(ตอนที่ 2)
สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ขณะที่ กทม. เป็นเมืองใหญ่ มีผู้คนหลากหลายอยู่ร่วมกัน การจัดการเมืองนับจากนี้ไปจำเป็นต้องคำนึงถึงการดูแลผู้สูงวัยอย่างทั่วถึง
ข้อเสนอประเด็นผู้สูงอายุ…อายุที่เพิ่มเติมคุณค่าให้สังคม
- จัดให้มีกองทุนคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
- เพิ่มที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติ
- เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เป็นเดือนละ 3,000 บาท
- รับผู้สูงอายุซึ่งเกษียณอายุแล้วเข้าทำงานที่เหมาะสม
- จัดบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ
กรุงเทพ ผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปีพ.ศ. 2583 จะมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 32.13 ในต้นปีพ.ศ. 2565 ประชากรผู้สูงอายุที่มีสัญชาติไทย 12,116,199 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.13 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้ ผู้สูงอายุหญิงมีจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุชาย 1.43 ล้านคน
ยิ่งสูงอายุมากขึ้น หญิงสูงอายุยิ่งมีมากกว่าชายสูงอายุ เบี้ยยังชีพที่ผู้สูงอายุรับจากรัฐเดือนละ 600 – 1,000 บาท ไม่เพียงพอในการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ
เครือข่ายผู้สูงอายุฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.ในครั้งนี้กว่า 7 แสนคน (นับจำนวนเฉพาะผู้รับเบี้ยยังชีพเท่านั้น) มีข้อเสนอ ดังนี้
- จัดให้มี “กองทุนคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” โดยกระจายอำนาจให้หน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐเป็นผู้จัดกระบวนการดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผ่านรูปแบบคณะกรรมการชุมชน หน่วยงานอาสาสมัคร องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ต้องมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุทั้งหญิง-ชายในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานทุกระดับ
- ให้กรุงเทพมหานครเพิ่มที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติ ผู้สูงอายุที่พักอาศัยใช้ชีวิตตามลำพัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่มีคนดูแล โดยให้องค์กรเอกชน หรือองค์กรชุมชน อาสาสมัครเป็นผู้ดำเนินการโดยการสนับสนุนทางการเงินจาก “กองทุนคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ทั้งนี้ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการดูแลหญิงสูงวัย ที่ไร้ที่พึ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนหญิงสูงวัยมากกว่าชายจึงต้องจัดให้เป็นการเฉพาะและเร่งด่วน (ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ เช่น บ้านบางแค รับได้ปีละประมาณ 300 คนเท่านั้น)
- เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นสวัสดิการบำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท
- จัดให้นายจ้าง ผู้ประกอบการรับผู้สูงอายุซึ่งเกษียณอายุแล้วเข้าทำงานที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติ นายจ้างที่รับผู้สูงอายุทำงาน และจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม การดำเนินกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุดังกล่าวควรได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ พร้อมทั้งให้สิทธินายจ้าง และสถานประกอบการเหล่านี้ รวมทั้งผู้บริจาคเงินให้กับกองทุนฯ ได้รับการลดหย่อนภาษี
- จัดบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ โดยออกเป็นข้อบัญญัติให้หน่วยงานในสังกัด กทม. จัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการ ในอาคารสถานที่ยานพาหนะ โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่นๆ เพื่อผู้สูงอายุ
คนพิการคือหุ้นส่วนการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างยังยืน
- จัดระบบการจอดรถสาธารณะ และห้องน้ำสาธารณะสำหรับคนพิการ
- ระบบขนส่งที่เชื่อมต่อกันและปรับปรุงทางเท้า ท้างม้าลายที่ปลอดภัยต่อคนพิการ
- กำหนดราคาค่าโดยสารที่ไม่เพิ่มภาระอันเกินควรหรือเกินสัดส่วนค่าครองชีพ
- จัดให้มีข้อมูลการเดินรถ ราคา และอื่นๆ เป็นอักษรวิ่งและมีเสียง เพิ่มความสว่างและติดกล้องวงจรปิดในพื้นสัญจรอับสายตา
- ให้มีแอปพลิเคชัน เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และเหตุฉุกเฉินสำหรับคนพิการทุกประเภท
- ให้หน่วยงานของ กทม. เปิดรับสมัครคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมายกำหนด
- ให้โรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นโรงเรียนเรียนร่วม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ
- แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามกฎหมายและนโยบาย
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุจำนวนคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการในปีพ.ศ.2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) มีจำนวน 2,095,205 คน คิดเป็นร้อยละ 3.17 ของประชากรทั้งประเทศ
ในจำนวนดังกล่าวเป็นเพศหญิง 1,000,995 คน คิดเป็นร้อยละ 47.78 ของจำนวนคนพิการ และเป็นเด็กถึงวัยศึกษาที่มีอายุระหว่าง 0-21 เป็นจำนวน 152,026 คน คิดเป็นร้อยละ 7.26 ของคนพิการทั้งประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงอายุของกลุ่มประชากรคนพิการที่จำนวนมากที่สุด
จากแผนภูมิ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าหญิงพิการมีจำนวนมากกว่าชาย และยังมีความพิการทางสติปัญญามากกว่าชายหลายเท่า บ่งชี้ถึงความเปราะของหญิงพิการที่ต้องได้รับการดูแลคุ้มครองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ข้อเสนอของคนพิการต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
- จัดระบบการจอดรถสาธารณะ สร้างที่จอดรถสาธารณะ และห้องน้ำสาธารณะที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ สตรีและครอบครัวทุกเขตกทม
- ระบบขนส่งทางราง ทางบก ทางน้ำที่เชื่อมต่อกัน และปลอดภัยต่อคนพิการ สตรีพิการ เด็ก ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงทางเท้า ฟุตบาท ท้างม้าลายที่ปลอดภัยต่อคนพิการ สตรีพิการ เด็ก ผู้สูงอายุ (สกายวอล์คไม่เอื้อต่อคนพิการ)
- กำหนดราคาค่าโดยสารที่ไม่เพิ่มภาระอันเกินควรหรือเกินสัดส่วนค่าครองชีพ เนื่องจากระบบขนส่งเป็นนโยบายสาธารณะ สำหรับผู้สูงอายุจัดระบบการเก็บค่าโดยสารระบบขนส่งทางราง ทางบก ทางน้ำที่เชื่อมต่อกัน เป็นระบบเดียว one card
- จัดให้มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเดินรถ ราคา และอื่นๆ เป็นอักษรวิ่งและมีเสียง เพิ่มความสว่าง และติดกล้องวงจรปิดในพื้นสัญจรอับสายตา
- ให้ทุกเขตมี Application Line หรือหรือ Application อย่างอื่น เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และเหตุฉุกเฉินสำหรับคนพิการทุกประเภท โดยเฉพาะมีล่ามและบริการภาษามือให้คนพิการได้ยิน
- สำนักงานเขต กทม. ทุกเขตเปิดรับสมัครคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมายกำหนด และสื่อสารตำแหน่งงานและรายละเอียดงานให้คนพิการได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างทั่วถึง
- กำหนดนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นโรงเรียนเรียนร่วม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการตามกฎหมายกำหนด
- แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามกฎหมายและนโยบาย
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF Free Stock photos by Vecteezy
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่