Rexhep Rexhepi ช่างนาฬิกาอิสระสัญชาติโคโซโว ผู้ก่อตั้งเวริก์ช็อปนาฬิกา Akrivia
Rexhep Rexhepi (เรเจบ เรเจบปี) ช่างนาฬิกาอิสระผู้ก่อตั้งแบรนด์นาฬิกา Akrivia โดยเรเจบ เรเจบปีเกิดที่ประเทศ Cosovo (โคโซโว) ก่อนลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่เด็ก การก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพช่างประดิษฐ์นาฬิกาจากความสงสัยใคร่รู้นาฬิกาของคุณพ่อ สู่การรังสรรค์จากอย่างพิถีพิถัน ตกแต่งรายละเอียดด้วยความสมมาตร ผ่านกระบวนการทดสอบ หลอมรวมทุกสิ่งเข้าด้วยกัน และเมื่อเสียงดังของนาฬิกาเดินไปข้างหน้า นั่นคือจุดกำเนิดของสิ่งอัศจรรย์
ซึ่งเรเจบใช้เวลากว่า 2 ศตวรรษ สู่ช่างนาฬิกาผู้เป็นที่ยอมรับนับถือในบรรดาช่างนาฬิการะดับแถวหน้า และผลงานนาฬิกาก็ได้รับการชื่นชมจากาคนรักนาฬิกาทั่วโลก จากความสามารถและประสบการณ์การได้ร่วมงานกับแบรนด์นาฬิกาชื่อดังอย่าง Patek Philiipe, BNB Concept และ F.P. Journe ทำให้นาฬิกาจากเวริก์ช็อป Akrivia มีความโดดเด่น และได้รับรางวัลเวที GPHG (Grand Prix d’Horlogerie de Genève) มาแล้วหลายครั้งของผลงานเรือนเวลา Chronomètre Contemporain รุ่น 1 และ 2 ซึ่งในที่สุดช่างนาฬิกาสัญชาติโคโซโว เรเจบ เรเจบปีมาเยือนเมืองไทยและให้เกียรติมาร่วมพูดคุยในครั้งนี้
สำหรับผลงานนาฬิกาของ Rexhep Rexhepi Chrometre Antimagnetique ซึ่งเป็นผลงานที่คุณได้ส่งเข้าประมูลใน Only Watch 2023 เมื่อเทียบกันระหว่าง RRCC 1 และ 2 แล้วมีความแตกต่างทางด้านเทคนิคอย่างไร?
ต้องกล่าวก่อนว่านาฬิกา RRCC (Rexhep Rexhepi Chronomètre Contemporain) ทั้งรุ่น 1 และ 2 รวมถึง นาฬิกา RRCC A (Rexhep Rexhepi Chronomètre Antimagnetique) คอลเลกชันนาฬิกาทั้งสามนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในส่วนของกลไก ซึ่งต้องกล่าวว่าไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกันได้
นาฬิกา RRCC 1 มีกลไกไขที่ชูความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์รวมถึงระบบ hacking second และ ระบบ zero-reset ทางด้าน RRCC 2 เป็นกลไกที่มีระบบแบบเดียวกับที่มีใน RRCC 1 แต่ได้มีการเพิ่มการเพิ่มเติมในส่วนของการแสดงวินาทีแบบ dead-beat seconds โดยได้เพิ่มตลับลานขึ้นมาเป็น 2 ตลับและแยกการจ่ายพลังงานอย่างชัดเจนให้ตลับลานตลับแรกสำหรับการแสดงเวลา และอีกหนึ่งตลับสำหรับการทำงานของระบบ dead-beat seconds โดยเฉพาะ
และสำหรับ RRCC-A เราได้เปลี่ยนการแสดงเวลาแบบแยกเข็มวินาที เป็นแบบเข็มวินาทีอยู่ที่กลางหน้าปัด และนำเสนอระบบการต้านทานแรงดึงดูดจากสนามแม่เหล็ก เราใช้หลักการ Faraday Cage ครอบคลุมรอบกลไก ซึ่งเป็นเกราะป้องกันแรงดังกล่าว ในส่วนของการจัดวางพื้นที่ในกลไก เริ่มจากการวางบาลานซ์วีลไว้ตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกา มีการจัดวางชุดเฟืองไว้ทางฝั่งขวามือ และมีเฟืองตรงศูนย์กลางของกลไกที่หมุนหนึ่งรอบต่อนาทีสำหรับการควบคุมเข็มนาที ทั้งนี้ได้มีการติดตั้งระบบ zero-setting สำหรับควบคุมให้เข็มวินาทีตีกลับไปที่ 12 นาฬิกาเมื่อมีการดึงเม็ดมะยมออกในเวลาปรับตั้งเวลา คล้ายกับการรีเซ็ทเข็มในระบบโครโนกราฟ
ทำไมจึงสร้างกลไกเครื่องใหม่ขึ้นสำหรับนาฬิกาแต่ละคอลเลกชัน?
ต้องกล่าวว่า ในตอนที่ผมเริ่มผลิตคอลเลกชัน RRCC 1 ผมตั้งใจจะผลิตในจำนวน 200 เรือน แต่ในภายหลังเราผลิตจริงเพียง 50 เรือน เพราะผมได้มาคิดว่า ผมอยากที่จะท้าทายตัวเองในการผลิตนาฬิการุ่นใหม่แต่ละครั้ง ผมอาจจะสามารถนำเอากลไกของ RRCC 1 มาปรับแต่งและเพิ่มโมดูลหรืออุปกรณ์เสริมฟังก์ชันเข้าไปก็ได้ แต่สำหรับผมแล้วการทำเช่นนี้มันยังดูเป็นเรื่องง่ายเกินไป เพราะผมทราบดีว่าตัวเองสามารถที่จะผลิตกลไกเครื่องใหม่ขึ้นมาได้ จึงตามมาด้วยกลไกระบบ dead beat seconds ใน RRCC 2 รวมถึงการสร้างกลไกเครื่องใหม่ให้กับ RRCC A ด้วย
กล่าวได้ว่านาฬิกาจากแบรนด์ของคุณมีตัวเรือนที่งดงามและประณีตมากๆซึ่งผู้สร้างสรรค์ตัวเรือนให้กับคุณคือ Mr. Jean-Pierre Hagmann อยากทราบว่าทำไมคุณถึงมุ่งมั่นที่จะให้ Mr. Hagmann มาร่วมงานกับแบรนด์ของคุณ?
ในตอนที่ผมได้ทำงานที่ Patek Philippe ผมจำได้ว่ามีหลายคนได้กล่าวถึงฝีมือการรังสรรค์งานของเขาที่ราวกับงานศิลปะ เขาเหมือนกับดาราดังที่ใครๆ ก็กล่าวถึง ซึ่งผมเองใฝ่ฝันมาตลอดว่า หากได้ทำแบรนด์นาฬิกาเป็นของตนเอง นาฬิกาของผมจะต้องมีตัวเรือนที่ดีที่สุด นั่นทำให้ผมคิดว่า สักวันผมน่าจะชวนเขาให้มาร่วมงานกับผมได้ และได้ร่วมงานกันไปนานๆ หลายปี ในปี 2019 ผมได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งของผมว่า ผมอยากที่จะติดต่อกับเขา เพื่อนผมตอบว่างั้นก็ลองติดต่อเขาดูสิ ผมก็เลยทำตามที่เขาให้ความเห็นไว้ สองวันต่อมาขณะที่ผมกำลังนั่งอยู่ในรถแท็กซี่ ซึ่งก็กำลังคุยกับใครสักคนอยู่เกี่ยวกับ Mr. Hagmann พอดี แล้วคนขับแท็กซี่ ก็พูดขึ้นมาว่า คุณกำลังพูดถึง Mr. Hagmann เหรอ ผมมีเบอร์ติดต่อเขาอยู่นะ นั่นทำให้ผมติดต่อกับ Mr. Magmann และได้พบกับเขา ผมเองได้แต่เคยใฝ่ฝัน แต่ไม่คิดว่าเขาจะตกปากรับคำที่จะร่วมงานกับผม
สิ่งที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับปาฏิหาริย์ และผมก็อยากที่จะเรียนรู้ทักษะความเชี่ยวชาญจากเขาด้วย ผมคิดว่าถ้าผมไม่ได้ติดต่อเขาแล้ว คงไม่มีใครที่จะได้รับความรู้จากเขา คงไม่มีใคที่จะได้เรียนรู้งานฝีมือนี้ และเราก็คงจะเสียองค์ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่ใช่แค่เรื่องของการที่ผมต้องการให้นาฬิกาของผมมีตัวเรือนที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่มันคือเรื่องของการถ่ายทอดและรักษาองค์ความรู้ในทางหนึ่ง ไม่ใช่แค่การได้ครอบครอง แต่มันคือการได้เรียนรู้และส่งต่อองค์ความรู้นี้ให้กับผู้อื่น และในวันนี้ Mr. Hagmann ก็ได้ส่งต่อความรู้นี้ให้กับผมแล้ว
หลังจากที่คุณได้รับรางวัล GPHG ทั้งเมื่อปีค.ศ.2018 และปีค.ศ.2022 ชีวิตของคุณ รวมถึงแบรนด์ Akrivia เปลี่ยนไปอย่างไร?
ผมคิดว่ามันเหมือนกับเป็นความฝันสำหรับผม เพราะว่าครั้งแรกที่ผมได้เข้าร่วมในงาน GPHG (Grand Prix d’Horlogerie de Genève) จำได้ว่าเป็นช่วงประมาณปีค.ศ.2011 หรือปีค.ศ.2012 ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมได้ใส่นาฬิกาของตัวเองไปร่วมงาน และก็เป็นความหวังเล็กๆ ว่าสักวันหนึ่งที่จะเป็นผมที่ได้ยืนอยู่บนเวทีและรับรางวัล และความฝันได้เป็นจริงในปีค.ศ.2018 จาก RRCC 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรู้สึก เพราะว่าเป็นความรู้สึกที่เราได้รู้ว่าโลกได้รู้จักแบรนด์ของผมแล้ว ตอนนี้ผู้คนได้จับจ้องเรามากยิ่งขึ้น จึงเป็นการสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานของผม
จนกระทั่งปีค.ศ.2022 เราได้รับรางวัลอีกครั้ง เป็นการตอกย้ำให้กับผมว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว และในทางเดียวกันก็สร้างแรงกดดดันให้กับเรามากขึ้น ทำให้เราคำนึงเสมอว่าเราสร้างสรรค์ผลงานอย่างทั่วไปได้ ทำให้เราคำนึงถึงการทำงานอย่างพิถีพิถันเสมอ ดังนั้นจิตวิญญาณในการทำงานของเรานั้นคือความท้าทายอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้คร่ำเคร่งจนจิตตก เพราะยังไงเสีย บุคลากรทุกคนในเวิร์คช็อปก็ยังเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญก่อนสิ่งใด กล่าวคือเราจะยึดถือแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้เกิดผลงานที่เป็นเสมือนงานศิลปะที่ประณีตมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะสิ่งที่เราได้ทำในวันนี้ ไม่ใช่แค่การผลิตนาฬิกาที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่เราได้หยิบนาฬิกาขึ้นมาดู เราจะสามารถรู้สึกถึงบางสิ่ง รู้สึกถึงอารมณ์บางอย่างได้ นั่นคือสิ่งที่เราพยายามที่จะใส่ลงไปในงานของเราและเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบ
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF REXHEP REXHEPI