นโยบายของการบริหารเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่คนกรุงเทพต้องคำนึงถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 11

(ตอนที่ 5)


มารู้จักผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ท่านแรก ได้แก่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รสนา โตสิตระกูล สกลธี ภัททิยกุล กับความคิดเห็น และแนวทางในการบริหารเมืองของแต่ละบุคคล


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพหมานครคนล่าสุด ลาออกเมื่อทำงานครบ 5 ปี 5 เดือน 5 วัน มาลงสมัครผู้ว่าฯ ในนามอิสระ เพราะคิดว่า กทม. ยังมีานต้องกลับมาสานต่อ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ผู้สมัครอิสระ


  • กทม.ทำงานด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่นๆ
  • กทม.จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนทั่วกรุงเทพฯ และให้เงินอุดหนุนการทำงาน
  • กทม.สร้างคนสร้างงานด้วยการให้ฝึกอาชีพที่โรงเรียนกทม. โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับเอกชน
  • เรื่องสิทธิความเท่าเทียมหญิงชาย ยึดหลัก “ยิ้มแย้ม ยกย่อง ยืดหยุ่น ยินยอม”
  • เรื่องผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยประชุมประธานชุมชนและเลขาฯ ชุมชน จาก 400 บาท เป็น 1,000 บาท มีการจัดทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่คลองสามวา ทำ Telemedicine และทำ fast Len สำหรับผู้สูงอายุ
  • ทำรถเพื่อผู้พิการไปแล้ว และเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามาร่วมงานกับกทม. มา 3 ปีแล้ว
  • จัดให้เด็กในโรงเรียน กทม. เรียนเพิ่มอีก 2 ภาษา คือ อังกฤษและจีน และ ให้ค่าอาหารเพิ่ม จากเดิม 20 บาท/คน เป็น 40 บาท/คน
  • เรื่องความรุนแรงทางเพศ ต้องเริ่มที่โรงเรียน

กทม. อยากจะทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมดที่เสนอมาให้ แต่เราต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ เพราะ กทม. ไม่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองคนเดียว นอกจากเป็นนักปฏิบัติแล้ว ยังต้องเป็นนักประสานด้วย แล้วเปิดกว้างให้เขามาแสดงความคิดเห็น

เราตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมา สิ่งที่เราห่วงที่สุดคือ ชุมชนต่างๆ จะรู้รายละเอียดว่าควรจะได้อะไร เราก็ให้เงินช่วยเหลือกองทุนแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ชุมชนขนาดเล็ก 5,000 บาท ชุมชนขนาดกลาง 7,500 บาท ชุมชนขนาดใหญ่ 10,000 บาท ถามว่าพอมั้ย…ไม่พอ แต่ก็มีสวัสดิการอื่นๆ ให้เขา

การสร้างคนสร้างงาน ที่ผ่านมาของ กทม. เรามีโรงเรียนฝึกอาชีพของกทม. มีหลายหลักสูตรแต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเอกชน เช่น โรงงานทำขนมอยากได้คนไปทำงาน เราก็ขอให้เขามาช่วยคิดหลักสูตรให้กับเรา พอเรียนจบจะได้จ้างไปทำงานให้ตรงความต้องการของนายจ้าง

เรื่องสิทธิเท่าเทียมความเป็นผู้หญิงผู้ชายในความเป็นมนุษย์ ผมเข้าใจ แต่บางทีผมก็ได้รับความไม่เท่าเทียมเหมือนกัน ผมทำงานอยู่นอกบ้านอาจจะมีตำแหน่งใหญ่เป็นหัวหน้าคน แต่พอกลับมาบ้านเหลือตัวนิดเดียวแค่นี้ ก็ยึดหลัก “ยิ้มแย้ม ยกย่อง ยืดหยุ่น ยินยอม” อันนี้คือความเท่าเทียมกันที่ผมคิดไว้

เรื่องผู้สูงอายุ ผมทำสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน แต่เดิมได้ค่าเบี้ยประชุมแค่ประธานชุมชนและเลขาฯ ชุมชน คนละ 400 บาท ผมจัดการเพิ่มให้เป็นคนละ 1,000 บาท

ผมไปทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่คลองสามวา เพราะมีผู้สูงอายุคนหนึ่งบริจาคที่ให้เมื่อต้นปีพ.ศ. 2564 เนื่องจากตั้งงบไม่ทัน จึงใข้เงินบริจาคมาสร้างอาคาร ขณะนี้ได้ 2 หลังแล้ว และกำลังขยายเป็น 164 เตียง ตอนนี้ก็กำลังตั้งงบประมาณเข้าไปใหม่ ผมทำ Telemedicine มีการส่งยาถึงบ้าน มีระบบพบแพทย์ภายใน 60 นาที และทำ fast Len สำหรับผู้สูงอายุ

เรื่องผู้พิการ ผมก็ทำให้ ผมทำรถเพื่อผู้พิการไปแล้ว เราเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามาร่วมงานกับเรา เราเชิญคุณสว่างจากมูลนิธิผู้พิการเข้ามาร่วมงาน ทำงานด้วยกันมา 3 ปีแล้ว คนรุ่นใหม่ก็มาช่วยกัน

เรื่องเด็ก ผมเข้าใจเด็กถ้าไม่อิ่ม ก็ลำบาก ผมเคยเรียนโรงเรียนวัดมาก่อน ‘วัดนางบวช’ อยู่ที่บ้านนอก พอจบป.7 ถึงมาเรียนต่อกรุงเทพฯ เพื่อหาความหวังและโอกาส ผมจึงอยากสร้างแรงบันดาลใจให้เขา ผมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมเข้าใจ แม่ผมเป็นแม่ค้าก้วยเตี๋ยว ผมเป็นคนยากจนมาก่อน

เรื่องการศึกษาของเด็ก โรงเรียนในเครือ กทม. มี 437 แห่ง จำนวนเด็กราว 3 แสนคน ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางถึงล่างทั้งนั้น ผมผลักดันเพิ่มเรียนเป็น 2 ภาษา คือ อังกฤษ และจีน โดยได้ทำโรงเรียนร่วมไปแล้ว 155 แห่ง

ด้านสวัสดิการเด็ก กทม. ได้รับเงินค่าอาหารจากรัฐบาลวันละ 20 บาท/หัว สำหรับเด็กอนุบาล-ชั้นประถมปีที่ 6 แบ่งเป็น เช้า 5 บาท กลางวัน 15 บาท ผมก็ไปขอสภา กทม. ขอเพิ่มอีก 20 บาท เป็น เช้า 15 บาท กลางวัน 25 บาท

เรื่องความรุนแรงทางเพศ ต้องเริ่มที่โรงเรียน ให้ความรู้กับเด็ก และต้องดูที่พื้นฐานในครอบครัวด้วย มันหลากหลายประเด็นต้องค่อยๆ ช่วยกันแก้ไข


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เป็นผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ คนแรก ที่กล้าประกาศว่า “จะปราบโกง” เพราะเชื่อว่าหยุดการคอรัปชั่นเมื่อไร จะมีงบประมาณเหลือเพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวกทม.

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้สมัครอิสระ


  • ทำเรื่องคุณภาพชีวิต “ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ด้วยการหยุดโกง จากการบริหารจัดการงบประมาณกระจายสู่ท้องถิ่นอีก 50 ล้านบาท/50 เขต และจัดสวัสดิการให้แบบถ้วนหน้า
  • เปิดพื้นที่ให้หาบเร่แผงลอยมาขายได้ โดยประชาชนบริหารจัดการกันเอง
  • ให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นคนที่เริ่มต้นหยุดโกง เพราะผู้หญิงมีบทบาททั้งเรื่องการดูแลลูกและจัดสรรเศรษฐกิจในครัวเรือน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว
  • จะทำเรื่อง ‘บำนาญ 3,000 บาท’ สำหรับผู้สูงอายุใน กทม.
  • ประเด็นเด็กเล็กแก้ปัญหาได้ด้วยการใส่ใจ

เราตั้งใจทำเรื่องคุณภาพชีวิต อย่างที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยประกาศว่า “ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

จะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ต้องหยุดโกง” หยุดโกงได้เมื่อไร คุณจะมีทรัพยากรเงินมากพอที่จะกระจายสวัสดิการไปให้กับทุกคน ดิฉันอยากจะพิสูจน์เรื่องนี้ว่า “ดิฉันทำได้” ที่ผ่านมาเรารวยกระจุกจนกระจาย เราควรจะทำให้รวยกระจาย แล้วความจนหายไป ความจนจะหายไปได้ก็ต่อเมื่อคุณเลิกโกง การโกงไม่ใช่แค่การตรวจสอบ เราจะแก้ปัญหาด้วยการบริหารที่จะทำให้เราสามารถกระจายรายได้ไปสู่คนที่จำเป็น

เหตุใดเรามีคนเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำมาหากิน แต่ไม่ได้รับความสนใจเลย กทม. มีวิสาหกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพธนาคม สถานธนานุบาล ตลาด เราสามารถสร้างรายได้ และสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนจากรายได้ ไม่ใช่จากภาษีอย่างเดียวที่รีดมาจากประชาชน

เราสามารถทำให้งบประมาณใช้เต็มประสิทธิภาพเมื่อไม่มีการโกง เหมือนคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าหยุดโกงเมื่อไร ถนนเมืองไทยจะปูด้วยทองคำ”

เรามีทรัพยากรมากพอที่จะแบ่งปันกัน แต่ทรัพยากรทั้งหลายจะมีไม่เพียงพอสำหรับคนโลภและคนที่ต้องการรวยมากกว่าคนอื่น เราจะแสดงให้ดูว่า ถ้าผู้หญิงเป็นคนที่เริ่มต้นหยุดโกง เพื่อที่จะทำให้มีทรัพยากรที่มากพอจะกระจายสวัสดิการสังคม สามารถเริ่มต้นได้ที่ กทม.

ดิฉันมีนโยบายเกี่ยวกับการกระจายงบ การบริหารงานท้องถิ่นเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แค่กระจายภารกิจ ต้องกระจายงบประมาณ แบ่งเป็น 50 ล้านบาท/50 เขต เพื่อให้ประชาชนมาบอกกล่าวว่า “ต้องการแก้ปัญหาอะไร” ทุกอย่างเพื่อกระจายอำนาจลงท้องถิ่นระดับเขต

สิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญที่สุดคือผู้หญิง นอกจากจะแบกโลกไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว ยังหล่อเลี้ยงลูกๆ ซึ่งอาจารย์ป๋วยกล่าวว่า “ลูกคือโลก” เพราะฉะนั้นการมีแม่และลูกที่พัฒนามาอย่างดี ต้องไปด้วยกัน

ผู้หญิงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของครอบครัว เป็นผู้ที่จัดสรรทรัพยากรสิ่งที่มีคุณค่าทั้งหลายให้กับครอบครัว ดังนั้นนักการเมือง ผู้บริหาร จำเป็นจะต้องจัดสรรทรัพยากรที่เท่าเทียมที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

เรื่องหาบเร่แผงลอย เป็นผู้มีส่วนสร้างเศรษฐกิจอย่างสำคัญ รัฐอาจจะให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดใหญ่ รัฐให้ BOI กับบริษัทใหญ่ๆ แต่เราไม่เคยสนใจ ผู้ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ดิฉันจะเปิดโอกาสให้ จะไม่มีการจับ ในพื้นที่นั้นให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยช่วยกันดูแลความสะอาดและจัดระเบียบได้ ตรงไหนไม่มีพื้นที่ทำมาหากินที่ไม่รบกวนคนอื่น ก็จะจัดตั้งศูนย์ที่ดี ไม่คิดค่าใข้จ่ายมาก ให้มาขายของได้ มีอาหารที่ถูกขาย คนจนเมืองจะได้รับประโยชน์

เรื่องเด็กเล็ก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เด็กอายุ 0-6 ปี เป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโต ดิฉันเคยได้รับข้อมูลว่าย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นย่านคนรวย แต่ก็มีชุมชนแออัด อาสาสมัครชุมชนของมูลนิธิกระจกเงาที่ประสานงานร่วมกัน ดิฉันกระจายยาฟ้าทะลายโจรช่วงนั้น จำนวน 3 ล้านแคปซูล ช่วงปีพ.ศ. 2564 อาสาสมัครรายงานมาว่าต้องการนมสำหรับเด็ก เพราะเนื่องจากโควิดมีคนตกงาน คนยากจน ไม่สามารถมีนมให้กับลูก ต้องใข้นมข้นหวานให้เด็กกินแทน

ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะไม่มีทางเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้เลย เพราะเรามีภารกิจที่จะทำให้นมและอาหารไปถึงเด็กและนักเรียนที่หยุดเรียน มีระบบจัดส่งอาหารไปถึงบ้านได้ ดิฉันได้ประสานไป ที่ สปสช. ว่าเอางบ 1,500 ล้านบาท ที่ใช้ส่งเสริมสุขภาพ มาซื้อนมให้กับเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้แต่ไม่เคยมีใครขอมา

ดิฉันมีโอกาสได้พบกับกลุ่มเปราะบางที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีโอกาสได้เจอ ‘ย่าเลี้ยงเดี่ยว’ ซึ่งมีแค่เงินจากเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท มาเลี้ยงดูหลาน 3 คน และสามีที่ป่วยเป็นมะเร็ง สภาพแบบนี้อยู่กันได้อย่างไร ดิฉันจึงตั้งใจว่าจะทำเรื่อง ‘บำนาญ 3,000 บาท’ สำหรับผู้สูงอายุใน กทม.

ภารกิจพวกนี้ เพียงแต่มีความใส่ใจ จะช่วยแก้ปัญหาได้ เงินให้เด็กถ้วนหน้าก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเข้ามาแก้กฎหมายจัดสรรงบใหม่ ให้มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะที่ผ่านมามีงบที่ใช้ด้านสังคมไม่ถึงครึ่งเปอเซนต์ของงบั้งหมด 8 หมื่นล้าน

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ผู้สมัครอิสระ


  • ปัญหาสำคัญด้านสังคมของ กทม. คือ การจัดสรรงบประมาณด้านสังคมมีไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของงบทั้งหมด เพราะมองแล้วจับต้องไม่ได้เหมือนการพัฒนาด้านสิ่งปลูกสร้าง
  • การพัฒนาด้านสังคมของกทม. ต้องไปแก้ข้อบัญญัติของกทม.ที่เป็นอุปสรรคให้เอื้อประโยชน์ได้
  • จะส่งเสริมการฝึกอาชีพที่นำไปใช้ได้จริง ผ่านโรงเรียนฝึกอาชีพของกทม. ประสานขอเงินกู้จากธนาคารออมสิน มาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เปิดให้มีหาบเร่แผงลอยได้มากขึ้น
  • เพิ่มจำนวนผู้หญิงเข้ามาบริหารงานกทม. และพัฒนากายภาพเมืองให้ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง
  • เรื่องผู้สูงอายุ จัดสรรบ้านพักคนสูงวัยเพิ่มขึ้นและปรับศูนย์สาธารณสุข กทม. ทั้งหมด 69 แห่ง ให้เป็น smart clinic และ telemedicine ใช้อุปกรณ์/นาฬิกาติดตามตัวผู้ป่วยติดเตียงเพื่อกรณีตามฉุกเฉิน และเพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุมาทำงานให้ชุมชนมากขึ้น
  • ผลักดันให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชน จ้างงานผู้พิการ 1 % จึงได้ของบมาจ้างงาน 300 กว่าตำแหน่ง ตามเขตต่างๆ มากขึ้น และทำเวบไซต์หางานให้คนพิการ
  • แก้ข้อบัญญัติ กทม. ให้จัดสรรงบสำหรับเด็กเล็กแก่ศูนย์ดูแลเด็กที่อยู่ในที่ดินของเอกชนได้
  • เรื่องความรุนแรงทางเพศ ต้องมีการกวดขันในที่ทำงานและปลูกฝังเด็กในโรงเรียน กทม.

ปัญหาสำคัญด้านสังคมของ กทม. คือ การจัดสรรงบประมาณ เมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานในกทม. ที่ดูแลด้านสังคมคือ สำนักพัฒนาสังคมได้งบแค่ 200 ล้านบาท/ปีเท่านั้น เป็นสัดส่วนไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ ซึ่งงบทั้งหมด 80,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นค่าบุคลากรไปแล้ว 30,000 บาท

อาจจะเป็นเพราะว่าการดูแลเรื่องสังคม มองไม่เห็นภาพเหมือนการสร้างตึกสร้างถนน ทำท่อระบายน้ำ แต่มันมีผลพลอยได้อื่นๆ ที่แปลงเป็นเงินไม่ได้

แม้ดูภาพรวมงบ 80,000 ล้านบาท ดูเยอะจริง แต่งบกว่า 40 % เป็นการจ้างงาน ข้อบัญญัติของ กทม. กำหนดกรอบไว้ว่าไม่สามารถจ้างงานเพิ่มได้ ก็เป็นปัญหาอุปสรรค กิจกรรมของ กทม. บางอย่าง เราสามารถให้ภาคเอกชนหรือส่วนอื่นๆ ทำแทน กทม. ได้ เพียงแต่ว่าต้องไปแก้ข้อบัญญัติ หรือกฎหมายบางส่วน ซึ่งจะทำให้เราสามารถจ้างงานแรงงานนอกได้เพิ่ม

เรื่องแรงงาน ก็ได้ส่งเสริมโรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม. ซึ่งค่าเรียนถูกมาก เรียน 200 ชั่วโมง จ่ายแค่ 105 บาท พยายามเน้นฝีกอาชีพที่ทำได้จริง เช่น ทำอาหาร ตัดผม เป็นการส่งเสริมการจ้างงาน และประสานกับ ธ.ออมสิน ให้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนใช้แรงงาน

เรื่องหาบเร่แผงลอย ต้องมีการจัดการให้สมดุลกับเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ ทาง กทม. ได้เปิดพื้นที่ให้คนใช้แรงงานเข้ามาทำการค้าขายได้มากขึ้น แต่ต้องสมดุลกับคนที่ใช้ทางเท้าด้วย

ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. งบประมาณส่วนการจ้างงานจะต้องปรับปรุง รวมถึงเรื่องสัดส่วนของผู้หญิงเข้ามาช่วยบริหารงาน ก็คงต้องมีการปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ

เรื่องของสตรี มีองค์กรต่างๆ ทำอยู่แล้ว ผมอยากจะเน้นเรื่องความปลอดภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อช่วยหรือเอื้อให้ผู้หญิงที่กลับบ้านดึกให้สามารถกลับบ้านได้ปลอดภัยมากขึ้น อาจจะเอาหน่วยงานเทศกิจหรือหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยกันได้

เรื่องผู้สูงอายุ กทม.กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนสูงวัยจะมากขึ้นทุกๆ ปี หลายนโยบายของผมจะเอื้อเรื่องผู้สูงอายุมาก เช่น เพิ่มบ้านเนอร์สซิ่งโฮมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้หญิงเยอะจริงๆ ปรับศูนย์สาธารณสุข กทม. มีทั้งหมด 69 แห่ง ปรับให้เป็น smart clinic และ telemedicine รวมถึงระบบการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน เอานาฬิกามาติดตามตัวไว้กดแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยไม่ต้องใช้คนมาดูแลติดตัว

การทำกิจกรรมต่างๆ ในการจ้างงานของผู้สูงอายุ กทม.มีกรอบ 40 % ของการจ้างงาน ทำเป็นโครงการต่างๆ ได้ เอื้อให้ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังและมีมันสมองเข้ามาทำกิจกรรมง่ายๆ ในชุมชน

เรื่องผู้พิการ ผมได้ดำเนินการหลายอย่างตาม พรบ.คุ้มครองคนพิการ ตอนผมเป็นรองผู้ว่าฯ ได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชน ถ้าไม่อยากส่งเงินเข้ากองทุน ต้องจ้างงานผู้พิการ 1 % เพิ่งมาสำเร็จเมื่อไม่นานมานี้เอง จึงได้ของบมาจ้างงาน 300 กว่าตำแหน่ง โดยจ้างตามวุฒิ เปิดให้คนพิการสมัครงานตามเขตต่างๆ มากขึ้น และทำเวบไซต์หางานให้คนพิการได้สำเร็จ เอารายชื่อคนพิการเข้าไปอยู่ในเวบไซต์ แล้วให้บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ เข้ามาเลือกดูได้

เรื่องเด็กเล็ก โรงเรียนกทม.ก็ต้องมีการปรับ ศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่อยู่ในที่ของเอกชน เพราะฉะนั้นต้องทลายกำแพงในการใช้งบประมาณของ กทม. ให้ได้ ด้วยการแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตอนนี้สภาใหญ่กำลังแก้พรบ.การใช้เงิน เทียบเคียงกับการเอาเงิน กทม. ลงไปในหมู่บ้านเอกชนที่นิติบุคคลทิ้งไป ถ้าแก้ได้ก็เอาเงินไปใช้ในศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในที่เอกชนได้

เรื่องความรุนแรงทางเพศ ต้องมีการกวดขันในที่ทำงาน หรือปลูกฝังเด็กในโรงเรียน กทม. ให้เด็กๆ เรียนรู้ให้เกียรติเพศตรงข้าม หรือความหลากหลายทางเพศ


CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon


สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

Your Tarot Weekly

Post Views: 71 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน – วันเสาร์ที่​ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ์…

Franck-muller-long-island-thumbnail

Franck Muller Long Island Evolution

Post Views: 33 Franck Muller เสนอนาฬิการุ่น Long Island Evolution ด้วยสามรูปแบบของการแสดงออกแห่งเวลา Franck Muller (แฟรงค์ มุลเลอร์) เสนอนาฬิการุ่น Lo…

Cartier Women’s Initiative

Post Views: 43 โครงการเพื่อสตรีของคาร์เทียร์ ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบ 33 คน ประจำปี 2024 ประกาศรางวัลชนะเลิศ ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณะรัฐประชาชนจีน 22 พ…

Hermes-Horloger-Arceau-Mon-Premier-Galop-thumbnail

Hermès Horloger Arceau Mon Premier Galop

Post Views: 30 Hermès เผยความงดงามฝีมือเชิงศิลป์ด้วยเส้นด้ายไหม ผ่านเรือนเวลารุ่น Arceau Mon Premier Galop Hermès Arceau Mon Premier Galop (แอร์เมส อา…

Van-cleef-ballet-thumbnail

Van Cleef & Arpels Lady Arpels Ballets

Post Views: 33 Van Cleef & Arpels เผยความสง่าของนาฏกรรมบนเรือนนาฬิการุ่น Lady Arpels Ballets Van Cleef & Arpels (แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์) เผย…