นโยบายของการบริหารเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่คนกรุงเทพต้องคำนึงถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 11

(ตอนที่ 1)


ในบทความแรก padthai.co จะขอกล่าวถึงสองเรื่องสำคัญคือ เรื่องแรงงานและเรื่องบทบาท สิทธิของสตรีซึ่งในกรุงเทพมหานครเอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 4.4 ล้านคนนั้น มีจำนวนประชากรผู้หญิงถึง 2.3 ล้านคน


เลือกตั้งผู้ว่าฯ
หลังเลือกตั้งชี้ชะตา street food กทม. กับแรงงานรากหญ้าหาบเร่แผงลอย

ข้อเสนอประเด็นแรงงาน…..สร้างคน สร้างงาน สร้างเมือง


  • ส่งเสริมการมีงานทำ
  • จัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานนอกระบบทุกอาชีพในเขตกทม.
  • จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร
  • ควบคุมราคาสินค้าและบริการเพื่อลดค่าครองชีพ
  • พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการทำงาน

เลือกตั้งผู้ว่าฯ จากการศึกษาของสำนักงานสถิติ ประเทศไทย และองค์กรแรงงานหญิงนอกระบบ (WIEGO) ในปีพ.ศ. 2560 พบว่า ร้อยละ 28 ของกำลังแรงงานในกทม. เป็นแรงงานนอกระบบ และเมื่อสำรวจจำนวนแรงงานนอกระบบ 5 อาชีพ ที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ คือ ลูกจ้างทำงานบ้าน ผู้ทำการผลิตที่บ้าน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ผู้ค้าหาบแร่แผงลอย และผู้ค้าในตลาด พบว่ามีจำนวน 1,123,535 คน โดยเป็นแรงงานหญิงและแรงงานชายในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

ถ้าประมาณการว่าแรงงานเหล่านี้มีสมาชิกในครอบครัว 4 คน จะมีจำนวนแรงงานนอกระบบและครอบครัวประมาณ 4.5 ล้านคน อาศัยอยู่ในกทม.

เมื่อประมาณการรายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกระบบกว่าหนึ่งล้านคน ที่ต่ำสุดคนละ 300 บาทต่อวันโดยคิดที่ 20 วันต่อเดือน จะพบว่าแรงงานเหล่านี้สร้างรายได้หมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 330 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 79,200 ล้านบาท

ซึ่งแรงงานเหล่านี้นำรายได้มาจับจ่ายใช้สอยช่วยให้เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครหมุนเวียน และก็เป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนเมืองให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเลี้ยงคนกรุงเทพฯ ช่วยสนับสนุนให้การเดินทางและการขนส่งสาธารณะมีความคล่องตัว และช่วยสร้างสีสันให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการมาเยือน

ในวาระที่การเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงเทพมหานครที่จะมาถึงในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565 นี้ กลุ่มตัวแทนแรงงานนอกระบบ นำโดยสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) จึงขอเสนอแนวทางการ สร้างคน สร้างงาน สร้างเมือง อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนดังนี้

1. ส่งเสริมการมีงานทำ โดย

1.1) สนับสนุนเงินลงทุนแบบให้เปล่าและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยแก่กลุ่มอาชีพต่างๆ รวมทั้งพัฒนาความรู้ทักษะอาชีพใหม่ที่คำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนๆ และการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล

1.2) พัฒนาพื้นที่สาธารณะรวมทั้งบาทวิถี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้คนหลายกลุ่มใช้ร่วมกันได้ ทั้งคนเดินถนน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง โดยให้กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีส่วนร่วมในการพัฒนากฎกติกาต่างๆ อย่างสมดุล

1.3)  พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการหารายได้ และจัดหางานบริการสังคมที่จําเป็นเร่งด่วนให้แก่ผู้ต้องการมีงานทำ เช่น การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย คนพิการ โดยประกันการทำงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อย 10 วันต่อเดือน

1.4) จัดสรรโควตาการจัดซื้อสินค้าและบริการของกทม. ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตและผู้ให้บริการ เหมือนเช่นที่เคยทำมาในอดีต

1.5) ปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการทางสังคม-ของกทม. ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการทำงานของแรงงานทั้งในและนอกระบบ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นต้น

2. จัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานนอกระบบทุกอาชีพในเขตกทม. เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนา โดยให้ขยายนิยามของกลุ่มอาชีพ ไปครอบคลุม กลุ่มหาบเร่แผงลอย หมอนวด ช่างเสริมสวย และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น

3. จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร โดยให้มีตัวแทนแรงงานนอกระบบจากทุกอาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้แน่ใจว่ากรุงเทพมหานครจะพัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

4. ควบคุมราคาสินค้าและบริการเพื่อลดค่าครองชีพของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

5. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไฟทาง ห้องน้ำสาธารณะ และรถขนส่งสาธารณะ เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการทำงานแก่แรงงานทั้งในและนอกระบบของ กทม.


เลือกตั้งผู้ว่าฯ
‘เสียงผู้หญิง’….ชี้ชะตาผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11

คุณภาพชีวิตที่ดีของ ‘ผู้หญิง’ คือ ต้นทุนคุณภาพที่ดีของสังคม


  • ตั้ง ‘กองทุนคุ้มครองสิทธิและพัฒนาศักยภาพสตรี’ เพื่อการพัฒนาอย่างครบวงจรและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง
  • แต่งตั้งรองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง ให้ผู้บริหารและคณะกรรมการทุกชุดของกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชายใกล้เคียงกัน
  • สถานบริการที่สังกัดกรุงเทพฯ ทุกแห่ง ให้คำปรึกษาและยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • กระจายการบริหารและดำเนินงาน และงบประมาณ ให้องค์กรเอกชน อาสาสมัคร ภาคประชาสังคม ที่ทำงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ
  • การจัดทำงบประมาณและนโยบายทุกมิติต้องผสมผสานมิติหญิง-ชาย คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพ วัย และสภาพบุคคล (Gender-responsive Budgeting) ใช้ตัวชี้วัดที่แนะนำโดยองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals)

การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ (วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565) จะเห็นว่าจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4.4 ล้านคน เป็นผู้หญิง 2.3 ล้านคน ผู้ชาย 1.9 ล้านคน และมีคนรุ่นใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกราว 4 แสนคน (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) รายงานว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,402,944 คน ใน 50 เขตเลือกตั้ง 6,817 หน่วยเลือกตั้ง 1,705,437 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,004,521 คน ประชากรหญิง 2,398,423 คน ที่มาของข้อมูลค่ะ https://news.ch7.com/detail/569375)

ดังนั้นคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และสถานภาพของผู้หญิงและเด็กหญิง ต้องเป็นใจกลางของการทำงานของผู้ว่าฯ ให้ดีกว่าเดิม สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปลอดจากปัญหาและความรุนแรงที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก

การดำเนินงานทุกมิติต้องเคารพหลักการเสมอภาคระหว่างเพศที่รับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อสร้างสถานภาพ ศักยภาพ สิทธิและโอกาสของผู้หญิง และเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจและการเมืองทุกระดับ

 ในโอกาสนี้เครือข่ายสตรีหลายองค์กรรวมตัวกันยื่นข้อเสนอ ดังนี้

1. ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิและพัฒนาศักยภาพสตรี” โดยมีงบประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ให้สนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคประชาสังคมที่ดำเนินการ

1.1) ดูแลพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ให้กับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ อาทิ มอบทุนดำเนินการให้กับบ้านพักฉุกเฉินที่ไม่ใช่ของรัฐ 

1.2) พัฒนาความเป็นผู้นำและการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ให้ผู้หญิง เช่น การเป็นผู้นำทางการเมือง การบริหาร การตัดสินใจ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้เท่าทันยุค 4.0 และ New Normal

2. แต่งตั้งรองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อยหนึ่งในสาม ให้ผู้บริหารและคณะกรรมการทุกชุดของกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชายใกล้เคียงกัน และให้มีตัวแทนของคนพิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

3. ให้กรุงเทพฯ มีสถานบริการให้คำปรึกษาและยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขที่สังกัดกรุงเทพฯ ทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ปัจจุบัน สปสช. จ่ายให้รายละสามพันบาทอยู่แล้ว) เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามีการแก้ไขเปิดให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้ในช่วง 12 สัปดาห์แรก และต้องมีบริการการวางแผนครอบครัวอย่างพอเพียง ให้กับทุกคน ทุกสัญชาติและทุกวัยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

3. กระจายการบริหารและดำเนินงาน และสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กรเอกชน อาสาสมัคร ภาคประชาสังคม ที่ทำงานเชี่ยวชาญเฉพาะ ในด้านการบริการ สุขภาพ อาชีพ ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย การช่วยเหลือในภาวะวิกฤติ เช่น โรคระบาด หรือ น้ำท่วม หรืออื่นๆ

4. ในการจัดทำงบประมาณและนโยบายทุกมิติต้องผสมผสานมิติหญิง-ชาย คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพ วัย และสภาพบุคคล ใช้ตัวชี้วัดที่แนะนำโดยองค์การสหประชาชาติ ใช้หลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” Sustainable Development Goals โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยมีการจัดทำการเก็บสถิติที่แยกเพศ และเสริมการใช้กรอบการวิเคราะห์ในมุมมองที่ตอบสนองแต่ละเพศสภาพ (Gender-responsive Budgeting)


CREDITS:
PHOTOS: pixabay, unsplash.com
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon


สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 12 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Uniqlo x Marimekko Fall/Winter 2024

Post Views: 8 Uniqlo เปิดตัวคอลเลกชันลิมิเต็ด เอดิชัน Uniqlo x Marimekko Fall/Winter 2024 Uniqlo (ยูนิโคล่) แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลก เปิดตัว  Uniq…

Patek Philippe Cubitus Collection

Post Views: 7 Patek Philippe เผยโฉมนาฬิกาคอลเลกชัน Cubitus ในสไตล์สปอร์ตที่สง่างาม Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลลิปป์) เผยโฉมนาฬิกาคอลเลกชัน Cubitus (คิว…