จากคอนเซปต์สู่การเสนอชื่อบนเวที ‘ออสการ์’ ของวงการนาฬิกา ก่อนจะมาเป็นนาฬิกาเรือนสมบูรณ์แบบบนข้อมือของ Lederer Central Impulse Chronometer
นับเป็นนาฬิกาอีกรุ่นที่น่าจับตามองจากแบรนด์อิสระของวงการ อย่าง Lederer Watches (เลเดอเรอร์ วอทช์ส) ที่ล่าสุดเพิ่งคลอดผลงานเรือนจริงจากไอเดียและคอนเซปต์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ กระทั่งได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่รอบ Nominated watches ในสาขา Chronometry บนเวทีใหญ่ ที่ได้รับฉายาว่าเป็นดั่ง ‘ออสการ์’ ของวงการนาฬิกาอย่างงาน Grand Prix d’Horlogerie de Genève มาแล้วในปีค.ศ. 2020 และก่อนจะมาเป็นนาฬิกาเรือนสมบูรณ์แบบบนข้อมือของ Lederer Central Impulse Chronometer ในวันนี้
แน่นอนว่า นาฬิกาคอนเซปต์ที่ได้ร่วมโชว์ตัวบนเวทีใหญ่ระดับโลกของวงการนาฬิกาเรือนนี้ย่อมไม่ธรรมดา โดยฝีมือของ Bernhard Lederer ที่ได้ใส่แนวคิดของการสร้างสรรค์นาฬิกาโครโนมิเตอร์สมรรถนะสูงไว้ด้วยการติดตั้งเอสเคปเมนท์นวัตกรรมใหม่ และบรรจุภายในตัวเรือนทรงกลม 44.0 มิลลิเมตร ที่รายล้อมไปด้วยกระจกโดมทรงกลมสองชิ้นสำหรับทั้งบนหน้าปัดและฝาหลัง เช่นกันกับขอบตัวเรือนที่บางลง เพื่อเสริมมุมมองแห่งความเพรียวบางให้กับนาฬิกาได้ดียิ่งขึ้น ส่วนภายในนั้นติดตั้งไว้ด้วยกลไกคาลิเบอร์ใหม่ทั้งชุดที่เป็นผลิตผลมาจากการวิจัยตลอดระยะเวลาหลายปี โดยได้ผลลัพธ์เป็นเอสเคปเมนท์ชนิดใหม่ รวมถึงคอนสแตนท์ฟอร์ซและชุดของเกียร์เทรนคู่
ส่วนหน้าตานั้นก็ดึงดูดสายตาไม่แพ้กัน ซึ่งออกแบบหน้าปัดที่ได้มาจากการนึกภาพจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไร หากเข็มวินาทีคู่ที่แม้จะทำงานประสานกัน แต่กลับเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน ซึ่งนั่นได้กลายมาเป็นแนวคิดต้นแบบให้กับการออกแบบหน้าปัดนาฬิกาที่บรรจุไว้ด้วยช่องหน้าต่างเปิดสองช่อง และล้อมกรอบด้วยวงกลมวางซ้อนกันซึ่งสร้างรูปเป็นเลขแปด โดยวัตถุประสงค์สำคัญก็คือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ชมโครงสร้างสถาปัตยกรรมกลไกแบบโอเพนเวิร์ค (openworked) ที่แบรนด์ตั้งใจวิจัยและพัฒนาขึ้น เช่นกันกับได้เห็นถึงสมรรถนะการทำงานของจักรกลอันซับซ้อนซึ่งผ่านการตกแต่งอย่างประณีตละเอียดอ่อนและพิถีพิถันแม้ในรายละเอียดที่เล็กที่สุด
สำหรับการพัฒนาด้านกลไกครั้งนี้ Lederer ได้เปิดตัวแนะนำ Calibre 9012 ด้วยจุดเด่นของโครงสร้างกลไกแบบสามมิติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บวกกับการประกอบด้วยเอสเคปเมนท์สมรรถนะสูงชนิดใหม่ที่กลายมาเป็นชื่อรุ่นของผลงาน Central Impulse Chronometer โดยการริเริ่มและสร้างสรรค์ของ Bernhard Lederer ช่างนาฬิกาชาวเยอรมันที่ได้ทดลองติดตั้งเอสเคปเมนท์วีลสองตัวไว้ ณ ปลายแต่ละด้านของเกียร์เทรนสองชุดแยกจากกัน และแต่ละตัวยังมีกระปุกลานสีทองขนาดใหญ่ของตนเอง รวมถึงอุปกรณ์ 10-second constant force remontoire เพื่อรีชาร์จพลังงานในช่วง 10 วินาที ซึ่งนั่นช่วยให้สามารถยกระดับความราบลื่นในการขับส่งพลังงานได้อย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งปรับปรุงรูปทรงของชิ้นส่วนประกอบเอสเคปเมนท์ ลดน้ำหนักของชิ้นส่วนที่มีผลต่อพลังงานต่างๆ ลง เช่นกันกับลดแรงเสียดสีภายในเอสเคปเมนท์ให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้นาฬิกาสามารถบรรลุได้ถึงระดับแห่งสมรรถนะและความเที่ยงตรงอันสมบูรณ์แบบ รวมถึงผ่านการทดสอบและรับรองโดยประกาศนียบัตรโครโนมิเตอร์
โดยเฉพาะการคิดค้นและวิจัยเพื่อสร้างสรรค์เอสเคปเมนท์ชนิดใหม่ขึ้น ที่ได้แนวคิดมาจากผลงาน Independent Double Wheel Escapement ของ George Daniels ช่างนาฬิกาชาวอังกฤษที่คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า George Daniels นั้นถือเป็นช่างนาฬิกาผู้เชี่ยวชาญและชำนาญพิเศษในการพัฒนาด้านกลไกจักรกลอันเที่ยงตรงแม่นยำ โดยเฉพาะการพัฒนาจากคอนเซปต์การทำงานอันเป็นธรรมชาติของเอสเคปเมนท์ ซึ่งจากแนวคิดของเขา Bernhard Lederer ได้นำมาประยุกต์และแก้ปัญหาบางอย่างที่ยังคงเป็นจุดอ่อนของเอสเคปเมนท์สำหรับนาฬิกาข้อมือ จึงได้มาเป็นงานออกแบบที่แตกต่างของเอสเคปเมนท์ภายในนาฬิการุ่นใหม่นี้ กับการประกอบด้วยเอสเคปเมนท์วีลอิสระสองตัวทำงานสลับกันและเชื่อมต่อเข้ากับ anchor ที่สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในแง่ของการทำงาน Calibre 9012 เป็นกลไกจักรกลไขลานด้วยมือที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนถึง 210 ชิ้น และทับทิม 45 เม็ด โดยทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 3 เฮิรตซ์ กับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกลไกที่ 39.3 มิลลิเมตร และหนาเพียง 5.98 มิลลิเมตร แม้จะประกอบด้วยชุดคู่ต่างๆ ของทั้งกระปุกลานสองตัว เกียร์เทรนอิสระสองตัว constant force remontoire สองตัว รวมไปถึงเอสเคปเมนท์วีลสองตัวก็ตาม โดยคาลิเบอร์นี้ยังสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง และผ่านการตกแต่งชิ้นส่วนประกอบกลไกอย่างประณีตสวยงาม ที่สามารถชื่นชมความสวยงามและความซับซ้อนของโครงสร้างกลไกชุดนี้ได้ผ่านฝาหลังนาฬิกาติดตั้งด้วยกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ใส
ส่วนรูปลักษณ์หน้าตาของนาฬิกาเรือนสมบูรณ์แบบนี้มาพร้อมหน้าปัดที่มีให้เลือกในสองเวอร์ชั่น คือหน้าปัดชุบโรเดียม ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 25 เรือน และหน้าปัดสีน้ำเงินเข้ม ผลิตจำนวนจำกัด 25 เรือนเช่นกัน โดยบนหน้าปัดแกะลายกิโยเช่ที่เป็นลวดลายเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะของแบรนด์ รวมถึงช่องหน้าต่างวงกลมสองช่องล้อมกรอบและวางซ้อนเป็นรูปเลขแปดซึ่งทำหน้าที่สำหรับแสดงวินาทีทั้งคู่ ผลงานโครโนมิเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดนี้กันน้ำได้ระดับ 30 เมตร
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF LEDERER
STOCK FOOTAGE: Drops of rain on glass with defocused lights background. Stock Videos by Vecteezy
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่