Bovet 19Thirty Fleurier ณ รุ่งอรุณแห่งศตวรรษที่ 21 Pascal Raffy ได้ตัดสินใจบางอย่างที่กลายเป็นก้าวสำคัญในโลกแห่งนาฬิกาสวิส และทำให้ชื่อของเขาเองไม่อาจแยกห่างจากแบรนด์ Bovet 1822 ได้เลยนับตั้งแต่นั้นมา
Bovet 19Thirty Fleurier (โบเวต์ ไนน์ทีนเธอร์ตี้ เฟลอริเย่ร์) ก่อนจะกล่าวถึงนาฬิการุ่นล่าสุด ขอย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของแบรนด์ คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและหลงใหลในนาฬิกาหัตถศิลป์เรือนสวยแล้ว ชื่อของ โบเวต์ 1822 (Bovet 1822) ย่อมปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเพราะการเป็นผู้ผลิตเรือนเวลาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึงเกือบสองร้อยปี นับตั้งแต่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองขึ้นในปีค.ศ. 1822 กับความโดดเด่นของการติดตั้งเม็ดมะยมไว้ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา พร้อมทั้งงานดีไซน์โค้งแบบโบ ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมถึงการผสมผสานด้วยทั้งศิลปะและงานฝีมือชั้นยอดที่ทำให้ชื่อของ Bovet ขจรขจายไปไกลข้ามทวีป
Bovet ถือกำเนิดขึ้นโดยฝีมือของ Edouard Bovet (เอดูอารด์ โบเวต์) ช่างนาฬิกาผู้สืบทอดสายเลือดช่างนาฬิกาแห่ง Fleurier (เฟลอริเยร์) มาจากบิดาของเขา โดยแรกเริ่มจดทะเบียนบริษัทขึ้นในลอนดอน ด้วยเป้าหมายของธุรกิจเพื่อทำการค้าขายนาฬิการ่วมกับจีน กระทั่งบริษัทได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้ย้ายศูนย์การผลิตมายังเมือง Fleurier พร้อมทั้งต่อยอดชื่อเสียงของนาฬิกา Bovet ให้เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกลักษณ์และความโดดเด่นของการเป็นเรือนเวลาแห่งศิลปะการตกแต่งอันวิจิตรงดงาม และนั่นยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Edouard Bovet ได้เป็นผู้บุกเบิกการใช้ฝาหลังแบบกระจกใส เพื่อเปิดโชว์ให้เห็นความเชี่ยวชาญชั้นยอดด้านจักรกลของตน เช่น Duplex escapement ซึ่งติดตั้งอยู่ในกลไกของนาฬิกา Bovet มานับตั้งแต่ปีค.ศ. 1822 จวบจนกระทั่ง Swiss lever escapement ได้เข้ามาแทนที่
นอกจากชื่อเสียงทั้งด้านศิลปะงานฝีมือและกลไกจักรกลชั้นเลิศแล้ว Bovet House ที่เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1830 และตั้งอยู่ใน Fleurier เองก็โด่งดังเป็นที่รู้จักไม่แพ้กัน โดยมักถูกเรียกขานกันว่า “The Chinese Palace” จากชื่อเสียงของแบรนด์เองที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในจีน จนกระทั่งปีค.ศ. 1905 อาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นศาลากลางเมืองด้วยชื่อว่า “Hôtel de Ville” (โอเต็ล เดอ วิลล์) และ ณ ปัจจุบัน กลายเป็นที่ตั้งขององค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการนาฬิกา อย่าง Fleurier Quality Foundation ซึ่งแน่นอนว่ามีแบรนด์ Bovet เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งด้วย
เมื่อเข้าสู่ยุคของ Pascal Raffy (ปาสกาล ราฟฟี่) นักธุรกิจผู้เปี่ยมล้นด้วยแรงบันดาลใจ ความหลงใหล และมีวิสัยทัศน์ด้านเรือนเวลาได้เข้ามาดูแล House of Bovet (เฮ้าส์ ออฟ โบเวต์) ในฐานะเจ้าของบริษัทเมื่อปีค.ศ. 2001 กับเป้าหมายสูงสุดคือการสืบทอดไว้ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะของเหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์เรือนเวลาของแบรนด์ ไปพร้อมๆ กับหวนคืนสู่การผลิตกลไกจักรกลขึ้นทั้งหมดภายในโรงงานของตนเอง รวมทั้งยกระดับให้ Bovet เป็นดั่งศิลปะชิ้นเอกของการประดิษฐ์สร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง ซึ่งนั่นก็ไม่ทำให้ผู้ที่รักและนิยมชมชอบความคลาสสิกร่วมสมัยของเครื่องบอกเวลาต้องผิดหวัง โดยเฉพาะในกลุ่มนักสะสมเรือนเวลา
แม้จะมีประวัติศาสตร์ไปจนถึงมรดกผลงานอันเปี่ยมด้วยคุณค่ามากมายจาก House of Bovet แต่ภายใต้การนำของ Pascal Raffy เขาเองก็ไม่หยุดที่จะพัฒนา และต่อยอดความโดดเด่นของแบรนด์นาฬิกาอันเก่าแก่ไปสู่มิติอื่นๆ ทั้งด้านคุณภาพของกลไกจักรกลไปจนถึงงานดีไซน์ และศิลปะการตกแต่งเรือนเวลา ที่ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่หรือประเพณีดั้งเดิม ก็ล้วนถูกหล่อหลอมอยู่ในนาฬิกาคอลเลกชั่นหลักต่างๆ ได้อย่างสวยเด่นและงดงามเสมอ โดย ณ ปัจจุบัน หากไม่นับรวมผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษแล้ว Bovet มีคอลเลกชั่นเรือนเวลาที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวกว่า 7 คอลเลกชั่น โดยเฉพาะไฮไลต์ของปีนี้กับการเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ ชื่อเท่ๆ 19Thirty (ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก นาฬิกาพกโบเวต์ช่วงทศวรรษ 1930) ที่นับเป็นสมาชิกคอลเลกชั่นล่าสุด ภายใต้ร่มเงาของ Bovet 1822
19Thirty Fleurier นาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ตัวเรือน Fleurier ซึ่งนับเป็นมรดกเก่าแก่และเป็นสัญลักษณ์แห่งสองศตวรรษของการประดิษฐ์สร้างสรรค์นาฬิกาของแบรนด์ ทั้งเม็ดมะยม และโบคล้องที่ติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ตามต้นตำนานของบรรดานาฬิกาพกแห่งศตวรรษที่ 19 มาเป็นโจทย์ในการตีความใหม่สู่ความสง่างาม ทันสมัย และคงความประณีตวิจิตรของงานตกแต่ง ทั้งเม็ดมะยมและปลายบานพับฝังด้วยแซฟไฟร์หลังเบี้ย โดยรุ่นใหม่ของปีนี้ เป็นเรือนเวลาหรูหราเหมาะกับสุภาพบุรุษออกงานสำคัญๆ ยามค่ำคืน มาพร้อมตัวเรือนขนาด 42 มม. เลือกได้ในเวอร์ชั่นทำจากเรดโกลด์ และสเตนเลสสตีล และ Pascal Raffy ยังได้รังสรรค์ความพิเศษสุดให้กับรุ่นนี้ด้วยหน้าปัดเฉดสีแดงเข้ม พร้อมทั้งงานตกแต่ง guilloché (กีโยเช่) ไล่รัศมีจากศูนย์กลางของทั้งหน้าปัดใหญ่และหน้าปัดเล็กได้อย่างวิจิตรบรรจง ขณะที่หน้าปัดสีแดงเด่นนี้ยังตัดกับฉากหลังสีดำที่ตกแต่งด้วยลวดลาย Côtes de Genève (โก้ตส์ เดอ เชอเนฟ) ประณีต ส่วนด้านของกลไก Calibre 15BM04 ยังสะท้อนมุมมองความงดงามเดียวกัน ด้วยการติดตั้งกระจกแซฟไฟร์ใส และเปิดโชว์ให้เห็นงานฝีมือการตกแต่งที่สวยงามชวนมอง ไม่แพ้กับหน้าปัดด้านหน้า ซึ่ง Bovet เป็นผู้นำในการโชว์กลไกด้านหลังตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมสายหนังจระเข้ ทั้งยังกันน้ำได้ถึง 30 เมตร
และนอกเหนือจากการมีตัวเลขโรมันสีขาวแสดงชั่วโมงและนาทีแล้ว เรือนเวลารุ่นนี้ยังแสดงวินาทีบนหน้าปัดเล็กที่ 6 นาฬิกา ที่สะท้อนถึงเสน่ห์ของยุคอันเรืองรองของนาฬิกาพกแห่งศตวรรษที่ 19 พร้อมทั้งช่องหน้าต่างและเข็มชี้ตรงกับตำแหน่ง 3 นาฬิกาของตัวเรือน ซึ่งทำหน้าที่แสดงพลังงานสำรอง 7 วันของกลไก ที่แม้ว่าจะติดตั้งด้วยกระปุกสปริงลานเพียงตัวเดียว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตำนานแห่งความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและความเที่ยงตรงของ Bovet ที่สืบทอดมาจากความสำเร็จในการประดิษฐ์นาฬิกาพกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งผลงานครั้งนั้นสามารถสำรองพลังงานได้สูงสุดถึง 370 วัน จนกลายเป็นสถิติตลอดกาลมาแล้ว ส่วนฝาหลังกระจกใสก็ยังคงสืบทอดมาจากการบุกเบิกใช้ฝาหลังเปลือยใสในยุคต้นศตวรรษที่ 19 ของ Bovet ไว้ได้อย่างครบถ้วน
จากการหลอมรวมไว้ซึ่งมรดกสำคัญแห่งตำนานและชื่อเสียงของ House of Bovet นับจากยุคอดีตจนถึงปัจจุบันเช่นนี้เอง ที่ทำให้ชื่อของ Bovet 1822 ยังคงตราตรึงในดวงใจของคนรักเรือนเวลาสุดประณีตได้เสมอ
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF Bovet
MUSIC: Royalty free music from https://www.zapsplat.com
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่