Breguet Classique Calendrier 7337 ผ่านการตีความใหม่สู่กระจกสะท้อนประวัติศาสตร์ของแบรนด์ และรหัสแห่งสไตล์การสร้างสรรค์เรือนเวลาอันร่วมสมัย
หากเอ่ยถึงชื่อของ Breguet (เบรเกต์) แล้ว หลายคนย่อมนึกถึงการเป็นต้นกำเนิดของประดิษฐกรรมสร้างสรรค์ด้านจักรกลชั้นยอด อย่าง Tourbillon (ทูร์บิญอง) ที่ ณ ปัจจุบันยังคงนับเป็นมรดกชิ้นเอกของแบรนด์ และได้รับการสืบทอดสมบัติอันทรงคุณค่านี้มาโดยตลอด ขณะที่อีกหลายๆ คนอาจนึกไปถึงภาพของสไตล์เรือนเวลาอันคลาสสิกร่วมสมัย ที่หลอมรวมไว้ด้วยรหัสการออกแบบและสร้างสรรค์เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกมากมายของ Breguet เช่นเดียวกับที่ถ่ายทอดไว้ในคอลเลกชันผลงานต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงคอลเลกชันสัญลักษณ์สูงสุด อย่าง Classique ที่สะท้อนทั้งประวัติศาสตร์ของแบรนด์ เช่นเดียวกับสไตล์ของเรือนเวลาร่วมสมัยอันเป็นที่จดจำได้เสมอ
นาฬิกาคอลเลกชัน Classique ของ Breguet มีความโดดเด่นของงานดีไซน์ ที่เป็นตัวแทนถึงการผสมผสานความสง่างามและความประณีต โดยอุทิศความเคารพต่อการแสดงออกซึ่งความสวยงามเข้มแข็งอันเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ นับจากยุคของช่างนาฬิกาและนักประดิษฐ์คิดค้นอย่าง Abraham-Louis Breguet ผู้ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนักออกแบบคนแรกๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตำนานเรือนเวลาอีกมากมาย จวบจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1775 จึงได้ก่อตั้งบริษัทขึ้น ณ กรุงปารีส พร้อมทั้งริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์นาฬิกาที่ผสมผสานด้วยสไตล์นีโอคลาสสิกไว้อย่างชัดเจน โดยถ่ายทอดผ่านความโดดเด่นของหน้าปัดและโฉมหน้าของเรือนเวลาที่มีความล้ำสมัยในยุคสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการอ่านค่าการแสดงต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์เอกลักษณ์ อย่าง เข็มชี้ทรงปลายเปิดโปร่ง (open-tipped hands) รวมทั้งลวดลายกิโยเช่ (guilloché) และดีไซน์หน้าปัดแบบเยื้องศูนย์ ที่ล้วนกลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติแห่งสไตล์อันโดดเด่นที่ยังคงได้รับการสืบทอดเรื่อยมา
ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมรดกแห่งผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ ที่การตีความครั้งแรกสำหรับนาฬิกาข้อมือ Classique 7337 ได้เผยโฉมขึ้นในปี ค.ศ. 2009 และล่าสุดยังนำมาสู่การตีความใหม่อีกครั้งของ Classique Calendrier 7337 ในปีนี้ ที่คงไว้ด้วยสไตล์อันร่วมสมัยและสง่างามที่ถอดรหัสมาจากรุ่นดั้งเดิม แต่เสริมด้วยความล้ำค่าและทรงเสน่ห์ของทั้งเวอร์ชันตัวเรือนไวท์โกลด์หรือโรสโกลด์ ที่เข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับคอลเลกชัน Classique ซึ่งในรุ่นตีความใหม่นี้ยังได้ร่วมถ่ายทอดทักษะงานฝีมือการตกแต่งอันเชี่ยวชาญของแบรนด์ ทั้งที่ปรากฏบนหน้าปัดแบบเยื้องศูนย์ ตกแต่งด้วยลวดลายกิโยเช่หัวตะปู หรือ Clous de Paris อันละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นงานแกะสลักด้วยมือและด้วยเครื่องแกะลาย rose engine โดยทีมศิลปินช่างภายในโรงงาน ขณะที่ขอบรอบนอกของหน้าปัดถ่ายทอดด้วยลวดลายข้าวบาร์เลย์ (barleycorn) ส่วนช่องหน้าต่างแสดงข้างขึ้นข้างแรม หรือ Moon phase ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ออกแบบเพื่อถ่ายทอดความงดงาม โดยเฉพาะรูปดวงจันทร์ทองซึ่งตอกด้วยมือ รายล้อมด้วยเมฆที่ตกแต่งแบบแซนด์บลาสต์ (sandblasted) ด้วยผิวลวดลายแบบด้าน เสริมความโดดเด่นและสวยงามด้วยท้องฟ้าซึ่งเคลือบแล็กเกอร์สีน้ำเงิน ประกอบด้วยผงโปรยปรายเสมือนดวงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้ายามค่ำคืน และมองเห็นแสงอันพร่างพราวนี้ได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับมุมมองและแสงตกกระทบ
ถ่ายทอดคู่กับการแสดงชั่วโมงและนาที ด้วยเข็มชี้ Breguet ปลายเปิดโปร่งทำจากสตีลสีน้ำเงิน และแยกแสดงวินาทีบนหน้าปัดเล็ก พร้อมทั้งการแสดงวันที่และวัน จัดวางไว้ ณ ตำแหน่ง 2 และ 10 นาฬิกาตามลำดับ โดยช่องหน้าต่างเปิดเหล่านี้ยังมีขนาดกว้างขึ้นเพื่อการอ่านค่าได้อย่างชัดเจน ส่วนภายในตัวเรือนทั้งเวอร์ชันไวท์โกลด์หรือโรสโกลด์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 39.0 มิลลิเมตรนี้ พร้อมขับเคลื่อนการทำงานด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ Calibre 502.3 QSE1 ความถี่ 3 เฮิรตซ์ สำรองพลังงานได้ 45 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในกลไกจักรกลบางที่สุดของ Breguet ด้วยความหนาเพียง 2.4 มิลลิเมตร ภายใต้งานออกแบบที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยยังคงรักษาระดับความเที่ยงตรงและประสิทธิภาพการทำงานอันแม่นยำระดับสูง ภายใต้ความบางของนาฬิกาซึ่งมีตัวเรือนหนาเพียง 9.95 มิลลิเมตร
เช่นเดียวกับการติดตั้งไว้ด้วยตลับลานแบบเปิด ที่ช่วยเสริมด้านความบางและคงรับประกันได้ถึงพลังงานที่สม่ำเสมอและประสิทธิภาพอันเสถียร รวมถึงโรเตอร์แบบเยื้องศูนย์ที่ออกแบบมาเพื่อมอบพื้นที่สำหรับชิ้นส่วนและองค์ประกอบกลไกหลักอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงความบางที่สุดไว้เช่นกัน ท่ามกลางความซับซ้อนของชิ้นส่วนถึง 236 ชิ้น กลไกชุดนี้ยังคงติดตั้งไว้ด้วยบาลานซ์สปริง (balance spring) เช่นเดียวกับเอสเคปเมนท์ (escapement) ทำจากซิลิคอน ซึ่งมีคุณสมบัติอันหลากหลาย รวมไปถึงความทนทานต่อการสึกกร่อนและสึกหรอ ไม่ได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็ก และช่วยพัฒนาปรับปรุงระดับความเที่ยงตรงแม่นยำของนาฬิกา คาลิเบอร์นี้ยังคงผ่านการตกแต่งอย่างประณีตและสามารถชื่นชมได้ผ่านฝาหลังกระจกแซฟไฟร์ ตอกย้ำถึงทักษะและงานฝีมืออันเชี่ยวชาญในการตกแต่งเรือนเวลาของ Breguet โดยเฉพาะความสวยงามของโรเตอร์ไวท์โกลด์แกะสลักด้วยมือบนเครื่อง rose engine พร้อมลวดลายข้าวบาร์เลย์แบบวงกลม ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆ ตกแต่งด้วยงานขัดขอบลบมุม และลวดลาย Côtes de Genève
นาฬิกาทั้งสองเวอร์ชันของ Classique Calendrier 7337 ใหม่ประกอบลงตัวมากับสายหนังสไตล์คลาสสิกร่วมสมัย ทั้งสายหนังสีน้ำเงินเข้มหรือมิดไนท์บลูสำหรับเวอร์ชันตัวเรือนไวท์โกลด์ และสายหนังสีน้ำตาลสำหรับเวอร์ชันตัวเรือนโรสโกลด์
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF BREGUET
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่