ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ร่วมกับ เอส เอ ซี แกลเลอรี่ (SAC Gallery) ภูมิใจเสนอ “IN THE GARDEN, Things We Found” นิทรรศการกลุ่ม โดย วิภู ศรีวิลาศ, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย และ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์
ในสวน เราจะได้พบตัวตนของเราเองเสมอ
ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ร่วมกับ เอส เอ ซี แกลเลอรี่ (SAC Gallery) ภูมิใจเสนอ “IN THE GARDEN, Things We Found” นิทรรศการกลุ่ม โดย วิภู ศรีวิลาศ, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย และ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์
สำหรับมนุษย์แต่ละคน สิ่งที่เราสร้างสรรค์หรือได้ค้นพบในสวนของเรา ล้วนเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว
ศิลปินทั้งสามคนของ เอส เอ ซี แกลเลอรี่ ได้รับแรงบันดาลใจจากความงามและสัจธรรมที่พวกเขาได้ค้นพบในพื้นที่สีเขียวของตน ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นสวนจริง หรือสวนแห่งจินตนาการ ล้วนมีความมหัศจรรย์ไม่ต่างกัน
“ในสวน เป็นสถานที่แห่งการผสมผสานของงานศิลปะที่สร้างโดยมนุษย์และป่าตามธรรมชาติ การทำงานหนักและความปิติสุขอันลึกซึ้ง การฝึกฝนทางจิตวิญญาณและโลกแห่งวัตถุ สวนคือสถานที่อันมหัศจรรย์เพราะปราศจากการแบ่งแยก”
— โทมัส มัวร์ จาก The Re-enchantment of Everyday Life
เกี่ยวกับศิลปิน
นิทรรศการในครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากศิลปินมากความสามารถทั้งหมดสามท่าน คือ วิภู ศรีวิลาศ, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย และ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์
วิภู ศรีวิลาศ
ศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ชาวออสเตรเลีย กำเนิดในไทย ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สัตว์ในตำนานแห่งป่าหิมพานต์และวรรณคดีไทยคือตัวละครเอกในสวนของเขา ณ ใจกลางสวนของวิภู ร่างทองของสิ่งมีชีวิตในจินตนาการจากซีรีส์ ‘วิวาห์พระสังข์‘ บอกเล่าถึงการเดินทางของความสัมพันธ์ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาตลอดเส้นทาง — ประทุไปด้วยหัวข้อโต้แย้งระดับเวทีโลกอันว่าด้วยการแต่งงานของเพศเดียวกัน และในที่สุด ความรักก็ชนะทุกสิ่ง งานประติมากรรมเซรามิกของวิภูสร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงความอบอุ่น ความกระตือรือร้น และความอ่อนโยน เป็นตัวแทนของจินตนาการอันไร้เดียงสา แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันเข้มแข็งที่จะนำความเท่าเทียมมาสู่ทุกความรักบนโลกใบนี้
กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย
กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ศิลปินชาวไทย ผู้พำนักและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ เชิญชวนผู้ชมเข้ามาสำรวจสวนแห่งจินตนาการในเชิงนามธรรมของเขา นับเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้วที่กิติก้องสร้างงานศิลปะที่ไม่กำหนดรูปร่างของมนุษย์หรือสิ่งของใด เขาพัฒนาฝีแปรงของตนให้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร ในภาพวาดที่ไม่มีการอ้างอิงถึงวัตถุหรือบุคคล ฝีแปรงต้องสามารถสื่อความหมายได้ด้วยตัวเอง กิติก้องค้นพบเทคนิคการเคลือบแลกเกอร์ลงบนภาพวาดของเขา หากมิใช่เพื่อเป็นการปกป้อง แต่กลับเผยทุกรายละเอียดของฝีแปรงแต่ละชั้นให้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น ในสวนของกิติก้อง เขาได้ค้นพบภาษาของตนเองจากสีเขียวของพืชพรรณ สีฟ้าและขาวของแสงสะท้อนบนผืนน้ำใส และความมืดมิดของท้องฟ้ายามค่ำคืน ในผลงานที่ไม่ปรากฏรูปร่างวัตถุใด ความหมายของงานชิ้นนั้นสามารถสื่อสารได้ระหว่างภาพวาดและผู้ชมเท่านั้น
จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์
นักเขียนและศิลปินผู้มีชื่อเสียงจากผลงานที่มีสีสันสะดุดตา นำเอาความทรงจำอันสดใสของภูมิทัศน์ต่างสถานที่จากการไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนของเธอมาสร้างสรรค์ผลงาน รูปทรงของต้นไม้และการเคลื่อนไหวของอากาศที่เธอไม่คุ้นเคยบันดาลใจให้เธอต้องการบันทึกภาพเหล่านั้นด้วยการปัดฝีพู่กันอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาพสเก๊ตช์ของเธอบางส่วนดูราวกับภาพวาดแบบนามธรรม ผลงานในซีรีส์นี้จึงเปรียบประดุจบันทึกช่วงฤดูร้อนของศิลปินที่นำเอาความอบอุ่นและไอความชื้นของญี่ปุ่นกลับมาสู่ประเทศไทย ราวกับว่าผู้ชมได้รับเชิญให้ลงนั่งข้างๆ เธอ ในขณะศิลปินกำลังดื่มด่ำกับทิวทัศน์ตรงหน้า
นิทรรศการเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 27 ตุลาคม 2567 ที่ RCB Photographers’ Gallery ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF RIVERCITY BANGKOK
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่