นโยบายของการบริหารเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่คนกรุงเทพต้องคำนึงถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 11

(ตอนที่ 3)


ในบทความนี้ padthai.co จะขอกล่าวถึงสองเรื่องสำคัญคือ เรื่องการพัฒนาเด็กเล็กและการคุกคามทางเพศ


งบประมาณ

การพัฒนาเด็กเล็กเป็นรากฐานสังคมก้าวหน้า


  • ใช้งบประมาณของ กทม. เพิ่มอัตราค่าอาหารในแต่ละมื้อให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
  • ใช้รูปแบบการบริหารจัดการที่ดี ทั้งให้อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กมีโอกาสเป็นข้าราชการกทม. และจัดสรรค่าตอบแทนให้ประธานและคณะกรรมการชุมชนที่ดูแลเด็กเล็ก
  • รับโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาเป็นทรัพย์สิน กทม.
  • รวบรวม จัดระบบฐานข้อมูลเด็กเล็กให้สมบูรณ์และทันสมัย
  • สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า จากแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาท
  • สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 เดือน – 6 ปี  ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่และทั่วถึง

การดูแลและพัฒนาเด็กเล็กอายุ 0 – 6 ปี  เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ ส่งผลให้เติบโตเป็นเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ สามารถเข้ารับการศึกษาในลำดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดออกจากระบบ การดูแลเด็กตั้งแต่ต้นทางอย่างไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุที่จะทำให้เด็กเกิดบาดแผลชีวิต ส่งผลกระทบต่อเนื่อง

งบประมาณค่าอาหารกลางวันของเด็กเล็กได้เพียง 20 บาท/คน/วัน  ซึ่งหมายความว่าต้องพยายามจัดอาหารให้เด็กมีโภชนาการที่ถูกตรงตามมาตรฐานของกรมอนามัย จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้คุณภาพของอาหารลดลง และเด็กเล็กจำนวนมากยังไม่ได้รับอาหารเช้าที่เหมาะสมจากบ้าน

ศูนย์เด็กเล็กในกทม.จำนวนมากได้รับโอนมาจากสถานที่ตั้งเดิมที่เคยจัดให้มีการเลี้ยงดูเด็กมาก่อน เช่น วัดหรืออาคารอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทรุดโทรม แต่ กทม.ไม่มีงบประมาณให้  นอกจากนี้ยังมีสถานรับเลี้ยงเด็กตามชุมชนที่ไม่ได้สังกัด กทม.อีกจำนวนไม่น้อย ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือพัฒนา

กทม.ได้กำหนดให้เด็กเล็กที่จะเข้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกทม.ต้องมีอายุตั้งแต่ 2 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี โดยมีอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการเขตกทม.  ทั้งนี้ศูนย์ฯ ทั่วกทม.มีประมาณ 292 ศูนย์ มีเด็กกว่า 22,713 คน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน พ.ศ. 2563) และมีข้อมูลว่า มีเด็กอย่างน้อย 13,000 คน ที่เข้าไม่ถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ปัญหา

  1. ใช้งบประมาณของกทม.เพิ่มอัตราค่าอาหารในแต่ละมื้อ และควรเพิ่มมื้ออาหารเช้าที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการอย่างครบถ้วน
  2. ใช้รูปแบบการบริหารจัดการที่ดี จัดสรรให้อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กมีโอกาสเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ประจำที่มีสิทธิและสวัสดิการการดำรงชีพทัดเทียมกับข้าราชการกทม. และจัดสรรค่าตอบแทนให้กับประธานและคณะกรรมการชุมชนที่มีหน้าที่ภารกิจในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก
  3. รับโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาเป็นทรัพย์สิน กทม. ช่วยพัฒนาซ่อมแซมปรับปรุงอาคารให้มีความปลอดภัยและมีสถานที่เหมาะสม
  4. รวบรวม จัดระบบฐานข้อมูลเด็กเล็กให้สมบูรณ์และทันสมัย และสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการพัฒนาดูแลเด็ก โดยร่วมมือและพัฒนาช่วยสนับสนุนสถานรับเลี้ยงเด็กตามชุมชนที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจาก กทม.ร่วมมือกับสถานประกอบการให้จัดสร้าง หรือสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน  
  5. ขยายช่วงอายุการรับเด็กเข้าศูนย์ฯ ให้สามารถรับเด็กได้ตั้งแต่ 3 เดือน – 6 ปี การจัดให้มีศูนย์เด็กเล็กที่ทั่วถึง เข้าถึงง่าย มีคุณภาพ ปลอดภัย ตอบสนองความจำเป็นที่แท้จริงและจัดเวลาสอดคล้องกับสภาพชีวิตการทำงานของพ่อแม่ในเมือง
  6. ให้กทม.มีการจัดงบประมาณเติมเต็มโครงการของรัฐบาลที่จัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก จากแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาท  ที่จำกัดเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย ไม่เกินปีละ 100,000 บาท และมีเกณฑ์การคัดเลือกที่มีผลให้เด็กเล็กที่ยากจนตกหล่นประมาณ 30%  ขณะที่สถานการณ์โควิดและปัญหาขาดรายได้หนักหน่วงทำให้ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ดังนั้นขอให้กทม.จัดเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง  6 ปี แบบถ้วนหน้าทุกคน

งบประมาณ

ประเด็นคุกคามทางเพศ…เมืองใหญ่ต้องไม่มีความรุนแรง


  • จัดทำแผนปฏิบัติการขจัดความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ
  • ให้คณะกรรมการชุมชนให้ทำงานการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ
  • สนับสนุนกระบวนการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยา ผู้ถูกกระทำรุนแรง ทั้งความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ ให้เข้าถึงง่าย เป็นมิตร (Gender-friendly) เป็นธรรม
  • สร้างมาตรการด้านความปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนทุกคนให้ปลอดจากการคุกคามทางเพศ
  • สำหรับหญิงพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องจัดการดูแลคุ้มครองเป็นพิเศษ โดยทีมสหวิชาชีพ

สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศเป็นลักษณะหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวชุมชนและสังคม ที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลและเชิงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง 

โดยองค์การสหประชาชาติระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี อธิบายว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงหรือความรุนแรงต่อสตรี เป็นการกระทำที่เกิดจาก ‘อคติทางเพศ’ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี ทั้งร่างกาย ทางเพศ และจิตใจ

ปีพ.ศ. 2565 ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค., 2565) ได้รายงานข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว 2561-2564 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 6,960 ราย และพบอีกว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในปีพ.ศ. 2565 มีจำนวนสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 29

ปัจจุบันยังขาดระบบการให้บริการแบบเป็นมิตรในการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหา ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งนับวันที่จะมีความซับซ้อนและมีจำนวนเพิ่มขึ้น 

ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เครือข่ายองค์กรสตรี นำโดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มีข้อเสนอ ดังนี้

  1. นำแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ (ที่มีทั้งในระดับชาติ และกทม.) มาจัดทำแผนปฏิบัติการขจัดความรุนแรงฯ เพื่อให้ กทม.มีการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม และเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งองค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม (ชุมชนในกทม.) เช่น การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกเพศสภาพ
  2. ควรสนับสนุนให้คณะกรรมการชุมชนให้ทำหน้าที่ในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ โดยพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนในทุกเขต และสนับสนุนทรัพยากร (เช่น งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือ ฯลฯ) ให้ชุมชนทำงาน เพื่อให้มีการป้องกันปัญหาในเชิงรุก ลด/ขจัดความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศให้เห็นเป็นรูปธรรม
  3. สนับสนุนกระบวนการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยา ผู้ถูกกระทำรุนแรง ทั้งความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ ให้เข้าถึงง่าย เป็นมิตร (Gender-friendly) เป็นธรรม โดยความรับผิดชอบของหน่วยงานของกทม. และเขตต่างๆ 50 เขต รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งองค์กรเอกชน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครจิตอาสา (รวมทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่กทม.ทุกเขต) และองค์กรเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงกองทุน 50 ล้าน เพื่อยุติ แก้ไข ป้องกันปัญหาความรุนแรงฯ (โดยการแก้ไขระเบียบการใช้เงิน ให้เข้าถึงได้ง่าย)
  4. สร้างมาตรการด้านความปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนทุกคนให้ปลอดจากการคุกคามทางเพศ การกลั่นแกล้งล้อเลียน (Bullying) การหลอกลวง ให้มีการสอนเพศศึกษาและสิทธิมนุษยชน เน้นการสร้างความเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ขจัดมายาคติที่เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ และให้การช่วยเหลือที่เป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ (Gender Sensitive) เช่น สายด่วนให้คำปรึกษาพิเศษเฉพาะเด็กและหลากหลายทางเพศ ในสถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดกทม.
  5. สำหรับหญิงพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องจัดการดูแลคุ้มครองเป็นพิเศษ โดยทีมสหวิชาชีพที่เข้าใจ มีทักษะ และมีประสบการณ์ในการช่วยหญิงพิการที่ถูกกระทำให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมครบถ้วนตลอดกระบวนการ พร้อมจัดล่ามภาษามือสำหรับคนพิการการได้ยิน และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการหาพยานหลักฐาน ซึ่งคนพิการหู ตา หรือสติปัญญาจะมีความยากลำบากและต้องใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ เพิ่ม และต้องจัดให้มีสถานบริการการฟื้นฟู เยียวยาที่เชี่ยวชาญสำหรับหญิงพิการด้วย

หมายเหตุ : พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 อธิบายว่า “ความรุนแรง – เป็นการกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกัน โดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับ หรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม ให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ”


CREDITS:
PHOTOS: UNSPLASH, PIXABAY
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon


สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 12 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Uniqlo x Marimekko Fall/Winter 2024

Post Views: 8 Uniqlo เปิดตัวคอลเลกชันลิมิเต็ด เอดิชัน Uniqlo x Marimekko Fall/Winter 2024 Uniqlo (ยูนิโคล่) แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลก เปิดตัว  Uniq…

Patek Philippe Cubitus Collection

Post Views: 9 Patek Philippe เผยโฉมนาฬิกาคอลเลกชัน Cubitus ในสไตล์สปอร์ตที่สง่างาม Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลลิปป์) เผยโฉมนาฬิกาคอลเลกชัน Cubitus (คิว…