คัดสรรมาให้เลือกครอบครองแล้ว กับเรือนเวลาสลับซับซ้อนสี่รุ่นสี่คาแรกเตอร์ใหม่จากผู้ผลิตนาฬิกาชื่อก้อง Audemars Piguet
นับเป็นการเปิดตัวพร้อมกันถึงสี่รุ่นกับสี่ความสลับซับซ้อนสำหรับคอนักสะสมเรือนเวลาที่ชื่นชอบเรื่องราวของจักรกลและความอัจฉริยะด้านเทคนิคการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูงของแบรนด์ Audemars Piguet (โอเดอมาร์ส ปิเกต์) ซึ่งล่าสุดได้ยกขบวนความซับซ้อนของผลงานนาฬิกา Complications มานำเสนอด้วยกันถึงสี่รุ่นทั้งจากคอลเลกชั่น Code 11.59 by Audemars Piguet และ Royal Oak ไปชมกันเลยว่ามีรุ่นไหนโดนใจคุณๆ บ้าง
หลังเปิดตัวในฐานะครอบครัวคอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดของแบรนด์ได้ไม่นานนับจากปีค.ศ. 2019 Code 11.59 by Audemars Piguet ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนาฬิกาแฟมิลีที่มาแรง ด้วยบุคลิกของความทันสมัยล้ำยุค บวกกับโครงสร้างตัวเรือนที่ซับซ้อนซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การสวมใส่บนข้อมือได้อย่างสะดวกสบายและลงตัวยิ่งขึ้น จากกระแสตอบรับที่ดีมาอย่างต่อเนื่องนี้เองที่นอกจากการผสมผสานด้วยนวัตกรรมวัสดุใหม่ๆ มาแล้วก่อนหน้านี้ ก็ถึงคราวที่ Code 11.59 by Audemars Piguet จะเติมเต็มความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นด้วยการบรรจุด้วยกลไกจักรกลสลับซับซ้อนที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Audemars Piguet ไว้ด้วยเช่นกัน
โดยในรุ่นสลับซับซ้อนใหม่ของ Code 11.59 by Audemars Piguet Tourbillon Openworked นี้ไม่เพียงโดดเด่นสะดุดตาด้วยการตกแต่งตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 41.0 มิลลิเมตรในแบบทูโทนจากการประดิษฐ์ขึ้นจากไวท์โกลด์และพิงค์โกลด์ 18 กะรัต ซึ่งการใช้ทองต่างเฉดสียังช่วยเสริมความโดดเด่นให้กับชิ้นส่วนตัวเรือนกลางที่มีเหลี่ยมมุมแบบเรขาคณิต รวมถึงถ่ายทอดภาพที่ตัดกันแต่ลงตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังจับคู่การผสมผสานของเฉดสีเทาที่ดูล้ำสมัยของหน้าปัด ทายาทรุ่นใหม่นี้ยังติดตั้งไว้ด้วยกลไกจักรกลแบบโอเพนเวิร์ก (openworked) Calibre 2948 สำรองพลังงานได้ 72 ชั่วโมง ผ่านการตกแต่งด้วยมืออย่างประณีตพิถีพิถันในหลากหลายเลเยอร์ของชิ้นส่วนประกอบที่ฉลุแบบเปลือยโปร่งด้วยมือ ขณะที่ชิ้นส่วนหลักๆ อย่างสะพานจักร กระปุกลาน และชุดเฟืองต่างตกแต่งด้วยเฉดสีเทาโดดเด่นและตัดกันกับบาลานซ์วีล (Balance wheel) พิงค์โกลด์ พร้อมทั้งเผยความซับซ้อนของตูร์บิญอง (tourbillon) บนหน้าปัด สำหรับรุ่นนี้มาพร้อมกับสายเคลือบยางสีเทาซึ่งเพิ่มเทกเจอร์บนสายนาฬิกาให้ดูทันสมัยอีกด้วย
ถัดมาคือความสลับซับซ้อนของการแสดงเวลาด้วยเสียงในรุ่น Royal Oak Minute Repeater Supersonnerie ที่ครั้งนี้เผยโฉมภายใต้รูปลักษณ์สง่างามของตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 42.0 มิลลิเมตร ที่ทำจากไทเทเนียมทั้งเรือน โดยมาพร้อมการทำงานของกลไกจักรกลไขลานด้วยมือผลิตภายในโรงงานของตนเอง อย่าง Calibre 2953 และจักรกลตีระฆังบอกเวลาหรือมินิท รีพีทเตอร์ Supersonnerie ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรถึงสามฉบับ จากการคิดค้นขึ้นโดย Audemars Piguet และเปิดตัวแนะนำเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 2016ในคอลเลกชั่น Royal Oak Concept ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเช่นนี้ยังมาจากการวิจัยและพัฒนาอันยาวนานถึง 8 ปี ภายใต้การทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีโลซานน์แห่งสหพันธรัฐสวิส (Swiss Federal Institute of Technology Lausanne: EPFL) จากการนำแรงบันดาลใจในระบบเสียงของนาฬิกามินิท รีพีทเตอร์ยุคเก่าและเสียงอันไพเราะของเครื่องดนตรีมาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อบอกขานเวลา
นอกจากความซับซ้อนของจักรกลตีระฆังแล้ว ในผลงานรุ่นใหม่ของ Royal Oak Minute Repeater Supersonnerie ยังผ่านการตกแต่งอย่างประณีตและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยหน้าปัดแกะลายกิโยเช่ในเหลือบสีเทาสโมคเกรย์ไล่เฉดสไตล์โมโนโครม เพื่อเติมเต็มสไตล์และลุคของนาฬิกาซึ่งมีตัวเรือนทำจากไทเทเนียม และฝาหลังไทเทเนียมสลักด้วยคำว่า “Royal Oak Supersonnerie” รวมถึงลวดลายคลื่นเสียง พร้อมอุทิศให้กับทั้งประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาตีระฆังบอกเวลาในอดีตที่ ณ วันนี้ได้ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีอันล้ำสมัยภายในนาฬิการุ่นนี้ที่ได้เป็นตัวแทนและพร้อมจะดึงดูดใจเหล่านักสะสมด้วยเสียงอันไพเราะและแม่นยำของการแสดงเวลา
Royal Oak Perpetual Calendar
ต่อเนื่องด้วยนาฬิกาปฏิทินถาวรที่ปรากฏโฉมในรุ่น Royal Oak Perpetual Calendar ใหม่กับตัวเรือนทำจากไทเทเนียม และหน้าปัดดีไซน์ใหม่ที่เป็นการจับคู่ระหว่างหน้าปัดกลางลวดลาย “Grande Tapisserie” สีน้ำเงินตัดกับบรรดาหน้าปัดย่อยสีเทา มอบบุคลิกใหม่ในแบบทูโทนให้กับผลงานรุ่นนี้ได้อย่างดึงดูดสายตา ซึ่งรุ่นนี้พร้อมเปิดตัวแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน ก่อนจะมีจำหน่ายแบบบูติกเอ็กซ์คลูซีฟที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยในเดือนตุลาคมนี้
หนึ่งในจุดเด่นของ Royal Oak Perpetual Calendar โฉมใหม่ย่อมหนีไม่พ้นตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 41.0 มิลลิเมตร และสายนาฬิกาที่สร้างสรรค์ขึ้นจากไทเทเนียม เกรด 5 ตอกย้ำถึงการผนวกระหว่งประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาสลับซับซ้อนชั้นสูงเข้ากับเทคโนโลยียุคสมัยใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็มอบทั้งความมีน้ำหนักเบา แข็งแกร่งทนทานและกันการสึกกร่อนได้อย่างยอดเยี่ยมให้กับนาฬิกาสุดคลาสสิกที่มาพร้อมการแสดงปฏิทินถาวรหรือ perpetual calendar โดยรุ่นนี้มาพร้อมการทำงานของกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ Calibre 5134 ที่สามารถคำนวณจำนวนวันในแต่ละเดือนได้โดยอัตโนมัติและแสดงวันที่ได้อย่างถูกต้องเสมอแม้ในปีอธิกสุรทิน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการปรับตั้งไปจนถึงปีค.ศ. 2100
ส่วนฝาหลังกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ยังเผยให้เห็นการทำงานและรายละเอียดการตกแต่งกลไกภายในอย่างประณีตพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย Côtes de Genève ไปจนถึงเทคนิค Circular Graining เทคนิคการขัดลายซาตินวงกลมและการขัดลบมุม ส่วนโรเตอร์ขึ้นลานทำจากทองคำ 22 กะรัตยังตกแต่งเพิ่มเติมด้วยลวดลาย Clous de Paris ด้วย
ปิดท้ายด้วยสมาชิกความสลับซับซ้อนในสองเวอร์ชั่นใหม่ของนาฬิกาโครโนกราฟรุ่นคลาสสิกยอดนิยม แต่โดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยตัวเรือน Frosted gold ของ Royal Oak Frosted Gold Selfwinding Chronograph ซึ่งในสองรุ่นโฉมใหม่นี้ยังติดตั้งไว้ด้วยกลไกจักรกลโครโนกราฟเจเนอเรชั่นล่าสุดของ Audemars Piguet อย่าง Calibre 4401 สำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง ขณะที่สามารถมองเห็นการทำงานภายในได้ผ่านฝาหลังกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ โดยกลไกอันสมบูรณ์แบบนี้ประกอบด้วยการติดตั้งคอลัมน์วีล (Column Wheel) และฟังก์ชั่นการทำงานแบบฟลายแบ็ก (Flyback) ที่แตกต่างไปจากกลไกฟลายแบ็กทั่วไป ซึ่งช่วยให้สามารถเริ่มต้นจับเวลาใหม่ได้โดยไม่ต้องหยุดหรือรีเซ็ต และคอลัมน์วีลจะทำงานร่วมกับระบบคลัตช์แนวตั้ง (Vertical clutch) ในการป้องกันไม่ให้เข็มชี้มีการกระโดดเมื่อเริ่มหรือหยุดการจับเวลา อีกทั้งยังมีกลไกการรีเซ็ตเป็นศูนย์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่าเข็มจับเวลาบนหน้าปัดย่อยแต่ละเข็มจะรีเซ็ตกลับไปที่ศูนย์ได้อย่างไม่ติดขัด ส่วนปุ่มกดจับเวลาได้ถูกออกแบบมาให้กดใช้งานได้ง่ายและนุ่มนวลขึ้นอีกด้วย
Frosted Gold Selfwinding Chronograph © Courtesy of Audemars Piguet
สำหรับ Royal Oak Frosted Gold Selfwinding Chronograph นำเสนอระหว่างตัวเรือน Frosted gold ทำจากไวท์โกลด์หรือพิงค์โกลด์ 18 กะรัต ซึ่งทั้งสองเวอร์ชั่นมาพร้อมตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 41.0 มิลลิเมตร และจับคู่มากับหน้าปัดลาย “Grande Tapisserie” สีดำหรือสีน้ำเงินตามลำดับ เสริมด้วยหน้าปัดย่อยสีตัดกันกับหน้าปัด แต่จับคู่สีเดียวกันกับตัวเรือนได้อย่างลงตัว โดยสองเวอร์ชั่นใหม่นี้จะมีจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนกันยายน ก่อนจะวางจำหน่ายไปทั่วโลกนับจากเดือนตุลาคม 2021 นี้ แฟนๆ ของ Audemars Piguet อาจต้องคอยอัปเดตว่าจะมาถึงบูติกในประเทศไทยประมาณเมื่อไหร่
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF AUDEMARS PIGUET
STOCK FOOTAGE: www.motionstock.net
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่