รู้จัก Cancel Culture และวัฒนธรรมการ’คว่ำบาตรคนดัง’ จากดราม่า Kanye West หลังแบรนด์ YEEZY ถูกลอยแพจาก Adidas
นับเป็นมูฟเม้นท์ที่ทำเอาทั้งวงการฮือฮากันหลังจาก คานเย เวสต์ (Kanye West) แรปเปอร์ผิวสีที่ได้ถูกแบนจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่าง Instagram และ Twitter ไปเป็นที่เรียบร้อยหลังจากโพสต์ข้อความเหยียดผิวและเหยียดชนชาติ ล่าสุดทางแบรนด์ Adidas เองก็ได้ออกมาประกาศยุติการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างเป็นทางการกับแบรนด์ยีซี่ (Yeezy) ของเวสต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และชวนให้เรานึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture ขึ้นมาจนอยากจะนำมาชวนคุยกันในวันนี้
Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรคนดัง เป็นวัฒนธรรมที่ก่อกำเนิดขึ้นในยุคที่โซเชียลมีเดียเติบโตอย่างถึงขีดสุด โดยตัวอย่างมูฟเม้นท์ที่โด่งดังที่สุดของวัฒนธรรมคว่ำบาตร คือเหตุการณ์ #MeToo ที่เริ่มต้นมาจากกรณีอื้อฉาวของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ชื่อดังแห่งวงการฮอลลีวูดที่ถูกหนังสือพิมพ์เปิดโปงพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศดาราและนักแสดงหญิงในวงการ ซึ่งฮาร์วีย์ก็รอดตัวมาได้ตลอดเพราะการปิดหูปิดตาและนิ่งเฉยของคนรอบข้าง
แต่เมื่อมันกลายเป็นประเด็นบนโลกโซเชียลและเริ่มมีการออกมาแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการโดนผู้มีอำนาจล่วงละเมิดทางเพศผ่านแฮชแท็ก #MeToo พฤติกรรมอันฉาวโฉ่ของเขาก็ถูกโจมตีจากชาวเน็ตหมู่มากและมีการพยายามเรียกร้องความรับผิดชอบของฮาร์วีจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกที่เกิดกระแสบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กไปทั่วโลกจากการที่บุคคลธรรมดาจำนวนมากโต้กลับผู้มีชื่อเสียงหรืออำนาจที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม
ในปัจจุบันวัฒนธรรมการคว่ำบาตรถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในไทยและต่างประเทศ และเมื่อการคว่ำบาตรเกิดขึ้นกับเหล่าคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่นำเสนอแนวคิดที่สร้างอคติในเชิงลบต่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือชาติพันธุ์ รวมทั้งการแสดงพฤติกรรมที่คุกคามไม่เหมาะสม หรือสร้างความเกลียดชัง การคว่ำบาตรจากชาวโซเชียลก็อาจสร้างผลกระทบในเชิงธุรกิจไปด้วย เช่นการเลิกสนับสนุนแบรนด์สินค้าที่คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์นั้นๆ เป็นพรีเซ็นเตอร์ไปจนถึงการไม่รับชมผลงานจากศิลปินเหล่านั้น
หากจะยกตัวอย่างคนดังที่กำลังเจอกับวัฒนธรรมคว่ำบาตรจากทั่วโลก อีกคนที่มองข้ามไปไม่ได้ คงจะเป็นนักเขียนสาวจากหนังสือวรรณกรรมเด็กแฟรนไชน์ชื่อดังอย่าง เจ.เค. โรลลิ่ง (J.K Rowling) ผู้เขียน Harry Potter ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเธอมีอคติทางเพศเป็นพิเศษต่อกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender หรือคนที่มีการผ่าตัดแปลงเพศจากเพศกำเนิดเป็นอีกเพศหนึ่ง) โดยมีการออกมาแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์หลายต่อหลายครั้งว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการนับว่า Transwomen หรือสตรีข้ามเพศคือเพศหญิง ซึ่งเข้าข่ายพฤติกรรมของคนที่เกลียดชังต่อคนข้ามเพศ (Transphobic)
ซึ่งอคติทางเพศนี้ก็ส่งผลมหาศาล และลุกลามเป็นดราม่าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแฟนหนังสือหลายคนที่รู้สึกผิดหวังจากทัศนคตินี้ ตัดสินใจคว่ำบาตรเจ.เค.โรลลิ่ง โดยการไม่สนับสนุนผลงานในแฟรนไชน์ Harry Potter อีก รวมทั้งภาพยนตร์ภาค Spin-Off อย่าง Fantastic Beasts and Where to Find Them สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ซึ่งเพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปเมื่อปีค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ไม่ดีนักจากวัฒนธรรมคว่ำบาตรเจ.เค.โรลลิ่ง
รวมทั้งการคว่ำบาตรค่ายหนังที่มีการเปลี่ยนตัวนักแสดงอย่าง จอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) ซึ่งมีกรณีพิพาทจากการถูกกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริงว่าทำร้ายร่างกายอดีตภรรยา แอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) ในขณะนั้น รายได้และกระแสตอบรับที่ลดลงอย่างฮวบฮาบของภาพยนตร์ จึงเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการคว่ำบาตรที่เห็นตัวอย่างได้ชัดเจน
โดยนักแสดงหนุ่ม แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) ผู้โด่งดังจากบท แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อเพศหลากหลายเช่นกันว่าเขาไมได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เจ.เค.โรลลิ่งพูด และรู้สึกเสียใจที่การแสดงออกนี้ของเจ.เค.โรลลิ่งทำลายความทรงจำดีๆ ที่แฟนๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเพศหลากหลายมีต่อแฟรนไชน์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักแสดงนำในแฟรนไชน์ออกมาแสดงจุดยืนในลักษณะนี้เพื่อยุติความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ
อย่างไรก็ตาม หากเราย้อนกลับมาดูกันที่ประเด็นของคานเย เวสต์ ที่ขึ้นชื่อลือชาด้านการแสดงออกแบบไม่มีกาละเทศะบนโลกออนไลน์ และถูกแบนจากสื่อโซเชียลมีเดียตามนโยบายและข้อกำหนดของแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการโพสท์ข้อความสร้างความเกลียดชังต่อชาวยิว แม้จะเคยถูกถอดออกจากการแสดงบนเวที Grammy Awards เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพราะ ‘พฤติกรรมที่น่ากังวลบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก’ แต่ก็ดูเหมือนการถอดเขาออกจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของเวสต์สักเท่าไหร่
แถมล่าสุดยังมีประเด็นการเหยียดสีผิวจากการสวมเสื้อ White Lives Matter ในแฟชั่นโชว์แบรนด์ของตนเอง รวมทั้งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ว่ามันไม่เกี่ยวกับการที่ตำรวจพยายามจับกุมเขาด้วยการเอาเข่ากดจนจอร์จขาดอากาศหายใจเลย ทั้งที่มีการพิจารณาคดีไปเป็นที่สิ้นสุดแล้วว่าจอร์จ ฟลอยด์เป็นเหยื่อของการทำร้ายจริง ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เวสต์พูด
ทำให้พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ่ (Madame Tussauds) ในลอนดอนก็ยังตัดสินใจนำหุ่นขี้ผึ้งของเวสต์ออกไปจากพื้นที่จัดแสดง รวมทั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่มีการขายสินค้าร่วมกับแบรนด์ของเขาอย่าง Balenciaga, Gap รวมทั้ง Adidas ก็พร้อมใจกันออกมาประกาศยุติการคอลลาบอเรชั่นกับเขา แม้ว่าสินค้าที่ทำร่วมกับเวสต์จะทำกำไรและเม็ดเงินได้เป็นมูลค่ามหาศาล
ส่วนมิวสิคสตรีมมิ่งอย่าง Apple Music และ Spotify ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาให้สัมภาษณ์ของ CEO Spotify ว่าแม้เพลงของเวสต์จะไม่ได้ขัดต่อนโยบายจนทำให้ Spotify สามารถถอดเพลงของเวสต์ออกไปได้ แต่ตัวเขาเองก็ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมและการแสดงความคิดเห็นอันเป็นปัญหาของเวสต์
ส่วนทาง Apple Music ก็ถอด Essentials Playlist ซึ่งเป็นเพลย์ลิสต์รวมเพลงของเวสต์ออก แม้ผู้ใช้งานจะยังสามารถฟังเพลงทั้งหมดของเวสต์ได้ตามปกติโดยการพิมพ์ค้นหา แต่การถอดเพลย์ลิสต์รวมเพลงออกก็ถือเป็นการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยและไม่โปรโมตให้เขานั่นเอง
โดย Adidas ได้ประกาศลอยแพ ยุติการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและยุติไลน์การผลิตทั้งหมดของแบรนด์ Yeezy ของเวสต์ รวมทั้งออกมาประกาศแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็น ซึ่งการถอนตัวจากการร่วมงานครั้งนี้ตีมูลค่าความเสียหายคร่าวๆ ว่าอาจจะมากถึง 9 หมื่นล้านบาท แต่หลายแบรนด์ก็ตัดสินใจให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และจุดยืนต่อสังคมมากกว่ามูลค่าทางธุรกิจที่เสียหายไป เพราะหากแบรนด์ถูกคว่ำบาตรไปด้วยจากการเพิกเฉยต่อเหตุการณ์นี้ก็อาจเป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่านัก ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้อาจจะพอทำให้เรามองเห็นอำนาจของวัฒนธรรมการแบนหรือ Cancel Culture ได้ชัดเจนขึ้น
แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมการคว่ำบาตรในปัจจุบันซึ่งเริ่มเติบโตและมีพัฒนาการ และนำมาสู่การโต้เถียงและโจมตีกันระหว่างบุคคลธรรมดาบนโลกออนไลน์ (ที่มักจะมีคำเรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ จากการถูกโจมตีโดยคนจำนวนมาก ราวกับมีรถทัวร์ที่ขนนักท่องเที่ยวมาจอด) แทนที่จะเป็นการกระทำต่อผู้มีชื่อเสียงหรือมีอำนาจ ซึ่งแม้จะไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นการคว่ำบาตร แต่การ ‘ทัวร์ลง’ ก็ถูกตั้งคำถามว่าการแล้วอะไรคือขอบเขตของความดีงามและถูกต้อง และได้ให้ประโยชน์อย่างอื่นเช่นการขยายเสียงให้บุคคลชายขอบ คนไม่มีอำนาจ หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในสังคมหรือเปล่า อาจเป็นเพียงการตรวจสอบและตัดสินบนความขัดแย้ง หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นทางศีลธรรมเท่านั้น
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF ADIDAS, KANTE WEST, ISSAT AND J.K. ROWLING OFFICIAL
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- IU ประกาศเลิกร้องเพลงซิกเนเจอร์ Good Day และ Palette ต่อหน้าผู้ชม 44,000 คนในคอนเสิร์ต The Golden Hour 2022 : under the orange sun คอนเสิร์ตฉลองครบรอบเดบิวต์ 14 ปี
- Pink Venom แผลงฤทธิ์! Blackpink คัมแบ็กสุดปัง ทุบสถิติ 100 ล้านวิวภายในเวลาเพียง 30 ชั่วโมง นำเสนอมิวสิควีดีโอ Pink Venom พรี-ซิงเกิ้ลสุดร้อนแรงจากอัลบัม BORN PINK และการกลับคืนบัลลังก์อีกครั้งของราชินีผู้พาวงการ K-POP ไปสู่ระดับโลก
- ลองฟัง: NIRUN (นิรันดร์) ผลงานใหม่จาก Txrbo และการร่วมงานกับ BAY6IX และ LALA สองศิลปินจากสปป.ลาวในโปรเจค ASEAN SOUND โปรเจกต์เชื่อมสัมพันธ์วงการเพลงไทยไปสู่ตลาดเพลงโลก ของค่ายเพลง High Cloud Entertainment
- เปิดสองเรื่องเล่าจากถ้ำหลวงใน Thirteen Lives : สิบสามชีวิต และ Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง สองผลงานใหม่บนสตรีมมิ่งเจ้ายักษ์ Netflix และ Disney+ ที่สร้างจากเรื่องจริงของเหตุการณ์ภารกิจกู้ชีพนักกีฬาและโค้ชรวม 13 ชีวิตจากทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ในปีค.ศ. 2018
- Squid Game กวาด 6 รางวัลจาก Emmy Awards อีจองแจคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เตรียมโกอินเตอร์ร่วมงาน Lucus Film ผู้กำกับเผย อยากชวนลีโอนาโด ดิคาปริโอมาร่วมแสดงรับเชิญในภาค 3 ที่กำลังอยู่ระหว่างการเขียนบท