เพราะสุขภาพผมที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องความสะอาดขั้นพื้นฐาน แต่การเลือกหวีและแปรงที่มีคุณภาพให้เหมาะกับเส้นผม ก็สำคัญไม่แพ้กัน Padthai.co ชวนมาทำความรู้จักหวีและแปรงแต่ละประเภทกันให้มากขึ้น
ประเภทของแปรง
แปรงสี่เหลียมผืนผ้าครึ่งวงขนาดเล็ก (Vent Hair Brush)
แปรงประเภทนี้มักมีขนแปรงห่างกัน และเป็นขนแปรงแบบยืดหยุ่น โอนอ่อนไปตามแรงหวี ถือเป็นแปรงที่นิยมใช้กันสูงสุดในการไดร์ผมในปัจจุบัน เพราะมีช่องหรือรูอยู่ที่ฐานขอบแปรง ซึ่งออกแบบมาให้ลมผ่านได้ดี จึงช่วยให้ผมแห้งเร็วขึ้น
แปรงประเภทนี้ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เส้นผมแลดูหนาขึ้น และยังช่วยให้ผมไม่พันกันด้วย นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับผมเส้นเล็กและเส้นผมที่เปราะบางอีกด้วย
T3 Dry Vent Brush
แปรงไม้พาย หรือ แปรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าครึ่งวงขนาดใหญ่ (Paddle Hair Brush)
แปรงครึ่งวงสี่เหลี่ยมผืนผ้าครึ่งวงขนาดใหญ่ ที่มีความกว้างอย่างน้อย 3 นิ้ว เหมาะสำหรับผมยาวปานกลางถึงยาวมาก ผมหนา และผมยาวเท่ากันมากกว่าผมที่ซอยไล่เป็นชั้นๆ ส่วนฐานแปรงจะแบนเป็นแนวราบและมักจะมีแผ่นรองเป็นยางกับหัวขนแปรงเป็นปุ่ม ที่จะช่วยดึงผมยาวและหนาให้ตรงสวย
แปรงประเภทนี้ถือเป็นแปรงที่ใช้ดีกับผมที่ตรงโดยธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถช่วยดึงผมหยิกหรือหยักศกให้ตรงขึ้นอีกหลังจากไดร์ด้วยแปรงม้วนผม นอกจากนี้ยังช่วยนวดกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตบริเวณหนังศีรษะในเวลาเดียวกัน
GHD Paddle Brush
แปรงวงรีครึ่งวง (Cushion Hair Brush)
แปรงชนิดนี้เหมาะกับผมยาวปานกลางถึงยาวมาก ควรใช้สำหรับแปรงผมประจำวัน อีกทั้งยังมีแผ่นรองที่เป็นยางนุ่มๆ และขนแปรงไนลอนหัวปุ่ม จึงช่วยนวดหนังศีรษะไปในตัวได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทออกเป็น 2 อย่างตามชนิดของขนแปรง ได้แก่
Pin Brush: แปรงครึ่งวงกลมที่ขนแปรงทำด้วยเหล็ก เหมาะสำหรับสางผมหนาถึงหนามากและผมหยิก
Quill Brush: แปรงวงรีครึ่งวงที่ขนแปรงเป็นยางไนลอน หรือขนหมูป่า (Boar bristle) ซึ่งช่วยนวดและกระจายน้ำมันได้ทั่วศีรษะ
CHRISTOPHE ROBIN Boar Bristle Hairbrush
แปรงกลมแกนเซรามิค (Ceramic Round Brush)
เพราะแกนที่ทำจากเซรามิค จึงทำให้มีการกักเก็บความร้อนเวลาโดนความร้อนจากการใช้ไดร์เป่าผมซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับแกนม้วนผมไฟฟ้า ดังนั้นแปรงชนิดนี้ ไม่เพียงจะช่วยทำให้ผมแห้งได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังจัดแต่ง เป่ายกโคน และม้วนปลายผมได้อีกด้วย
และเพราะความสะดวกรวดเร็วในการจัดแต่งทรงผมนี่เอง เส้นผมจึงมีโอกาสโดนความร้อนได้น้อยกว่า ทำให้เส้นผมมีโอกาสแห้งเสียได้น้อยกว่า
MOROCCANOIL 45 mm Ceramic Round Brush
แปรงไม้แบบกลม (Wooden Round Brush)
เป็นแปรงที่เหมาะสำหรับจัดแต่งทรงผมและสร้างวอลลุ่มให้กับเส้นผม เหมาะกับทุกสภาพเส้นผมในทุกระดับความยาว แปรงไม้แบบกลมนี้ เหมาะกับการนวดหนังศีรษะเพื่อช่วยกระจายน้ำมันตามธรรมชาติให้กับเส้นผมและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในชั้นของรูขุมขน
ในขณะแปรงที่ทำจากพลาสติกจะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตขณะใช้งาน ปัญหานี้จะไม่เกิดกับแปรงที่ทำจากไม้ จึงช่วยลดการชี้ฟูของเส้นผมและปัญหาผมพันกันได้ ผิวสัมผัสที่อ่อนโยนกับเส้นผม ช่วยทำให้ผมเรียบลื่น ไม่ขาดง่าย
PHILIP KINGSLEY Vented Radial Brush
แปรงยีผม (Teasing Brush)
แปรงสำหรับยีผมและเพิ่มวอลลุ่มให้เส้นผมทุกประเภท ใช้สำหรับตีโป่งให้ผมดูพองใหญ่ แปรงแบบนี้ยิ่งมีขนถี่ก็ยิ่งช่วยทำให้ผมฟูมากขึ้น ด้ามจับของแปรงจะมีลักษณะยาวเรียว สะดวกในการแบ่งผมและจัดแต่งทรงผมให้เป็นทรงง่ายขึ้น แปรงยีมีทั้งแบบขนสัตว์และขนสังเคราะห์ เหมาะสำหรับช่างทำผมโดยเฉพาะ
การใช้แปรงยีในการเพิ่มวอลลุ่มของผม ไม่เพียงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้หวีทั่วไป แต่ยังช่วยลดการดึงของเส้นผม ไม่ให้ผมหักเสียได้ง่ายและยังทำให้ไม่เจ็บหนังศีรษะอีกด้วย
DRYBAR Texas Tease Teasing Brush
แปรงแก้ผมพันกัน (Detangling Brush)
ช่วยแก้ปัญหาผมพันกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแปรงหรือหวีทั่วไป ที่ไม่เพียงจะคลายผมที่พันกันได้ยากแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้ผมขาด และเจ็บหนังศีรษะโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
แปรงแก้ผมพันกัน อ่อนโยนกับเส้นผมมากกว่าและยังเหมาะกับเส้นผมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นผมตรง ผมหยิก หรือผมที่หนามากน้อยแตกต่างกันไป อีกทั้งยังใช้หวีขณะที่ผมเปียกหลังการสระผมได้ดีเช่นกัน
TANGLE TEEZER Detangling Hairbrush
แปรงสระผม (Shampoo Brush)
เป็นแปรงแบบไม่มีด้ามที่ใช้ระหว่างการสระผม แปรงชนิดนี้นอกจากจะช่วยขจัดสารเคมีจากผลิตภัณฑ์แต่งผมที่ตกค้างบนเส้นผมได้แล้ว ยังช่วยลดน้ำมันบนหนังศีรษะตามธรรมชาติที่ผลิตออกมามากเกินไป ขจัดเซลล์หนังศีรษะที่ตายแล้วอันเป็นสาเหตุของรังแค และช่วยในการนวดและบำรุงหนังศีรษะ จึงส่งผลให้เส้นผมแข็งแรงและสุขภาพดีมากขึ้นด้วย
CHAMPO Shampoo Brush
ประเภทของหวี
หวีซี่ห่าง (Wide-Tooth Comb)
เหมาะสำหรับสางผมที่พันกัน เพราะจะไม่ทำให้เส้นผมขาดง่าย อย่างไรก็ดีก็จำเป็นต้องสางด้วยความนุ่มนวล เพื่อป้องกันผมขาดหลุดร่วงให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับหวีผมในขณะสระผม เพื่อช่วยจ่ายแชมพูและครีมนวดผมให้ทั่วทั้งศีรษะ
PATTERN by Tracee Ellis Ross Wide Tooth Comb
หวีไม้ (Wooden Hair Comb)
หวีชนิดนี้มักทำจากไม้เนื้อแข็ง ประเภทไม้สนหรือไม้เชอรี่ และหวีไม้ที่มีคุณภาพสูงส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นงานแฮนด์เมดและขัดมัน ในปัจจุบันหวีไม้ซี่ห่างได้รับความนิยมสูงขึ้น และนำมาใช้แทนที่หวีพลาสติกซี่ถี่กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากหวีไม้ ไม่ก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตเหมือนหวีพลาสติก
AUGUSTINUS BADER The Neem Comb with Handle
หวีปลายแหลมหรือหวีหาง (Tail Comb)
หวีปลายแหลม หรือหวีหาง จะเรียกว่าเป็นหวีอเนกประสงค์ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะประโยชน์อันหลากหลายของหวีชนิดนี้ จึงเหมาะทั้งการใช้แบ่งผมให้เรียบสลวย จัดแต่งทรงผมให้เนี้ยบ ใช้ปาดเก็บลูกผม รวมไปถึงการยีผมเพื่อเพิ่มวอลลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการแบ่งผมระหว่างการบำรุงผมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่าเหมาะกับผมทุกประเภทในแทบจะทุกการใช้งานเลยทีเดียว
TONI & GUY Carbon Antistatic Comb
การใช้หวีและแปรงที่ถูกต้อง
การใช้แปรงและหวีที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่การใช้แปรงใดแปรงหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการใช้แปรงและหวีหลากหลายประเภทควบคู่กันไปในแต่ละวัน เช่น ใช้แปรงขนเหล็ก หรือ หวีซี่ห่าง สางผมที่พันกันเป็นอย่างแรก ต่อด้วยแปรงวงรีครึ่งวงสำหรับนวดหนังศีรษะ เพื่อความผ่อนคลาย และจ่ายน้ำมันธรรมชาติให้ทั่วถึง แล้วจึงใช้แปรงไม้พายแปรงซ้ำ เพื่อความนุ่มสลวย
การแปรงผม ถือเป็นสิ่งพื้นฐานในการดูแลเส้นผม เพราะการแปรงผมอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผมของเราทั้งสวยและสุขภาพดีตลอดทั้งเส้น Padthai.co มีเคล็ดลับการแปรงผมที่ถูกต้องมาแนะนำกัน ดังนี้
- เลือกแปรงที่มีคุณภาพ ขนแปรงกลมมน ไม่แหลมคม และจะให้ดีต้องโอนอ่อนตามแรงหวีได้
- เลือกความถี่หรือความห่างของซี่แปรงให้เหมาะกับสภาพเส้นผม
- ก้มศีรษะขณะหวีผม เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของหนังศีรษะ
- เริ่มแปรงผมย้อนจากต้นคอไปทางหน้าผาก จากนั้นแปรงผมจากด้านข้างทั้ง 2 ข้าง และจากด้านหน้าผากไปด้านหลัง
- หากผมพันกัน ให้ค่อยๆ แปรงผมจากปลายผมอย่างทะนุถนอมและเบามือที่สุดเป็นอย่างแรก
- ควรทำความสะอาดแปรงเป็นประจำ (อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) ด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยน เพื่อขจัดคราบและสิ่งสกปรกตกค้าง
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF T3 MICRO, GHD HAIR, CHRISTOPHE ROBIN, MOROCCANOIL, PHILIP KINGSLEY, DRYBAR, TANGLE TEEZER, CHAMPO, PATTERN BEAUTY, AUGUSTINUS BADER, TONI & GUY
STOCK PHOTO:
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่