Antique Jewelry เครื่องประดับโบราณที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในยุคต่างๆได้เป็นอย่างดี ยุคที่น่าสนใจในแต่ละทศวรรษของศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ อาร์ต นูโว อาร์ต เดโค ยุคอินดัสเตรียล ป๊อป อาร์ต
ของเก็บสะสมที่ผู้คนหลงใหลนั้น มีหลายสิ่ง ตั้งแต่งานศิลปะ รถคันงาม เฟอร์นิเจอร์ พรม เหรียญตรา แสตมป์ ไปจนถึงไวน์ของปีที่องุ่นรสชาติดี ส่วนนาฬิกาและเครื่องประดับเพชรพลอย นั้นได้มีสถิติตัวเลขเผยออกมาในแต่ละช่วงว่านักสะสมนิยมของชนิดใดเป็นพิเศษ ในปัจจุบันอัตราสูงสุดของความนิยมก็คือพวกเครื่องประดับ Antique Jewelry นี้เอง ว่ากันว่า จะมีอยู่ไม่กี่แบรนด์ที่นักสะสมจะนิยมตามล่ากัน นั่นได้แก่แบรนด์ดังๆ อย่าง คาร์เทียร์ ทิฟฟานีส์ แวนคลีฟ แอนด์ อาร์เพลส์ แฮรี่ วินสตัน เป็นต้น เครื่องประดับตกแต่งมีมานานตั้งแต่โบราณกาล เพราะนอกจากความสวยงามแล้วยังบ่งบอกถึงสถานะของผู้สวมใส่อีกด้วย เครื่องประดับโบราณยังเป็นต้นแบบ และถูกเลียนแบบมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นกำไลร้อยหินสีสลับด้วยเม็ดทองคำจากอียิปต์โบราณ ที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ วงการเครื่องประดับได้พัฒนาคิดค้นวิธีการสร้างแบบตัวเรือน การเลือกใช้วัสดุ การสลักเสลา ซึ่งถือว่าเป็นงานศิลป์ที่ละเอียดละออแขนงหนึ่ง
เครื่องประดับอาร์ตนูโว เริ่มเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1890-1914 เริ่มแนวเครื่องประดับแบบประณีต จนเรียกได้ว่าเป็นศิลปะแห่งการตกแต่ง ทั้งทางด้านเทคนิค วัสดุ และลวดลาย ถูกรังสรรค์ด้วยศิลปินที่เรียกได้ว่าล้ำสมัย ข้าวของสไตล์อาร์ตนูโวนี้ถือกำเนิดจากฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และยังมีประเทศอื่นๆ ในยุโรปอีก เป็นช่วงเปลี่ยนจากยุควิกทอเรียนสู่ยุคสมัยใหม่ เครื่องประดับจึงมีรูปทรงอิสระโดยได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ แนวออกแบบใหม่ด้วยวัสดุใหม่ๆ ในเชิงงานฝีมือจากเครือจักรภพอังกฤษ ศิลปะแบบญี่ปุ่น ทำให้ศิลปินเลือกวัสดุกลางๆ ที่ไม่ได้มีราคาค่างวดแพงๆ แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ อาร์ตนูโวยังถ่ายทอดอารมณ์อันอ่อนไหว ลึกลับ และโรแมนติกด้วยสีสันอันอ่อนหวาน โค้งเว้าดังรูปร่างของนางฟ้านางพราย หลากหลายด้วยความอ่อนช้อยของดอกไม้ สัตว์ป่า ผีเสื้อและแมลงปอ…
สาวๆ ผู้ชื่นชอบเครื่องประดับแบบนี้คือสาวผู้ร่ำรวยมีแนวคิดอิสระแบบโบฮีเมียน ฝีมือละเอียดลออของงานช่าง ขึ้นรูปสลักลงบนทอง ลงยาแบบสวยงามโปร่งบาง ซึ่งต้องใช้ทั้งฝีมือและเวลา ทั้งเทคนิคอื่นๆ อย่างแกะลายกิโยเช่ก็เป็นที่นิยม ศิลปะอาร์ตนูโวนี้เน้นรูปลักษณ์มากกว่าเพชรพลอยราคาแพง เน้นให้เห็นว่าราคาและคุณค่านั้นอยู่ที่งานฝีมือ และแนวคิดสร้างสรรค์ในการใช้วัสดุใหม่ๆควบคู่ไปกับเพชรพลอย
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับยุคใดสมัยใดที่ถูกเก็บสะสมอย่างดี ราคาค่างวดก็จะทวีขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป
สร้อยข้อมือจากหลุมพระศพของ Djer ราชวงศ์ 1 (2920-2770 ก่อนคริสตศักราช) ทำจากลูกปัดทอง ลาพิส ลาซูรี ความยาว 10.2-15.6 ซม. จากพิพิธภัณฑ์อียิปต์ แผนกเครื่องโบราณอียิปต์ กรุงไคโร
จี้ห้อยของ Mereret ราชวงศ์ที่ 7 (1881-1794 ก่อนคริสตศักราช) ประดับด้วยหินมีค่า ความสูง 4.6 ซม. จากพิพิธภัณฑ์อียิปต์ แผนกเครื่องโบราณอียิปต์ กรุงไคโร
อเล็กซองดร์-กาเบรียล เลอโมนนิเยร์ ค.ศ.1808-1864 ฝรั่งเศส มงกุฎของจักรพรรดินีเออเชนี สไตล์เอ็มไพร์ สูง 13 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 15 ซม. พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ปารีส
René Lalique ค.ศ.1860-1945 ฝรั่งเศส เข็มกลัดแมลงปอ 1897-1898 ทำจากทอง คริสโซเพรส และมูนสโตน ขนาด 23-26.6 ซม. พิพิธภัณฑ์ Calouste Culbenkian Foundation แผนกอาร์ตนูโว กรุงลิสบอน
Maison Boucheron ค.ศ.1858 – ปัจจุบัน ฝรั่งเศส พู่ตกแต่งสำหรับคอเสื้อ 1925 ทำจากลาพิส ลาซูริ และไลน์สโตน จี้ห้อยจากปะการัง หยกและออนิกส์ ทอง เทอร์ควอยซ์ เพชรและแพลทีนัม บูเชอรอง เอเอสเอ ปารีส อาร์ต เดโค
Jean Schlumberger ค.ศ.1907-1987 ฝรั่งเศส เข็มกลัดปลา (1956) ทำจากทอง อะเมธิสต์ ทับทิม อความารีน ลงแลกเกอร์แดง ขนาด 6.4 X 4.6 ซม. พิพิธภัณฑ์ Musée des Arts decoratifs แผนกอาร์เดโค ปารีส
Jean Lurçat 1892-1966 ฝรั่งเศส จี้ห้อย Face of the Moon (ใบหน้าพระจันทร์ ) ค.ศ.1959-1960 ตอกบนแผ่นทอง 24 กะรัต ขนาด 9.5 X 6.5 พิพิธภัณฑ์ Musee des Arts decoratifs อาร์ตเดโค ปารีส
สร้อยคอออกแบบและรังสรรค์โดย Alexander Calder (อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์) ค.ศ.1939 คริสตี้ส์ประมูลขายไปในปีค.ศ. 2011 ในราคา 602,500 ดอลลาร์สหรัฐ คาลเดอร์ เป็นนักประติมากรที่ มีความคิดสร้างสรรค์ในแนวแอ็บสแตรกต์ มีผลงานมากมาย แถมยังรังสรรค์เครื่องประดับมากกว่า 2,000 ชิ้นจากเหล็กและทองเหลือง (หรือ brass เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี มีสีเหลืองหรือทองแต่ไม่เงา) เซรามิก ไม้ และแก้ว
เข็มกลัดจาก Cartier (คาร์เทียร์) ค.ศ.1914 ประดับด้วยทับทิม และออนิกซ์ พร้อมไข่มุกหยดน้ำ ทัวร์มาลีน เพชร จากไพรเวทคอลเลกชั่น
CREDITS:
เรื่อง: เพชรชมพู
ภาพประกอบ: ธนภร (อังสนา) ปิ่นทอง
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์: พีรยุทธ ลิมปนสถิตพร
สามารถอ่านคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่