Breguet ได้รังสรรค์ผลงานเรือนเวลาล่าสุดภายใต้คอลเลกชัน Classique โดยนำเสนอในรูปแบบเรือนเวลาระบบปฏิทินถาวรในตัวเรือนวัสดุทองคำสองเฉดสี ในชื่อคอลเลกชัน Classique Quantième Perpétuel 7327
นอกเหนือจากการคิดค้นนวัตกรรมจักรกลทูร์บิญองขึ้นเป็นรายแรกแล้ว Abraham-Louis Breguet (อับราฮัม หลุยส์ เบรเกต์) ยังเป็นนักประดิษฐ์นาฬิกาผู้คิดค้นกลไกการขึ้นลานอัตโนมัติอีกด้วย โดยในช่วงทศวรรษที่ 1780 เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างสรรค์นาฬิกา Perpétuelle (แปร์เพทชวล) หรือนาฬิการะบบปฏิทินถาวรที่ประกอบด้วยตัวถ่วงน้ำหนักที่เคลื่อนไหวได้ อันช่วยให้กลไกนาฬิกาสามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายของผู้สวมใส่ได้ จึงเป็นต้นกำเนิดการสร้างสรรค์กลไกขึ้นลานได้อัตโนมัตินั่นเอง
ในปีนี้ Breguet ได้รังสรรค์ผลงานเรือนเวลาล่าสุดภายใต้คอลเลกชัน Classique (คลาสสิค) โดยนำเสนอในรูปแบบเรือนเวลาระบบปฏิทินถาวรในตัวเรือนวัสดุทองคำสองเฉดสี ในชื่อคอลเลกชัน Classique Quantième Perpétuel 7327 (คลาสสิค ควองเตียม เพอเพชวล 7327) และด้วยเรือนเวลาคอลเลกชันนี้ Breguet ได้สะท้อนถึงแก่นแท้ของตนเองในการผลิตนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรือนเวลาที่ใช้งานได้ง่ายสำหรับผู้สวมใส่ แต่ไม่ละทิ้งรายละเอียดอันพิถีพิถันต่างๆ
ในการรังสรรค์กลไกระบบปฏิทินถาวรนั้น มีความสลับซับซ้อนสูง โดยต้องคำนึงถึงความผันแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบเดือน และรอบปีต่างๆ และเพื่อให้สามารถใช้งานระบบปฏิทินถาวรได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องมีการคิดค้นระบบความจำให้กับกลไก เพื่อให้รองรับกับการใช้งานรอบปีอธิกสุรทินในรอบ 4 ปี หรือ 1,461 วันได้โดยมิต้องตั้งค่าใดๆ โดยระบบดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากระบบเฟืองและชิ้นส่วนต่างๆ ของกลไกการทำงานที่ไม่น้อยกว่า 294 ชิ้น
อีกหนึ่งความมุ่งหมายหลักอีกอย่างหนึ่งของ Breguet คือ การนำเสนอนาฬิกาที่มีน้ำหนักเบาและสามารถสวมใส่บนข้อมือได้อย่างสบาย ทางแบรนด์จึงได้พัฒนากลไก Cal. 502 ที่เสริมระบบปฏิทินถาวร เกิดเป็นกลไกอัตโนมัติ Cal. 502.3.P อันมีความบางเพียง 4.5 มิลลิเมตร และถือเป็นกลไกที่บางที่สุดของแบรนด์ก็ว่าได้ โดยมีการปรับใช้เป็นโรเตอร์ขึ้นลานทองในแบบเยื้องศูนย์กลาง เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการวางระบบการทำงานอื่นๆ ได้โดยไม่เพิ่มความหนาให้กับกลไก
กลไก in-house อัตโนมัติ Cal. 502.3.P เครื่องนี้ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง และสามารถสะสมพลังงานได้นาน 45 ชั่วโมง พร้อมด้วยบาลานซ์สปริงซิลิกอนที่มีความแบนราบ และระบบปล่อยจักรพร้อมด้วย silicon horns (ซิลิกอน ฮอร์นส) ซึ่งการใช้วัสดุซิลิกอนนั้นนอกจากจะมีผลในเรื่องของความทนทานต่อการสึกหรอแล้ว ยังมีผลในเรื่องของการต้านทานต่อแรงดึงดูดของสนามแม่เหล็กส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพความเที่ยงตรงของกลไกได้นั่นเอง ผู้สวมใส่สามารถชื่นชมการทำงานของกลไกเครื่องนี้ได้ผ่านฝาหลังกรุกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ เผยให้เห็นการหมุนเหวี่ยงของโรเตอร์ขึ้นลานทองคำ ที่ได้รับการสลักลวดลายบาร์เลย์คอร์นด้วยเครื่องบังคับมือ รวมถึงสะพานจักรที่ได้รับการตกแต่งในลวดลาย Côtes de Genève (โคตส์ เดอ เฌอแนฟ) ไม่เพียงเท่านั้น ชิ้นส่วนกลไกอื่นๆ ต่างก็ได้รับการขัดแต่งลบเหลี่ยมมุมได้อย่างประณีตด้วยฝีมือของช่างผู้ชำนาญการของโรงงานด้วย
ในส่วนของพื้นหน้าปัด Breguet ใส่องค์ประกอบที่มีความร่วมสมัย ผ่านการตกแต่งพื้นหน้าปัดทองเคลือบสีเงินในลวดลายลายฮอบเนล Clous de Paris (คลูส์ เดอ ปารีส์) จัดวางส่วนแสดงปฏิทินถาวรต่างๆ ไว้ดังนี้ เริ่มที่บริเวณระหว่างตำแหน่ง 1 และ 2 นาฬิกา ปรากฎส่วนแสดงเวลาข้างขึ้นข้างแรมที่ตกแต่งได้อย่างสมจริง ด้วยการลงยาสีน้ำเงินสวยงาม ในส่วนของการแสดงวัน วันที และปี จะจัดวางไว้บนพื้นที่ช่วงครึ่งล่างของพื้นหน้าปัด ส่วนบริเวณระหว่างตำแหน่ง 9 และ 12 นาฬิกา จัดวางส่วนแสดงเดือนในรูปแบบของเข็มเรโทรเกรด โดยเข็มนาฬิกาทุกค่าบนหน้าปัดนั้นจะเป็นเข็มแบบ Blue Steel (บลูสตีล) ทั้งหมด
เรือนเวลา Classique Quantième Perpétuel 7327 รังสรรค์ขึ้นในตัวเรือน 2 รูปแบบ คือตัวเรือนไวท์โกลด์ 18K และ ตัวเรือนโรสโกลด์ 18K โดยทั้ง 2 รูปแบบมีขนาดตัวเรือนที่ 39.0 มิลลิเมตร หนา 9.13 มิลลิเมตร กันน้ำได้ลึก 30 เมตร โดยสวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้โทนสีน้ำเงินหรือสีน้ำตาล พร้อมที่พับล็อกสาย
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF BREGUET
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่