“Utopia” นิทรรศการที่นำเสนอผลงานของ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเป็นที่น่าจับตามองในวงการศิลปะ
ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ภูมิใจเสนอ “Utopia” นิทรรศการที่นำเสนอผลงานของ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเป็นที่น่าจับตามองในวงการศิลปะ นั่นคือ Beya (ปณิชา แสงทองอร่าม), ชนนภัส ยกใหญ่, Keng Jeans (นนทกร วชิรโกสีย์) และ นวัต คิวบิก
ในนิทรรศการครั้งนี้ เราได้ชวนให้ศิลปินทั้งสี่ท่านมาบอกเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจอันเป็นแรงผลักดันจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่เขาและเธออาศัยอยู่ อาทิ โลกทุนนิยมที่ทำลายความฝัน โลกที่ให้สิทธิพิเศษด้านความงาม และการสูญเสียอิสรภาพ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้ยอมจำนน แต่กลับสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาจากจินตนาการของตนเอง
เกี่ยวกับศิลปิน
1. Beya (ปณิชา แสงทองอร่าม)
นักวาดภาพอิสระชาวไทยที่ชอบท่องเที่ยวเพื่อพบเจอ ความหลากหลายของวัฒนธรรม และนําเรื่องราวที่ได้พบเจอมาเป็นแรงบันดาลใจ งานของเธอมีทั้งภาพดิจิตอลและการใช้มิกซ์มีเดียบนแคนวาสที่แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาหากแต่มีความหมายอันลึกซึ้งแฝงอยู่
Out of the Box Series
ผลงานชุดนี้พูดถึงการออกจากการควบคุมของกรอบหรือสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งควบคุมเราอยู่
2. ชนนภัส ยกใหญ่
ชนนภัส ยกใหญ่ เกิดที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็นศิลปินที่กําลังศึกษาอยู่ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเธอเป็นภาพวาดเชิงสัญญะและลัทธิเหนือจริง งานของเธอขับเคลื่อนด้วยความสนใจในชีวิตประจําวันจากแง่มุมความเป็นผู้หญิง ผลงานของเธอมุ่งหวังที่จะค้นหาคําตอบของเส้นแบ่งระหว่างชายและหญิงในกรอบบรรทัดฐานทางสังคมที่เธอต้องเผชิญด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพวาดสีสันสดใสที่เกินจริงและเรือนร่างฟิกเกอร์ที่ดูปกปิด อําพรางใบหน้าท่ามกลางแลนด์สเคปผิดแปลกที่ชวนให้คนดูได้ตีความและร่วมสํารวจผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนไปพร้อม ๆ กัน
Utopia
ในทุกสังคมบนโลกล้วนมีกฏเกณฑ์ กรอบความคิด ค่านิยม หรือมาตราฐานต่าง ๆ เป็นสิ่งคอยวัด คอยจัดระเบียบสังคม แม้กระทั่งจัดระดับคนในสังคมก็มีสิ่งที่ผู้คนมองว่าดี ว่าเหมาะ ว่างาม เป็นกรอบที่แม้ว่าเราอยากเอาชนะหรือออกจากวังวนนี้เท่าใดก็ไม่เคยหาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้ จนปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งแม้แต่ตัวเราเองก็ยังหลงและเป็นไปตามสิ่งที่สังคมกําหนดให้เราต้องเป็น เป็นกรอบที่หลีกหนีและหลุดพ้นได้ยากใน “ยูโทเปีย” ที่แสนโกลาหลนี้ กล่าวคือสังคมในอุดมคติ สังคมที่ปราศจากความเห็นต่าง ความขัดแย้งและการสร้าง ความเจ็บปวด สังคมที่สมบูรณ์แบบซึ่งพวกเราเข้าใจดีว่าคงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง ทว่า ยูโทเปียที่ถูกร่างขึ้นในจินตนาการนี้ อาจคือที่พักพิงและเยียวยาตัวเองของเหล่าผู้คนที่ผิดหวังกับโลกแห่งความเป็นจริงแม้เราจะตระหนักได้ว่าไม่อาจมีโลกในแบบที่เราฝัน เพราะส่วนลึกของข้อบกพร่องในธรรมชาติมนุษย์นั้นไม่อาจร่วมแรงกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายแบบเดียวกันได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ต้องมองโลกที่แสนเลวร้ายนี้ด้วยความหวัง แม้จะเหลือความหวังเพียงแค่เศษเสี้ยว ก็ยังคงต้องมองมันด้วยความหวัง แล้ววันหนึ่งเราอาจเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และมุ่งไปยังแสงสว่างที่เราเห็นให้ได้
3. Keng Jeans
นนทกร วชิรโกสีย์ (Keng Jeans) ศึกษาอยู่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาประยุกต์ศิลป์ เอกจิตรกรรม ชีวิตประจําวัน อยู่ในสตูดิโอทํางานศิลปะ ศึกษาค้นคว้าการทํางานศิลปะอยู่สมํ่าเสมอ สนใจในงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสต์
ความทรงจําในวัยเด็ก (Inner child)
แนวความคิดในการสร้างผลงานศิลปะของศิลปินถ่ายทอดออกมาจากจิตใต้สํานึกของตัวเองในช่วงวัยเด็กที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณที่บริสุทธ์และจินตนาการอันอิสระ แต่พอเริ่มโตขึ้นความรู้สึกเหล่านั้นก็เริ่มสูญสลายหายไป
4. Nawat Cubic
Nawat Cubic (นวัต คิวบิก) ค้นพบความแตกต่างของตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก เขามองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันที่มักจะแตกกระจายออกมาเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่สวยงาม ทำให้เขามีอุดมการณ์ที่จะบันทึกภาพในจินตนาการของเขาบนผืนผ้าใบให้ผู้คนได้เห็นไปจนวันสุดท้ายของชีวิต
นวัตได้เริ่มขายภาพวาดให้กับชาวต่างชาติตั้งแต่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ซึมซับกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลายผ่านทางนักสะสมที่เขารู้จัก เขาจึงเกิดข้อสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้โลกของเราเต็มไปด้วยความซับซ้อน ประวัติศาสตร์สอนเขาว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ทำให้เขาสนใจในพฤติกรรมของผู้คนบนโลกที่กำลังกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้ ปัจจุบันภาพวาดจำนวนร้อยกว่าชิ้นของเขากระจัดกระจายไปกับนักสะสมตามประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ
Fireflies in a Bottle
พวกเราอาจจะเคยหลงทางอยู่ในเขาวงกตที่เรียกว่า ‘สังคม’ แต่เมื่อใดที่เราได้พบกับแสงศรัทธาที่นำพาเราไปสู่ทางออก ณ ปลายทางนั้นเราจะตระหนักได้ว่า บ้านที่แท้จริงแล้วอยู่ภายในหัวใจของเรานั้นเอง แล้วคนที่จะอนุญาตให้มันถูกทำลายได้ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากใจของเราเองเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นสังคมหน้าตาเป็นเช่นไร เราจงเป็นเช่นนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมที่เราฝันอยากจะเห็นมัน
นิทรรศการ “Utopia” เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 21 เมษายน 2567 ที่ห้อง 249 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF RIVERCITY BANGKOK
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่