เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 25 ปีของ Chopard Manufacture โรงงานการผลิตนาฬิกาแห่งเฟลอริเยร์จึงได้รังสรรค์นาฬิการุ่นพิเศษผลิตจำนวนจำกัดด้วยพัฒนาการขั้นสุดของกลไกความถี่สูง 8 เฮิรตซ์
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อนของ Chopard Manufacture ในเฟลอริเยร์ โรงงานการผลิตแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมของทักษะและศิลปะการประดิษฐ์นาฬิกาในทุกๆ มิติ และยังคงขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณอันเป็นอิสระในการสร้างสรรค์ความล้ำเลิศของเครื่องบอกเวลามาโดยตลอด ทั้งในแง่ของการสืบทอดคุณค่า ประเพณี ความเชี่ยวชาญ รวมถึงงานฝีมืออันประณีต ตลอดจนการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ซึ่งนอกจากคอลเลกชั่นนาฬิกา L.U.C อันเลื่องชื่อด้านกลไกและความเป็นต้นตำรับของ Chopard (โชพาร์ด) แล้ว วันนี้แบรนด์ยังได้ขยายพรมแดนแห่งวิวัฒนาการของกลไกไปสู่คอลเลกชั่น Alpine Eagle ด้วยเช่นกัน กับการเปิดตัวครั้งพิเศษของนาฬิการุ่น Alpine Eagle Cadence 8HF ด้วยการทำงานความถี่สูงถึง 8 เฮิรตซ์
นับเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งสำหรับทั้ง Chopard และการขยับขยายของครอบครัวคอลเลกชั่น Alpine Eagle นาฬิกาที่มีดีไซน์สปอร์ตร่วมสมัยอันเป็นไอคอนิกซึ่งเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 และวันนี้ได้บรรจุไว้ด้วยกลไกจักรกลความถี่สูงที่ยังคงมาตรฐานความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์เอาไว้ โดยแบรนด์ได้เลือกที่จะผสมผสานระหว่างความเที่ยงตรง บวกกับสไตล์ความสปอร์ตไว้ในนาฬิการุ่นใหม่นี้ที่จะผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดพิเศษเพียง 250 เรือน เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 25 ปีของ Chopard Manufacture ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำถึงการเดินหน้าพัฒนาด้านกลไกจักรกล ซึ่งรุ่น Alpine Eagle Cadence 8HF นี้จะติดตั้งไว้ด้วยกลไกอันล้ำสมัยสูงสุดของห้องปฏิบัติการแห่ง Chopard Manufacture อย่าง Calibre 01.12-C ซึ่งประกอบด้วยเอสเคปเมนท์ (escapement) ความถี่สูงที่บรรลุได้ถึง 57,600 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 8 เฮิรตซ์
ภายใต้ตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 41.0 มิลลิเมตร ทำจากไทเทเนียม กับความหนาเพียง 9.75 มิลลิเมตร จึงทำให้นาฬิการุ่นนี้มีทั้งความเบาและทนทานสูง ซึ่งได้มาจากวัสดุไทเทเนียม และติดตั้งไว้ด้วยกลไกชุดใหม่ที่มีความถี่ 8 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ที่สูงกว่ากลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติมาตรฐานทั่วไปถึงสองเท่า และจากความถี่สูงยิ่งขึ้นนี้เองที่ส่งผลถึงการบรรลุได้ถึงระดับความเที่ยงตรงสูงสุด เช่นเดียวกับการยังคงผ่านประกาศนียบัตรรับรองความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์โดย COSC และสามารถมอบพลังงานสำรองได้ถึง 60 ชั่วโมงซึ่งถือว่าสะดวกสบายและเป็นประโยชน์สำหรับการใช้งานจริงของเจ้าของเรือนเวลา
ในแง่ของรายละเอียดงานดีไซน์นั้นยังคงความเป็นต้นตำรับความสง่างามของ Alpine Eagle เอาไว้ แต่ต่างด้วยวัสดุ ซึ่งก่อนหน้านี้ Alpine Eagle เปิดตัวมาพร้อมกับ Lucent Steel A223 ที่เป็นโลหะผสมสูตรเฉพาะของ Chopard หรือในเวอร์ชั่น Ethical gold และแบบทูโทนที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Lucent Steel A223 และ Ethical gold เป็นต้น โดยความพิเศษของตัวเรือนไทเทเนียมทั้งเรือนของ Alpine Eagle Cadence 8HF นี้ยังสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งทางด้านรูปลักษณ์ความโดดเด่นของเฉดสีที่เข้มกว่า และยังมอบน้ำหนักที่เบากว่า Lucent Steel A223 โดยทั้งบนขอบตัวเรือน ตัวเรือนชิ้นกลาง และข้อสายโลหะแบบกว้างนั้นยังคงผ่านการตกแต่งแบบขัดด้านซาตินที่เป็นหนึ่งในรหัสงานออกแบบของ Alpine Eagle ขณะที่แคพกลางข้อสายเหล่านี้ผ่านการขัดเงา เหมือนกันกับขอบด้านข้างและสกรูทรงกลมแปดตัวบนขอบตัวเรือนที่ขัดตกแต่งแบบเงา
ส่วนบนหน้าปัดถ่ายทอดไว้ด้วยเอกลักษณ์ของลวดลายที่เรียกกันว่า ม่านตาอินทรี (eagle iris) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสายตาอันเฉียบคมและแม่นยำของพญาอินทรีที่เป็นต้นแบบการสร้างสรรค์ให้กับนาฬิกาคอลเลกชั่นนี้ด้วย โดยตกแต่งด้วยเฉดสีที่แตกต่างไปจากผลงานรุ่นอื่นๆ ของคอลเลกชั่นเพราะเป็นการตกแต่งแบบ patinated ด้วยมือ ซึ่งนั่นหมายความว่าหน้าปัดแต่ละชิ้นจะมีเฉดที่แตกต่างกันและมีรายละเอียดซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉดสีนี้ยังเรียกกันว่า Vals Grey ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหมู่บ้านซึ่งมีชื่อเดียวกันในรัฐ Graubünden ของสวิตเซอร์แลนด์ หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นหมู่บ้านหลังคากระเบื้องหินควอร์ตไซต์ที่ให้อารมณ์ของเฉดสีเทาเดียวกันกับหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้
baton-type และที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาตกแต่งไว้ด้วยตัวเลขโรมัน พร้อมทั้งบรรจุคำว่า “8 HZ Chronometer” ใต้ชื่อของ Chopard ขณะที่สัญลักษณ์โลโก้รูปทรงลูกศรอันทรงพลังซึ่งอยู่เหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกายังเป็นสัญลักษณ์เฉพาะถึงการเป็นนาฬิกาความถี่สูงของแบรนด์ โดยองค์ประกอบพิเศษต่างๆ ของนาฬิการุ่นนี้ยังรวมไปถึงการติดตั้งด้วยฝาหลังกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ที่เปิดโชว์การทำงานของกลไกความถี่สูง 8 เฮิรตซ์อีกด้วย
ทำไมกลไกความถี่สูงจึงมีความหมายสำคัญสำหรับนาฬิกาจักรกล โดยหัวใจหลักๆ แล้วเป็นเรื่องของการพัฒนาด้านความเที่ยงตรงให้กับนาฬิกาเรือนนั้นๆ รวมไปถึงการพัฒนาด้านอัตราการทำงานเฉลี่ยที่ได้รับผลกระทบน้อยลงจากความถี่การทำงานของกลไกที่เร็วขึ้น ซึ่งความถี่สูงนี้หมายถึงการทำงานด้วยความเร็วสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงส่งผลต่อการพัฒนาด้านอัตราความสม่ำเสมอและความเสถียรของการแสดงเวลาได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ. 2012 Chopard ไ้ด้เป็นผู้บุกเบิกด้านการผลิตนาฬิกาแบบซีรีส์ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกความถี่สูงและเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์และความสำเร็จที่ได้มาจากห้องปฏิบัติการการประดิษฐ์นาฬิกาของโรงงานการผลิต Chopard Manufacture ในเฟลอริเยร์ และกลไกความถี่สูงนี้ได้เปิดตัวภายในคอลเลกชั่น L.U.C ที่ติดตั้งด้วยกลไก L.U.C 01.06-L calibre และเรือนเวลารุ่น L.U.C 8HF ในตัวเรือนไทเทเนียมซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่ตามหาของบรรดานักสะสม และนับจากนั้นมา Chopard ก็ได้ผลิตนาฬิกาซีรีส์จำนวนจำกัดตามมาอีกสองถึงสามรุ่นที่ติดตั้งด้วยกลไกคาลิเบอร์ความถี่สูงเดียวกันนี้ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การติดตั้งภายในนาฬิการุ่นใหม่อย่าง Alpine Eagle Cadence 8HF ในวันนี้ ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ Chopard 01.12-C calibreพร้อมด้วยโรเตอร์กลางและจะผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 250 เรือนเท่านั้น
กับการพัฒนากลไก Chopard 01.12-C ความถี่สูง 8 เฮิรตซ์ซึ่งสำรองพลังงานได้ถึง 60 ชั่วโมงนี้ยังผนวกรวมไว้ด้วยนวัตกรรมวัสดุโมโนคริสตัลไลน์ซิลิคอน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและไม่จำเป็นต้องหยอดน้ำมันหล่อลื่น โดยนำมาใช้ผลิตในชิ้นส่วนประกอบหลักๆ ทั้ง pallet-lever, escape-wheel และ impulse-pin และแทบจะเรียกได้ว่าชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดของกลไกนั้นมีแรงเสียดสีต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องหยอดน้ำมันหล่อลื่นตามแบบประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาทั่วไป และรับประกันได้ถึงอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้นของกลไกนาฬิกาอีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความครบเครื่องทั้งด้านความเป็นต้นตำรับของงานดีไซน์ การพัฒนาคอลเลกชั่นที่เป็นไอคอนิกเฉพาะตัว และเสริมไว้ด้วยคุณสมบัติเฉพาะอันสมบูรณ์แบบด้านความเที่ยงตรงแม่นยำของเรือนเวลาที่ไว้วางใจได้ที่วันนี้ Chopard ได้นำเสนอแบบครบสูตรไว้ภายใน Alpine Eagle Cadence 8HF รุ่นนี้
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF Chopard
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่