Everything Everywhere All At Once : เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว


Repeat After Me: Everything Everywhere All At Once ภาพยนตร์ที่พามิเชล โหย่วไปคว้ารางวัลลูกโลกทองคำนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมปีนี้


ถ้าพูดถึงหนังทุนต่ำที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทะลายทั้งด้านความนิยมและการตอบรับจากผู้ชม และการไปคว้ารางวัลบนเวทีภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once ผลงานจากสตูดิโออินดี้ A24 โดยสองผู้กำกับแดเนียล กวาน (Daniel Kwan) และแดเนียล ไชเนิร์ท (Daniel Scheinert) ที่นอกจากจะพาดาราดังมิเชล โหย่ว ไปคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงจากเวทีลูกโลกทองคำมาแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถูกประกาศให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงสาขาใหญ่ที่สุดอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Pictures) ของเวทีออสการ์แบบสดๆ ร้อนๆ

ภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once มีชื่อไทยเก๋ไก๋สะกิดใจผู้ชมว่า ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ซึ่งแน่นอนว่าในตลาดภาพยนตร์ช่วงเวลานั้นที่ผู้ชมกำลังเห่อเต็มที่กับพหุจักรวาลหรือมัลติเวิร์ส (Multiverse) จากภาพยนตร์ฮีโร่บ้าน Marvel อย่างสไปเดอร์แมนและด็อกเตอร์ สเตรนจ์ การตั้งชื่อเช่นนี้ก็พอจะช่วยดึงดูดผู้ชมให้สนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ทำให้ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์สประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมจากการแนะนำแบบปากต่อปาก หาใช่ชื่อเรื่องที่โดดเด่น แต่เป็นเนื้อในที่ครบเครื่องไม่แพ้หนังมัลติเวิร์สเรื่องไหนๆ ต่างหาก

Everything Everywhere All At Once

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส เล่าเรื่องราวของเอเวอลีน หวัง (รับบทโดย มิเชล โหย่ว) หญิงสาวชาวจีนอพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในอเมริกาพร้อมกับสามี เธอคิดว่าชีวิตของตนเองเต็มไปด้วยความล้มเหลว ตั้งแต่เรื่องภาระหนี้สินและภาษีที่ยังไม่สะสาง ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับคนครอบครัวที่กระท่อนกระแท่น ทั้งกับเวย์มอนด์ (รับบทโดย โจนาธาน คี ควาน) สามีที่ทำทุกอย่างวุ่นวายจนเธอต้องจู้จี้ขี้บ่นตลอดเวลาส่วนเขาเองก็อยากจะขอหย่า จอย (รับบทโดย สเตฟานี ซู) ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนที่ดูไม่ค่อยลงรอยกับเธอนักแถมยังเป็น LGBTQ และทำให้เอเวอลีนเกรงว่าพ่อของเธอซึ่งมีศักดิ์เป็นอากงของจอยจะไม่เข้าใจเรื่องนี้

องค์แรกของหนังถูกเล่าอย่างเรียบง่ายให้เราเห็นถึงชีวิตที่ล้มเหลวของเอเวอลีน โดยเริ่มความสับสนอลหม่านทุกอย่างขึ้นในสำนักงานสรรพากร เมื่อจู่ๆ สามีของเธอจากมัลติเวิร์สอื่นก็โผล่มาและบอกกับเธอว่าเธออาจจะเป็นความหวังสุดท้ายในการต่อสู้เพื่อปกป้องจักรวาลนี้จาก โจบู ทูบากิ นักข้ามเวลาผู้ล่วงรู้ทุกสรรพสิ่ง และสร้างเบเกิลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเสมือนหลุมดำที่จะดูดกลืนและทำลายทุกสิ่งอย่างในจักรวาลไป โดยเอเวอลีนสามารถกระโดดข้ามไปยังมิติเวลาอื่นๆ ได้ เพื่อหยิบยืมเอาทักษะต่างๆ จากเอเวอลีนในจักรวาลอื่นมาใช้ในการต่อสู้ แต่ปัญหาก็คือโจบู ทูบากิ ตัวโกงผู้แสนร้ายกาจนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่กลับเป็นจอยลูกสาวของเธอเอง

สองผู้กำกับแดเนียลคู่หู ทั้งแดเนียล กวานและแดเนียล ไชเนิร์ทผู้เนรมิตความอลหม่านในหลากหลายพหุจักรวาลได้อย่างน่าติดตาม

หากเทียบกันในบรรดาผลงานภาพยนตร์จากค่าย A24 ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจะเป็นภาพยนตร์ที่มีความย่อยง่าย และสามารถเข้าใจได้ที่สุด เพราะภาพยนตร์หยิบเอาเรื่องราวที่เรียบง่ายและทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงได้ง่าย ทั้งปัญหาภาษี ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวเอเชียนที่พ่อแม่ไม่เก่งในการแสดงออกถึงความรักต่อลูก กรอบบางอย่างในชีวิตของลูกสาวครอบครัวคนจีน จนถึงความว้าวุ่นสับสนของหญิงสาวที่เข้าสู่วิกฤตวัยทอง นำมาเล่าผ่านเงื่อนไขว่า ‘หากวันนั้นเอเวอลีนตัดสินใจอีกอย่าง ชีวิตเธอก็คงไม่เป็นแบบนี้’ โดยแตกย่อยให้เห็นภาพด้วยตัวละครของเธอในพหุจักรวาลที่หลากหลาย

เช่นในจักรวาลที่เอเวอลีนไม่ได้เลือกแต่งงานกับเวย์มอนด์ผู้เป็นสามี เธอมีโอกาสได้เรียนการต่อสู้กังฟู และกลายเป็นนักแสดงหนังบู๊ชื่อดังระดับโลก ได้รับการนับหน้าถือตาจากผู้คน และยังคงเป็นสาวสวยสะพรั่งใช้ชีวิตที่หรูหรา มัลติเวิร์สจึงไม่ต่างอะไรกับการใคร่ครวญถึงอดีตและนึกเสียใจในสิ่งที่ไม่ได้เลือก จนเกิดเป็นตัวตนของเธอในความคิดอีกหลากหลายจักรวาล

โจบู ทูบากิ ตัวตนของจอยในมัลติเวิร์สอื่นซึ่งถูกเอเวอลีนเคี่ยวเข็ญอย่างหนักจนทนเก็บกดไม่ไหว
และระเบิดออกมาเป็นความชั่วร้าย
Everything Everywhere All At Once
Everything Everywhere All At Once
มัลติเวิร์สช้ำรักของเอเวอลีนและเวย์มอนด์ที่ชวนให้นึกถึงเหลียงเฉาเหว่ยและจางม่านอวี้จาก
In The Mood for Love ภาพยนตร์ระดับตำนานของหว่องกาไว

และด้วยความที่จักรวาลในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแตกแยกย่อยออกไปได้มากมายไม่จำกัดจำนวน มันจึงเต็มไปด้วยรสชาติที่ครบเครื่อง ทั้งบู๊ ดราม่า และฮาจนน้ำตาเล็ด แถมภาพยนตร์ยังยั่วล้อกับเรื่องราวและเทคนิคการถ่ายทำจากภาพยนตร์อื่นแบบยำใหญ่ใส่ Easter Egg หนักๆ ทั้งการโหลดความสามารถจากจักรวาลต่างๆ มาใช้เหมือนใน The Matrix (1999) แรคคูนสอนทำอาหารที่ซ่อนอยู่ในหมวกเชฟร่วมภัตตาคารที่ละม้ายคล้ายคลึงการ์ตูนดังของ Disney Pixar อย่าง Ratatouille (2007) ฉากซึ้งของเอเวอลีนและสามีในจักรวาลช้ำรักที่ใช้เทคนิคการถ่ายทำและแสงสีที่เหมือนเคาะมาจาก In The Mood for Love (2000) ของหว่องกาไวแบบไม่ผิดเพี้ยน รวมทั้งจักรวาลที่คารวะเรื่องราวของมิเชล โหย่ว นักแสดงนำของเรื่องในฐานะปรมาจารกังฟูและนักแสดงสาวระดับโลก

Everything Everywhere All At Once
มัลติเวิร์สนิ้วไส้กรอกของเอเวอลีนเปรียบเสมือนโลกขั้วตรงข้ามกับเวิร์สปกติของเอเวอลีนอย่างสุดขั้ว ในโลกนั้นนิ้วมือของคนเป็นไส้กรอกชีส และเธอกับเดรเดีย พนักงานสรรพากรคู่กัด เป็นคู่รัก LGBTQ

แต่กระนั้นผู้ชมก็สามารถซึมซับเรื่องราว ปรัชญา และข้อคิดต่างๆ มากมายภายใต้ความบ้าคลั่งและสับสนอลหม่านของจักรวาลหลากหลาย เพราะแม้แต่ในโลกอันบ้าบอที่แทนความตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับเวิร์สปกติของเอเวอลีน ผู้คนในโลกนั้นมีนิ้วเป็นไส้กรอกชีสและต้องใช้เท้าทำสิ่งต่างๆ แทน เธอและเดรเดีย (รับบทโดย เจมี ลี เคอร์ติส) พนักงานสรรพากรผู้เป็นเสมือนศัตรูคู่แค้นคือคู่รัก และจักรวาลนั้น ก็ได้สอนให้เอเวอลีนเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อศัตรูคู่แค้นด้วยความเข้าใจ (แถมเวิร์สนิ้วไส้กรอกที่เธอกลายเป็นคู่รัก LGBTQ กับเดรเดีย ยังเป็นเวิร์สที่เธอกระโดดเข้าไปในตอนที่กำลังต่อสู้กับโจบู ทูบากิหรือจอยซึ่งต้องการการยอมรับจากแม่ในเพศวิถีของตนเองแบบพอดิบพอดี!)

เช่นเดียวกันกับครอบครัวและคนรัก ท่ามกลางความสับสนอลหม่านและชีวิตที่ว้าวุ่นจนเราอยากจะโยนความรับผิดชอบทุกอย่างทิ้ง เพราะคิดว่าคงไม่มีอะไรดีขึ้น การที่โจบู ทูบากิ หรือจอยในอัลฟ่าเวิร์ส ต้องรับรู้ถึงความเจ็บปวดและกดดันจากเอเวอลีนผู้เป็นแม่ของเธอในทุกจักรวาล สุดท้ายการสร้างเบเกิ้ลศักดิ์สิทธิ์ที่ทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง ก็ไม่ต่างจากการตัดสินใจทำตัวไม่สนใจโลกและทำอะไรตามใจชอบจนมันทำลายล้างความรู้สึกดีๆ ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้างราวกับหลุมดำ เพียงเพราะเราคิดว่าโลกนี้คงไม่มีอะไรสำคัญอีกต่อไป

แต่เวย์มอนด์ก็ได้เตือนสติให้เอเวอลีนเข้าใจว่าในโลกที่เธอสามารถจะเลือกเป็นใครหรืออะไรก็ได้ (Be Anything) สิ่งที่เธอควรจะเลือกเป็นที่สุด คือเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจ (Be Kind) เพราะยิ่งโลกใบนี้ไม่มีอะไรสำคัญอีกต่อไป เรายิ่งควรปล่อยวางต่อทุกๆ สิ่ง และปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างเข้าใจ ไม่ว่าจะต่อคนรัก ครอบครัว หรือแม้แต่ศัตรูของตนเอง เราจึงเห็นว่าในช่วงองค์ท้ายของเรื่อง เอเวอลีนและเดรเดียก็ยังสามารถผูกมิตรกันได้แม้แต่ในจักรวาลที่พวกเธอเป็นคู่แค้นต่อกัน

ไม่เพียงเท่านั้นภาพยนตร์ยังหยิบเอาประเด็นฮิตอย่าง Generation Gap มาสอดแทรกเอาไว้ ผ่านตัวละครคนสามยุคคืออากงผู้เป็นตัวแทนของผู้ปกครองในยุค Baby Boomer ที่เต็มไปด้วยกฏระเบียบและความคาดหวังมากมายที่ถาโถมมาสู่คนรุ่นลูกอย่างคน Gen X แบบเอเวอลีน ทำให้ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยจักรวาลที่หลากหลายแยกย่อยออกไปมากมาย เพราะเธอเองก็มีทางเลือกในชีวิตไม่มากนัก และบางครั้งก็ต้องเลือกทางที่ไม่ได้ต้องการ

ต่างกันกับจอยผู้เป็นตัวแทนคน Gen Z หรือเด็กยุคใหม่ผู้เต็มไปด้วยความขบถและมีความคิดเป็นของตนเอง เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็นตัวตนอื่นของจอยสักเท่าไหร่ มีเพียงแค่จอยลูกของแม่ และโจบู ทูบากิ ที่แบกรับความกดดันมากเกินไปจนเกินทานทนและเริ่มที่จะ ‘สู้กลับ’ ด้วยเบเกิ้ลศักดิ์สิทธิ์ หรือความ ‘ไม่แคร์อะไรอีกแล้ว’ ของเธอ

Everything Everywhere All At Once

แม้จะไม่ได้มีวิธีการเล่าเรื่องที่อบอุ่นเรียบง่าย (แถมค่อนไปทางบู๊ระห่ำ บ้าดีเดือด) แต่ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์สก็เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์โรแมนติกที่ดีที่สุดอีกเรื่องจากปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา เพียงแต่เป็นความโรแมนติกในลีลาที่ต่างออกไป ไม่มีฉากรักหวานซึ้งเรียกน้ำตา มีเพียงความสับสนอลหม่านและครอบครัวที่อยู่เคียงข้างในวันที่ยุ่งเหยิงเหล่านั้น เพื่อปลอบโยนว่าแม้สิ่งที่กำลังเผชิญจะยากเย็นแค่ไหน แต่สุดท้ายเราสามารถจะผ่านมันไปได้ด้วยกัน

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยทื่บทบาท เอเวอลีน (ที่ออกเสียงคล้ายคำว่า Every และยังเป็นแทบทุกอย่างในเรื่องให้ผู้ชมแล้ว) จะพาให้มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงบนเวทีลูกโลกทองคำมาครอบครอง และได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ รวมทั้งรางวัลใหญ่ที่สุดของงานอย่าง Best Picture หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีแบบไร้ข้อกังขา

ชมภาพยนตร์ ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ได้แล้ววันนี้บน HBO GO


CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF A24 STUDIO


อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 13 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Your Tarot Weekly

Post Views: 48 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Holiday Season – Sunny Fredland

Post Views: 12 ฉลองช่วงเวลาแห่งความสุขสุดพิเศษไปกับ Sunny Fredland Fred (เฟร็ด) เชิญสัมผัสประสบการณ์ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่เปล่งประกายด้วยความสดใสจากกา…