสนใจประจำเดือนพฤศจิกายน
นิทรรศการ มากมาก (막막) ถูกเลือกจากความหมายเชิงนิรุกติศาสตร์ ให้เป็นนิทรรศการแรกของ Placemak bkk (เพลสมาก แบงค็อก) แกลอรี่ศิลปะเปิดใหม่ย่านสุขุมวิท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก Placemak (โซล) คอมมูนิตี้ศิลปะในชื่อเดียวกันซึ่งริเริ่มโดย ยูกีแท (Yoo Kitae) ผู้เป็นเจ้าของ BARDAQ บาร์ย่านฮงแด ใจกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งกลายมาเป็นสถานที่นัดพบของเหล่าศิลปินมากหน้าหลายตา
เครือข่ายศิลปะอันแข็งแกร่งขนาดย่อมๆ เกิดขึ้นจากการจากการพูดคุยและพบปะกับศิลปินที่แวะเวียนมาที่บาร์ ทำให้เขาพบว่าปัญหาอย่างหนึ่งของวงการศิลปะเกาหลี คือพื้นที่จัดแสดงและกระจายผลงานที่ไม่เพียงพอ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดจะเปิดแกลอรี่ใหม่และทำแกลอรี่นอกประเทศ
ในนิทรรศการครั้งแรกของ Placemak ประเทศไทย จึงรวมศิลปินทั้งไทยและเกาหลีที่ต่างก็มีผลงานที่น่าสนใจมาร่วมจัดแสดงในงานครั้งนี้ โดยเน้นการนำเสนอความหลากหลายและแตกต่างของศิลปินแต่ละคน เพื่อสะท้อนความหมายของชื่อนิทรรศการที่สื่อถึงการทะลุขีดจำกัดเดิมไปอีกขั้นนั่นเอง
ชุมพล คำวรรณะ
ผลงานของชุมพลโดดเด่นเรื่องการบันทึกภาพของประวัติศาสตร์ทางสังคมด้วยสีสันที่ฉูดฉาด เต็มไปด้วยความเสียดสี ในนิทรรศการครั้งนี้ชุมพลยังคงใช้ลายเส้นและสีสันที่จัดจ้าน วาดภาพที่ชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำ ศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรม ผลักให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นของผู้คนออกห่าง และชวนผู้ชมตั้งคำถามว่าเราจะจัดการความแตกต่างเหล่านั้นอย่างไร เพื่อใช้ชีวิตในสังคมโดยยอมรับให้ได้ว่าทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
TETAT
หนึ่งในศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่โดดเด่นด้านการใช้สัญลักษณ์ที่หลากหลายผ่านผลงานสไตล์ Neo Surrealism ที่มีรากฐานมาจากงาน Impressionism ที่เขาประทับใจ โดยได้แรงบันดาลใจจากอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดจากสภาพสังคม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ที่เผชิญในชีวิตจริง ถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์ที่ถูกเลือกจากความรู้สึกภายใน
ประสาท นิรันดรประเสริฐ
ประสาทเป็นที่รู้จักและจดจำในฐานะศิลปินสายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานเพื่อตั้งคำถามถึงประเด็นทางสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสมอ และในงานนิทรรศการครั้งนี้ เขาถ่ายทอดผลงานในหลากหลายเทคนิค ทั้งการวาดและแกะสลัก เช่นเดียวกับผลงานนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มที่ผ่านมาของเขาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เพื่อชวนให้ผู้ชมขบคิดถึงประเด็นใหม่ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ชิ้นงานอย่างถี่ถ้วน
ปาร์ค ชุลโฮ
ปาร์ค ชุลโฮ (Park Chulho) เล่าถึงเรื่องราวและความสัมพันธ์ของพ่อลูกโดยถ่ายทอดจินตนาการและบาดแผลที่มีเกี่ยวกับพ่อของตนเอง จนวันที่เขาเติบโตและได้มีโอกาสเป็นพ่อคนเสียเอง โดยชุลโฮหยิบเรื่องราวในความทรงจำของพ่อและการมีอยู่ของลูกชายมาผสมผสานกันราวกับเป็นภาพซ้อนทับของความทรงจำเพื่อสร้างผลงานในซีรีส์ Growing Pain
ซอน มีจอง
ซอนมีจอง (Son Mijung) ถ่ายทอดจินตนาการและความทรงจำผ่านสีสันและรูปร่างของดอกไม้ เพื่อบรรเทาความเครียดและกังวลจากสิ่งที่เธอเจอ การวาดภาพเหมือนของดอกไม้โดยปล่อยใจไปตามสัญชาตญาณช่วยให้เธอมองเห็นรายละเอียดของเส้นและสีสันมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ โดยเลือกใช้มือแทนพู่กันเพื่อวาดภาพอย่างรวดเร็ว และถ่ายทอดอารมณ์ลงไปบนผืนผ้าใบอย่างอิสระ โดยนิทรรศการกลุ่มครั้งนี้นับเป็นผลงานครั้งแรกในไทยของมีจอง หลังจากเธอเคยจัดนิทรรศการเดี่ยวมาแล้วที่ Placemak (โซล) ในปีค.ศ. 2020 และ Gallery Inn (โซล) ในปีค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์
เธอคือศิลปินที่เป็นที่รู้จักจากการนำเส้นผมมนุษย์มาใช้เป็นวัสดุในการถ่ายทอดและสรรค์สร้างผลงาน อิ่มหทัยหยิบเอาเรื่องราวและประสบการณ์ของมนุษย์มาถ่ายทอดผ่านเส้นผม โดยถักทอด้วยเทคนิคโครเชต์และเชื่อมโยงกับแนวคิดต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งเพศ ความตายและการมีชีวิต ความรุนแรง ศีลธรรม ความเชื่อ รวมทั้งพิธีกรรมที่หล่อหลอมตัวตนและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทย ก่อนจะใช้ชิ้นงานเส้นผมนั้นเป็นต้นแบบในการวาดเส้นด้วยดินสอกราไฟต์ นำเสนอบนแคนวาสอย่างน่าสนใจ
วสันต์ สิทธิเขตต์
ปิดท้ายด้วยศิลปินรับเชิญพิเศษของนิทรรศการครั้งนี้อย่างวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินเจ้าของผลงานศิลปะร่วมสมัยที่จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก และอยู่ในคอลเลกชันของสถาบันมากมายทั้งในสิงคโปร์ ควีนสแลนด์ ออสเตรเลีย ฟุกุโอกะ รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (MOMA) นิวยอร์ค
เขาถ่ายทอดผลงานผ่านทั้งศิลปะ ดนตรีและบทกวีเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ ความตึงเครียดในชนบทและสังคมเมือง นิเวศวิทยา ไปจนถึงการเมืองและประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย ผ่านผลงานที่ผสมผสานหลากหลายความรู้สึกทั้งการประชดประชัน ล้อเลียนเสียดสีและอุปมาอุปไมยอันละเอียดอ่อน
ชมนิทรรศการกลุ่ม Makmak Exhibition : มากมาก (막막) ได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 (ปิดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ที่ เพลสมาก แบงค็อก (Placemak BKK) ซอยสุขุมวิท 67 โดยสามารถเดินทางด้วย BTS ลงที่สถานีพระโขนง ทางออก1
สอบถามข้อมูลและนัดหมายล่วงหน้าสำหรับการเข้าชม โทร. 09-0403-6671 หรือ [email protected]
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF PLACEMAK BANGKOK
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- I Need a Life Coach : หรือชีวิตจะไม่ต้องการไลฟ์โค้ช ? นิทรรศการศิลปะจาก โน้ต อุดม แต้พานิช ที่ซ่อนแนวคิดดีๆไว้ ภายใต้ผลงานศิลปะสีสันจี๊ดจ๊าดหลากหลายสไตล์ ทั้งภาพวาด หุ่นปั้น และหมายักษ์ดมด็อก ที่จะพาคุณไปรู้จัก โน๊ต ที่มากกว่าการเป็น Stand up Comedian และการเดี่ยวไมโครโฟน
- ทำความรู้จักตนเองผ่านเด็กชายหลายตา พูดคุยกับ KARMS ก้าม ธรรมธัช สายทอง และผลงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา ROOM 063 By KARMS ที่ River City Bangkok
- มองสังคมไทยรอบด้าน ผ่านงานศิลปะหลากรูปแบบ จากศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ทวี รัชนีกร ในจดหมายเหตุประเทศไทย ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ นิทรรศการครั้งใหม่ที่ BACC
- ชนชั้นและศิลปะ การเติบโต และรอยทรงจำในความเคลื่อนไหว นั่งคุยกับพิชัย แก้ววิชิต เกี่ยวกับ The memoir of movement นิทรรศการภาพถ่ายครั้งใหม่ที่ River City Bangkok
- อ่านเรื่องราวเบื้องหลังสองภาพวาดชนะการประกวด RCB Portrait Prize และ Packing Room Prize จากงาน RCB Portrait Prize 2022 และร่วมเป็นผู้ตัดสินรางวัล People’s Choice Prize ด้วยตัวคุณเอง