หลังเปิดตัวในฐานะคอลเลกชั่นใหม่ได้ไม่นาน Code 11.59 by Audemars Piguet ก็ขยับขยายสู่การพัฒนาครั้งใหม่ โดยเฉพาะการเติมเสน่ห์ด้วยรุ่นทูโทน และใส่รายละเอียดการตกแต่งบนหน้าปัดมากยิ่งขึ้นในผลงานรุ่นล่าสุด
Audemars Piguet: Code 11.59 Selfwinding Chronograph ไม่หยุดนิ่งและเดินหน้าสร้างสรรค์นาฬิกามาอย่างต่อเนื่อง และนี่ถือเป็นก้าวใหม่ล่าสุดที่ โอเดอมาร์ ปิเกต์ (Audemars Piguet) ได้มอบวิวัฒนาการให้กับคอลเลกชั่นน้องใหม่ของแบรนด์ อย่าง Code 11.59 by Audemars Piguet ด้วยนาฬิกากลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติโครโนกราฟสองรุ่นบุกเบิกใหม่ ในรูปแบบทูโทนระหว่างไวท์โกลด์ 18K หรือพิงค์โกลด์ 18K ที่จับคู่มากับเซรามิกสีดำ มอบสไตล์ที่ดูแล้วโฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้น แต่ยังคงความหรูคลาสสิก และร่วมสมัยตามแบบฉบับของ Audemars Piguet ไว้เช่นเคย
Code 11.59 ถือเป็นคอลเลกชั่นน้องใหม่ล่าสุดของแบรนด์ ด้วยการเปิดตัวครั้งแรกในปีค.ศ. 2019 กับการเขียนบทใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของ Audemars Piguet ด้วยการเป็นตัวแทนของวิวัฒนาการการสร้างสรรค์ และการออกแบบนาฬิกาทรงกลมคลาสสิกอันร่วมสมัย โดยนำเสนอผ่านโครงสร้าง และสถาปัตยกรรมตัวเรือนทรงโค้งและมีหลากหลายมิติ พร้อมทั้งรายละเอียดที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตัวเรือนรูปทรงกลมที่ผสานเข้ากับรูปทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ หรือกระจกแซฟไฟร์ทรงโค้งสองชั้นสำหรับมอบมุมมองบนหน้าปัดที่หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการเลือกสรรวัสดุสำหรับรังสรรค์หน้าปัด เพื่อความลุ่มลึก และสะท้อนถึงความประณีตละเอียดอ่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ยังได้นำเสนอโทนสีสันใหม่ของหน้าปัดในรุ่น Selfwinding ออกมาสะกดสายตาคนรักนาฬิกา อาทิ หน้าปัดสีแดง หรือ สโมคเบอร์กันดี หน้าปัดสีม่วง หรือ สโมคเพอร์เพิล และหน้าปัดสีเทา-ดำแบบไล่เฉด นอกจากนี้ยังมีรุ่นกลไกสลับซับซ้อน อย่าง เซลฟ์ ไวดิ้ง ฟลายอ้ง ทูร์บิยง โครโนกราฟ (Selfwinding Flying Tourbillon Chronograph) และ กรองด์ ซอนเนอรี การียง ซุแปร์ซอนเนอรี (Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie) ที่ถือเป็นการหลอมรวมระหว่างประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูง เข้ากับความร่วมสมัยของนาฬิกาคอลเลกชั่นนี้ได้อย่างลงตัวเช่นกัน
Audemars Piguet: Code 11.59 Selfwinding Chronograph
แต่สำหรับวิวัฒนาการก้าวใหม่ของวันนี้ รุ่นนี้ได้ต้อนรับอีกหนึ่งรูปลักษณ์ใหม่ของการตีความความร่วมสมัย และสไตล์ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยมาจากการผสมผสานวัสดุสองสีในแบบทูโทน และยังใส่รายละเอียดเพิ่มเติมของงานตกแต่งบนหน้าปัด เพื่อให้นาฬิกาทูโทนเหล่านี้เป็นตัวแทนของเจเนอเรชั่นใหม่สำหรับคอลเลกชั่นที่กำลังเติบโต และขยับขยายความหลากหลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จุดเด่นของการผสมผสานแบบทูโทนสำหรับสองรุ่นใหม่นี้ยังไม่ธรรมดา เพราะเป็นความท้าทายทางเทคนิคครั้งใหม่ ในการผสานตัวเรือนชิ้นกลางทำจากเซรามิกสีดำเข้ากับขอบตัวเรือน หูเชื่อมสาย และฝาหลังที่รังสรรค์ขึ้นจากทอง พร้อมทั้งตกแต่งด้วยงานขัดด้านซาติแนวตั้งบนหน้าปัด ที่มอบมิติของลวดลายที่รับและกลมกลืนไปกับงานขัดซาตินบนพื้นผิวตัวเรือนของนาฬิกา สำหรับชิ้นส่วนตัวเรือนกลางนั้นประดิษฐ์รังสรรค์ขึ้นจากความร่วมมือของ Bangerter บริษัทสวิสที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวผู้เชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนประกอบอันแม่นยำ ที่ทำจากวัสดุล้ำสมัย อย่าง เซรามิก ทังสเตนคาร์ไบด์ และวัสดุเนื้อแข็งสูงอื่นๆ
ในการผลิตตัวเรือนชิ้นกลางสำหรับนาฬิการุ่นนี้ยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน จากกระบวนการผสมเซอร์โคเนียมออกไซด์ (Zirconium Oxide, ZrO2) เข้ากับสารยึดเกาะ ด้วยวิธีการแบบลับเฉพาะของ Bangerter จากนั้นวัตถุดิบนี้จะถูกขึ้นรูปทรงเบื้องต้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยของเครื่องจักร CNC แบบ 5 แกนรุ่นล่าสุด (5-axis CNC Machine) และเมื่อขึ้นรูปครั้งแรกเสร็จ จึงผ่านการนำสารยึดเกาะออกจากชิ้นส่วน และนำไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1,400 องศาเซลเซียส เพื่อเพิ่มความแข็ง โดยความท้าทายในการทำงานกับเซรามิกนี้คือ วัสดุจะหดตัวในระหว่างกระบวนการเผาประมาณ 25% จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะในการผลิตที่แม่นยำ หลังจากนั้นชิ้นส่วนจะถูกกลึงด้วยเครื่องมือเฉพาะ เพื่อเตรียมให้พร้อมสำหรับการเก็บรายละเอียดของเหลี่ยมมุมต่างๆ รวมถึงการเตรียมสำหรับงานขัดลายซาติน ก่อนที่จะถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นการรังสรรค์ด้วยมือโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
โดยส่วนประกอบทั้งเซรามิกและทองของนาฬิกา Code 11.59 by Audemars Piguet ล้วนผ่านการขัดด้วยมือทั้งหมด และใช้เทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ อย่างการขัดลายซาตินและการขัดเงาลบมุมด้วยความประณีตพิถีพิถัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ เพื่อให้ได้องค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบระหว่างชิ้นส่วนที่เป็นทองและเซรามิก และยังต้องผสมผสานความแตกต่างของวัสดุและพื้นผิว ที่มีทั้งความโค้งมนและเหลี่ยมมุมเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มลูกเล่นที่น่าสนใจ และมีมิติยิ่งขึ้นเมื่อแสงตกกระทบ
ซึ่งในนาฬิกาสองรุ่นใหม่ของ Code 11.59 ทั้งในเวอร์ชั่นพิงค์โกลด์และไวท์โกลด์ 18K ยังเสริมความโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยหน้าปัดสีสโมคเกรย์ที่ไล่เฉด จากสีเทาเข้มรอบนอกสู่เฉดที่อ่อนลงบริเวณศูนย์กลาง พร้อมทั้งรายละเอียดของการขัดลายซาตินในแนวตั้งเข้ากับงานขัดซาตินบนผิวตัวเรือน ส่วนบนหน้าปัดย่อยแสดงผลโครโนกราฟ และขอบตัวเรือนด้านในสีดำที่เข้มกว่า เพื่อช่วยเพิ่มมิติให้กับหน้าปัดนาฬิกา และเข้ากันได้ดีกับตัวเรือนกลางที่เป็นเซรามิกสีดำทรงแปดเหลี่ยม นอกจากนี้ยังบรรจุด้วยเครื่องหมายหลักบอกชั่วโมง และเข็มชี้ทำจากทั้งไวท์โกลด์และพิงค์โกลด์ 18K เช่นกัน
ทั้งสองรุ่นใหม่ขับเคลื่อนด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติฟลายแบ็กโครโนกราฟ Calibre 4401 ซึ่งเป็นกลไกจักรกลโครโนกราฟแบบผสานชุดล่าสุดจากโรงงานการผลิตของ Audemars Piguet โดยใช้ระบบคอลัมน์วีล (column wheel) และฟังก์ชั่นฟลายแบ็ก (flyback) ที่สามารถเริ่มต้นจับเวลาใหม่ได้ โดยไม่ต้องหยุดหรือรีเซ็ตเข็ม พร้อมทั้งการทำงานความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 4 เฮิร์ตซ์ ซึ่งมอบการสำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง รวมถึงคุณสมบัติของการกันน้ำได้ระดับ 30 เมตร จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีไลฟ์สไตล์ที่ท้าทายและไม่หยุดนิ่ง ใน Calibre 4401 ยังติดตั้งเพิ่มเติมด้วยระบบคลัทช์แนวตั้ง (vertical clutch) ที่ป้องกันไม่ให้เข็มนาฬิกาเคลื่อน เมื่อเริ่มหรือหยุดการจับเวลา รวมถึงจักรกลการรีเซ็ตไปที่ศูนย์ ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเฉพาะ ซึ่งเป็นระบบเพื่อรับประกันว่าเข็มจับเวลาทุกเข็มจะถูกรีเซ็ตไปที่ศูนย์ได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งเผยให้เห็นรายละเอียดของชิ้นส่วน ที่โดยทั่วไปมักจะซ่อนไว้ด้วยฝาหลังกระจกแซฟไฟร์ อย่างชิ้นส่วนสำคัญของคอลัมน์วีล และการเคลื่อนไหวของค้อนโครโนกราฟที่เรียกว่า “dance” บ่งบอกถึงจังหวะที่ฉับไวและแม่นยำ รวมถึงรายละเอียดการตกแต่ง ที่สะท้อนความหรูหราของคอลเลกชั่น ไม่ว่าจะเป็น ลวดลาย Côtes de Genève, เทคนิค traits tirés และ circular graining ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านฝาหลังของนาฬิกา
และขาดไม่ได้เช่นกันคือเสน่ห์ของสายเคลือบยางกับผิวสัมผัสอันร่วมสมัย ซึ่งในคอลเลกชั่นนี้มาพร้อมกับสายเคลือบยางสีดำ โดยเป็นการเคลือบยางบนวัสดุภายในทำจากหนังลูกวัว และเพิ่มรายละเอียดด้วยเทกซ์เจอร์บนสาย เพื่อให้สัมผัสได้ถึงความทันสมัย รวมถึงสายนาฬิกานี้ยังเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับหูสายแบบเปลือยโปร่งหรือ openworked ที่เชื่อมเข้ากับขอบตัวเรือนได้อย่างลงตัว ยิ่งถ่ายทอดให้เห็นถึงเทคนิคการรังสรรค์ชิ้นงานที่ประณีต และเน้นให้ตัวเรือนแบบทูโทน ด้วยสีที่ตัดกันระหว่างสองวัสดุนี้ยิ่งดูโดดเด่นมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งผลงานใหม่ของ คอลเลกชั่น Code 11.59 by Audemars Piguet ที่ดูกลมกล่อมและชวนมองในทุกมิติ
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF AUDEMARS PIGUET
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
Music: Al Andalus by Shane Ivers – https://www.silvermansound.com
Licensed under Creative Commons Attribution 4.0 International License
https://creativecommons.org/licenses/by/4.0/
Music promoted by https://www.chosic.com/
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถอ่านคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ นาฬิกา ได้ ที่นี่