Cancel Culture วัฒนธรรมคว่ำบาตรคนดัง และการโต้กลับของโลกโซเชียล


รู้จัก Cancel Culture และวัฒนธรรมการ’คว่ำบาตรคนดัง’ จากดราม่า Kanye West หลังแบรนด์ YEEZY ถูกลอยแพจาก Adidas


รู้จัก Cancel Culture และวัฒนธรรมการ'คว่ำบาตรคนดัง' จากดราม่า Kanye West หลังแบรนด์ YEEZY ถูกลอยแพจาก Adidas

นับเป็นมูฟเม้นท์ที่ทำเอาทั้งวงการฮือฮากันหลังจาก คานเย เวสต์ (Kanye West) แรปเปอร์ผิวสีที่ได้ถูกแบนจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่าง Instagram และ Twitter ไปเป็นที่เรียบร้อยหลังจากโพสต์ข้อความเหยียดผิวและเหยียดชนชาติ ล่าสุดทางแบรนด์ Adidas เองก็ได้ออกมาประกาศยุติการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างเป็นทางการกับแบรนด์ยีซี่ (Yeezy) ของเวสต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และชวนให้เรานึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture ขึ้นมาจนอยากจะนำมาชวนคุยกันในวันนี้

Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรคนดัง เป็นวัฒนธรรมที่ก่อกำเนิดขึ้นในยุคที่โซเชียลมีเดียเติบโตอย่างถึงขีดสุด โดยตัวอย่างมูฟเม้นท์ที่โด่งดังที่สุดของวัฒนธรรมคว่ำบาตร คือเหตุการณ์ #MeToo ที่เริ่มต้นมาจากกรณีอื้อฉาวของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ชื่อดังแห่งวงการฮอลลีวูดที่ถูกหนังสือพิมพ์เปิดโปงพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศดาราและนักแสดงหญิงในวงการ ซึ่งฮาร์วีย์ก็รอดตัวมาได้ตลอดเพราะการปิดหูปิดตาและนิ่งเฉยของคนรอบข้าง

รู้จัก Cancel Culture และวัฒนธรรมการ'คว่ำบาตรคนดัง' จากดราม่า Kanye West หลังแบรนด์ YEEZY ถูกลอยแพจาก Adidas

แต่เมื่อมันกลายเป็นประเด็นบนโลกโซเชียลและเริ่มมีการออกมาแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการโดนผู้มีอำนาจล่วงละเมิดทางเพศผ่านแฮชแท็ก #MeToo พฤติกรรมอันฉาวโฉ่ของเขาก็ถูกโจมตีจากชาวเน็ตหมู่มากและมีการพยายามเรียกร้องความรับผิดชอบของฮาร์วีจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกที่เกิดกระแสบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กไปทั่วโลกจากการที่บุคคลธรรมดาจำนวนมากโต้กลับผู้มีชื่อเสียงหรืออำนาจที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม

ในปัจจุบันวัฒนธรรมการคว่ำบาตรถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในไทยและต่างประเทศ และเมื่อการคว่ำบาตรเกิดขึ้นกับเหล่าคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่นำเสนอแนวคิดที่สร้างอคติในเชิงลบต่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือชาติพันธุ์ รวมทั้งการแสดงพฤติกรรมที่คุกคามไม่เหมาะสม หรือสร้างความเกลียดชัง การคว่ำบาตรจากชาวโซเชียลก็อาจสร้างผลกระทบในเชิงธุรกิจไปด้วย เช่นการเลิกสนับสนุนแบรนด์สินค้าที่คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์นั้นๆ เป็นพรีเซ็นเตอร์ไปจนถึงการไม่รับชมผลงานจากศิลปินเหล่านั้น

เจ.เค. โรลลิ่ง ผู้เขียน Harry Potter ที่ถูกโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับการออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ (Transphobic)

หากจะยกตัวอย่างคนดังที่กำลังเจอกับวัฒนธรรมคว่ำบาตรจากทั่วโลก อีกคนที่มองข้ามไปไม่ได้ คงจะเป็นนักเขียนสาวจากหนังสือวรรณกรรมเด็กแฟรนไชน์ชื่อดังอย่าง เจ.เค. โรลลิ่ง (J.K Rowling) ผู้เขียน Harry Potter ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเธอมีอคติทางเพศเป็นพิเศษต่อกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender หรือคนที่มีการผ่าตัดแปลงเพศจากเพศกำเนิดเป็นอีกเพศหนึ่ง) โดยมีการออกมาแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์หลายต่อหลายครั้งว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการนับว่า Transwomen หรือสตรีข้ามเพศคือเพศหญิง ซึ่งเข้าข่ายพฤติกรรมของคนที่เกลียดชังต่อคนข้ามเพศ (Transphobic)

ซึ่งอคติทางเพศนี้ก็ส่งผลมหาศาล และลุกลามเป็นดราม่าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแฟนหนังสือหลายคนที่รู้สึกผิดหวังจากทัศนคตินี้ ตัดสินใจคว่ำบาตรเจ.เค.โรลลิ่ง โดยการไม่สนับสนุนผลงานในแฟรนไชน์ Harry Potter อีก รวมทั้งภาพยนตร์ภาค Spin-Off อย่าง Fantastic Beasts and Where to Find Them สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ซึ่งเพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปเมื่อปีค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ไม่ดีนักจากวัฒนธรรมคว่ำบาตรเจ.เค.โรลลิ่ง

รวมทั้งการคว่ำบาตรค่ายหนังที่มีการเปลี่ยนตัวนักแสดงอย่าง จอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) ซึ่งมีกรณีพิพาทจากการถูกกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริงว่าทำร้ายร่างกายอดีตภรรยา แอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) ในขณะนั้น รายได้และกระแสตอบรับที่ลดลงอย่างฮวบฮาบของภาพยนตร์ จึงเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการคว่ำบาตรที่เห็นตัวอย่างได้ชัดเจน

โดยนักแสดงหนุ่ม แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) ผู้โด่งดังจากบท แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อเพศหลากหลายเช่นกันว่าเขาไมได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เจ.เค.โรลลิ่งพูด และรู้สึกเสียใจที่การแสดงออกนี้ของเจ.เค.โรลลิ่งทำลายความทรงจำดีๆ ที่แฟนๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเพศหลากหลายมีต่อแฟรนไชน์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักแสดงนำในแฟรนไชน์ออกมาแสดงจุดยืนในลักษณะนี้เพื่อยุติความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ

รู้จัก Cancel Culture และวัฒนธรรมการ'คว่ำบาตรคนดัง' จากดราม่า Kanye West หลังแบรนด์ YEEZY ถูกลอยแพจาก Adidas

อย่างไรก็ตาม หากเราย้อนกลับมาดูกันที่ประเด็นของคานเย เวสต์ ที่ขึ้นชื่อลือชาด้านการแสดงออกแบบไม่มีกาละเทศะบนโลกออนไลน์ และถูกแบนจากสื่อโซเชียลมีเดียตามนโยบายและข้อกำหนดของแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการโพสท์ข้อความสร้างความเกลียดชังต่อชาวยิว แม้จะเคยถูกถอดออกจากการแสดงบนเวที Grammy Awards เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพราะ ‘พฤติกรรมที่น่ากังวลบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก’ แต่ก็ดูเหมือนการถอดเขาออกจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของเวสต์สักเท่าไหร่

แถมล่าสุดยังมีประเด็นการเหยียดสีผิวจากการสวมเสื้อ White Lives Matter ในแฟชั่นโชว์แบรนด์ของตนเอง รวมทั้งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ว่ามันไม่เกี่ยวกับการที่ตำรวจพยายามจับกุมเขาด้วยการเอาเข่ากดจนจอร์จขาดอากาศหายใจเลย ทั้งที่มีการพิจารณาคดีไปเป็นที่สิ้นสุดแล้วว่าจอร์จ ฟลอยด์เป็นเหยื่อของการทำร้ายจริง ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เวสต์พูด

ทำให้พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ่ (Madame Tussauds) ในลอนดอนก็ยังตัดสินใจนำหุ่นขี้ผึ้งของเวสต์ออกไปจากพื้นที่จัดแสดง รวมทั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่มีการขายสินค้าร่วมกับแบรนด์ของเขาอย่าง Balenciaga, Gap รวมทั้ง Adidas ก็พร้อมใจกันออกมาประกาศยุติการคอลลาบอเรชั่นกับเขา แม้ว่าสินค้าที่ทำร่วมกับเวสต์จะทำกำไรและเม็ดเงินได้เป็นมูลค่ามหาศาล

รู้จัก Cancel Culture และวัฒนธรรมการ'คว่ำบาตรคนดัง' จากดราม่า Kanye West หลังแบรนด์ YEEZY ถูกลอยแพจาก Adidas
หุ่นขี้ผึ้งของเวสต์ที่พิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds ลอนดอน ซึ่งถูกนำออกจากพื้นที่จัดแสดงไปแล้ว

ส่วนมิวสิคสตรีมมิ่งอย่าง Apple Music และ Spotify ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาให้สัมภาษณ์ของ CEO Spotify ว่าแม้เพลงของเวสต์จะไม่ได้ขัดต่อนโยบายจนทำให้ Spotify สามารถถอดเพลงของเวสต์ออกไปได้ แต่ตัวเขาเองก็ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมและการแสดงความคิดเห็นอันเป็นปัญหาของเวสต์

ส่วนทาง Apple Music ก็ถอด Essentials Playlist ซึ่งเป็นเพลย์ลิสต์รวมเพลงของเวสต์ออก แม้ผู้ใช้งานจะยังสามารถฟังเพลงทั้งหมดของเวสต์ได้ตามปกติโดยการพิมพ์ค้นหา แต่การถอดเพลย์ลิสต์รวมเพลงออกก็ถือเป็นการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยและไม่โปรโมตให้เขานั่นเอง

โดย Adidas ได้ประกาศลอยแพ ยุติการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและยุติไลน์การผลิตทั้งหมดของแบรนด์ Yeezy ของเวสต์ รวมทั้งออกมาประกาศแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็น ซึ่งการถอนตัวจากการร่วมงานครั้งนี้ตีมูลค่าความเสียหายคร่าวๆ ว่าอาจจะมากถึง 9 หมื่นล้านบาท แต่หลายแบรนด์ก็ตัดสินใจให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และจุดยืนต่อสังคมมากกว่ามูลค่าทางธุรกิจที่เสียหายไป เพราะหากแบรนด์ถูกคว่ำบาตรไปด้วยจากการเพิกเฉยต่อเหตุการณ์นี้ก็อาจเป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่านัก ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้อาจจะพอทำให้เรามองเห็นอำนาจของวัฒนธรรมการแบนหรือ Cancel Culture ได้ชัดเจนขึ้น

แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมการคว่ำบาตรในปัจจุบันซึ่งเริ่มเติบโตและมีพัฒนาการ และนำมาสู่การโต้เถียงและโจมตีกันระหว่างบุคคลธรรมดาบนโลกออนไลน์ (ที่มักจะมีคำเรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ จากการถูกโจมตีโดยคนจำนวนมาก ราวกับมีรถทัวร์ที่ขนนักท่องเที่ยวมาจอด) แทนที่จะเป็นการกระทำต่อผู้มีชื่อเสียงหรือมีอำนาจ ซึ่งแม้จะไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นการคว่ำบาตร แต่การ ‘ทัวร์ลง’ ก็ถูกตั้งคำถามว่าการแล้วอะไรคือขอบเขตของความดีงามและถูกต้อง และได้ให้ประโยชน์อย่างอื่นเช่นการขยายเสียงให้บุคคลชายขอบ คนไม่มีอำนาจ หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในสังคมหรือเปล่า อาจเป็นเพียงการตรวจสอบและตัดสินบนความขัดแย้ง หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นทางศีลธรรมเท่านั้น


CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF ADIDAS, KANTE WEST, ISSAT AND J.K. ROWLING OFFICIAL


อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

Your Tarot Weekly

Post Views: 59 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน – วันเสาร์ที่​ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ์…

Cartier Women’s Initiative

Post Views: 29 โครงการเพื่อสตรีของคาร์เทียร์ ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบ 33 คน ประจำปี 2024 ประกาศรางวัลชนะเลิศ ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณะรัฐประชาชนจีน 22 พ…

Tarot-13-April-1

Your Tarot Weekly

Post Views: 96 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน – วันเสาร์ที่​ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศักดิ์…

From the Heart to the Hands: Dolce&Gabbana

Post Views: 37 Dolce&Gabbana เสนอนิทรรศการ ‘From the Heart to the Hands’ เผยความพิเศษของการการสร้างสรรค์จากแฟชั่นเฮาส์ นิทรรศการ ‘From the Heart t…

Aston Martin DB12 Volante

Post Views: 44 Aston Martin Bangkok เผยโฉมที่สุดแห่งยนตกรรมเปิดประทุน DB12 Volante Super Tourer Aston Martin (แอสตัน มาร์ติน) บริษัทผลิตรถยนต์สปอร์ตหร…