สำหรับการหวนระลึกถึงคอลเลกชันเรือนเวลาในอดีตคอลเลกชันแรก Angelus ได้พันธมิตรอย่าง Massena LAB มาร่วมสร้างสรรค์เรือนเวลาที่มีแรงบันดาลใจจากนาฬิกาโครโนกราฟที่สามารถวัดชีพจรสำหรับการใช้งานของแพทย์ในชื่อว่า Chronographe Médical x Massena LAB
Angelus (แองเจลัส) แบรนด์เรือนเวลาอิสระที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแบรนด์หนึ่ง หลักจากที่ได้รับการฟื้นฟู Angelus ได้รังสรรค์ผลงานอย่างเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่รักนาฬิกานอกกระแสจำนวนหนึ่ง ในปีนี้ทางแบรนด์ได้เปิดตัวโปรเจคใหม่ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการนำเอาเรือนเวลารุ่นดังในอดีตของตนเองมาปัดฝุ่นและรังสรรค์ขึ้นใหม่ โดยได้เปิดตัวแคปซูลคอลเลกชันเรือนเวลาที่มีชื่อว่า La Frabrique (ลา ฟราบริค) และสำหรับการหวนระลึกถึงคอลเลกชันเรือนเวลาในอดีตคอลเลกชันแรกนี้ Angelus ได้พันธมิตรอย่าง Massena LAB มาร่วมสร้างสรรค์เรือนเวลาที่มีแรงบันดาลใจจากนาฬิกาโครโนกราฟที่สามารถวัดชีพจรสำหรับการใช้งานของแพทย์ในชื่อว่า Chronographe Médical x Massena LAB (โครโนกราฟ เมดิคอล ครอส มาสเซนา แลป)
ในยุคปี 1960s Angelus ได้เคยเปิดตัวเรือนเวลาสำหรับแพทย์โดยเฉพาะ อันเป็นนาฬิกาข้อมือที่โครโนกราฟ ที่มีสเกลสำหรับวัดค่าชีพจรที่จำเป็นสำหรับแพทย์ในการใช้งานระหว่างตรวจคนไข้ ช่วยให้แพทย์สามารถหาค่าการต้นของหัวใจ รวมถึงค่าการหายใจของคนไข้ได้ นาฬิกาเรือนดังกล่าวจึงถือเป็นนาฬิกาที่หายากอีกรุ่นหนึ่งจากช่วงเวลานั้น
ซึ่งในปีนี้ Angelus ได้นำเอาเรือนเวลาดังกล่าวนี้มาเป็นต้นแบบสำหรับการเปิดประเดิมแคปซูลคอลเลกชันเรือนเวลาแห่งความทรงจำ ซึ่งได้ William Massena (วิลเลียม มาสเซน่า) ผู้ก่อตั้ง Massena LAB สตูดิโอผู้ดีไซน์และพัฒนานาฬิการ่วมกับแบรนด์ต่างๆ มาร่วมสร้างสรรค์เรือนเวลานี้ด้วย โดยเขาและ Bertrand Savary (แบร์ตรองด์ ซาวารี) ประธานแบรนด์นาฬิกา Angelus ได้ร่วมพูดคุยกันถึงมรดกอันน่าทึ่งของการสร้างสรรค์เรือนเวลาในอดีตของ Angelus จึงก่อเกิดเป็นโปรเจคการชุบชีวิตเรือนเวลาจับเวลาที่สมบูรณ์แบบที่สุดจากยุค 1960s เรือนนี้
ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 99 เรือน โดยจะวางจำหน่ายผ่านเครือข่ายร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Angelus และจะจำหน่ายโดยตรงผ่านทาง MassenaLAB.com นาฬิกาเรือนนี้อ้างอิงรูปแบบจากเรือนเวลารุ่นดั้งเดิม แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการเพื่อให้ประสิทธิภาพทางเทคนิคที่ดีขึ้น
มาในตัวเรือนสเตนเลสสตีล ขนาด 39.0 มิลลิเมตร หนา 9.22 มิลลิเมตร อันเป็นตัวเรือนที่ใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นเดิม เพื่อให้สามารถระบุรายละเอียดของสเกลได้มากขึ้น ดีไซน์ขอบตัวเรือนบาง เพื่อเผยให้เห็นรายละเอียดของสเกลต่างๆ ได้เต็มตา ครอบด้วยกระจกหน้าปัดแซฟไฟร์ทรงกล่อง กันน้ำได้ลึก 30 เมตร ติดตั้งปุ่มกดจับเวลาทรงดอกเห็ดตรงตำแหน่ง 2 นาฬิกา
พื้นหน้าปัดสีเงินสว่าง สามารถแสดงรายละเอียดต่างๆ บนหน้าปัดได้อย่างชัดเจน ตัวเลขและเครื่องหมายแทนหลักชั่วโมงสีเงินจัดวางไว้ภายในวงสเกลนาที โดยสเกลนี้ยังมีหน้าที่เพิ่มเติมในการใช้เป็นสเกลสำหรับเทียบค่าการวัดอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจอีกด้วย
โดยค่าสำหรับวัดชีพจรกำหนดไว้ด้วยตัวเลขอารบิกสีแดง ดำ และเขียว จัดวางไว้นอกวงสเกลบริเวณตำแหน่ง 1 -3 นาฬิกา ในขณะที่ค่าการวัดอัตราการหายใจแสดงผ่านตัวเลขสีแดงอยู่ภายในวงสเกลตั้งแต่ 1.30 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา แสดงเวลาแบบ 2 เข็มครึ่ง โดยแสดงวินาทีผ่านหน้าปัดย่อยตำแหน่ง 9 นาฬิกา
ในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจกำหนดไว้ที่จำนวนการนับ 10 ครั้ง โดยเมื่อเริ่มต้นกดปุ่มจับเวลา ให้ทำการนับจังหวะการเต้นของหัวใจไป 10 ครั้ง จากนั้นให้กดหยุดจับเวลา เข็มชี้ก็จะแสดงตัวเลขอัตราของการเต้นของหัวใจต่อหนึ่งนาทีได้เลย เช่นเดียวกันกับการวัดอัตราการหายใจ โดยมากจะกำหนดการนับครั้งการหายใจที่ 5 ครั้งเป็นหลัก เมื่อกดปุ่มเริ่มจับเวลา ให้ทำการนับการหายใจไป 5 ครั้ง จากนั้นกดปุ่มหยุดเวลา ก็จะได้ค่าเทียบเคียงการหายใจเป็นจำนวนครั้งต่อหนึ่งนาที นั่นเอง
Chronographe Médical x Massena LAB บรรจุด้วยกลไก in-house ไขลานด้วยมือ Cal. A5000 ที่ประกอบด้วยกลไก Column Wheel และ Horizontal Clutch ในการควบคุมการจับเวลา ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ติดทับทิมกันสึกจำนวน 23 ชิ้น สำรองพลังงานได้นาน 42 ชั่วโมง ชิ้นส่วนของกลไกทุกชิ้นต่างได้รับการขัดแต่งในลวดลายต่างๆ รวมถึงการลบเหลี่ยมมุมอย่างประณีต ประกอบกับสายหนังลูกวัว Novonappa® สีน้ำตาลทอง เย็บด้ายสี ecru ด้วยมือ และล็อกสายด้วยหัวเข็มขัดสเตนเลสสตีล
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF ANGELUS